เพลงฉ่อยชาววัง

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เบน-อากฤษณ์” บก.ThaiPad Digital Magazine เพื่อคนทั้งโลก


          แทบไม่เชื่อสายตาว่าชายหนุ่มวัย 30 ต้นๆ ตรงหน้าคือ “บรรณาธิการ” อาจเพราะที่ผ่านมาบุคคลที่ได้พบหน้าในฐานะบรรณาธิการ หรือ บก.หนังสือสักเล่ม ล้วนมีวัยวุฒิมากกว่าคนที่ยืนอยู่ตรงหน้า

          “อากฤษณ์ บุญใหญ่” หรือ “เบน” บรรณาธิการ ThaiPad Digital Magazine นิตยสารที่นำเสนอตัวเองผ่าน iPad เครื่องมือสื่อสารที่ได้ชื่อว่าเป็นนวัตกรรมของโลกถึงกับหัวเราะเมื่อถูกทักว่าหนุ่มว่าที่คิดไว้มาก

          หนุ่มลูกครึ่งไทย-อังกฤษพาหลบออกมาหามุมสงบภายในสำนักงานของ Bangkok Post องค์กรที่เบนสังกัดอยู่ เพื่อสนทนาถึงหน้าที่ที่เขารับผิดชอบ แววตามุ่งมั่นกับความกระตือรือผ่านท่าทีของเขา ทำให้เราสัมผัสได้ถึงพลังจากผู้ชายตรงหน้า 

          “ตำแหน่งของผมคือ Multimedia Editor ดูแลบริหารกองบรรณาธิการ ThaiPad ซึ่งเป็น application ใน iPad ดูแลทั้งเนื้อหา ภาพ วิดิโอ โซเชี่ยลมีเดีย การนำเสนอในหน้า ThaiPad ทั้งหมด รวมไปถึงการบริหารทีมงานด้วย”เบนเริ่มบอกเล่าถึง “งาน”ที่เขาทำอยู่ในปัจจุบัน หลังศึกษาจบสาขา Music Production,Media & Business Studies จาก University of Manchester จากประเทศอังกฤษ พร้อมพกประสบการณ์การทำ Music Production ทำโชว์และทำหน้าที่พิธีกรภาคสนามมาที่เมืองไทย

          “ผมได้ทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวภาคภาษาอังกฤษของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย เป็นบรรณาธิการข่าวเช้า ตอนนั้นต้องทำหน้าที่ทั้งเลือกข่าว และเขียนสคริปต์ข่าวภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็ย้ายมาเป็นผู้สื่อข่าวที่ Bangkok Post ทำนิตยสารกูรู ทำอยู่ประมาณ 2 ปีกว่า ก็ได้ปรับตำแหน่งขึ้นเป็น บก.ของเล่มกูรู หลังจากนั้นผมก็ได้ย้ายมาอยู่แผนกใหม่ ทำหน้าที่ Multimedia Editor ถึงทุกวันนี้”

          เส้นทางสายสื่อมวลชนของเบนถ้าจะนับเขาเป็นหนึ่งในคนที่ประสบความสำเร็จในงานด้านนี้ก็คงไม่เกินไปนัก ขณะที่เจ้าตัวเองกลับออกตัวว่า นั่นเป็นเพราะเขาอยู่ถูกที่ ถูกเวลา และเพราะมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ซึ่ง Bangkok Post ผลิตสื่อภาษาอังกฤษ ประกอบกับสามารถเขียนข่าว เขียนสคริปต์ และสามารถบริหารงานได้ ผู้ใหญ่คงเห็นศักยภาพว่าพัฒนาได้ นั่นอาจเป็นเหตุผลให้เขาได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้บรรณาธิการ แต่เมื่อฟังแนวคิดที่เบนมีให้กับการทำ ThaiPad ไม่ใช่แค่เขาอยู่ถูกที่ ถูกเวลา แต่เขามีสิ่งที่มากกว่านั้น
ThaiPad application สำหรับคนทั้งโลก 

          “ Thaipad เราทำโปรเจกต์นี้ เพราะเ ห็นว่า iPad มาแรง เราต้องทำอะไรสักอย่างสำหรับ iPad ผมก็เลยมาลองดูว่าสิ่งที่เราควรทำ กับสิ่งที่เราทำได้ มันไปกันได้ขนาดไหน ผมคิดว่ามันควรมี app พาไปแนะนำที่กิน ที่เที่ยว มี Braking News อัพเดททุกชั่วโมง แต่ตอนนั้นเราทำไม่ได้ ก็คิดว่าต้องเป็นนิตยสารอยู่บน iPad แต่ตอนนั้นเราก็ศึกษานิตยสาร และหนังสือพิมพ์ในตลาด ไม่ว่าจะเป็นนิ ตยสารที่มีชื่อหรือไม่มีชื่อ เขาแค่เอาเนื้อหาในปริ๊นต์มาอยู่ใน iPad เขาแค่เปลี่ยนรูปนิดหนึ่ง  เนื้อหาน้อยลง แต่มันเป็นการทำเพราะเทคโนโลยีมันมาแล้วทุกคนเลยต้องทำ แต่เราต้องทำให้ดีกว่า ไม่ใช่เพราะมันมาแล้วเลยต้องทำ แต่ต้องทำให้มันดีที่สุด

          ผมมองผู้บริโภคในเมืองไทยมีอยู่น้อยมาก เพราะเราเป็นสื่อภาษาอังกฤษ ต้องมองกลุ่มคนที่อ่านภาษาอังกฤษ สมมติมีคนอ่านภาษาอังกฤษ 1 ล้านคน ก็อาจจะมีคนที่อ่านบางกอกโพสต์สัก 7 แสนคน และใน 7 แสนคนนั้น ก็อาจจะมี iPad อยู่แค่ 3 แสนคน เห็นว่าตลาดเล็กมาก เราไม่ควรคิดว่า ThaiPad เป็นหนังสือที่ไปซื้อตามแผงในประเทศไทยอย่างเดียว แต่เรามองว่าเป็นแม็กกาซีนที่อยู่บน iPad ที่ใครก็สามารถดาวโหลดได้ ก็เสนอว่าเราทำแมกกาซีนสำหรับคนที่อ่านภาษาอังกฤษได้และมี iPad เขาอาจจะอยากรู้เรื่องเมืองไทย หรือจะมาเที่ยวเมืองไทย หรืออาจจะเป็นคนที่มาเมืองไทยแล้วชอบ อยากจะอ่านเรื่องเมืองไทย แค่เขาพิมพ์คำว่า Thailand เท่านั้น เขาจะเจอ ThaiPad ขึ้นมาให้ดาวน์โหลด แต่เราก็ไม่ลืมคนที่อยู่ในเมืองไทย เราเลือกคอนเทนต์สำหรับคนกลุ่มแรกที่ชอบเมืองไทย แต่ก็มีข้อมูลที่คนไทยไม่รู้ หรือไม่เคยมีมาก่อนเพื่อรองรับผู้บริโภคที่อยู่เมืองไทยด้วย”

          ด้วยแนวคิดที่ว่าทำให้ ThaiPad เป็น application แมกกาซีนสำหรับคนทั่วโลก ที่นำเสนอผ่านทั้งวิดิโอ และ Graphic interactive ที่ครบครันทั้งเนื้อหา และการนำเสนอที่น่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งผู้ชายตรงหน้ายังยืนยันว่าสามารถพัฒนาได้อีก และเขาพร้อมทีมงานจะพยายามทำให้ดีที่สุดต่อไป
ในทางสายนี้ เบนบอกว่า การทำนิตยสารจะแตกต่างจากการทำข่าวที่ต้องดูกระแสและวาระของสังคม แต่นิตยสารจะดูว่าอะไรน่าสนใจและเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่าน ยิ่งการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว คนอ่านมีพลังในการเลือกเสพสื่อได้มากกว่าในอดีตมากมายนัก

          “Digital Magazine ยังเติบโตได้อีกเยอะ เพราะในเมืองไทยโดยเฉพาะในเมืองหลวงคนให้ความสนใจเยอะมาก หนังสือพิมพ์ นิตยสารทุกเล่มต้องแปลงมาอยู่ในออนไลน์ เพราะมันขายได้ และผู้บริโภคเขามีอำนาจในการเลือกอย่างแท้จริง แต่ก่อนผู้อ่านไม่มีทางเลือก และเขาก็ให้ความเชื่อใจบรรณาธิการ บรรณาธิการบอกว่าเรื่องนี้น่าสนใจเลือกมานำเสนอ เขาก็จะอ่านตามนั้น แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ ถ้าเรื่องที่ลงในหนังสือ หรือหนังสือพิมพ์ไม่น่าสนใจ เขาก็จะไปอ่านในอินเตอร์เน็ต หรือเข้าไปดูยูทูป เขาเลือกแค่สิ่งที่เขาสนใจ ดังนั้น สื่อใหม่ๆ จึงเป็นทางเลือกที่ดี และโอกาสในการพัฒนายังมีอีกเยอะ”

Digital Magazine งานหนักของคนทำสื่อ

แทบทันที วิธีการเขียนเนื้อหาในปริ๊นต์อาจจะมีพื้นที่ยาวๆ ลงรูป และเรื่อง แต่สำหรับ Digital Magazine สิ่งที่เป็นตัวหนั งสืออาจจะน้อยลง เบนยกตัวอย่าง

          “เราอาจจะทำเรื่องท่องเที่ยว หากอยู่ในปริ๊นต์เราจะเขียนว่าเราไปบุกป่า ตกปลา ไปท่องเที่ยว เราก็เขียนเรื่องที่เราไปเจอมา แต่หากอยู่มันมาอยู่ใน iPad เราอาจจะไม่ได้ต้องเขียนว่าเราบุกเข้าไปในป่าอย่างไร เราบันทึกมาเป็นวิดิโอ  ให้ผู้อ่านได้เห็น ดังนั้น คนทำ Digital Magazine ต้องมีความรู้เรื่องการนำเสนอในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งนักข่าว นักเขียนต้องพัฒนาเยอะ แต่ก่อนแค่คิดว่าจะเขียนเรื่องราวที่ไปเจอมาอย่างไร แต่ตอนนี้ต้องคิดเรื่องที่จะเขียน และต้องคิดว่าจะนำเสนอด้วยอะไร มีสื่อแบบไหนที่เหมาะกับสิ่งที่เราจะเล่า เช่น ประวัติประเทศไทยอาจจะเขียนได้เพราะมีแต่ข้อมูล แต่บางเรื่องมันต้องมีวิดิโอด้วย หรือเป็นแกลเลอรี่ หรือทำเป็น interactive ใส่กราฟ ใส่รูป 360 องศา หรือมีรูป 3 มิติ ทำรูป time lap ให้ผู้อ่านได้เล่นกับเรื่องราว ซึ่งมันเยอะแยะมากมาย คนทำสื่อจึงต้องเรียนรู้ news media ให้ครอบคลุม”

          หน้าที่ของคนทำสื่อยังไม่หมดแค่นั้น หลังจากนั้นยังต้องคิดว่า จะต้องเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียด้วยหรือไม่ ต้องทวีตลงในทวีตเตอร์ไหม หรือไปเชิญชวนคนมาอ่านผ่านทางเฟซบุ๊ค อาจต้องเขียนบล็อกเพิ่มเติม ซึ่งเบนบอกว่า “หยุดนิ่งไม่ได้” ต้องดูทั้งผลตอบรับและสร้างมูลค่าให้กับงานที่ทำไปแล้ว ซึ่งต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะหากไม่ทำ เรื่องราวที่ลงแรงผลิตออกมาก็อาจจะจมหายไปในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว

          “เทคโนโลยีมันมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งทำให้เราต้องทำงานหนักขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ช่วยเราทำงาน ทำให้คนทำสื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านมากขึ้น เช่น เราอาจจะถามผู้อ่านผ่านทางเฟซบุ๊คไปว่า อาทิตย์นี้เราควรเขียนเรื่องแฟชั่น หรือเรื่องอะไรดี ผู้อ่านจะตอบกลับเรามา คนทำสื่อก็รู้ความต้องการผู้อ่าน คนอ่านก็รู้สึกใกล้ชิดเรามากขึ้น และเขาอาจจะไปบอกต่อว่า เรื่องนี้เขาแนะนำนะ ก็จะมีผู้อ่านติดตามอ่านเรื่องของเรามากขึ้นเรื่อยๆ”
พัฒนาให้ทันเทคโนโลยีโอกาสเปิดกว้าง

          “เหตุผล คือ เทคโนโลยีด้านนี้มันเปลี่ยนเร็วมาก พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนเร็วมาก ดูสิในเวลาไม่กี่ปีจาก Mp3 มาเป็น iPod จาก iPod เป็น iPhone เดี๋ยวนี้เรามี iPad มันเร็วมากจนการเรียนการสอนในสถานศึกษาตามไม่ทัน พอเรียนจบสิ่งที่นักศึกษาเรียนมันตกยุคไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราสนใจเรียนรู้จนมีความสามารถและพัฒนาตัวเองให้ทันการเปลี่ยนแปลง โอกาสในการทำงานสายนี้มีเสมอ”
อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือภาษาอังกฤษเพราะ เบนมองว่า ในอนาคตภาษาอังกฤษจะจำเป็นมาก และเมื่อเปิดเสรีอาเซียน หากสื่อเมืองไทยอยากแข่งกับสื่อเมืองนอกก็จำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษ

          “เราอยู่เมืองไทยเราอาจจะคิดว่าเรื่องที่เราสัมผัสมันธรรมดา แต่ชาวต่างชาติเขาไม่เคยเห็น พอเราทำออกไปเป็นภาษาอังกฤษ สื่อของเราจะกระจายไปทั่วโลก มันคือโอกาสที่เราจะขายสินค้าเราออกไปได้มากขึ้น และกว้างขึ้น” 

          อะไรคือสิ่งที่ทำให้ เบน-อากฤษณ์ คิด และทำจนมาสู่จุดนี้ เบนหัวเราะคล้ายกับจะบอกว่า เขาเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าเขามีใครเป็นต้นแบบ แต่ลักษณะของเขาอย่างหนึ่งคือ “ขี้บ่น” หากเห็นอะไรที่ไม่เห็นด้วยก็มักจะตั้งคำถามว่าทำไม มีเหตุผลอย่างไร อะไรที่เหมาะกว่า ดีกว่า

          “ผมว่ามันเหมาะกับสิ่งที่ผมทำอยู่ เพราะสื่อตรงนี้มันใหม่มาก และผมได้มาทำตรงนี้ มันยังไม่มีสูตรสำเร็จ การตั้งคำถามของผม มันนำไปสู่คำตอบหลายๆ อย่างที่มันยังไม่เคยมี”

           หากใครมี iPad ลองสัมผัสความคิดของ บก.หนุ่ม “อากฤษณ์ บุญใหญ่”ได้ผ่าน ThaiPad แอฟฟลิเคชั่นสำหรับคนทั้งโลกที่ให้โหลดฟรีโดยไม่คิดเงิน

           พูดคุยกับเบนได้ที่  AglitBoonyai@twitter.com



Tag: เบน-อากฤษณ์, ThaiPad, บก.ThaiPad, บรรณาธิการ, บก









-ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.m2fjob.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น