ประเทศไทย หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2500 และรัฐประหารต่อเนื่องอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ประกาศห้ามตั้งพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ห้ามชุมนุมการเมืองเกินห้าคน พร้อมกวาดล้างผู้ที่ขัดแย้งกับรัฐบาล
ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2501 จอมพลสฤษดิ์ ใช้อำนาจคณะปฏิวัติ
สั่งประหาร "นายซ้ง แซ่ลิ้ม" ข้อหาจ้างวานวางเพลิงที่ตำบลบางยี่เรือ กรุงเทพฯ ต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน 2502 จอมพลสฤษดิ์
สั่งประหาร "นายศิลา วงศ์สิน" ข้อหากบฏผีบุญ ประชาชนทราบดีว่า ในช่วงนั้นจอมพลสฤษดิ์ มีความเด็ดขาด ในการออกมาตรา 17 ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ใจความว่า…
“ในระหว่างที่ใช้รัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดออกไปตามความในวรรคก่อนแล้วให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ”
มาตรานี้เป็นที่รู้กันดีในหมู่มวลประชาชนว่า มันคืออาวุธหนักที่สำคัญในมือรัฐบาล เพื่อกวาดล้างฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งการปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล มีผู้ถูกจับกุมในข้อหาต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์มากกว่า 40 คน ทั้งนักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ กรรมกร และครูด้วยข้อครหาว่า ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ หวังชักจูงให้หันมานิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์นั้นมีอยู่มากมายหลายคดี
"นายศุภชัย ศรีสติ" กระจายใบปลิววิพากษ์รัฐบาลเผด็จการ
"นายศุภชัย ศรีสติ" ผู้นำสภาคนงานแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อต้านระบอบเผด็จการต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนหน้าการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ "นายศุภชัย ศรีสติ" จบวิศวกรจากญี่ปุ่น เข้าทำงานครั้งแรกที่วิทยุการบิน แม้จะเป็นวิศวกรและเป็นนักเรียนนอกแต่เขานึกเสมอว่า เขาคือกรรมกรคนหนึ่ง แต่ก็มีความภาคภูมิใจ เขารักความเป็นธรรมและเชื่อมั่นในพลังแห่งชนชั้น จึงตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางนักต่อสู้แห่งชนชั้นที่สมาคมกรรมกรไทย
ภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ วันที่ 20 ตุลาคม 2501 ผู้นำกรรมกรหลายคนถูกจับคุมขัง พร้อมกับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนอื่นๆ แต่ "ศุภชัย" และ "สภาคนงานแห่งประเทศไทย" ยังคงกระจายใบปลิววิพากษ์รัฐบาลเผด็จการกับจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างรุนแรง และแจกจ่ายใบปลิวสู่สาธารณชน จนวันที่ 30 มิถุนายน 2502 เขาถูกจับกุมด้วยข้อหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ บ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร และทรยศขายชาติ จนถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยอำนาจตามมาตรา 17 โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม
ประหารชีวิต ครูครอง จันดาวงศ์ ตั้งสมาคมลับต้านเผด็จการ
ครูครอง จันดาวงศ์ ซึ่งเป็นอดีตเสรีไทยสายอีสานร่วมกับ "เตียง ศิริขันธ์" และเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร "ครูครอง" มีบทบาทการต่อสู้ทางการเมืองเคยถูกจับข้อหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนและกบฏสันติภาพ ถูกปล่อยตัวออกมาในช่วง พ.ศ. 2500 กรณีนิรโทษกรรมกึ่งพุทธกาล กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ รัฐประหารครั้งที่สอง เพื่อยึดอำนาจตนเองใน พ.ศ.2501 พร้อมสถาปนาระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ แต่ "ครูครอง" ไม่ได้ถูกกวาดล้างในรอบแรกนี้ แต่ "ครูครอง" ออกจาก ส.ส.มาประกอบอาชีพ เป็นครูควบคู่กับการทำเกษตรกรและค้าขายที่สกลนคร และยังคงทำงานร่วมกับประชาชนเช่นเดิม
ครูครองและเพื่อนจัดตั้งสมาคมลับที่ชื่อ “สามัคคีธรรม” ต่อต้านเผด็จการ อบรมสั่งสอนประชาชนให้รู้จักความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพรวม และอธิบายถึงลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง ท้ายที่สุด "ครูครอง" ถูกล้อมจับในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 และถูกสั่งประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดี ซึ่ง "ครูครอง" ถูกประหารชีวิตพร้อมกับ "ครูทองพันธ์ สุทธิมาศ" ในวัน 31 พฤษภาคม 2501
ถูกเรียกขานเป็นยุค “ปืนปิดปาก”
รัฐบาลให้เหตุผลในการประหารชีวิตครั้งนี้ เป็นการกบฏต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ เพื่อป้องกันการกระทำผิดชนิดนี้ต่อไปภายหน้า พร้อมพูดด้วยประโยคที่ว่า "อีสาน" นั้นมิใช่คนไทย หากแต่เป็นคนลาว และดินแดนอีสานนั้น เดิมทีเป็นรัฐอิสระจนกระทั่งไทยเข้ามาปกครอง "นายครอง" จึงมีการเรียกร้องปลดปล่อยอีสานจากรัฐบาลกลาง และรวมกับพี่น้องฝ่ายประเทศลาว ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องตัดสินประหารชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีคดีปลีกย่อยต่างๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแถบภาคอีสาน ก็จะถูกตั้งข้อหาหนักคือ “ข้อหาการแบ่งแยกดินแดน” ที่ชาวอีสานถูกครหาอย่างมากในสมัยนั้น คนสมัยก่อนทราบกันดีว่า รัฐบาลสมัยนั้นไร้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ใครขัดแย้งกับรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ผลที่ได้คือถูกกวาดล้าง ถูกเรียกขานเป็นยุค “ปืนปิดปาก”
***การเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ เกิดจากโรคตับ โรคไต และอีกหลายโรค เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 หลังถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร เข้ามาปกครองระบอบเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ แต่หลังจากที่ จอมพลถนอม มีอำนาจ คดีอื้อฉาวของจอมพลสฤษดิ์ทั้งเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องผู้หญิง และอื่นๆ โผล่ขึ้นมามากมาย ส่งผลให้ถูกยึดทรัพย์ตกเป็นของรัฐ ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจจอมเผด็จการที่ยังไม่มีใครเทียบได้
ที่มา https://www.thairath.co.th/news/politic/1554221?fbclid=IwAR1sBCk_Hv-wFiOrxJY3YaqFgL6K9piPquIAFpTr2g4eEladph9SJ6tQOtg
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น