เพลงฉ่อยชาววัง

วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563

คุณรู้จัก "สลิ่ม" ไหม??

สลิ่มคืออะไร(รากศัพท์ กร่อนมาจาก ซาหริ่ม หรือ ซ่าหริ่ม)

(คำนาม) บุคคลที่หลงคิดว่าตนมีสติปัญญา คุณสมบัติ ความเชื่อ ค่านิยม หรือจริยธรรมเหนือกว่าผู้อื่น ทว่าแท้จริงกลับไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่สามารถใช้ตรรกะหรือแสดงเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ จึงมักอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมีความเชื่อที่ผิดอยู่เสมอ ทั้งยังปากว่าตาขยิบ มีอคติและความดัดจริตสูง เกลียดนักการเมือง และไม่ชอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน 


สลิ่มมี 4 แบบ

1. สลิ่มมงกุฎเพชร 👑 : พวกนี้ คือ คนที่ได้ประโยชน์โดยตรง มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนใหญ่จะเป็นพวกชนชั้นสูง มีเชื้อฯ มี connection สายตรง จะได้รับผลประโยชน์ทางตรง ทางอ้อมกันอยู่เนื่องๆ เป็นผู้ดี เป็นมีชื่อเสียง เป็นมีออร่า ไปไหนก็ได้รับอภิสิทธิ์ ฯลฯ จะเป็นที่ปลื้มปริ่ม ปลื้มใจของสลิ่มชั้นล่างๆลงมาเสมอ สลิ่มชั้นล่างๆจะยกเป็นไอดอลขึ้นเสรี่ยง 💰

2. สลิ่มไดม่อน 💎 : เป็นสลิ่มกลุ่มรองลงมา ก็เป็นสลิ่มที่ชีวิตดี มีธุรกิจ หรือสลิ่มอำมาตย์ ถ้าเป็น ขรก ก็จะระดับสูง พวกนี้บางทีจะมีธุรกิจที่ต้องอาศัยคอนเนกชั่นต่อมาจากกลุ่มมงกุฎเพชรอีกที เลยต้องทำดีเพราะหวังผลด้านธุรกิจ หรือบางทีก็เป็นเจ้าหน้าที่ที่ต้องโหนกลุ่มแรกเพื่อหวังเลื่อนขั้น เลื่อตำแหน่ง กลุ่มนี้จะค่อนข้างจงรักภักดีต่อระบอบสลิ่ม เพราะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของตัวเอง และมักจะสั่งสอนคนอื่นให้เป็นสลิ่มตามจะได้ประสบความสำเร็จเหมือนตน ยกความสำเร็จของคนมาเป็นตัวชักจูงให้คนอื่นชมชอบระบอบสลิ่ม (เหมือนล่อเข้าคอสขายตรง)

3. สลิ่มคนดีของแผ่นดิน 🙏 : อะกลุ่มนี้ง่ายๆนะ จะไม่ค่อยได้ผลประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอันอะไรกับเขาหรอก แต่จะเป็นนางอิน ดูข่าวสองทุ่มมากเกินไปแล้วอิน จะเป็นนางคนดีในสายตาคนอื่น เป็นคนดีเพื่ออวดไม่ใช่คนดีเพื่อดี ภายนอกจะดูรัก ดูเทิดทูน น้ำหูน้ำตาไหล ตะโกนสุดเสียง เหมือนจะดีนะแต่จริงๆ เกรี้ยวกราดมากเวลาใครคิดเห็นต่างหรือเถียง ตรรกะของกลุ่มนี้ คือ ถ้าเขาเป็นคนดี คือถูก คนอื่นคือต้องผิด กลุ่มนี้จะภูมิใจในความเป็นสลิ่มของตัวเองมาก เพราะสลิ่ม = คนดี แต่ๆเอาจริงๆ ภายนอกดูเป็นคนดี แต่เวลาโมโห คือ ธาตุแท้จะออกเป็นคนละคน เช่น ออกไปรับเสร็จพูดเพราะใช้คำราชาศัพท์แต่กลับมาด่าคนที่บ้านใช้ภาษาหยาบๆคายๆ เป็นต้น

4. สลิ่มฝุ่น : กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นสลิ่มเช่นกัน เป็นกลุ่มที่มีทางเลือกจำกัดในชีวิต และส่วนใหญ่ก็อาจจะเคยได้รับความช่วยเหลือจากสลิ่มกลุ่มบนๆ มาบ้างไม่มากก็น้อย หรือไม่ก็อย่างน้อยการได้ถือสัญชาติสลิ่มก็ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้แย่นะ เขาเป็นคนดีเลยทีเดียว แต่ปัญหาหลักๆก็คือปากท้องอยู่ดี ถ้าอดอยากกลุ่มนี้อาจทิ้งทุกหลักการได้เสมอ

------------------------------------------------------------
 ถ้าไปถามสลิ่ม เขาจะอธิบาย ความหมายสลิ่มแบบนี้

สลิ่มคือ

เหล่าคนเสื้อแดงได้สร้างกลุ่มขึ้นมาเอง แล้วยัดเยียดให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับตนว่าเป็นกลุ่ม "สลิ่ม"

แต่เหล่าคนเสื้อแดงไม่สามารถนิยามได้เลยว่า "สลิ่ม" คืออะไร และทำไมถึงเรียกคนอื่นๆว่า"สลิ่ม"

 จากที่ติดตามวิธียัดเยียดความเป็น"สลิ่ม" โดยเสื้อแดง พบว่า 

"สลิ่ม" คือ ผู้ที่มีความเห็นทางการเมือง แต่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ไม่มีศาสดาทางการเมือง ไม่ยึดติดกับการเมืองพรรคใด เป็นบุคคลที่คิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง

คำถามต่อมา ทำไมเสื้อแดงต้องรวมกลุ่มคนอื่นที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดว่า"สลิ่ม" ทั้งที่เขาก็ไม่ได้รวมกลุ่มกัน

นั่นเพราะวิธีแก้ตัวของเสื้อแดงหลักๆคือ "การสาดโคลนกัน/แกว่าชั้นชั่ว แกก็ชั่วเหมือนกัน" 

ก็คือเอาเรื่องไม่ดีของอีกฝ่ายมาเบี่ยงประเด็นในเรื่องไม่ดีของพวกตน

แต่เนื่องจากกลุ่มที่ไม่ได้รวมกลุ่มกันจะสาดโคลนอะไรก็สาดไม่โดนเพราะพวกเขาไม่ใช่พวกเดียวกันสาดไปก็เท่านั้น

ทำให้เสื้อแดงไม่สามารถให้ร้ายคนที่ไม่สังกัดฝ่ายใดได้

จึงจำเป็นต้องจับคนที่ไม่ฝักฝ่ายใดรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน แล้วเรียกชื่อว่า "สลิ่ม"

ทั้งนี้เพื่อที่ใครไม่ดีได้เอามาว่าเป็นกลุ่ม"สลิ่ม"ไม่ดี

ทั้งที่ไม่เคยกลุ่มดัง"สลิ่ม" และไม่เคยมีผู้นำกลุ่ม "สลิ่ม"

บทสรุปของคำว่า"สลิ่ม" คือจินตนาการของเสื้อแดง

ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรวมกลุ่มสาดโคลนให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดงแต่ไม่สังกัดกลุ่มใด

-------------------------------------------------------

คำ ผกา | เมื่อสลิ่มด่าคนอื่นว่าเป็นสลิ่ม

หลังจากคำว่า “สลิ่ม” ถูกใช้แบบไม่มีใครนิยามความหมายของมันออกมาอย่างเป็นทางการและในช่วงแรกที่มันถือกำเนิดขึ้นมาในโลกการเมืองไทย มันถูกใช้และเข้าใจได้เลยแบบไม่ต้องนิยาม ไม่ต้องพูดมาก

เอ่ยคำว่าสลิ่มออกมา ทุกคนก็เข้าใจตรงกันหมดว่าหมายถึงอะไรเมื่อเข้าใจกันไปโดยปริยายจึงไม่มีใครนิยามคำว่าสลิ่มออกมาอย่างเป็นทางการ

จนเมื่อบริบทการเมืองเปลี่ยน ความเข้าใจต่อคำว่าสลิ่มก็เปลี่ยนและเปลี่ยนไปอย่างน่ากังวลใจ

เมื่อคนที่เป็น “สลิ่ม” เริ่มใช้คำว่า “สลิ่ม” ด่าคนอื่นว่าเป็นสลิ่ม หรือสลิ่มด่าสลิ่มกันเองว่าเป็นสลิ่ม

ฉันเลยคิดว่า เราต้องมาบันทึกความเปลี่ยนแปลงและความหมายของคำว่าสลิ่มกันเสียหน่อย

และการบันทึกไว้นี้ ไม่ได้แปลว่าฉันจะผูกขาดการให้ความหมายของคำว่า “สลิ่ม”

เพราะถ้อยคำใดๆ เมื่อมันถูกใช้อย่างแพร่หลาย ความหมายของมันย่อมถูกผันแปร บิดพลิ้วไปกับผู้คนที่พยายามช่วงชิงอำนาจของการความหมายแก่ถ้อยคำนั้นๆ อยู่เสมอ

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า คำว่าสลิ่ม มาจากซ่าหริ่ม หมายถึงขนมไทยที่มีสีพาสเทล เขียว ชมพู ขาว และสลิ่มกลายมาเป็นคำบริภาษทางการเมืองภายใต้บริบทของการแบ่งขั้วการเมืองออกเป็นสองขั้วคือ สีเหลือง กับสีแดง

สีเหลือง คือขบวนการเสื้อเหลือง อันหมายถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล และกลุ่มลูกจีนรักชาติของเขา ในทาง socio economics หมายถึงคนชั้นกลางที่มีการศึกษาในเมือง

สีแดง หมายถึงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.

ในทาง socio economics หมายถึงคนชนบทผู้สนับสนุนทักษิณ และพรรคไทยรักไทย

เสื้อเหลือง คือใคร และทำอะไร? เสื้อเหลืองคือกลุ่มการเมืองที่เห็นว่ารัฐบาลของไทยรักไทยภายใต้ทักษิณ ชินวัตร กำลังสถาปนาระบอบทักษิณ หรือทักษิโนมิกส์ ใช้นโยบายประชานิยม ทำให้ฐานเสียงในชนบทเทความนิยมให้ไทยรักไทยและทักษิณ ส่งผลให้ชนะการเลือกตั้งต่อเนื่อง และนำไปสู่การสถาปนาระบอบเผด็จการรัฐสภา

กลุ่มคนเสื้อเหลืองสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ผีทักษิณ” ขึ้นมาหลอกหลอนสังคมไทย รวมไปถึงนิทานว่าด้วยทักษิณจะ “ล้มเจ้า”

และการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้เอง นำไปสู่ความชอบธรรมให้กองทัพทำการรัฐประหารปี 2549 ภายใต้เสียงเชียร์เฮ และเสียงเชียร์ของบรรดาประชาชนคนไทยที่ “รู้ทันทักษิณ”

ต้องเสริมด้วยว่าในยุคนั้นการเป็น “เสื้อเหลือง” นั้นเป็นสิ่งที่ดูเท่ ดูฉลาด ดูมีการศึกษา ดูตื่นรู้ทางการเมือง เพราะปัญญาชนชั้นนำของไทยเกือบทั้งหมดเป็นเสื้อเหลือง

นักคิด นักเขียน นักปรัชญา นักสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวการเมืองเพื่อสิทธิมนุษยชน นักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ที่ดิน ชนกลุ่มน้อย ทุกสิ่งอย่างที่มีเครดิตดีๆ ในสังคม ล้วนเป็นเสื้อเหลืองหมด

ทำให้เชื่อได้ว่า การเป็นเสื้อเหลืองนี่แหละ ถูกต้อง ชอบธรรมทางการเมืองสุดๆ เพราะใครๆ ที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ต่อสู้เพื่อผลักดันสติปัญญาของสังคมไทย ต่อสู้กับอวิชชาที่ครอบงำสังคมไทยมานาน ล้วนแต่สมาทานความเป็นเหลืองกันหมดเลย

อาจารย์นักปรัชญาที่เสนอเรื่องอัลธูแซร์ การครอบงำทางการเมืองเชิงอุดมการณ์ ยังเป็นพันธมิตร เป็นสาวกสนธิ

นักเศรษฐศาสตร์การเมืองสายมาร์กซิสต์ ยังเป็นสาวกสนธิ-เฮ้ยยย

ดังนั้น เสื้อเหลืองมันต้องเป็นความถูกต้องชอบธรรมสิ

พูดง่ายๆ ว่า ในยุคนั้น การเป็นเสื้อเหลือง คือกระแสหลักในเชิงความชอบธรรม และความถูกต้อง

แต่ที่ไม่มีใครฉงนเลยคือ ถ้าคนพวกนี้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ความยุติธรรมจริง ทำไมสนับสนุนรัฐประหารวะ?

สีแดงหรือคนเสื้อแดง ถือกำเนิดขึ้นมาหลังจากการรัฐประหารปี 2549 และเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อขบวนการ นปช.เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ใช้สัญลักษณ์สีแดง สวมเสื้อสีแดง และมีแพลตฟอร์มการสื่อสารที่สำคัญมากคือวิทยุชุมชน

จริงๆ แล้วคอนเซ็ปต์ของวิทยุชุมชนเป็นสิ่งที่ empower สามัญประชาชนมาก เพราะมันคือการปลดปล่อยสื่อวิทยุออกจากสัมปทานผูกขาดของรัฐและกองทัพ

นั่นแปลว่าหลุดออกจากกรอบการเซ็นเซอร์ ควบคุมของรัฐไปสู่การสร้างสรรค์รายการวิทยุที่ไม่ต้องมี “มารยาท” แบบเด็กเอ๋ยเด็กดีอีกต่อไป

และในยุคที่วิทยุชุมชนเฟื่องฟู ก็เป็นยุคที่เรามีรายการวิทยุหลากหลาย สนุก น่าฟัง สอดคล้องไปกับความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจรากหญ้าที่คนทำมาหากินคล่อง มีสินค้าโอท็อป ท้องถิ่นดีบ้าง บ้าๆ บอๆ บ้างมาสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์รายการสนุกสนาน

ดีเจ คนจัดรายการวิทยุก็ล้วนเป็นคนข้างบ้าน คนแถวบ้านที่เรารู้จัก คุ้นเคย

ถ้าเสื้อเหลืองเกลียดทักษิณ เสื้อแดงคือคนรักทักษิณ ถ้าเสื้อเหลืองกวักมือเรียกรัฐประหาร เสื้อแดงคือคนที่ประกาศว่า ฉันออกมาทวงคืนประชาธิปไตย และต้านรัฐประหาร

คนเสื้อแดงไม่ได้รักประชาธิปไตยจากทฤษฎี หรือถ้อยคำสวยหรูเรื่องการครอบงำหรือกดขี่อะไรทั้งนั้น

ตรรกะของเสื้อแดงเรียบง่ายกว่านั้นอีกคือ ฉันไปเลือกตั้ง ฉันเลือกพรรคการเมืองที่ฉันคิดว่าบริหารประเทศเก่ง เห็นหัวฉัน ทำให้ฉันอยู่ดีกินดี

พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ฉันเลือก ทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นคนสำคัญ

จากเดิมที่ฉันเป็นเหมือนหมูเหมือนหมาไม่มีใครสนใจ แล้วอยู่ๆ ก็มาไล่นักการเมืองที่ฉันเลือก พรรคการเมืองที่ฉันรักออกไปอย่างไม่ยุติธรรม-แบบนี้มันใช้ไม่ได้

เสื้อแดงเขามากันง่ายๆ แบบนี้เลย นั่นคือ เราถูกรังแก อยากเป็นรัฐบาลทำไมไม่ลงเลือกตั้ง เอาปืนเอารถถังมาจี้มาปล้นกันทำไม

นี่คือที่มาของการแบ่งออกเป็นเหลืองและแดงในสังคมไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นมาตามมาคือ ในครั้งกระโน้น ที่อุดมการณ์เสื้อเหลืองคือกระแสหลัก สื่อหลักทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ปัญญาชน คนชั้นกลาง นักคิด นักเขียน นักปรัชญา เรียกได้ว่าใดๆ ที่เป็นผู้นำทางปัญญาในสังคมล้วนแต่เป็นเสื้อเหลือง พากันบอกว่า เสื้อแดงนี่มันคือควายแดงที่ถูกทักษิณจูงจมูก (และกลายมาเป็นอีกหนึ่งแสลงทางการเมืองไทยคือ อะไรๆ ก็ถูกทักษิณซื้อ)

เสื้อแดงคือคนไม่มีการศึกษา คนชนบทที่เห็นแก่อามิสสินจ้าง ไม่มีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง

คนเสื้อแดงคือคนที่ถูกแกนนำหลอกให้มาชุมนุม หลอกให้สู้เพื่อทักษิณ เดี๋ยวก็โดนทักษิณหลอก

ถ้าจะให้สรุป

เสื้อเหลืองคือกลุ่มคนที่บอกตัวเองรักประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยของคนดี

ถ้ายังเป็นประชาธิปไตยของคนเลวอยู่ก็ขอให้มีรัฐประหารมาล้างไพ่ทางการเมือง จากนั้นไปทำให้คนชนบทหายโง่ เลิกหลงเชื่อนักการเมือง ปราบโกงให้เสร็จ กวาดล้างการคอร์รัปชั่น บลาบลาบลา เสร็จแล้วค่อยมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และมีแต่คนดี คนไม่โกงเข้าไปบริหารประเทศ

เสื้อแดง คือกลุ่มคนที่เห็นว่าคนทำรัฐประหารและคนสนับสนุนรัฐประหารมีสิทธิอะไรมากำจัดรัฐบาลและพรรคการเมืองที่ตนเองเลือก

จากนั้นในห้วงเวลาอีกหลายปีต่อมาบนขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้การเมืองบนท้องถนน คอนเซ็ปต์ประชาธิปไตยสากล และสิทธิพลเมืองในฐานะประชาชนที่ไม่ใช่ไพร่ ค่อยๆ ถูกถักทอขึ้นมาเป็นอุดมการณ์หลักของคนเสื้อแดง

อีกทั้งการได้รู้ได้เห็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานและภาวะตุลาการภิวัฒน์ที่ทำให้ทุกอย่างยิ่งชัดเจนขึ้นสำหรับคนเสื้อแดงว่า ไม่มีประชาธิปไตยก็ไม่มีความยุติธรรม

เมื่ออุดมการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดงไม่ใช่แค่ความเห็นต่างทางการเมือง แต่มันคือสองกลุ่มคนที่ต้องการระบอบการเมืองที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ

เสื้อเหลืองต้องการระบอบ “คนดี” ไม่ต้องมีประชาธิปไตยก็ได้

เสื้อแดงต้องการประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่เกี่ยวกับความดีหรือความเลว

ในระหว่างที่สองกลุ่มนี้ขัดแย้งกันอย่างหนัก และต้องเข้าใจด้วยว่า ท่ามกลางความขัดแย้งกันอย่างหนักนี้ เสื้อเหลืองเป็นลูกรัก เสื้อแดงเป็นลูกชังของรัฐและกลไกรัฐไทย

ฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด อีกฝ่ายแค่หายใจก็ผิดแล้ว

ระหว่างที่ทะเลาะกันสองฝักสองฝ่าย ในสังคมไทยก็บังเกิดคนอีก 2 กลุ่มขึ้นมา นั่นคือกลุ่มคนที่บอกว่า

A. “ชั้นไม่เหลือง ชั้นไม่แดง บางอย่างชั้นเห็นด้วยกับเสื้อแดง บางอย่างชั้นเห็นด้วยกับเสื้อเหลือง มีพื้นที่ให้ชั้นยืนไหม? ทำไมคนเราต้องเลือกข้าง ชั้นขอยืนอยู่ตรงกลาง ชั้นคือคนสองไม่เอา ชั้นฉลาด ชั้นไม่ต้องการผูกตัวเองไว้กับฝ่ายไหนทั้งนั้น เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ ไม่มีใครสู้เพื่อความเป็นธรรมจริงๆ หรอก ประชาชนเป็นเหยื่ออีกแล้วทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ”


B. “โอ๊ย ไม่ชอบเลยการเมืองสีเสื้ออะไรกัน ใครมาเป็นนายกฯ เราก็ทำมาหากินเหมือนเดิมป่ะ ชีวิตมีอะไรอีกตั้งเยอะที่ไม่ใช่การเมือง เราไม่ชอบการเมือง เราไม่สนใจการเมือง เราอยากมีชีวิต มีความสุขไปเรื่อยๆ อ่ะ จะทะเลาะอะไรกันนักหนา”

และสองกลุ่มนี้แหละที่ต่อมาเราเรียกพวกเขาว่าเป็น “สลิ่ม” คือคนที่บอกว่าตัวเองไม่เหลือง ไม่แดง เป็นกลาง กับกลุ่มคนที่บอกว่าการเมืองคืออะไร ทำไมต้องทะเลาะกันจะเป็นจะตาย จะไปเสียเวลากับการเมืองเพื่ออะไร เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า


พอคนกลุ่มนี้ผุดขึ้นมาส่งเสียงแล้วทำท่ารำคาญการเมืองแบ่งขั้วแบ่งข้าง ขอที่ยืนให้คน “กลางกลาง” ได้ไหม คนเสื้อแดงเช่นฉันก็เบ้ปากมองบนหนักมากก่อนจะถ่มคำคำหนึ่งออกมาใส่หน้าคนเหล่านี้ว่า “มึงอ่ะสลิ่ม”

คำว่า “สลิ่ม” ในที่นี้จริงๆ แล้วไม่ได้แปลว่า คนที่ไม่ใช่เหลือง ไม่ใช่แดง แต่แท้จริงแล้วคนเสื้อแดงตอนนู้น รู้ทันคนแอ๊บกลางว่า จริงๆ คือพวก “เสื้อเหลือง” ไม่กล้าใส่เสื้อเหลือง แต่เนียนๆ ทำเป็นรู้เท่าทันทุกสีทุกฝ่าย ทำมาเป็นกลาง( ignorance ความเขลา ความโง่lack of knowledge or information.ขาดความรู้หรือข้อมูล)
แต่ถามว่า จะเอาประชาธิปไตยหรือจะเอา “คนดี” สลิ่มเหล่านี้ก็จะตอบว่า การเมืองที่ดีต้องเริ่มต้นที่ “คนดี” ก่อน

ถามว่าเห็นด้วยกับเสื้อแดงไหม สลิ่มเหล่านี้จะบอกว่า เข้าใจนะว่าเสื้อแดงถูกกระทำ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ออกมาเคลื่อนไหวด้วยใจบริสุทธิ์ เพื่อประชาธิปไตย แต่เสื้อแดงต้องปลดแอกตัวเองออกจากทักษิณก่อนนะ เราไม่แน่ใจว่าเสื้อแดงสู้เพื่อทักษิณหรือสู้เพื่อประชาธิปไตย เราไม่เอาด้วยหรอก

พูดให้กระชับคือ สลิ่มคือ “เสื้อเหลือง” ที่มีหลายเฉดมาก และเฉดของเสื้อเหลืองที่ไล่โทนไปจนเกือบแดง คือเฉดส้มๆ นั้นจะเป็นสลิ่มที่ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาเผด็จการ ขณะเดียวกันก็ฝันถึงการเมืองของคนดีมีอุดมการณ์ การเมืองที่ปราศจากการใช้เงิน เครือข่ายครอบครัว พวกพ้อง มือสะอาด ปากคาบคัมภีร์ พูดทฤษฎีหรูหรา ปลุกความเป็นนักสู้ผู้เหยียดตรงดั่งคมทวน อยู่ไม่เป็น สู้กว่าไม่ว่าใคร สู้ไปไม่กราบ ฯลฯ

ทำงานการเมืองภาคปฏิบัติทำยังไงไม่มีใครรู้ แต่สลิ่มกลุ่มนี้จะชูจุดขายว่าตัวเองสู้กว่าใคร กระดูกสันหลังตรงกว่าคนอื่น และขายฝันถึงการเมืองใหม่ที่ใสสะอาดสุดๆ ไปเลย

ซึ่งสำหรับฉันฟังแล้วก็เอ๊ะว่า อ้าว นี่คือการนำวาทกรรมการเมือง “คนดี” กลับมาเฉยเลย

พอมาจุดนี้ เสื้อแดงที่สู้แค่ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง จากนั้นเห็นว่าการเมืองในอนาคตจะออกมาแบบไหน ก็เป็นเรื่องที่การเมืองจะ "พลวัต" ด้วยตัวมันเอง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำกรอบสำเร็จรูปอย่างที่เราเห็นว่าดี แล้วจับทุกคนลงไปยัดไว้ในกรอบนั้น

ภาวะจะเอาทั้งประชาธิปไตยและอยากได้คนดีและการเมืองบริสุทธิ์ผุดผ่องดั่งสาวพรหมจรรย์ไปพร้อมๆ กันนั้น ตอนหลังมีคนเรียกว่า นีโอสลิ่ม

ในกลุ่มนีโอสลิ่มมีทั้งอดีตพันธมิตรฯ กปปส.กลับใจ มีทั้งคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งที่สุดท้ายก็งุ่นง่านว่าพรรคการเมืองที่ตัวเองเชียร์ไม่ได้อย่างใจ ทำไมไม่ลุกขึ้นมาเป็นเชกูวาราเสียที

ผ่านไปกว่าสิบปีที่ลมเปลี่ยนทิศ การเรียกร้องประชาธิปไตยแมสแล้ว เป็นกระแสหลักแล้ว คำว่าสลิ่มกลายเป็นคำด่าไปอย่างสมบูรณ์แบบในบริบทสังคมการเมืองไทย

ณ ตอนนี้ สลิ่ม หมายถึง

– คนสนับสนุนเผด็จการ

– คนที่ยังเชื่อในโฆษณาชวนเชื่อของรัฐไทยในทุกมิติ ทั้งการเมือง ประวัติศาสตร์ คุณค่าแห่งความเป็นไทย เช่น มีคนบอกว่าคำตอบของวีณาในเวที MUT เป็นคำตอบที่ “สลิ่ม”

– คน ignorance ทางการเมืองที่บอกว่าอย่าเปลี่ยนแปลงการเมืองเลย เปลี่ยนที่ตัวเองก่อนเถอะ ทำความดีเล็กๆ สะสมไปเรื่อยๆ ทำบุญทำทานดีกว่าไหม จะไปประท้วงหรือม็อบให้บ้านเมืองวุ่นวายทำไม

ทีนี้เมื่อประชาธิปไตยแมส และกลายเป็นกระแสหลัก ตอนนี้ถ้าใครถูกด่าสลิ่ม เลยเป็นคำด่าที่แรงมาก และที่ตลกสุดๆ คือ ตอนนี้มีสลิ่มที่ไม่รู้ที่มาที่ไปทางการเมือง แต่อาจจะแค่เกลียดประยุทธ์ as a person กระโดดมาร่วมในขบวนการขับไล่เผด็จการ แต่ลำพังการเกลียดประยุทธ์ไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณของความเป็นสลิ่มหายไป

คนเหล่านี้ เมื่อไม่ถูกใจใคร หรืออะไร ก็เริ่มบอกว่าคนที่คิดไม่เหมือนตัวเองคือสลิ่ม

ช่วงนี้คนเสื้อแดงจำนวนมากก็เลยถูกสลิ่มที่คิดว่าตัวเองเลิกเป็นสลิ่มแล้วด่าว่าเป็น “สลิ่ม”

มองในแง่ของการเปลี่ยนแปลงความหมายของภาษาก็สนุกดี แต่มองในมุมของคนพยายามแก้ผ้าสลิ่มมาตลอดอย่างฉันก็อยากจะย้ำอีกครั้งว่า หัวใจของความเป็น “สลิ่ม” คือ การเป็นเสื้อเหลืองจำแลง ถ้าเสื้อเหลืองเป็น fundamentalist ของฝ่ายตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย (สนธิ, หมอวรงค์) สลิ่มคือการปลอมตัวเองเป็นนักประชาธิปไตย (นักสันติวิธี, นักสิทธิมนุษยชน, นักวิชาการ, ปัญญาชน, นักปรัชญา, เอ็นจีโอ – ที่อ้างคำพูดหรูๆ เหมือนจะอยู่ข้างประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วบั่นทอนความเข้มแข็งของการเมืองมวลชนและพรรคการเมืองของมวลชนมาตลอด)

ตอนนี้สลิ่มน่าจะมีความหมายสองระดับ

ระดับตื้นๆ สลิ่มเป็นหน่วยเสียงเอาไว้ถ่ายทอดความไม่พอใจของเราต่อบุคคลอื่นได้อย่างทั่วไป เช่น พอรู้สึกโมโหแล้วได้สบถคำว่าสลิ่มออกมาดังๆ แล้วเกิดความสบายใจ

ระดับลึก คือเป็นคำที่หมายถึงความ fake ในหลายระดับและหลายมิติมากในสังคมไทย ซึ่งมันเริ่มมาจากการ fake ว่าตัวเองเป็นกลางทางการเมือง ทั้งๆ ที่ตัวเองสมาทานทุกอุดมการณ์แบบคนเสื้อเหลือง เป็นต้น

วันนี้เชื่อว่าหลายคนด่าคนอื่นว่าเป็นสลิ่ม โดยที่ตัวเองก็ยังเป็นสลิ่มอยู่

------------------------------------------------

กระแสรณรงค์ให้เลิกใช้คำว่า สลิ่ม เกิดขึ้นในปี 2561 เริ่มจาก ”วาด ระวี” นักประพันธ์ที่เสนอว่าคำดังกล่าวเป็นคำเหยียดหยามในทำนองเดียวกับคำว่า “ควายแดง”

บก.ลายจุดออกมาขานรับความคิดนี้ มติชนบันทึกแนวคิดของเขาว่า “คำนี้เป็นเหมือนคำด่า เช่นเดียวกับการเรียกฝ่ายประชาธิปไตยว่า ควายแดง หรือพวกเผาบ้านเผาเมือง โดยเป็นวาทกรรมที่ใช้ต่อสู้ทำลายล้างความน่าเชื่อถือสำหรับทิ่มแทงกัน”

------------------------------------------------

ภาษาไทยวันละคำ
"พลวัต"

สถาพร ศรีสัจจัง

วงวิชาการไหนๆในห้วงเวลา 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ย่อมคุ้นชินกับคำ “พลวัต” ที่แปลบาลีสันสกฤตเป็นความหมายไทยแบบง่ายๆได้ประมาณว่า ก็คือ “พลังที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง” หรือ “พลังของความเปลี่ยนแปลง” นั่นเอง คำนี้ดูเหมือนจะแปลมาจากคำ “Dynamic” ในภาษาฝรั่งอังกฤษ ซึ่งราชบัณฑิตสถาน อธิบายไว้ดีว่า “มีพลังเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตรงข้ามกับคำ Static ซึ่งมีความหมายว่าหยุดนิ่งอยู่กับที่ ...” คนในวงวิชาการสมัยใหม่มักนำเอาคำ “พลวัต” มาเชื่อมต่อกับคำขยายอื่นๆเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ของสังคมไทยอยู่เสมอๆ เช่น คำ “พลวัตวัฒนธรรม” หรือ “พลวัตทางการเมือง” เป็นต้น

ความเคลื่อนเปลี่ยนตามลักษณะความเป็น “อนิจจัง” ของ “สิ่ง” ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ ที่จริงปรากฏชัดอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนามาเนิ่นนานนักหนาแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่เมื่อเกือบ 3,000 ปีก่อน คนในประเทศที่ศาสนาพุทธได้สถิตเสถียรสถาพรมาแต่นมนานอย่างประเทศไทย จึงน่าจะเป็นมนุษย์พวกหนึ่งที่ควรจะเข้าใจความหมายของคำนี้ได้ดี

แต่ดูๆไปแล้วแทบอาจจะพูดได้ว่า ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ หรือยังไม่สามารถยึดกุมแก่นความหมายของคำนี้มาเป็นสรณะทางความคิดได้ จึงยังมักติดหนึบอยู่กับความคิดแบบที่ภาษาฝรั่งเรียก “Static” นั่นไง

โดยเฉพาะในหมู่นักการเมืองกลุ่มต่างๆที่ผลัดกันมาเป็น “ผู้ปกครอง” ประเทศไทย(จนเละ!) รุ่นแล้วรุ่นเล่า!

ยิ่งเสียงปี่เสียงกลองเรื่องเลือกดังตั้งถี่กระชั้นขึ้นเท่าไหร่ การสำแดงออกถึงความคิดแบบ Static ก็ยิ่งเหมือนจะสำแดงผ่านปากคำ(เชิงผรุสวาทใส่กัน)ของคนกลุ่มนี้มากขึ้นทุกทีๆ จนหูของชาวบ้านร้านตลาด(ถ้าจะเงี่ยฟังเพราะสนใจเรื่องเหล่านี้อยู่บ้าง)แทบจะแตกเอาได้ทีเดียว!

สถานีโทรทัศน์บางช่อง(ที่สำแดงตนชัดว่ากำลังถ่ายทอดรูปแบบและเนื้อหาทางความคิดของนักการเมืองกลุ่มไหน/พรรคใด) ถึงขนาดสาดทัศนะของตนและพวกพ้องตนใส่ผู้ที่มีแนวคิดไม่ตรงตามที่กลุ่มตนต้องการแบบ “ตัดสินพิพากษา” เลยทีเดียวว่า เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นซ้ายเป็นขวา เป็นเผด็จการเป็นประชาธิปไตย เป็นสับสนเป็นอนุรักษ์นิยม(Conservative) ฯลฯ

นี่ถ้าพวกเขาตระหนักสักนิดและนำกรอบคิดเกี่ยวกับ “ความมีพลวัต” ของสังคมไทยมาอธิบาย เหมือนที่นักคิดนักปฏิบัติระดับ “เกจิ” ในอดีตหลายท่านได้นำมาใช้ ดังเช่นที่ปรากฏชัดในแนวคิดเรื่อง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ของ ท่าน “รัฐบุรุษอาวุโส” ผู้นำเปลี่ยนแปลงการปกครองฝ่ายพลเรือนเมื่อปี พ.ศ.2475 ดร.ปรีดี พนมยงค์ เคยใช้อธิบายสังคมไทยไว้ พวกเขาคงไม่เร่งพิพากษาสวมหมวกให้ใครได้ง่ายๆว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้( เช่น ครั้งหนึ่งบังเอิญได้ดูการวิเคราะห์แนวคิด ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ของทีวีบางช่องที่สรุปตัดสินแนวคิดของนักการเมืองท่านนี้ในทำนองว่าเป็น “ขวาอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว” และ “ความคิดมั่วเต็มที” หรืออะไรประมาณนั้น เพียงจากการฟังหรืออ่านบทสัมภาษณ์นักการเมืองท่านนี้เพียงเรื่องเดียวและครั้งเดียว เป็นต้น)

อย่างนี้เองที่เรียกว่าไม่เข้าใจว่าสังคม(โดยเฉพาะความคิดคนในสังคมทุกเรื่อง)ล้วนแล้วแต่มีพลวัตทั้งสิ้น โดยเฉพาะพลวัตในเรื่อง “รูปแบบ” ของ “สิ่ง” ทั้งหลายทั้งปวงที่ต้องเคลื่อนเปลี่ยนไปตามข้อจำกัดและเงื่อนไขจำเพาะทางประวัติศาสตร์ของ “สิ่ง” นั้นๆ

เช่น เนื้อหาและรูปแบบของระบอบการเมืองระบอบหนึ่งที่ชอบพูดถึงกันกันนักหนา คือ “ระบอบประชาธิปไตย” (Democrecy)นั่นไง!

อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน(อย่างน้อยก็ตั้งแต่ประธาน เหมา เจ๋อ ตุง ยึดอำนาจรัฐหรือ “รัฏฐาธิปัตย์” มาได้ ก็เรียกการปกครองระบอบจีนใหม่ว่า “ระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์” เพียงแต่ “ประชาธิปไตย” ของจีนยุคใหม่ดังกล่าว(หลังยุคเจียง ไค เจ๊ก)ไม่ใช่ “Democracy” ที่มี “รูปแบบ” เหมือนกับ “ประชาธิปไตย” แบบตะวันตก(ทั้งยุโรป/อเมริกา)ที่เมืองไทยเราพยายาม “ลอกแบบยกมาครอบ” สังคมไทย (แต่ไม่เคยสำเร็จจริง)

หรือใครหน้าไหนจะกล้าตัดสินว่า “ประชาธิปแบบของสาธารณรัฐประชาชนจีน” จะไม่เหมาะกับประเทศนั้น ทั้งในด้านพื้นที่และเวลาที่ผ่านมา ตาม “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ของสังคมพวกเขาเอง?

ค่อยเห็นขึ้นบ้างหรือยัง ว่า ความเข้าใจเรื่อง “พลวัตของรูปแบบและเนื้อหา” มีความสำคัญอย่างไร?

----------------------------------------------------------

(เชื่อว่ายังจะมีต่อเรื่อย ๆ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น