เพลงฉ่อยชาววัง

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2559

เจรจารถไฟไทย-จีน : ในกรอบความร่วมมือ ยังมีกรอบความรู้สึก

เจรจารถไฟไทย-จีน : ในกรอบความร่วมมือ ยังมีกรอบความรู้สึก 
โดย : กาแฟดำ
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/636613
====================================================
ดูเหมือนปัญหาการสรุปข้อตกลง “รถไฟไทย-จีน” ที่ยังคาราคาซัง ลงนามเพียงแค่ “กรอบความร่วมมือการทำงาน” หรือที่เรียกว่า Framework of Cooperation (FOC) ทั้ง ๆ ที่เจรจากันมา 9 รอบย่อมเป็นตัวอย่างของการต้องเรียนรู้ระหว่างกันอย่างน่าสนใ

หนีไม่พ้นที่คนไทยจะต้องเปรียบเทียบ ระหว่างรถไฟไทย-จีน กับรถไฟไทยญี่ปุ่น เพราะเรากำลังเชิญชวนสองยักษ์แห่งเอเซีย มามีบทบาทสำคัญในการสร้าง “โครงสร้างพื้นฐาน” สำหรับประเทศไทยเพื่อการพัฒนาประเทศในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

ใครให้เงื่อนไขดีกว่า ใครเข้าใจเรามากกว่า ใครจริงใจมากกว่าก็ย่อมจะชนะใจคนไทยได้มากกว่า

ว่ากันว่าการเจรจากับญี่ปุ่นแม้จะช้าและลงรายะเอียดมาก มีขั้นตอนการอนุมัติยาวเหยียด แต่พอตกลงกันได้แล้วทุกอย่างก็เดินไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบ ไม่ต้องเหลียวหลังมามองปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยกขึ้นมาก่อนหน้า
บางคนบอกว่าสไตล์การเจรจากับญี่ปุ่นเริ่มจากล่างไปบน
ว่ากันว่าการเจรจากับจีนจะแตกต่างกับญี่ปุ่น ตรงที่ว่าเริ่มต้นจะรับปากกันอย่างมั่นเหมาะ เป็นข่าวเป็นคราวกันใหญ่โต แต่พอลงรายละเอียดก็จะเจอกับประเด็นที่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันไปคนละทางมาก่อน ทำให้ต้องเจรจากันหลายรอบ

คนที่มีประสบการณ์บอกว่าวัฒนธรรมการเจรจาของจีนจากบนลงล่าง
ผมไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่จีนกับญี่ปุ่นเขาพูดถึง “วัฒนธรรมการเจรจา” ของไทยเราเป็นอย่างไร ลงขึ้นบน หรือบนลงล่าง หรือกลางขึ้นบนและลงล่าง แต่ก็คงจะเป็นเรื่องที่เขาวิเคราะห์เราเพื่อหาวิธีการที่จะหาข้อตกลงให้ได้
แต่ไม่ว่าสไตล์การเจรจาของใครจะเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดก็คือแต่ละประเทศย่อมจะเอาผลประโยชน์ของตนเป็นตัวตั้ง จะตกลงกันได้หรือไม่ก็อยู่ที่ต่อรองว่าใครจะยอมลดเงื่อนไขของตนให้อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายรับได้เท่านั้นเอง

หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบชัดเจนก็ย่อมจะหาข้อยุติกันได้ยาก และแม้ว่าฝ่ายหนึ่งจะใช้แรงกดดันอีกด้านหนึ่ง มาให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมในการเจรจาเรื่องนั้น ๆ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าไม่มีใครยอมเสียเปรียบตลอดไป

แม้จะลงนามกันไปแล้ว หากฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ แต่ต้องยอมรับเงื่อนไขของอีกฝ่ายหนึ่งเพราะเหตุผลอื่น ความร่วมมือก็ไม่อาจจะราบรื่นได้ ปัญหาก็จะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการ และเมื่อความรู้สึกของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นไปทางลบแล้ว ความสัมพันธ์ลึก ๆ ก็จะมีปัญหา และโครงการนั้นก็ไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้ในที่สุดอยู่ดี

ข่าวบอกว่าประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้เรื่องรถไฟไทย-จีน และต้องประชุมรอบที่ 10 ในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์นั้น เพราะยังเห็นไม่ตรงกันเรื่องเม็ดเงินที่จะลงทุน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จีนจะคิด และสัดส่วนของการลงทุนรวมไปถึงเรื่อง “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่จีนกำหนดไว้สูงกว่าของไทยมากนัก และดูเหมือนจะมีการผูกโยงกับการที่จีนจะซื้อข้าวไทย 1 ล้านตัน เกิดประเด็นว่าจีนจะซื้อข้าวใหม่ไม่เอาข้าวเก่าอะไรทำนองนั้น

รายละเอียดจริง ๆ เป็นอย่างไร ทั้งสองฝ่ายไม่ได้เปิดเผยให้สาธารณชนทั้งไทยและจีนได้รับทราบ มีแต่รัฐมนตรีคมนาคมแจกแจง ว่ายังต้องเจรจากันต่อในหัวข้อที่เอ่ยมาทั้งหมดนี้

แต่ผมเชื่อว่าไทยคาดหวังว่าท่าทีของจีนในเรื่องนี้ จะสอดคล้องกับคำประกาศบ่อย ๆ จากผู้นำจีนว่า “ไทย-จีนมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” โดยเฉพาะเมื่อไทยพร้อมจะเป็นผู้ร่วมมือในการเป็นตัวเชื่อม “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21” ภายใต้ความริเริ่ม One Belt, One Road นั่นย่อมแปลว่าไทยจะแสดงความเข้าใจและยืดหยุ่น พอที่จะทำให้คนไทยได้เห็นว่า การสร้างเส้นทางรถไฟไทย-จีนครั้งนี้ต้องเป็น “win-win” สำหรับทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง
การลงทุน 4-5 แสนล้านบาทสำหรับโครงการนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับงบประมาณไทย แต่เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ สำหรับจีน หรืออัตราดอกเบี้ยระหว่าง 2.5% กับ 2% นั้นสำหรับจีนเป็นเรื่องย่อยแต่สำหรับไทยเป็นเรื่องใหญ
เป็นเรื่องใหญ่ไม่เพียงเพราะเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง และงบประมาณกับความคุ้มค่าของการลงทุนเท่านั้น

แต่สำคัญกว่านั้นคือเรื่องของความรู้สึกต่อมิตร และศักดิ์ศรีของความเป็น “หุ้นส่วนที่เท่าเทียม” มากกว่าเพียง “ผู้ร่วมลงทุน” เท่านั้น
จีนยังมีบทบาทกว้างขวางกว่าเพียงเรื่องของไทย เรื่องความร่วมมือในลุ่มน้ำแม่โขงจีนก็เข้ามา “คลุกวงใน” มากขึ้น พรุ่งนี้ว่าต่อครับ
(ยังมีต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น