เพลงฉ่อยชาววัง

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

แผนที่เขตพิพาทในทะเลตะวันออก

เมื่อกางแผนที่เขตพิพาทในทะเลตะวันออก ที่กินอาณาบริเวณทั้งทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก และทะเลญี่ปุ่น พบคู่ขัดแย้งที่อ้างสิทธิเหนือพื้นที่พิพาทในทะเลตะวันออกมากถึง 8 ราย ซึ่งน่าสังเกตว่า ข้อพิพาทเหนือเขตแดนทางทะเลเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลเชิงประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่ยังมีปัจจัยเชิงเศรษฐกิจเป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางคมนาคมเชิงพาณิชย์ แหล่งประมง และทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมัน เริ่มจากทะเลจีนใต้ที่มีคู่ขัดแย้งมากหน้าหลายตา เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญอย่างน้ำมันให้แย่งชิง ซึ่งประเมินกันว่าพื้นที่นี้อาจมีปริมาณน้ำมันสำรองที่ยังไม่ยืนยัน (unproven oil reserves) มากถึง 2.13 แสนล้านบาร์เรล
พื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ที่สำคัญมี 3 แห่ง คือ สันดอนสกาโบโรห์ หมู่เกาะพาราเซล และหมู่เกาะสแปรตลีย์
สันดอนสกาโบโรห์ หรือ "หวงหยาน" ในภาษาจีน และ "ปานาตัก" ตามการเรียกของชาวฟิลิปปินส์ มีผู้เล่นที่อ้างกรรมสิทธิ์ 3 ราย ได้แก่ จีน ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เรือประมงของจีนและฟิลิปปินส์ต่างเผชิญหน้ากับเรือตรวจการณ์ของอีกฝ่ายเป็นระยะ ฝ่ายจีนอ้างว่าเป็นฝ่ายค้นพบเกาะนี้ตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อน และเริ่มสำรวจอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 1822 ขณะที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเกาะแห่งนี้อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตน
หมู่เกาะพาราเซล หรือ "ซีชา" ในภาษาจีน และ "หวงซา" ในภาษาเวียดนาม อยู่ภายใต้ข้อพิพาทของ 3 ฝ่าย ได้แก่ จีน ไต้หวัน และเวียดนาม หมู่เกาะแห่งนี้มีแนวหินและแนวปะการังที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ 130 แห่ง มีระยะห่างจากแถบชายฝั่งตอนกลางของเวียดนามและจีนตอนใต้ใกล้เคียงกันที่ 180 ไมล์ทะเล นับเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งมีศักยภาพเรื่องแหล่งก๊าซและน้ำมันสำรองขนาดใหญ่ ทั้งคู่ต่างสู้ยิบตาเพื่อให้ได้ชัยชนะ ดูอย่างจีนที่เร่งคุมเกมด้วยการเข้าไปตั้งเมืองใหม่ และตั้งฐานกำลังทหารไว้ด้วย ขณะที่ในวันเดียวกัน เวียดนามผ่านกฎหมายที่อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะพาราเซล
หมู่เกาะสแปรตลีย์ มีชื่อจีนว่า "หนานชา" ส่วนคนฟิลิปปินส์เรียก "คาลายาน" มีผู้เล่นเปิดศึกแย่งชิงมากถึง 6 ราย ได้แก่ จีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน หมู่เกาะแห่งนี้ส่วนใหญ่ร้างผู้คน แต่เป็นทำเลเชิงยุทธศาสตร์ เป็นแหล่งประมง ทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซ โดยจีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อ้างอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดหรือบางส่วน บนพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ แต่มาเลเซียและบรูไนอ้างสิทธิเหนือเกาะทางใต้บางแห่งเท่านั้น การปะทะบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์เกิดขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว เมื่อเวียดนามกล่าวหาเรือของจีนว่าโจมตีเรือสำรวจน้ำมันของเวียดนาม หลังจากนั้น 1 เดือน ทางการปักกิ่งก็อ้างว่าเรือของกองทัพเวียดนามขับไล่เรือประมงของตน
สำหรับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนตะวันออก คือ เกาะเซนกากุในภาษาญี่ปุ่น หรือเตียวหยูในภาษาจีน มีผู้เล่นที่ป่าวร้องกรรมสิทธิ์ 3 ราย ได้แก่ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น หมู่เกาะและแนวหินโสโครกที่ร้างผู้คนแห่งนี้ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างจีนและญี่ปุ่นเป็นระยะ ชนวนที่ทำให้วิกฤติทางการทูตปะทุขึ้นเมื่อปี 2553 มาจากการที่ญี่ปุ่นจับเรือประมงจีนที่ปะทะกับเรือตรวจการณ์ และปล่อยตัวลูกเรือไปในเวลาต่อมา คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้


ด้านแนวรบในทะเลญี่ปุ่น หรือทะเลตะวันออกของเกาหลี เป็นคิวของคู่ขัดแย้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เหนือหมู่เกาะลีอังคอร์ท หรือด๊อคโดในภาษาเกาหลี และทาเคชิมาตามภาษาญี่ปุ่น ที่ต่อสู้กันมานานถึง 6 ทศวรรษ ปัญหาพิพาทระหว่าง 2 ชาติคุกรุ่นขึ้นอีกครั้ง หลังประธานาธิบดีลี เมียง-บัค แห่งเกาหลีใต้ เพิ่งเดินทางไปเยือนเกาะด๊อคโดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่ญี่ปุ่นยืนกรานให้แก้ปัญหาขัดแย้งด้วยการส่งเรื่องให้ศาลโลกตัดสิน แต่เกาหลีใต้ปฏิเสธแนวทางนี้โดยอ้างว่าเกาะ ด๊อดโดอยู่ในอธิปไตยของแดนโสมขาวอยู่แล้ว
นอกเหนือจากการเผชิญหน้าระหว่างคู่ขัดแย้งทั้ง 8 ยังต้องจับตาบทบาทของ "สหรัฐ" ที่เข้ามามีเอี่ยวในแถบนี้ โดยอ้างว่าทะเลจีนใต้เป็น "ผลประโยชน์แห่งชาติ" ของอเมริกัน ท่ามกลางข้อครหาว่าพญาอินทรีพยายามปิดล้อมพญามังกร หลังจีนแผ่อิทธิพลมากขึ้นในภูมิภาคนี้
สหรัฐ ประกาศยุทธศาสตร์หวนกลับสู่เอเชีย (back to Asia) ซึ่งหมายถึงการกลับมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากขึ้น หลังจากทิ้งขว้างไปในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงการกลับมาใช้ฐานทัพเดิมในสมัยสงครามเวียดนาม ทั้งคัมรานห์เบย์ในเวียดนาม และซูบิกเบย์ในฟิลิปปินส์ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาค

ยังไม่นับรวมเหตุผลทางเศรษฐกิจ ที่มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐสนใจทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ที่มีมหาศาลในเอเชียแปซิฟิก ทั้งแหล่งน้ำมันสำรองในทะเลจีนใต้ที่อาจมีมากถึง 2.3-3 หมื่นล้านตัน เรียกว่าน้องๆ อ่าวเปอร์เซีย ขณะที่ภูมิศาสตร์การเมืองของทะเลจีนใต้ก็เป็นเส้นทางติดต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย



**************************************************
ทะเลจีนใต้ (อังกฤษ: South China Sea; จีน: 南海) เป็นทะเลปิดที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่ประเทศสิงคโปร์ไปจนถึงช่องแคบไต้หวัน รวมทั้งอ่าวตังเกี๋ยและอ่าวไทย มีเนื้อที่ประมาณ 3,500,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญเพราะมีเส้นทางขนส่งทางเรือผ่านคิดเป็นหนึ่งในสามของโลก นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า ใต้พื้นทะเลมีน้ำมันและแก๊สธรรมชาติสำรองขนาดใหญ่ด้วย[1]

อาณาเขตของทะเลจีนใต้ อยู่ทางใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวัน, ตะวันตกของฟิลิปปินส์, ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐซาบาห์และรัฐซาราวักของมาเลเซียและบรูไน, เหนือของอินโดนีเซีย, ตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายูและสิงคโปร์ และตะวันออกของเวียดนาม

หมู่เกาะทะเลจีนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกาะ มีจำนวนหลายร้อยเกาะ ทะเลและเกาะที่ไม่มีคนอยู่อาศัยส่วนใหญ่นี้เป็นหัวข้อพิพาทอธิปไตยโดยหลายประเทศ ข้อพิพาทเหล่านี้ยังได้สะท้อนในชื่ออันหลากหลายที่ตั้งให้เกาะและทะเล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น