เพลงฉ่อยชาววัง

วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559

IMF คืออะไร ทำไมถึงมีบทบาทเป็นเจ้าหนี้ของโลก

IMF คืออะไร มีที่มาและที่ไปอย่างไร กลไกการทำงานของไอเอ็มเอฟอยู่ในรูปแบบไหน และทำไมถึงมีบทบาทสำคัญต่อหลายประเทศ เรามาทำความรู้จักกับ IMF ไปพร้อม ๆ กัน

        เวลา 22.00 น. จีเอ็มที หรือตรงกับเวลา 05.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ของวันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2558 คือวันและเวลาที่ IMF ได้ขีดเส้นตายให้กับประเทศ กรีซ ในการชำระหนี้จำนวน 1,500 ล้านยูโร หรือประมาณ 56,400 ล้านบาท (1 ยูโร เท่ากับ 37.5 บาท) ซึ่งล่าสุดกรีซก็ได้ผิดนัดชำระหนี้อย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้การผิดนัดชำระหนี้จำนวน 1,500 ล้านยูโร ของกรีซนั้น ถือเป็นจำนวนหนี้ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ IMF รวมถึงทำให้กรีซเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกที่ผิดนัดชำระหนี้ต่อ IMF

          หลายคนคงเริ่มสงสัยว่าประเทศกรีซ ซึ่งใช้สกุลเงินยูโร โดยว่ากันว่ายูโร เป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีเสถียรภาพสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทำไมถึงต้องไปกู้เงินจาก IMF แล้ว IMF คือใครมาจากไหน ทำไมถึงมีเงินให้กู้มากมาย เงินเหล่านั้นมาจากที่ใด วันนี้ มีคำตอบมาฝากกันค่ะ

IMF คืออะไร ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด

     
   IMF ย่อมาจาก International Monetary Fund หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะกองทุนการเงิน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 โดยแนวคิดการก่อตั้ง IMF มาจากที่ประชุมว่าด้วยเรื่องการเงินและการคลังแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Monetary and Financial Conference ณ เมืองเบรตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในนาม การประชุมเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods Conference)

        โดย 44 ชาติในที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันที่จะสร้างกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนของการแข่งขันด้านการลดค่าเงิน ซึ่งมีส่วนช่วยกู้วิกฤตสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือที่เรียกว่า Great Depression ที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1930 นอกจากนี้ IMF ยังมีหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือทางด้านการเงินระหว่างประเทศ, เสริมสร้างเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ, สนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน

        สำหรับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงนั้น เกิดขึ้นโดยเริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากเหตุการณ์หุ้นตกอย่างรุนแรงในตลาดหุ้น Wall Street เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ปี 1929 และยังตกต่อเนื่องอีกหลายครั้ง จนมาหนักที่สุดในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 1929 จึงเรียกวันนั้นว่า Black Tuesday หรือ วันอังคารสีดำ ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตกลงกว่า 50% ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ทำให้นักลงทุนและนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นขาดทุนอย่างหนัก จนถึงขั้นล้มละลายกันไปหลายราย ฟองสบู่เศรษฐกิจที่สะสมมาหลายปีจึงแตกออก ตามมาด้วยภาวะแห้งแล้งในปี 1930 สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจจริงก็เกิดภาวะถดถอย

        หนำซ้ำยังถูกซ้ำเติมด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางทั่วโลก, การล้มละลายของธนาคารพาณิชย์ 744 แห่งในสหรัฐฯ ภายในเพียง 10 เดือนแรกของปี 1930 (ตลอดทศวรรษที่ 30 นั้นมีธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ต้องปิดกิจการลงกว่า 9,000 แห่ง), การค้าระหว่างประเทศที่หดตัวจากการตั้งกำแพงภาษีการค้าระหว่างกัน ส่งผลให้ในสหรัฐฯ มีคนตกงานในปี 1932 สูงถึง 34 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดราว 122 ล้านคน, รายได้ต่อประชากรลดลง 40%, มีคนถูกไล่ออกจากบ้านกว่า 273,000 ครอบครัว และมีคนอเมริกันกว่า 60% ถูกจัดว่าเป็นคนจนตามดัชนีชี้วัดของรัฐบาลกลางในขณะนั้น

แหล่งเงินทุน
IMF มาจากไหน กับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่
        IMF มีบทบาทหน้าที่หลักในการดูแลเศรษฐกิจ ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิก เพื่อให้ระบบการเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ แต่ส่วนใหญ่ที่เราเห็นจากข่าวจะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ปประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน (ชำระหนี้ไม่ไหว) เพื่อช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงการกู้เงินประเภทต่าง ๆ ซึ่งประเทศที่ขอความช่วยเหลือจะต้องดำเนินนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดุลการชำระเงินตามที่กำหนดในจดหมายแสดงเจตจำนง

        ทั้งนี้เงินทุนของโครงการเงินกู้ของ IMF ได้มาจากการชำระเงินค่าโควตาของประเทศสมาชิกเป็นสำคัญ ดังนั้น ความสามารถในการให้กู้ของ IMF จึงกำหนดโดยโควตารวมของประเทศสมาชิกเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม IMF สามารถกู้ยืมจากประเทศที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งจำนวนหนึ่งได้ภายใต้ความตกลงให้กู้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

        ส่วนที่บอกว่า "โควตา" นั้น หมายถึงเมื่อมีประเทศใดก็ตามเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ IMF ประเทศนั้นจะได้รับการจัดสรรโควตาสกุลสิทธิพิเศษถอนเงิน หรือ SDR ตามขนาดของเศรษฐกิจและความสำคัญของประเทศสมาชิกนั้น ๆ เทียบกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งโควตามีบทบาทสำคัญในการกำหนดสิทธิและวงเงินกู้ของประเทศสมาชิก พูดง่าย ๆ ก็คือ ประเทศสมาชิก IMF จะได้รับคะแนนเสียงพื้นฐานเท่ากันเป็นจำนวน 250 คะแนน และจะเพิ่มอีก 1 คะแนนเสียงต่อโควตา 100,000 SDR

        SDR (Special Drawing Right) คือ ทรัพย์สินสำรองระหว่างประเทศที่ IMF สร้างขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินสกุลดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งมูลค่าของ SDR จะถูกคำนวณจากค่าเฉลี่ยตะกร้าเงินของเงินตรา 4 สกุลหลักของโลก ประกอบไปด้วย ดอลลาร์สหรัฐ, เยน ของญี่ปุ่น, ยูโร ของสหภาพยุโรป และปอนด์ ของอังกฤษ โดยการคำนวณมูลค่าของ SDR จะมีการคำนวณใหม่ทุก ๆ 5 ปีเพื่อให้แน่ใจว่าเงินแต่ละสกุลได้สะท้อนมูลค่าที่ถูกต้อง

        ปัจจุบันจากข้อมูลของเว็บไซต์ IMF เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 เงิน 1 SDR เท่ากับ 1.402 ดอลลาร์สหรัฐ และจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 33.773 บาท (อ้างอิงจาก bot.or.th)

IMF มีจำนวนประเทศสมาชิกกี่ประเทศ

       
ในปี 2488 (1 ปีถัดจากการก่อตั้ง IMF) IMF มีสมาชิกเพียง 29 ประเทศ แต่ในปัจจุบัน (2558) IMF ก็มีสมาชิกเพิ่มจาก 29 ประเทศ เป็น 185 ประเทศ โดยประเทศสมาชิกล่าสุดคือ ประเทศมอนเตเนโกร (Montenegro) ทั้งนี้การที่จะเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ จะต้องมีสถานะเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) ก่อน 

IMF กับบทบาทที่มีต่อประเทศไทย
        วันที่ 3 พฤษภาคม 2492 ประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ในลำดับที่ 44 โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนของประเทศไทยในกองทุนการเงินฯ ตาม พ.ร.บ.ให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับกองทุนการเงินและธนาคารระหว่างประเทศ พ.ศ. 2494 ปัจจุบันประเทศไทยมีโควตาเท่ากับ 1,440.5 ล้าน SDR หรือร้อยละ 0.60 ของจำนวนโควตาทั้งหมด เทียบเท่ากับ 15,143 คะแนนเสียง (อ้างอิงจาก imf.org)

        ประเทศไทยเคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ภายใต้โครงการเงินกู้ Stand-by3 รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,431 ล้าน SDR หรือประมาณ 209,806 ล้านบาท ดังนี้

        
 ครั้งแรก เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2521 จำนวน 45.25 ล้าน SDR (ประมาณ 2,143 ล้านบาท)

        
 ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2524 จำนวน 814.5 ล้าน SDR ประมาณ 38,566 ล้านบาท (เบิกถอนจริงจำนวน 345 ล้าน SDR หรือประมาณ 16,336 ล้านบาท)

        
 ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2525 จำนวน 271.5 ล้าน SDR หรือประมาณ 12,855 ล้านบาท

        
 ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนมิถุนายน 2528 จำนวน 400 ล้าน SDR ประมาณ 18,915 ล้านบาท (แต่เบิกจริงจำนวน 260 ล้าน SDR หรือประมาณ 12,310 ล้านบาท)

        
 และครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 จำนวน 2,900 ล้าน SDR ประมาณ 137,314 ล้านบาท (แต่เบิกจริงจำนวน 2,500 ล้าน SDR หรือประมาณ 118,374 ล้านบาท)

        สำหรับโครงการ Stand-by นั้น เป็นโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินระยะสั้น และเป็นโครงการเงินกู้ที่ประเทศสมาชิกเข้าร่วมมากที่สุด โดยมีระยะเวลาการกู้ยืม 12–24 เดือน และระยะเวลาชำระคืน 2 ปี 3 เดือน จนถึง ปี มีอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมสำหรับวงเงินกู้ที่สูง

        จากหนี้สินทั้งหมดที่ประเทศไทยได้กู้ยืมมาจาก IMF ประเทศไทยได้ทำการชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นทั้งหมดเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2546 โดยเป็นการชำระคืนก่อนกำหนดถึง 2 ปี ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีหนี้ค้างชำระกับ IMF แล้ว พร้อมกันนี้ไทยยังได้เข้าร่วมภาคีความตกลงให้กู้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยอาจให้ IMF กู้ยืมเงินได้ในจำนวนไม่เกิน 340 ล้าน SDR ในกรณีที่ IMF ขาดสภาพคล่องทางการเงิน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น