เพลงฉ่อยชาววัง

วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559

เปิดเบื้องหลังปมขัดแย้ง ชาวอุยกูร์คือใคร ทำไมไทยจึงโดนประณาม ?


           กรณีสถานกงสุลไทยในตุรกีถูกบุกทำลายโดยกลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุน ชาวอุยกูร์เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ที่ถูกจับได้กลับไปยังจีน จุดประเด็นให้เกิดความสงสัยสืบลึกลงไปว่า แล้วชาวอุยกูร์คือใคร เกี่ยวข้องอย่างไรกับตุรกีและจีน และเหตุใดจึงมีผู้ไม่พอใจที่ส่งชาวอุยกูร์กลับไปยังประเทศจีน วันนี้กระปุกดอทคอมจะขอพาไปมองเบื้องหลังปมประเด็นร้อนนี้กัน 

ชาวอุยกูร์มาจากไหน ? 

           "อุยกูร์" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ "เตอร์กิช" หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตุรกี อาศัยกระจายอยู่ทั่วโลกเป็นกลุ่มก้อนมากบ้างน้อยบ้าง และหนึ่งในพื้นที่ที่มีชาวอุยกูร์อาศัยอยู่มากที่สุด คือ เขตการปกครองพิเศษซินเจียง-อุยกูร์ ของจีน ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ มีพื้นที่กว้างใหญ่ติดเป็นถึง 1 ใน 6 ของแผ่นดินใหญ่ ประชิดพรมแดนทั้งมองโกเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย เชื่อมต่อพื้นที่มณฑลกานซูและชิงไห่ของจีน รวมทั้งเขตปกครองตนเองทิเบตด้วย ชาวอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ที่นี่คิดเป็นร้อยละ 45 ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งชาวอุยกูร์ที่พบในประเทศไทยและกำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ ก็มาจากเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ นี้เอง


ความเป็นมาของชาวอุยกูร์ 

           ชาวอุยกูร์ได้อาศัยอยู่บนดินแดนปัจจุบันนี้มาแล้วแต่ดั้งเดิม ซึ่งก่อนนั้นยังไม่ได้เป็นเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ แต่เรียกว่าดินแดนเอเชียกลางหรือเตอร์กิสถานตะวันออก แต่แล้วก็ตกไปอยู่ในการปกครองของจีนในสมัยราชวงศ์ชิง และสถาปนาให้เป็นมณฑลซินเจียง อันมีความหมายว่า ดินแดนใหม่ ในปี 1884 

           กระทั่งถึงจุดสิ้นสุดราชวงศ์ชิงในสมัยการปฏิวัตินำโดยดอกเตอร์ซุน ยัตเซ็น เมื่อปี 2454 มณฑลซินเจียงก็ถูกส่งต่อเปลี่ยนมือผู้ปกครองไปด้วย ชาวอุยกูร์มีความพยายามเรียกร้องเอกราชแก่ดินแดนของตนเองเป็นระยะ และประกาศตนเป็นสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก ในปี 2476 และ 2487 นับเป็นเอกราชในระยะสั้น ๆ ก่อนที่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2498 ก็ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีนจัดตั้งให้เป็นเขตปกครองพิเศษซินเจียง-อุยกูร์ มาจนถึงปัจจุบัน


สัญญาณความขัดแย้งในซินเจียง-อุยกูร์ 

           กล่าวได้ว่าเดิมทีเขตปกครองพิเศษซินเจียง-อุยกูร์ มีชาวอุยกูร์เป็นประชากรหลักในดินแดนนี้ ก่อนปี 2492 มีชาวอุยกูร์เป็นร้อยละ 95 ของประชากรทั้งหมด แต่ในเวลาต่อมาจีนได้สนับสนุนให้ชาวฮั่นอพยพขึ้นไปอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ จากเดิมที่ชาวฮั่นอพยพมีจำนวนเพียงเล็กน้อย ก็ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนประชากรขึ้นในสัดส่วนแทบจะใกล้เคียงกัน ในปัจจุบันเขตการปกครองซินเจียง-อุยกูร์ ซึ่งมีประชากรทั้งสิ้นราว 23 ล้านคน คิดเป็นชาวอุยกูร์ร้อยละ 45 และชาวฮั่นมากกว่าร้อยละ 40 

           ชาวอุยกูร์เริ่มถูกจำกัดสิทธิ์ในการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมของตน เผชิญการถูกแบ่งแยกเลือกปฏิบัติระหว่างชาวฮั่นและอุยกูร์ สุเหร่าหลายแห่งถูกปิด โรงเรียนและมหาวิทยาลัยบางแห่งห้ามการใช้ภาษาอุยกูร์ คนงานชาวอุยกูร์ถูกเบี้ยวค่าแรง ไม่รับชาวอุยกูร์เข้าทำงาน จำกัดพื้นที่การเดินทาง บางพื้นที่ห้ามหญิงชาวอุยกูร์ใส่ผ้าคลุมศีรษะ ขณะที่ผู้ชายถูกห้ามไว้เครา ฯลฯ ด้านชาวอุยกูร์ก็มีความคิดว่าตนเองไม่ได้กลมกลืนไปกับจีน ทั้งด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และศาสนา จนมีการประท้วงเรียกร้องสิทธิ์ขึ้นเป็นระยะ 

           ขณะที่รัฐบาลจีนเองก็มีความหวั่นเกรงว่ากลุ่มชาติพันธุ์ในซินเจียง-อุยกูร์ จะแบ่งแยกประเทศ จึงมีความพยายามปราบปรามอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด จนเมื่อเกิดเหตุวินาศกรรมตึกถล่มเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 โดยกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ จีนก็ยิ่งมองผู้พยายามเรียกร้องเอกราชในอุยกูร์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นพวกแบ่งแยกดินแดนหัวรุนแรง 

การปะทะในจีน 

           การปะทะอย่างรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2552 หรือเรียกว่า เหตุจลาจลอุรุมชี เกิดจากชาวอุยกูร์รวมตัวกันประท้วงเรียกร้องในเมืองอุรุมชี ซึ่งเป็นเมืองเอกของซินเจียง-อุยกูร์ เพื่อทวงความยุติธรรมให้ชาวอุยกูร์จากเหตุการประท้วงเมืองเสากวนในมณฑลกว่างตง ที่มีการปะทะกันระหว่างคนงานชาวฮั่นและอุยกูร์ อันส่งผลให้ชาวอุยกูร์ถูกฆ่าตาย 2 คน แต่เหตุการณ์ประท้วงอุรุมชีบานปลายเป็นการจลาจล เกิดการปะทะกันระหว่างชาวอุยกูร์กับชาวฮั่นและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 197 ราย บาดเจ็บอีก 1,721 คน รถยนต์และอาคารบ้านเรือนถูกทำลายเสียหายจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ชาวอุยกูร์ที่อพยพออกมาจากจีนได้เผยว่า ที่จริงยอดผู้เสียชีวิตมีมากกว่าที่ทางการรายงาน มีผู้ชายหายไปจำนวนมากระหว่างการกวาดล้างของตำรวจหลังเหตุจลาจล 

           หนึ่งสัปดาห์หลังเหตุจลาจลอุรุมชี มีชาวอุยกูร์ถูกจับกุมไม่ต่ำกว่า 1,000 คน สุเหร่าหลายแห่งถูกสั่งปิดชั่วคราว การสื่อสารถูกจำกัด และเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นมีการสั่งฟ้องชาวอุยกูร์ไม่ต่ำกว่า 400 คนฐานก่ออาชญากรรมระหว่างการประท้วง 9 คนถูกประหารชีวิตในเดือนนั้น และอีก 26 คนถูกตัดสินโทษตายในอีก 2 เดือนถัดมา ขณะที่ทางการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธอยู่ประจำการในอุรุมชีนับตั้งแต่เกิดเหตุจนกระทั่งถึงเดือนมกราคม 2553 

           รัฐบาลจีนเชื่อว่าเหตุจลาจลครั้งนี้เกิดขึ้นจากการปลุกระดมจากสภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) ที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มชาวอุยกูร์อพยพ นำโดยนางเรบิยา คาเดียร์ ขณะที่สภาปฏิเสธว่าสาเหตุที่แท้จริงมาจากความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ ความไม่พอใจต่อเรื่องการประท้วงในเมืองเสากวน และความกดดันของชาวอุยกูร์ที่ถูกรัฐบาลจีนกดขี่มาตลอดต่างหาก 


ความพยายามลี้ภัยของชาวอุยกูร์ 

           แม้จะเป็นดินแดนที่ตนอยู่มาตั้งแต่เดิม แต่ชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ ที่อยู่ภายใต้ปีกของจีน กลับต้องใช้ชีวิตอย่างคับแค้นภายใต้สิทธิ์ที่ถูกจำกัดจำเขี่ย ถูกชาวฮั่นแย่งอาชีพ แย่งพื้นที่เศรษฐกิจ จีนยังไม่ยอมรับวัฒนธรรมและการนับถือศาสนาของชาวอุยกูร์ ใช้นโยบายเข้มงวดในการดำเนินการกับชาวอุยกูร์ ปราบปรามผู้ออกมาประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรง และเดินหน้ากวาดล้างแกนนำการประท้วงด้วยข้อหาเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน 

           จากสภาพความกดขี่ที่ต้องเผชิญ ทำให้ชาวอุยกูร์หลายคนลี้ภัยออกจากจีน ขณะที่ตุรกีซึ่งมองชาวอุยกูร์ผู้ใช้ภาษาเตอร์กิช ว่าเป็นพวกเดียวกับตน ก็แสดงตนอ้าแขนต้อนรับผู้อพยพอุยกูร์อย่างเต็มที่ ทำให้มีชาวอุยกูร์ในจีนจำนวนไม่น้อยประสงค์จะไปปักหลักใช้ชีวิตใหม่ที่นั่น 

ชนวนปมขัดแย้ง จีน-อุยกูร์-ตุรกี-...ไทย !?

           ในตุรกีมีกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนชาวอุยกูร์ที่ต้องการอพยพจากจีน ซึ่งแสดงท่าทีไม่พอใจต่อวิธีการที่จีนปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์เป็นอย่างยิ่ง โดยปมตึงเครียดระลอกล่าสุดนี้ถูกจุดขึ้นมา หลังมีรายงานว่าที่จีนสั่งห้ามการถือศีลอดระหว่างช่วงเดือนรอมฎอน ตามรายงานจากสำนักข่าวอัลจาซีรา วันที่ 18 มิถุนายน 2558 ให้รายละเอียดว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ครู และนักเรียน ถูกสั่งห้ามอดอาหาร และสั่งร้านอาหารห้ามปิดด้วย กลุ่มสนับสนุนอุยกูร์ในตุรกีออกมาเดินขบวนประท้วง ลามถึงมีการทำลายร้านอาหารจีนในอิสตันบูล กระทั่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีเหตุกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ถูกทำร้าย เนื่องจากถูกเข้าใจผิดว่าเป็นชาวจีน  

           จากเหตุการณ์นี้ เมื่อมีข่าวแพร่ออกไปว่าไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งกลับไปให้จีน จึงสร้างความโกรธแค้นให้แก่กลุ่มสนับสนุนเป็นอย่างมาก จนเกิดการบุกทำลายกงสุลไทยในตุรกี ดังที่เป็นข่าวน่าตระหนกตกใจ และขณะเดียวกันก็ทำให้ไทยตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งจากชาวไทยเองและนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก จนน่าหวั่นว่าอาจบานปลายเกิดความบาดหมางระหว่างประเทศได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น