SEP32015
ก่อนฟังคำพิพากษาคดีระเบิด M79 ตกหน้า Big C ราชดำริ
พรุ่งนี้ (4ก.ย.2558) เวลา 9.30น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง มีนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีของชัชวาล(ชัช) ปราบบำรุง(จำเลยที่ 1), สมศรี(เยอะ) มาฤทธิ์ (จำเลยที่ 2), สุนทร(ทร)ผิผ่วนนอก(จำเลยที่ 3)และทวีชัย(วี) วิชาคำ(จำเลยที่ 4) จำเลยทั้ง 4 คน ซึ่งอัยการยื่นฟ้องว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยใช้เครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 ยิงกระสุนระเบิดขนาด 40มม.ตกลงไปที่บริเวณหน้าห้าง Big C สาขาราชดำริ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 23 ก.พ. 2557 ซึ่งคดีนี้ศาลได้สืบพยานปากสุดท้ายเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนอีก 1ราย
ย้อนกลับไปช่วงปลายปี2556ถึงต้นปี 2557 ระหว่างที่ยังมีการชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกปปส. ที่กรุงเทพฯ และตามจังหวัดต่างๆ ได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนและระเบิดยิงเข้าใส่ที่ชุมนุมของ กปปส. หลายครั้ง โดยยังไม่สามารถจับคนร้ายได้
วันที่ 23 ก.พ.2557 ราว 5โมงเย็นได้เกิดเหตุระเบิดที่หน้าห้าง Big C ราชดำริซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมของ กปปส. โดยกระสุนระเบิดขนาด 40 มม. หรือที่ถูกเรียกแทนด้วยชื่อ M79 ซึ่งเป็นเพียงชื่อของเครื่องยิงกระสุนระเบิดรุ่นหนึ่งไปโดยปริยาย เสมือนเรียกผงซักฟอกว่า “แฟ้บ” จากแรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นเด็ก 2 รายและผู้ใหญ่ 1ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 21 ราย ในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัส 9 ราย
ภายหลังเหตุการณ์ผู้คนในสังคมต่างตั้งข้อสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้ต่างๆ นานา ทั้งในประเด็นรูปแบบการก่อเหตุและผู้ลงมือกระทำโดยที่พยานหลักฐาน ณ เวลานั้นยังคงคลุมเครือ นี่เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งในช่วงเวลานั้นที่ไม่สามารถจับกุมตัวผู้ลงมือกระทำผิดได้เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ
สภาพที่เกิดเหตุ ภาพจาก Nation TV
เวลาล่วงเลยไป3เดือน 22 พฤษภาคม 2557 เกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งก่อนหน้านั้นเพียงสองวันได้มีการประกาศกฎอัยการศึกก่อนแล้ว เมื่อคสช.ประกาศเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลขณะนั้น คสช.ออกประกาศเพื่อเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว และยังจับกุมตัวบุคคลต่างๆ มีจำนวนมากถูกสันนิษฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดีการใช้อาวุธในช่วงดังกล่าว โดยผู้ถูกจับกุมเกือบทั้งหมดภายหลังถูกจับกุมจะถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้กฎอัยการศึกนำตัวไปควบคุมไว้ในค่ายทหารเพื่อทำการสอบสวนเป็นระยะเวลาสั้นบ้างยาวบ้างแต่ส่วนใหญ่จะครบ 7วัน ตามอำนาจที่ให้ไว้ในกฎอัยการศึก และบางรายยังถูกควบคุมตัวยาวนานเกินกว่าอำนาจที่ให้ไว้ตามกฎอัยการศึกอีกด้วย
กระบวนการจับกุมและสอบสวนอันน่าเคลือบแคลง
หลังรัฐประหารเพียงเดือนเศษ ในวันที่ 6-8 กรกฏาคม 2557 ชัชวาล(ชัช) ปราบบำรุง, สุนทร(ทร)ผิผ่วนนอก, สมศรี(เยอะ) มาฤทธิ์และทวีชัย(วี) วิชาคำ จำเลยทั้ง 4 คนในคดีนี้ถูกจับกุมโดยทหาร โดยใช้อำนาจควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและพวกเขาถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหารเป็นเวลา8-9 วัน โดยไม่ให้ทั้งสี่มีโอกาสได้ติดต่อญาติหรือทนายความ โดยไม่อาจทราบได้แม้แต่สถานที่ควบคุมตัว ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอยู่ในการควบคุมตัวของทหารเกินระยะเวลาที่กฎอัยการศึกได้อนุญาตไว้ ก่อนถูกส่งตัวเข้าสู่กระบวนการของตำรวจต่อ และทั้ง4 คน ไม่มีทนายความอยู่ด้วยระหว่างการสอบสวนทั้งตอนที่อยู่ในการควบคุมของทหารและการสอบสวนของตำรวจ ผลของการสอบสวนพวกเขาทั้ง 4 รับสารภาพ
เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารสอบสวนเสร็จสิ้นก็นำตัวพวกเขาทั้ง 4 ส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน.ลุมพินีเมื่อวันที่ 15 ก.ค. เนื่องจากจุดเกิดเหตุอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสน.ลุมพินี ตำรวจได้ดำเนินการจับกุมตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ออกหมายจับวันที่ 13 กรกฎาคม 2557 ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอยู่ในการควบคุมตัวของทหารเกินระยะเวลาที่กฎอัยการศึกได้ให้อำนาจไว้ จากนั้นพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพาไปแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพในที่เกิดเหตุ
สรุปการแถลงข่าวในวันนั้นได้ว่าเจ้าหน้าที่ได้จับกุมนายทวีชัย วิชาคำ นายสุนทร ผิผ่วนนอก นายชัชวาล ปราบบำรุง และ นายสมศรี มาฤทธิ์ พร้อมยึดของกลางรถยนต์กระบะ 3 คัน เครื่องยิงลูกระเบิด M79 จำนวน 1 เครื่อง กระสุนระเบิดชนิด 40 มม. จำนวน 25 ลูก อาวุธปืนสงครามชนิดM16 จำนวน 1 กระบอก ลูกกระสุนขนาด 5.56มม.จำนวน 70 นัด อาวุธปืนไรเฟิล จำนวน 1กระบอก และลูกระเบิดสังหารชนิดขว้าง จำนวน 5 ลูก
ในการแถลงข่าวพวกเขารับสารภาพว่ามีการวางแผนที่บ้านพักแห่งหนึ่งย่านสายไหม ขณะก่อเหตุได้ใช้รถยนต์กระบะ จำนวน 3 คัน โดยมีรถนำขบวน ตามด้วยรถที่คนร้ายก่อเหตุยิง และรถปิดท้าย
เบื้องต้น นายทวีชัย รับสารภาพว่า ตนเองเป็นผู้ยิงโดยยิงลูกระเบิดจากในรถ ขณะชะลอรถเหลือความเร็วประมาณ 40-50 กม./ชม. ยิงจากบริเวณสะพานข้ามแยกประตูน้ำ ก่อนหลบหนีมุ่งหน้าบ้านพักซอยสายไหม 75/1
ภายหลังแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพ พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนทั้ง4คนที่สน.ลุมพินี และได้นำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 16 ก.ค. และถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนจากญาติของจำเลยทั้งสี่คนว่า จำเลยทั้งสี่ถูกทำร้ายร่างกายและข่มขู่ให้รับสารภาพในระหว่างการควบคุมตัวของฝ่ายทหาร
กรณีของชัชวาลซึ่งถูกจับกุมเป็นคนแรก เขาและภรรยาถูกจับกุมกลางสี่แยกในเชียงราย หลังจากเดินทางไปทำธุระด้านที่ดิน โดยเจ้าหน้าที่ทหารราว 50 คนพร้อมอาวุธครบมือได้เข้าล้อมและควบคุมตัวขึ้นรถตู้ เขาถูกปิดตาโดยตลอดและถูกข่มขู่ว่าให้สารภาพมาให้หมดไม่เช่นนั้นภรรยาของเขา ที่เดินทางมาด้วยกันและถูกคุมตัวแยกในรถอีกคันอาจจะไม่ปลอดภัย เขาคาดเดาว่าเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวเข้ากรุงเทพฯ
เมื่อถึงที่หมายเขาถูกมัดมือไพล่หลังและถูกทำร้ายร่างกายโดยชายสวมหน้ากากรูปสัตว์ 2 คนประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นถูกนำตัวไปขึ้นรถตู้และถูกทำร้ายร่างกายเป็นระยะอีกราว 3-4 ชม. ก่อนถูกนำตัวเข้าไปในอาคารและเขาคิดว่าถูกพาเดินลงไปห้องใต้ดิน มีการนำสายไฟพันสำลียัดเข้าไปในช่องทวารหนัก อีกส่วนหนึ่งนำมามัดที่อวัยวะเพศ เอาน้ำราดแล้วปล่อยกระแสไฟช็อต เมื่อร้องก็ถูกถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะทำให้ร้องไม่ได้และหายใจติดขัด นอกจากนี้ยังมีการนำปืนพกสั้นยัดใส่ปากพร้อมบังคับให้สารภาพว่านำอาวุธไป ซ่อนไว้ที่ใด
ภรรยาของชัชวาลที่เดินทางมาด้วยกัน แม้จะไม่ใช่เป้าหมายแต่ก็ถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้หลายวันเช่นกัน จึงได้รับการปล่อยตัวแต่ภายหลังก็ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับอาวุธสงคราม และออกหมายจับ
สุนทรและทวีชัยถูกทหารจับพร้อมกัน ในวันที่ 8 ก.ค. 2557ประมาณบ่าย 2 โมง เนื่องจากทวีชัยนำรถจักรยานยนต์ไปซ่อมที่ร้านของสุนทรและเป็นบ้านของสุนทรด้วย โดยบุคคลที่คาดว่าน่าจะเป็นทหารนอกเครื่องแบบสั่งให้นอนคว่ำเอามือไพล่หลังแล้วใช้สายเคเบิลรัดแขน นำผ้าสีดำมาปิดตาและนำหมวกคลุมมาคลุมหัว เมื่อสุนทรพูดร้องขอชีวิตทหารก็เอาเท้ามากระทืบกลางหลังและนำตัวสุนทรเเละทวีชัยขึ้นรถไปพร้อมกับจับกุมลูกชายของนายสุนทรซึ่งช่วยงานอยู่ที่ร้านไปด้วยทั้งหมดถูกปิดตาด้วยผ้าสีดำเหมือนกันและถูกนำตัวขึ้นรถมาที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งถึงเวลาประมาณ 5 โมงเย็น โดยการเดินทางทหารนำพวกเขาเปลี่ยนรถระหว่างทางหนึ่งครั้ง โดยลูกชายของสุนทรถูกแยกไปรถอีกคันโดยนายสุนทรไม่ได้พบและไม่ได้ข่าวลูกชายอีกเลยในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว
กรณีของสมศรีถูกทหารจับกุมที่บ้านย่านดอนเมืองในวันที่ 8 ก.ค. หลังจากรับลูกมาจากโรงเรียน เวลา 16.00 น. ทหารที่มาจับกุมมีอาวุธทั้งปืนสั้นและเอ็ม16 ทหารได้ยึดรถยนต์ TOYOTA สีดํา หมายเลข ฒษ 4664 กทม. 1 คัน และยึดโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง เขาถูกนําตัวขึ้นรถเก๋ง สีบรอนซ์เงิน โดยใส่กุญแจมือ ถูกสวมหมวกคลุมปิดตา และถูกให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นเอาเข่าและศอกกดไว้ ระหว่างทางเขาถูกบังคับให้รับว่าไปยิงที่ราชประสงค์ เพราะมีคนอื่นซัดทอดมาแล้ว ถูกกดอยู่ในรถประมาณ 1 ชั่วโมง
ซึ่งสุนทร ทวีชัย และสมศรี เล่าว่าระหว่างการสอบสวนมีการทำร้ายร่างกายและการข่มขู่เอาชีวิตเช่นเดียวกับกรณีของชัชวาลจึงรับสารภาพด้วยเช่นกัน
ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับทราบเรื่องการซ้อมทรมานจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนพร้อมรายชื่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและเข้าข่ายเป็นการทรมานรวม 7 ราย ซึ่งรวมถึงจำเลยทั้ง 4 ในคดีนี้ ไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2557เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าว ซึ่งกสม.ได้ส่งหนังสือแจ้งว่าได้รับเรื่องแล้วและกำลังดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนเมื่อวันที่ 1ธ.ค.2557 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผลการตรวจสอบจากทาง กสม. ตอบกลับมา
เนื่องจากกรณีนี้เกิดขึ้นก่อนประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 คดีจึงได้รับการพิจารณาในศาลพลเรือน คดีถูกส่งฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 57 ในข้อหาความผิด ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่า โดยไต่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน, มีและใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในครอบครอง,มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง, มีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง, พาอาวุธปืนและวัตถุระเบิดติดตัวไปในที่สาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์, ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง และฝ่าฝืนประกาศ ที่ห้ามนำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดออกนอกเคหสถานเข้าไปในเขตพื้นที่ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
พวกเขาทั้ง 4 คน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในชั้นศาล โดยพวกเขายืนยันว่าในวันเกิดเหตุพวกเขาไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุและการรับสารภาพดังกล่าวเป็นเพราะพวกเขาถูกซ้อมทรมาน
เมื่อการสืบพยานในศาลเริ่มต้นขึ้น
พยานที่มาเบิกความต่อศาลในคดีนี้จะมีทั้งผู้บาดเจ็บ พนักงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหาร โดยการสืบพยานปากแรกเริ่มเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ถึงพยานปากสุดท้ายขึ้นเบิกความเมื่อวันที่ 28 ก.ค. รวมนัดสืบพยานทั้งสิ้น 19 วัน พยานสำคัญในเหตุการณ์นี้จะเป็นพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองพิสูจน์หลักฐานและทหารที่ทำการจับกุมและสอบสวน เนื่องจากผู้ได้รับบาดเจ็บหรือพยานแวดล้อมนั้นเห็นเพียงเหตุการณ์ขณะที่เกิดเหตุระเบิดขึ้นแล้วทำให้เพียงแค่ทราบว่าได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดและตำแหน่งกระสุนตกเท่านั้น จึงจะขอสรุปเพียงคำเบิกความของเจ้าหน้าที่บางรายที่สำคัญเท่านั้น
จากเหตุการณ์ระเบิดส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ21 ราย และผู้เสียชีวิต3 ราย จากการเบิกความของผู้ได้รับบาดเจ็บและพยานในจุดที่เกิดเหตุระเบิดทราบว่าขณะเกิดเหตุพวกเขาได้ยินเสียงระเบิดเกิดขึ้นที่หน้าห้าง Big C ราชดำริ และจากการระเบิดดังกล่าวส่งผลให้พวกเขาได้รับบาดเจ็บซึ่งพยานบางรายอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไม่เกิน 5 เมตร พยานแพทย์ที่ทำการชันสูตรทั้งบาดแผลของผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนของตำรวจยืนยันว่าเกิดจากการระเบิดโดยบางรายพบสะเก็ดระเบิดตามร่างกายด้วย โดยสะเก็ดระเบิดดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดได้ยืนยันว่าเป็นสะเก็ดจากระเบิดยิงชนิดระเบิดสังหารขนาด 40 มม.
– การตรวจสถานที่เกิดเหตุและวิเคราะห์อาวุธที่ใช้และวิถีการยิง
พ.ต.ท. ธเนศ มีทอง สารวัตรสืบสวน สน.ลุมพินี เบิกความว่าได้รับแจ้งเหตุระเบิดที่บริเวณหน้าห้างBig C ราชดำริ ในเวลา 16.50 น. จึงเดินทางเข้าไปในที่เกิดเหตุแต่ไม่สามารถเข้าไปในที่เกิดเหตุได้ต้องประสานกับผู้ชุมนุม กปปส.เวลานานประมาณ 1 ชั่วโมงจึงเข้าพื้นที่เกิดเหตุได้ เขาทราบจากกองพิสูจน์หลักฐานว่าระเบิดเกิดจากลูกระเบิดขนาด 40มม. ยิงจากเครื่องยิงระเบิด M79 ซึ่งมีรัศมีการยิง 400 ม. สันนิษฐานว่ายิงมาจากสะพานข้ามแยกประตูน้ำ เนื่องจากมุมด้านอื่นติดกับตัวอาคาร ติดสะพานลอยและเวทีของผู้ชุมนุม พ.ต.ท. ธเนศ จึงได้กระจายกำลังลงพื้นที่ตามตึกสูงต่างๆ รวมถึงทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิด จนกระทั่งวันที่ 28 ก.พ. พ.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ตรวจที่เกิดเหตุอีกครั้งและยืนยันว่ายิงมาจากพื้นราบไม่ใช่ยิงมาจากตึกสูง
พ.ต.ต.ศักดิ์ศรี พิลาสันต์ อดีตพนักงานสอบสวน สน.ลุมพีนี ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาจำเลยทั้งสี่และเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้ตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงปลายเดือนเมษายน 2557แล้วจึงถูกย้ายไปสน.ท่าเรือ เขาเป็นผู้เข้าไปเก็บชิ้นสะเก็ดระเบิดร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานในวันเกิดเหตุ รวมถึงเป็นผู้ทำแผนที่จำลองการเกิดเหตุจนนำไปสู่การสันนิษฐานว่า ระเบิดน่าจะยิงมาจากบริเวณสะพานข้ามแยกคลองแสนแสบ ประตูน้ำ แต่ไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ก่อเหตุคดีนี้
การตรวจสอบลานจอดรถห้างสรรพสินค้าพาราเดียมเขาร่วมตรวจสอบด้วยแต่ในความเห็นของเขาคิดว่าจุดจอดรถนี้ไม่น่าจะเป็นจุดที่มีการยิงระเบิด จุดที่น่าจะเป็นจุดยิงก็คือ บริเวณสะพานข้ามแยกประตูน้ำเพราะว่ามีมุมกว้างกว่า
พ.ต.อ.เดชา พรมสุวรรณ์ หัวหน้างานสอบสวน สน. ลุมพินี ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้เบิกความถึงวันที่เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุว่าในที่วันเกิดเหตุเขาไม่สามารถเข้าไปในที่เกิดเหตุได้ทันทีเนื่องจากมีการชุมนุมของ กปปส. อยู่จึงต้องประสานเพื่อขอเข้าพื้นที่ จึงประสานให้ผู้ชุมนุมกันพื้นที่เกิดเหตุไว้และประสานกองพิสูจน์หลักฐานและฝ่ายเก็บกู้วัตถุระเบิดเข้าไปตรวจสอบพื้นที่โดยเขาเข้าร่วมการตรวจสอบด้วย มีการเก็บชิ้นส่วนระเบิดและถ่ายภาพที่เกิดเหตุไว้ นอกจากนั้นในประเด็นเรื่องกล้องวงจรปิดบริเวณทางสะพานได้มีการเรียกตรวจเช่นกัน แต่ปรากฏว่ากล้องวงจรปิดเสีย
พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มงานตรวจอาวุธปืนและเครื่องกระสุน กองพิสูจน์หลักฐาน สตช. เบิกความในประเด็นการตรวจสถานที่เกิดเหตุและวิถีการยิงของเครื่องยิงลูกระเบิด โดยเขาเบิกความว่าในวันเกิดเหตุเขาได้รับแจ้งจากสน.ลุมพินีให้ตรวจที่เกิดเหตุหน้า Big C ราชดำริ ได้รับแจ้งจาก EOD ที่เข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุก่อนว่าเหตุระเบิดเกิดจากกระสุนระเบิด จึงเข้าไปบันทึกภาพและหาแนวทิศทางการยิง ที่เกิดเหตุมีรถตุ๊กตุ๊กจอดอยู่ และด้านข้างเป็นร้านค้าแผงลอย จากนั้นเขาได้อธิบายสภาพความเสียหายของที่เกิดเหตุและอธิบายเกี่ยวกับวิธีการยิงปืน M79 ซึ่งหากยิงวิถีตรงระยะหวังผล 150 ม. ส่วนวิถีโค้งระยะหวังผลไกลสุดที่ 400 ม. ซึ่งสามารถใช้ศูนย์ปรับระยะที่ปืนช่วยในการเล็งยิงได้
ประเด็นทิศทางการยิงนั้นจากการตรวจสอบ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์เชื่อว่าแนวการยิงมาจากบริเวณแยกประตูน้ำ ซึ่งแยกประตูน้ำอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุเป็นระยะ 340 ม. ซึ่ง EOD เป็นผู้วัดและเขายังตรวจหาโดยการวางหมุดวัดระยะบนภาพถ่ายดาวเทียมในกูเกิ้ลด้วย
หลายวันหลังจาก พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ได้เข้าร่วมกับ EOD เข้าตรวจบริเวณลานจอดรถชั้น 9 โซน Aของห้างพาลาเดียมเนื่องจากมีการกล่าวอ้างโดยอดีตสมาชิกวุฒิสภา ไพบูลย์ นิติตะวันว่าน่าจะมีการยิงมาจากจุดดังกล่าว จากการตรวจสอบสถานที่พบก้นบุหรี่ตกอยู่ และได้ถ่ายภาพจากมุมนั้นไปที่จุดเกิดเหตุ ซึ่งเป็นมุมปิดและมีตึกขวางอยู่จึงเชื่อว่าจะต้องโดนวัตถุอื่นก่อนที่จะถึงพื้นบริเวณที่เกิดเหตุ และทราบจาก EOD ว่าระยะไกลเกิน 400 ม. จากการใช้กล้องวัดระยะ เขาจึงสรุปว่าจุดยิงน่าจะเป็นพื้นที่บริเวณแยกประตูน้ำ และหลังจากจับกุมผู้ต้องหาได้แล้วได้เข้าร่วมการทำแผนประกอบคำรับสารภาพด้วยเพื่อวัดระยะพบว่าจากจุดบนสะพานข้ามแยกประตูน้ำ ระยะอยู่ที่ 320-340 ม.
ลานจอดรถของห้างพาลาเดียมชั้น 9 ภาพจาก อสมท.
พ.ต.ท.กิตติศักดิ์กล่าวด้วยว่าสะเก็ดระเบิดที่ตรวจพบนั้นไม่สามารถบอกได้ว่ายิงจากปืน M79 หรือM203และยิงจากปืนประบอกไหนเพียงแต่บอกได้ว่ายิงจากเครื่องยิงลูกระเบิดประเภทใด
ร.ต.อ.ยุทธศักดิ์ ไข่ทา สารวัตรงานเก็บกู้และตรวจวัตถุระเบิด กองบังคับการ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ตรวจวัตถุพยานที่เก็บจากที่เกิดเหตุจำนวน 2 รายการคือ ชิ้นส่วนวัตถุสะเก็ดระเบิด บริเวณใกล้เคียงในที่เกิดเหตุ และชิ้นส่วนวัตถุสะเก็ดระเบิดจากร่างกายผู้เสียหาย และผลการตรวจพิสูจน์ทราบว่า วัตถุพยาน 2 ชิ้นเกิดจากการแตกตัวของลูกระเบิดจริง เป็นชนิดระเบิดสังหาร ขนาด40 มม. ทั้งหมด 50 ชิ้น และภายหลังเขาได้รับชิ้นส่วนวัตถุสะเก็ดระเบิดที่ได้จากศพผู้เสียชีวิตอีก17 ชิ้นก็เป็นสะเก็ดจากระเบิดชนิดเดียวกัน ซึ่งใช้กับเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 40 มม. ซึ่งปัจจุบันมีM79 และM203 ซึ่งใช้ประกอบกับ M16 ภายในรัศมีการระเบิด 5 เมตรสามารถทำให้ตายได้ ในระยะ5-15 เมตร ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส และในระยะ15-30 เมตร ทำให้บาดเจ็บเล็กน้อย
แต่จากการตรวจสอบไม่สามารถบอกได้ว่าเครื่องยิง M79 ที่ถูกยึดมาเป็นของกลางนั้นถูกใช้ในการก่อเหตุหรือไม่ ถ้าหากยิงแล้วกระสุนไม่ระเบิดก็สามารถตรวจเทียบรอยเกลียวลำกล้องบนหัวกระสุนกับปืนได้ แต่ถ้าหัวกระสุนระเบิดไปแล้วก็ไม่สามารถบอกได้ และตรวจไม่พบลายนิ้วมือบนอาวุธปืนของกลางที่ยึดมาได้
– สืบจากกล้องและคลื่นโทรศัพท์
พ.ต.ท. ธเนศ มีทอง สารวัตรสืบสวน สน.ลุมพินี เบิกความถึงการตรวจสอบกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นกล้องของเอกชนบริเวณหน้าห้างแพลทตินั่ม เชื่อว่าขณะใช้ M79 จะต้องยิงในขณะเคลื่อนที่ และทิศทางจราจรจากสะพานข้ามแยกประตูน้ำจะเป็นรถเดินทางเดียวจากแยกราชเทวีไปถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อดูกล้องวงจรปิดตั้งแต่เวลา 16.51 น. เป็นต้นมา มีรถที่เป็นไปได้ว่าจะใช้ในการก่อเหตุได้ 11 คัน เป็นรถยกสูงหรือรถตู้ แต่ก็ยังไม่ได้รับภาพกล้องวงจรปิดของกรุงเทพมหานครประกอบกับกล้องบางตัวของกรุงเทพมหานครในพื้นที่การชุมนุมขึ้นชี้ฟ้าเพื่อไม่ให้กล้องจับภาพได้
ต่อมา 10 ก.ค. เขาทราบว่า คสช. ได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 5 คน และได้รับข้อมูลว่ารถที่ใช้ร่วมก่อเหตุนั้นมีรถกระบะโตโยต้าวีโก้สีทองและสีดำ และยังมีอีซูซุมิวเซเว่นสีดำ เขาจึงได้เปิดกล้องวงจรปิดที่เก็บภาพดังกล่าวมาดูอีกครั้งหนึ่งพบว่าช่วงเกิดเหตุมีรถทั้ง 3 คันวิ่งผ่านสะพานข้ามแยกประตูน้ำจริง แต่ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ถ่ายภาพรถทั้งสามคันนั้นไม่สามารถมองเห็นป้ายทะเบียนได้และเขาไม่ทราบว่ารถตามภาพจะเป็นรถคันเดียวกับรถของกลางหรือไม่อีกด้วย และคสช.ยังให้เบอร์โทรศัพท์ของกรรณิการ์มาจากการตรวจสอบพบว่าช่วงเกิดเหตุโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวปรากฎสัญญาณอยู่บริเวรที่เกิดเหตุจริงจึงเชื่อว่ากรรณิการ์และพวกได้ร่วมกันก่อเหตุจริง
นอกจากนั้นกล้องวงจรปิดในบริเวณที่กองพิสูจน์หลักฐานสันนิษฐานว่ายิงมาจากสะพานข้ามแยกนั้นพ.ต.ต.ศักดิ์ศรี พิลาสันต์ได้เบิกความถึงกล้องที่อยู่บนสะพานข้ามแยกด้วยว่าในระหว่างที่เขายังรับผิดชอบคดีนี้อยู่ยังตรวจสอบกล้องวงจรปิดไม่ได้เนื่องจากไม่มีภาพเพราะกล้องบางตัวแหงนหน้าขึ้นและได้สอบถามไปยังกรุงเทพมหานครแล้วไม่ได้รับคำตอบ
ในประเด็นเรื่องกล้องวงจรปิดศาลได้เรียกพยานผู้ดูแลกล้องวงรจรปิดของห้างแพลทตินั่มมาเบิกความด้วยคือ ศุภกร พุ่มชาวสวน พนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างแพลตตินั่ม ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิดและเป็นผู้มอบบันทึกภาพวิดีโอซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีเพื่อตรวจสอบได้ระบุตำแหน่งของกล้องวงจรปิดด้านหน้าห้างที่บันทึกภาพของรถยนต์ที่มุ่งขึ้นสะพานข้ามแยกประตูน้ำ ซึ่งสามารถบันทึกภาพรถกระบะสีทอง รถยี่ห้ออีซูซุ มิวเซเว่น สีดำ และ รถกระบะโตโยต้าสีดำ ซึ่งถูกบันทึกไว้ได้ในเวลา16.51 น.ของวันเกิดเหตุ เมื่อทนายจำเลยถามค้านเขาตอบในประเด็นเรื่องทะเบียนของรถทั้งสามคันว่า ขณะที่เขาดูกล้องวงจรปิดไม่สามารถเห็นเลขทะเบียนของรถทั้ง 3คันได้ และตำรวจไม่ได้ให้เขาดูรถทั้ง 3 คันที่ยึดเป็นของกลางอีกด้วย โดยรถทั้ง 3 คันวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 60-80 กม./ชม.
พ.ต.อ.เดชา พรมสุวรรณ์ หัวหน้างานสอบสวน สน. ลุมพินีภายหลังเขาได้สอบปากคำผู้บาดเจ็บ ญาติผู้เสียชีวิตทวีชัยและ สุนทร พ.ต.อ.อัคราเดช และพ.อ.วิจารณ์ ด้วย เขากล่าวถึงการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ของกรรณิการ์ วงศ์ตัว หนึ่งในผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้ตัว(กรรณิการ์เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว แต่ไม่ได้ฟ้องเป็นคดี ปัจจุบันไม่ทราบสถานะ) ปรากฎว่ามีเบสเสาโทรศัทพ์อของกรรณิการ์ นั้นอยู่จากบริเวณบ้านของกรรณิการ์ไปถึงบริเวรจุดเกิดเหตุและจากจุดเกิดเหตุวนกลับมาที่บ้านของกรรณิการ์ในช่วงเวลาเกิดเหตุเดียวกัน แต่เขากล่าวว่าเสาโทรศัพท์เป็นการแสดงจุดที่อยู่ของโทรศัพท์เท่านั้นแต่ไม่ได้บอกว่าบุคคลดังกล่าวไปอยู่ในสถานที่นั้นด้วย
พนักงานอัยการได้อ้างส่งพยานเอกสารเพิ่มเติมขณะสืบพยานปาก พ.ต.อ.เดชา พรมสุวรรณ์ คือ เอกสารการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์มือถือของนางกรรณิการ์ โดยอ้างหมายเลขโทรศัพท์หมายเลขหนึ่งว่าเป็นของกรรณิการ์ ว่าปรากฏอยู่ในที่เกิดเหตุในวันเวลาเดียวกับที่คนร้ายก่อเหตุ ซึ่งตามรูปคดีของโจทก์นั้นอ้างว่ากรรณิการ์มีส่วนร่วมวางแผนและอยู่ในรถขณะก่อเหตุด้วย ซึ่งเอกสารนี้ได้มาหลังจากที่ตำรวจได้รับบันทึกคำรับสารภาพในค่ายทหารแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 57 (แต่เพิ่งอ้างส่งศาลวันที่ 9 ก.ค.58)เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นขอหมายจับต่อศาล ในเอกสารไม่ได้ระบุว่าหน่วยงานใดหรือใครเป็นผู้ทำขึ้น และทำขึ้นโดยระเบียบขั้นตอนอย่างไร จึงมีพิรุธขาดความน่าเชื่อถือเพราะไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาและความถูกต้องได้ นอกจากเอกสารนี้จะไม่มีเบอร์โทรศัพท์ของจำเลยทั้งสี่อยู่ด้วยแล้ว เสาโทรศัพท์นั้นยังแสดงเพียงจุดที่อยู่ของของโทรศัพท์เครื่องนั้นๆ แต่ไม่สามารถบอกได้เลยว่าบุคคลเจ้าของโทรศัพท์จะอยู่ในตำแหน่งแห่งที่เดียวกับโทรศัพท์
พ.ต.อ.เดชา กล่าวด้วยว่าในการสอบสวนของตำรวจมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยโดยพนักงานสอบสวนเป็นผู้จัดหาให้ แต่เมื่อทนายจำเลยซักถามเพิ่มพบว่าไม่มีการลงข้อมูลของทนายความที่เข้าร่วมฟังการสอบสวนและไม่ได้มีการส่งสำนวนการสอบสวนด้วย
– การสอบสวนในค่ายทหาร
พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี เบิกความว่าขณะเกิดเหตุเขายังไม่ได้เข้ามาดำเนินการในคดีนี้จนกระทั่งมีการเปลี่ยยนแปลงการปกครองและเขาได้เข้าเป็นหนึ่งในคณะ คสช. ตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งให้สิทเขาในการเข้าซักถามเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องทราบ ตามคำสั่ง คสช. ซึ่งทำให้เขาได้เข้าร่วมการสอบสวนจำเลยทั้ง 4 คน ที่กองพันสารวัตรทหารที่ 11 (ถนนโยธี) เมื่อวันที่ 10ก.ค. 2557 ซึ่งในการสอบสวนมีทั้งทหารและตำรวจซึ่งก็คือตนเองร่วมกันสอบสวน โดยการสอบสวนจำเลยทั้ง 4 ได้ความโดยสรุปว่า
จำเลยทั้ง4 คนได้ร่วมกันวางแผนก่อเหตุและจัดหาอาวุธ โดยอาวุธได้มาจากหลายทางโดยใช้บ้านของกรรณิการ์ วงศ์ตัว เป็นที่ประชุม จนกระทั่งวันที่ 23ก.พ.2557 ก่อนเที่ยงทั้งหมดได้เดินทางไปยังบริเวรที่เกิดเหตุแต่อาวุธปืนเกิดติดขัดจึงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงกลับไปวางแผนที่บ้านจนสุนทรแก้ไขอาวุธเสร็จ จนเย็นจึงเดินทางออกไปที่จุดเกิดเหตุอีกครั้ง โดยชัชวาลขับรถโตโยต้าวีโก้สีบรอนซ์ทองเป็นรถนำทาง และคันที่สองวิเชียร สุขภิรมณ์เป็นผู้ขับโดยมีกรรณิการ์นั่งข้างคนขับ ทวีชัยนั่งหลังคนขับและสุนทรนั่งอยู่หลังกรรณิการ์ สมศรีขับตามเป็นคันที่สาม โดยมีคนชื่อต๊ะนั่งข้าง จำเลยทั้ง4 คน ไปถึงจุดเกิดเหตุในเวลา17.00 น.เศษ ทวีชัยได้ใช้ M79 ยิงหนึ่งนัดไปที่บริเวณผู้ชุมนุมหน้าห้าง Big C แล้วเดินทางกลับที่บ้านของกรรณิการ์แล้วจึงแยกย้ายกันไป
โดยพ.ต.อ.อัคราเดชได้ส่งบันทึกการสอบสวนต่อศาลด้วย ซึ่งเอกสารที่พยานกล่าวถึงนี้ท้ายเอกสารมีชื่อของ ร.ท.ปริวัฒน์ ทองประจง หัวหน้าชุดข่าวกรองทหาร หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ระบุว่าเป็นผู้ซักถามจำเลยทั้ง4คน แต่กลับไม่มีลายมือชื่ออยู่ในเอกสารด้วย โดยเขาให้เหตุผลว่าที่ร.ท.ปริวัฒน์ไม่ได้ลงชื่อไว้เพราะว่าร.ท.ปริวัฒน์เป็นทหารฝ่ายการข่าวและกองทัพบกมีคำสั่งให้ไปราชการมีเพียงลายมือชื่อของพ.ต.อ.อัคราเดชเท่านั้น และในเอกสารดังกล่าวยังระบุสถานที่สอบสวนว่าเป็นพัน.ร.มทบ.11(ถนนอำนวยสงคราม) ซึ่งเป็นคนละสถานที่กับที่เขาเข้าร่วมการสอบสวน
ในช่วงซักถามของทนายพ.ต.อ.อัคราเดชได้ตอบว่าในการสอบสวนผู้ที่ร่วมซักถามนอกจากร.ท.ปริวัฒน์ ยังมีพ.ต.อ.เอกรัตน์ ลิ้มสังกาศ ปัจจุบันเป็นรองผู้บังคับการตำรวจจราจรกรุงเทพมหานคร และพ.อ.วิจารณ์ จดแตง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารผู้สืบสวนและจับกุมจำเลยทั้ง 4ด้วย ส่วนตัวเขาเองเพียงแค่นั่งฟังอย่างเดียว ในประเด็นเรื่องสถานที่สอบสวนที่ระบุในเอกสารสอบสวนของทหารระบุไม่ตรงกับสถานที่ที่เขาได้ไปสอบสวนจำเลยไม่ตรงกันนี้เขาไม่ทราบเหตุผล
พ.ต.อ.อัคราเดชตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการที่ร.ท.ปริวัฒน์ ไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกสอบสวนนั้นว่าในการสอบสวนจำเลยคนสุดท้ายร.ท.ปริวัฒน์ยังอยู่ร่วมการสอบสวนด้วย แต่ในตอนที่เขาได้ลงลายมือชื่อในบันทึกสอบสวนร.ท.ปริวัฒน์ไม่อยู่แล้วและเขาไม่ทราบว่าร.ท.ปริวัฒน์ไปที่ไหน และในการสอบสวนยังมีการบันทึกวิดีโอเอาไว้ด้วยแต่ฝ่ายความมั่นคงของทหารเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งวิดีโอบันทึกการสอบสวนนี้ไม่ได้มีการส่งประกอบสำนวนของอัยการด้วย
พ.อ.วิจารณ์ จดแตง นายทหารผู้กล่าวหาในคดีที่ชัชวาล(จำเลยที่1) กระทำความผิดเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธสงคราม เหตุที่เชิญตัวมาซักถามเพราะสงสัยว่ามีการค้าอาวุธสงคราม ซึ่งในคดีดังกล่าวนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้เชิญจำเลยที่ 1 มาซักถามทราบว่ามีอาวุธสงครามครอบครองไว้ที่บริเวณหมู่บ้านพฤกษาB คลองสาม เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2557 ต่อมาวันที่ 9 ก.ค. ชัชวาลได้นำทหารไปตรวจค้นในบริเวณที่ชัชวาลบอกว่าซุกซ่อนอาวุธสงคราม โดยมีปืน M79 และ M16 อย่างละ 1กระบอกและอาวุธสงครามอีกหลายรายการ โดยจำเลยรับสารภาพว่ามีไว้เพื่อก่อเหตุในที่ชุมนุมของ กปปส. ภายหลังตำรวจสน.ลุมพินีได้เรียกเขามาเป็นพยานในคดีเกี่ยวกับกรณีที่มีเหตุยิง M79 ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ถนนราชดำริและได้ขอ M79ที่ยึดเป็นของกลางในคดีที่เขาเป็นผู้กล่าวหาในอีกคดีไปตรวจสอบ
พ.อ.วิจารณ์ ให้การว่าไม่เคยพบกับชัชวาล เนื่องจากทหารชุดซักถามเป็นผู้ซักถามและนำชัชวาล ไปตรวจยึดอาวุธ ส่วนตัวเขาเองเป็นเพียงผู้กล่าวโทษชัชวาล เท่านั้น ไม่ได้ร่วมตรวจยึดอาวุธด้วย นอกจากนั้นเขาก็ไม่เคยพบจำเลยที่เหลือในคดีนี้ด้วย ซึ่งทหารชุดซักถามจะเจ้าหน้าที่ทหารชุดฝ่ายข่าวและทำงานร่วมกับตำรวจซึ่งจะทำงานปิดลับไม่เปิดเผยตัว ซึ่งเขาคิดว่าร.ท.ปริวัฒน์เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวจึงไม่เปิดเผยตัว ซึ่งเขาก็ไม่รู้จักด้วยเช่นกัน
พ.อ.วิจารณ์ กล่าวว่าในการควบคุมตัวชัชวาล นั้นควบคุมตัวไว้ในค่ายของทหาร ที่ไม่ให้ญาติและทนายเข้าพบเพราะว่าไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ต้องหา ส่วนวนการสืบสวนพฤติการณ์กระทำความผิดจะเชิญตัวบุคคลต้องสงสัยมาซักถาม เมื่อซักถามแล้วได้ข้อมูลละยอมรับก็จะดำเนินการออกหมายจับ ซึ่งข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลลับไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่จะทำรายงานผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นเอกสารลับที่ไม่สามารถส่งให้พนักงานสอบสวนได้
พ.อ.วิจารณ์ กล่าวว่า กสม.เคยเรียกเขาเพื่อสอบถามในประเด็นเรื่องการซ้อมทรมานบุคคลที่ถูกควบคุมตัว และเคยมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวร้องเรียนไปที่ กสม. ด้วย ซึ่งในการเข้าชี้แจงต่อ กสม. เขาได้เคยเสนอภาพให้คณะกรรมการดูและส่งวิดีโอให้ดูด้วยแต่เป็นแนวทางปฏิบัติลับ
ข้อสังเกตต่อคำเบิกความของพยาน
จากการสืบพยานหลักฐานในคดีนี้พบว่ามีบางประเด็นที่ยังคงมีความไม่ชัดเจน เช่น ในวันเกิดเหตุไม่มีพยานหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถระบุตัวของผู้ลงมือได้และมีการหลีกเลียงที่จะเปิดเผยกระบวนการสอบสวนจำเลยอย่างเห็นได้ชัดที่มีการปิดลับทั้งสถานที่และกระบวนการสอบสวน
ประเด็นเรื่องภาพจากกล้องวงจรปิดพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบต่างเบิกความว่ากล้องวงจรปิดที่ถ่ายภาพรถยนตร์ทั้งสามคันไว้ได้ไม่สามารถระบุหมายเลขทะเบียนของรถจากภาพที่บันทึกไว้ได้ และไม่มีพยานหลักฐานใดที่ระบุว่ารถคันที่ยึดมาเป็นของกลางนั้นตรงกับรถที่ถูกถ่ายด้วยกล้องวงจรปิดหน้าห้างแพลทตินั่ม และกล้องวงจรปิดที่สามารถถ่ายภาพรถที่ข้ามสะพานข้ามแยกประตูน้ำไปได้นั้นจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีพนักงานสอบสวนคนใดได้ภาพขณะเกิดเหตุบนสะพานข้ามแยกประตูน้ำที่เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานสันนิษฐานว่ามีการยิงจากจุดนั้นและจากคำเบิกความของพ.ต.ต.ศักดิ์ศรี พิลาสันต์ว่าในวันเกิดเหตุกล้องวงจรปิดบริเวณนี้ถูกหันกล้องแหงนขึ้นทำให้ถ่ายไม่ได้ และไม่พบว่ามีประจักษ์พยานด้วยอีกเช่นกัน
นอกจากนี้การนำหลักฐานภาพจากล้องวงจรปิดที่อัยการนำมาใช้สืบในศาลก็ไม่พบว่ามีการนำวีดิโอที่บันทึกมาเปิดในศาล แต่เป็นภาพนิ่งจากกล้องวงจรปิดอีกที
ในประเด็นการตรวจสถานที่เกิดเหตุจะทราบจากคำเบิกความของพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าการเข้าถึงจุดเกิดเหตุหน้าห้าง Big C ราชดำริ ในวันที่ 23 ก.พ. 2557 นั้นสามารถทำได้ยากเนื่องจากมีการชุมนุมของ กปปส. อยู่ในบริเวณนั้น ทำให้ต้องมีการประสานกับผู้ชุมนุมเพื่อขอเข้าพื้นที่ซึ่งใช้เวลานานถึง 1 ชั่วโมง จึงเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้
ประเด็นต่อมาการสอบสวนภายในค่ายทหารหลังการจับกุมจากการเบิกความของพ.ต.อ.อัคราเดช ทำให้ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารอีกนายคือ ร.ท.ปริวัฒน์ ทองประจง แต่ไม่ปรากฎว่ามีการลงลายมือชื่อในบันทึกการสอบสวนและไม่ถูกเบิกตัวมาเป็นพยานในฐานะผู้ได้ทำการสอบสวนอีกเช่นกัน และระหว่างการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารยังได้มีการบันทึกวีดิโอไว้ด้วย แต่พบว่าไม่มีการส่งหลักฐานชิ้นนี้ต่อศาล ซึ่งประเด็นนี้พ.อ.วิจารณ์ จดแตงกลับบอกว่ากระบวนการสอบสวนดังกล่าวเป็นความลับและร.ท.ปริวัฒน์คงเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวซึ่งทำงานปิดลับอาจจะไม่อยากเปิดเผยตัว
ซึ่งประเด็นนี้ทำให้มีข้อกังขาว่าการสอบสวนไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพจริงหรือไม่ เนื่องจากในกระบวนการดังกล่าวนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ร่วมสอบสวนแล้วก็ไม่ปรากฎว่ามีบุคคลที่สามที่จำเลยไว้ใจไม่ว่าจะเป็นทนายความร่วมฟังการสอบสวนและญาติก็ไม่สามารถขอเยี่ยมได้
นอกจากนั้นยังมีพยานสำคัญบางปาก เช่น จ.ส.ต.มังกร ศรีผดุงพยานทหารที่อยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นผู้ที่สามารถเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุได้ก่อนเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ เพราะอยู่ในบริเวณที่ชุมนุมแต่แรกและเป็นผู้ที่ช่วยคนขับรถตุ๊กตุ๊กที่ถูกผู้ชุมนุม กปปส. รุมทำร้ายเนื่องจากถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนก่อเหตุระเบิด ซึ่งได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนของตำรวจแต่ไม่ได้อยู่ในบัญชีพยานโจทก์หรือพ.ต.ท.ศิริประภา รัตตัญญู กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ซึ่งได้ลงชื่อรับรองบันทึกตรวจสถานที่เกิดเหตุ ถูกตัดออกจากการสืบพยานในชั้นศาลทั้งที่ถูกตัดออกตั้งแต่วันนัดตรวจพยานหลักฐานและถูกตัดออกภายหลังจากที่มีการนัดสืบพยานแล้ว โดยอัยการให้เหตุผลว่าเป็นพยานไม่สำคัญในกรณีของพ.ต.ท.ศิริประภา
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2557 จนถึง ณ เวลานี้ ผ่านมาเป็นเวลา 1 ปี กับอีก 6 เดือนเศษ คงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าในคดีนี้จะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร ประเด็นที่ยังคงไม่ชัดเจนจะถูกนำมาพิจารณาหรือไม่ และการสอบสวนจำเลยทั้ง 4มีการซ้อมทรมานที่ยังไม่มีผลสรุปอย่างเป็นทางการจากองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โปรดติดตาม
เครดิต: https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/879787635404425
เครดิต: https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/879787635404425
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น