เพลงฉ่อยชาววัง

วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558

"ระลึก ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน : 37 ปีใต้เงื้อมเงาของมารทมิฬ"


รุ่งโรจน์ วรรณศูทร:
"ระลึก ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน : 37 ปีใต้เงื้อมเงาของมารทมิฬ" (2)

จากสมมติฐานด้านการข่าวของ "ผู้มีอำนาจเหนือรัฐ" และความหวาดกลัวการเติบโตของพลังประชาชน ขบวนการ "ขวาพิฆาตซ้าย" จึงดูเหมือนจะเร่งมือหนักขึ้น โดยหวังจะทำลายขวัญและกำลังใจ หรือกำราบจิตใจลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จนมีลักษณะ "ประชาธิปไตยเบ่งบาน" จากต้นปี 2519 การสังหารทางการเมืองจึงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีลักษณะอุกอาจหวังกดขวัญการเคลื่อนไหวและยับยั้งขบวนการประชาชน

เริ่มจากวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายปรีดา จินดานนท์ นักศึกษามหิดลและนักดนตรีวงดนตรีกรรมาชน ถูกรถชนเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำที่หน้ามหาวิทยาลัย ถนนพระรามหก

จากนั้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายเผด็จ ดวงดี ที่ปรึกษาของกระทิงแดง ก็ประกาศหลักการทำงานของกลุ่มกระทิงแดง ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนอาชีวะที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในกรณี 14 ตุลาฯ แต่ในเวลาต่อมามีหน่วยงานบางหน่วยที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคง ของรัฐเข้าไปมีอิทธิพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ้างวานให้ปฏิบัติงานในลักษณะก่อความรุนแรงอย่างต่อ เนื่องว่า "...จำเป็นต้องใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ในประเทศไทยต่อไป"

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ นายอมเรศ ไชยสะอาด นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายการเงินของศูนย์นิสิตฯ ถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างไปออกค่ายฯที่อำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา

และมาถึงกรณีสังหารอย่างอุกอาจ ที่บ่งชี้ถึงความรุนแรงทางการเมืองที่หวนกลับมาอีกหลังยุคกวาดล้างในสมัย ป.พิบูลสงคราม คือ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ดร. บุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ถูกคนร้ายดักยิงเสียชีวิตที่หน้าประตูบ้าน ขณะขับรถยนต์ส่วนตัวกลับจากงานเลี้ยง

ก่อนหน้าการลอบสังหารไม่กี่ชั่วโมง ดร.บุญสนองประกาศว่า "เราต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรง" ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวชาวสวีเดน ปีเตอร์ เลนบี้ ซึ่งลงตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์ จัตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 36 เมื่อ 16 มีนาคม 2519



"บทสัมภาษณ์: เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรง" มีเนื้อหาดังนี้

**********

เราได้พบเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เมื่อ 11.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ในโรงแรมรีโน กรุงเทพฯ เราสนทนากันถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยและสงครามอินโดจีน เราคุยกันถึงการคุกคามที่ฝ่ายซ้ายกำลังเผชิญอยู่ และการคุกคามอื่น ๆ ที่มีผลให้ผู้นำฝ่ายซ้ายเสียชีวิตไปแล้วถึง 27 คน ตั้งแต่การเลือกตั้งที่มีขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง เขาก็ได้กลายเป็นเหยื่อรายที่ 28 ของการล่าสังหารที่กระทำกันอย่างเป็นขบวนการเพื่อทำลายผู้นำของฝ่ายกรรมกร ชาวนา และนักศึกษาในเมืองไทย

เลนบี้ : สถานการ์ณการเมืองในเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศอินโดจีน

ดร. บุญสนอง : การปลดแอกของเวียดนาม ลาวและเขมร ได้กระตุ้นเร้าให้ประชาชนไทยที่มีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตยในประเทศของเรา เพื่อปลดปล่อยตัวเราจากการขูดรีดทั้งภายในประเทศ และจากอิทธิพลของต่างประเทศ ขณะเดียวกันชัยชนะของประชาชนอินโดจีน ก็ได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับจักรพรรดินิยมอเมริกัน และพวกคนไทยที่เป็นสมุนของอเมริกัน และตอนนี้พวกเขาก็กำลังเกรงกันว่า ฝ่ายซ้ายไทยจะมีกำลังเข้มแข็งขึ้น พวกเขาจึงพยายามสร้างสถานการณ์ที่ตึงเครียดทางการเมืองขึ้นเพื่อหาโอกาสทำรัฐประหารข่มขู่คุกคาม ปาระเบิด และทำการฆาตกรรม วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการทำลายประชาธิปไตยที่ประชาชนไทยเพิ่งจะได้มาจาก 14 ตุลา 2516

เลนบี้ : การข่มขู่คุกคามที่คุณกล่าวถึง อยู่ในรูปใดบ้าง และใครเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการคุกคามทางการเมืองเหล่านี้

ดร. บุญสนอง : ตั้งแต่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วมา ผู้นำฝ่ายซ้าย 27 คนถูกลอบสังหารไป รวมทั้งคนของพรรคเราคนหนึ่งด้วย เรามีเหตุผลหลายข้อที่ทำให้เชื่อได้ว่าอเมริกัน ซี.ไอ.เอ. และขบวนการขวาจัดของไทยที่เรียกว่า “กระทิงแดง” เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการคุกคามเหล่านี้ แต่ก็แน่แหละ มันยากที่จะพิสูจน์ออกมาให้ชัด ๆ เพราะศัตรูที่เราเผชิญอยู่นั้นมีอิทธิพลมหาศาล ซ้ำยังได้รับการร่วมมือเป็นอย่างดีกับฝ่ายตำรวจไทยที่จะไม่ยื่นมือเข้าไปรบกวนด้วยการติดตามหาตัวฆาตกรเสียอีก

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ปีที่ 14 ฉบับที่ 3495 (20) วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์ รายงานพิเศษ  ผู้เขียน รุ่งโรจน์ "อริน" วรรณศูทร
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น