เพลงฉ่อยชาววัง

วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย : (พ.ศ. 2516-2526)

 ชื่อวิจัย ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย (พ.ศ. 2516-2526)ผู้วิจัย คณะกรรมการปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตยแหล่งทุน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขปีที่พิมพ์ 2547

บทคัดย่อหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พศ. 2516 นักศึกษาร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลจัดสัมมนา “โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล” นำเสนออุดมการณ์มหาวิทยาลัยมหิดลที่ “มุ่งผลิตบุคลากรออกไปรับใช้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคม”มีการจัดตั้งพรรคนักศึกษาและเลือกตั้งกรรมการสโมสร นักศึกษา (สมม.) “พรรคแนวร่วมมหิดล” ได้รับเลือกตั้ง มี นศพ. เหวง โตจิราการ เป็นนายกสโมสร นักศึกษาคนแรก กิจกรรมนักศึกษาที่เดิมมีแต่งานวิชาการ กีฬา ดนตรี ค่ายอาสาเท่านั้น ก็ได้ให้ความสำคัญแก่กิจกรรมเชิงสังคมการเมืองมากขึ้น โดยมีศูนย์รวมกิจกรรมอยู่ที่ตึกสันทนาการปีการศึกษา 2517 สมม. จัดค่าย “ศึกษาและพัฒนา” เน้นการศึกษาปัญหาสังคมและฝึกการใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน 

ปีเดียวกันนี้มีนักศึกษามหิดลกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมโครงการของรัฐบาลสองโครงการ คือโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยและโครงการช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ ทำให้รับรู้ปัญหานายทุนเจ้าที่ดินกดขี่ขูดรีดชาวนา รวมทั้งได้เห็นผู้มีอำนาจบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี และปราบปรามประชาชนอย่าง รุนแรง จึงเกิดการตื่นตัวทางการเมือง และเริ่มเข้าใจปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนระดับฐานราก และเกิดสำนึกที่มุ่งรับใช้คนกลุ่มนี้กิจกรรมของนักศึกษามหิดลที่สนับสนุนการต่อสู้อย่างแข็งขันเพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม คือกิจกรรมของหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชน (พมช.) ที่เติบโตมาจากหน่วยพยาบาลเล็ก ๆ ใน เหตุการณ์ 14 ตุลา และวงดนตรีกรรมาชนซึ่งเป็นวงดนตรีสตริงแนวเพื่อชีวิต ที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดในยุคนั้น ทั้ง พมช. และวงดนตรีกรรมาชนมีบทบาทเคียงคู่กันในเวทีการต่อสู้ต่าง ๆ เพลงของ วงดนตรีกรรมาชนช่วยปลุกขวัญและให้กำลังใจผู้เข้าร่วมต่อสู้ ในขณะที่หน่วย พมช. ได้ช่วยดูแลผู้ บาดเจ็บที่ถูกคุกคามทำร้ายการที่นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ถูกตำหนิว่าเป็นพวกที่สำคัญตนผิด ทำเกินหน้าที่ และละเลยการเรียนหนังสือ นักศึกษากับอาจารย์และผู้บริหาร รวมทั้งกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกันเองจึงเกิดความขัดแย้งทางความคิดมากขึ้นเป็นลำดับ ความไม่เข้าใจต่าง ๆ กลายเป็นความ ขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น จนเกิดกรณีนักศึกษาคณะทันตแพทย์เรียกร้องให้ผู้บริหารคณะ ฯ และอาจารย์ 4 คนลาออก เนื่องจากไม่พอใจการบริหารงานและการจัดการเรียนการสอน จนในที่สุดนักศึกษาประท้วงและหยุดเรียนนานนับเดือน กลางปี พศ. 2517 ขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” ก่อตัว การออกไปชนบทและการชุมนุมของ นักศึกษาถูกก่อกวนคุกคาม กรรมกร ชาวนา และผู้นำนักศึกษา รวมทั้งนักศึกษามหิดล 2 คน คือ นายปรีดา จินดานนท์ แห่งวงดนตรีกรรมาชน และนายอมเรศ ไชยสะอาด อุปนายก ฯ ฝ่ายประสานกิจการภายนอกของ สมม. และเหรัญญิกของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ถูกลอบสังหาร 


ตลอดช่วงปี พศ. 2518 - 2519 สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น นักศึกษาผู้อ่อนด้อยประสบการณ์ ประเมินความ รุนแรงและยุทธวิธีของผู้มีอำนาจที่มุ่งปราบปราบต่ำเกินไป รวมทั้งมีปัญหาการประสานงานในช่วงที่สถานการณ์เริ่มเข้าขั้นวิกฤต การล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเช้ามืดวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงสูญเสียมหาศาล หน่วยพยาบาลเพื่อมวลชนและวงดนตรีกรรมาชน รวมทั้งนักศึกษามหิดลอีกส่วนหนึ่งที่เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างรับผิดชอบจนวินาทีสุดท้ายและเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นรวม 5 คน หลังกรณีนองเลือด 6 ตุลาคม นักศึกษาจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง คณะรัฐประหารที่มีนโยบายขวาจัดเข้ายึดอำนาจ แต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการปราบปรามฝ่ายซ้ายขนานใหญ่ ความไม่ปลอดภัยครอบคลุมทั่วทั้งสังคมและมหาวิทยาลัย 

ช่วงเวลานั้นขบวนการ นักศึกษาแตกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งหลบหนีเข้าป่าเพื่อต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และอีกส่วนหนึ่งยังคงอยู่ในเมือง นักศึกษามหิดลนับร้อยคนกระจายอยู่ตามเขตงานต่าง ๆ ในป่าทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นหมอทหารป่า มีบทบาทในการพัฒนางานการแพทย์สาธารณสุขในเขตป่าเขา เช่น ผลิตแอลกฮอล์ น้ำเกลือ ยาชา ยาทา และเวชภัณฑ์อื่นๆ โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เปิดโรงเรียนฝึกหัดหมอพื้นฐานและผู้ช่วยหมอ และตั้งโรงเรียนหลักสูตรพิเศษด้านศัลยกรรมอายุรกรรม จัดทำหลักสูตรตำราเรียนเองด้วยการใช้ความรู้ที่เรียนจากในเมือง บรรดานักศึกษาซึ่งเรียกพวกเดียวกันว่า “สหาย” ได้เรียนรู้วิชาแทงเข็มจากจีน และผสมผสานวิชานี้กับการรักษาโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยด้านสมุนไพร ราวปี พศ. 2521 นักศึกษามหิดลจำนวนหนึ่งถูกส่งไปเรียนต่อด้านการแพทย์ เภสัช และสัตวแพทย์ ที่ประเทศจีน ส่วนในเมืองแม้ถูกห้ามทำกิจกรรมทุกอย่าง แต่ก็ยังคงเคลื่อนไหวสนับสนุนเพื่อนในป่าแบบลับๆ มีการทำเฉลยข้อสอบเอ็นทรานซ์ขายหาทุน และไปเยี่ยมเพื่อนในคุกโดยไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐ จนเกิดพลังกดดันรัฐบาลทั้งจากภายในและนอกประเทศ ในที่สุด พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ก็ทำ รัฐประหารและมีนโยบายผ่อนปรนมากขึ้น

กิจกรรมนักศึกษามหิดลจึงก่อตัวขึ้นอีกครั้งโดยเน้นการเคลื่อนไหวเรื่องวิชาชีพ ได้จัดงานมหิดล ’21 ร่วมกับนักศึกษา 12 สถาบันออกไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อีสาน ต่อมาได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสโมสรนักศึกษา 18 สถาบันในปี พ.ศ.2522 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 รัฐบาลยอมให้มีสโมสรนักศึกษาได้โดยให้เลือกตั้งทางอ้อม นักศึกษาจึงเคลื่อนไหวให้เลือกตั้งโดยตรง เรียกร้องให้มีสภานักศึกษาและพรรคนักศึกษา ซึ่งประสบผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2523 หลังจากนั้นสโมสรนักศึกษา 18 สถาบันก็เคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองมากขึ้น เช่น คัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ คัดค้านการขึ้นค่าไฟฟ้า และคัดค้านกรณีญวนบุกกัมพูชา ช่วงเวลาเดียวกันนี้ขบวนการสังคมนิยมสากลตกต่ำ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายรับนักศึกษาที่เข้าป่าให้กลับมาเรียนต่อ นักศึกษามหิดลที่รอดชีวิตจึงได้กลับมาเรียนอีกครั้ง การเติบโตของเทคโนโลยีทุนนิยมส่งผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงโดยรวม อาจกล่าวได้ว่าวิกฤตศรัทธาต่ออุดมการณ์สังคมนิยมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาไทยค่อยๆ อ่อนตัวลง ปี พศ. 2527 นักศึกษามหิดลปี 1 ทุกคณะย้ายไปเรียนที่ศาลายา และแกนนำนักศึกษาที่มีประสบการณ์ส่วนใหญ่เรียนจบ กิจกรรมนักศึกษาเชิงสังคมการเมืองจึงค่อย ๆ ยุติบทบาทลง ปิดฉาก ” ตึกสันท์” ศูนย์รวมแหล่งบ่มเพาะนักกิจกรรมมหิดล อาจกล่าวได้ว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

CR: http://mobile.kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/2075

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น