การดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีวาระ 7 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงครั้งเดียว แต่ทันทีที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ เครื่องยนต์กำลังติด ดูเหมือนจะดับซะแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การเมืองได้รุมเร้ารัฐบาลอย่างหนัก จากกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคน อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. รวมถึงเหล่าแกนนำ กปปส. ทั้ง นายถาวร เสนเนียม นายวิทยา แก้วภราดัย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ฯลฯ ระดมมวลมหาประชาชนชุมนุมยึดเยื้อแรมเดือนเพื่อกดดันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลลาออก จนในที่สุดนายกฯ ก็ได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เพราะไม่สามารถทนแรงกดดันจากมวลชนได้ กลับมามองการปฏิบัติหน้าที่ของ 5 เสือ กกต.ชุดปัจจุบันกันบ้าง เมื่อมีการยุบสภา กกต. จะต้องดำเนินการจัดเลือกตั้งภายใน 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน แต่การทำหน้าที่ของ กกต. ขณะนี้ยังไม่ครบขวบเดือนเต็ม ก็เผชิญกับสถานการณ์การเมืองจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพื่อให้มีการปฏิรูปโดยภาคประชาชน แต่ กกต. ต่างยืนยันจุดยืนตามอำนาจหน้าที่ที่มีในรัฐธรรมนูญว่า จะยังคงเดินหน้าจัดเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ต่อไป พร้อมกับดำเนินการเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อตั้งแต่วันที่ 23-27 ธ.ค. 56 และกำหนดให้วันที่ 28 ธ.ค. - 1 ม.ค.57 เป็นวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต
โดยใช้สถานที่ภายใต้กรอบการทำงานของ กกต. ซึ่งถูกกดดันและขัดขวางทุกวิถีทางจากกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งกลุ่ม กปปส. กลุ่ม คปท. และกลุ่ม กปท. ได้เคลื่อนไหวบุกเข้าไปยังพื้นที่เปิดรับสมัครกดดัน กกต. และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต. เพื่อไม่ให้จัดการรับสมัครเลือกตั้งได้ และไม่มีอะไรทัดทานการทำงานของ กกต.ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับมวลชน จนในที่สุด กกต.ได้จับฉลากพรรคการเมืองและผู้รับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งพรรคชาติพัฒนา ได้เบอร์ 1 พรรคชาติไทยพัฒนา เบอร์ 14 ขณะพรรคเพื่อไทย จับได้เบอร์ 15 ซึ่งแน่นอน หนทางต่อไป คือ การเดินไปสู่กระบวนการเลือกตั้งที่กำลังรออยู่ในอีก 1 เดือนข้างหน้า แต่เกมการต่อสู้ทางการเมือง ยังคงระอุร้อนแรงขึ้น แม้สภาพอากาศจะหนาวเย็นก็ตาม แต่สถานการณ์อึมครึมเฉกเช่นนี้ 5 เสือ กกต. ได้ออกมาแสดงจุดยืน ย้ำแล้วย้ำอีก จะไม่เปลี่ยนสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง และจะไม่เลื่อนการเลือกตั้งตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างแน่นอน ขณะที่มวลมหาประชาชนก็พร้อมจะลุยและเดินหน้า ไม่ยอมให้ กกต.จัดเลือกตั้งได้เช่นเดียวกัน โดยใช้ทุกยุทธวิธีเพื่อกดดันทั้ง กกต.และเร่งรัดให้นายกฯ ลาออกจากรักษาการ เพื่อเปิดทางให้ปฏิรูปโดยจัดตั้งสภาประชาชนที่มาจากทุกภาคส่วน และจะไม่ยอมให้มีบุคคลในระบอบทักษิณ โดยไม่ให้มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งได้อีก จนถึงขณะนี้ สิ่งที่ กกต.ต้องหยั่งคิดอย่างหนัก คือ 1.จะเลือกทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีในรัฐธรรมนูญ แล้วเดินหน้าจัดเลือกตั้งโดยไม่สนใจความเป็นไปของสถานการณ์การเมืองที่เข้าขั้นวิกฤติ หรือ 2. กกต.จะยืดหยุ่น คำนึงถึงอำนาจของหมู่มวลมหาประชาชนที่ต้องการปฏิรูปประเทศโดยประชาชน หากทบทวนขบคิด แนวทางใดบ้างที่จะคลี่คลายปัญหาและเรียกว่าทางออกของประเทศอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ทั้งนั้น ภายใต้ความอึมครึมทางการเมือง จุดจบของเป้าหมายปลายทางคืออะไร ? อยู่ตรงไหน ? ใครจะนำทิศทางไปสู่ทางออก ? และ กกต.จะใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในขณะนี้จัดการกับปัญหาได้อย่างไร ? หลังออกแถลงการณ์เสนอไปยังรัฐบาลให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปก่อน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การเมืองก่อนจะวิกฤติบานปลายโดยไม่สามารถยับยั้งได้ และคำตอบต่อไปที่คนไทยต้องจับตาว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นหรือไม่? หรือจะส่อแท้งกลางทาง ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น