ขอบคุณที่มา:https://www.blockdit.com/posts/5ef9f335ad08dd21a585b93f
ก่อนอื่นผมขอเล่าถึงเรื่องราวการปฏิวัติฝรั่งเศสก่อนนะครับ... ฝรั่งเศสในสมัยก่อนการปฏิวัตินั้น อยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีกษัตริย์คือหลุยส์ที่ 16 มีอำนาจสูงสุด
และคนฝรั่งเศสในสมัยนั้นก็จะมีการแบ่งฐานันดรเป็น 3 ฐานันดรด้วยกันครับ...
โดยฐานันดรที่ 1 คือ พวกพระ
ฐานันดรที่ 2 คือ พวกขุนนาง
และฐานันดรที่ 3 คือ พวกสามัญชน
ซึ่งฐานันดรที่ 1 และ 2 ถือว่าเป็นพวกชนชั้นอภิสิทธิ์ครับ คือ มีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง แถมไม่ต้องเสียภาษีอีกต่างหาก!
ส่วนฐานันดรที่ 3 ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด พวกนี้ไม่มีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง แถมยังต้องเสียภาษี
เรื่องมันเริ่มตอนที่รัฐบาลฝรั่งเศสใกล้จะถังแตกครับ โดยสาเหตุก็มาจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมาตั้งแต่สมัยหลุยส์ที่ 14 ที่เอาเงินไปสร้างวังแวร์ซายกับทำสงคราม จนเงินในคลังแทบเกลี้ยง แล้วพอมาในสมัยหลุยส์ที่ 15 ก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนการใช้เงิน ยังคงทำสงครามต่อไป เวรกรรมจึงมาตกในสมัยของหลุยส์ที่ 16 ซึ่งสภาพเศรษฐกิจฝรั่งเศสเข้าขั้นวิกฤติไปแล้ว!
แต่หลุยส์ที่ 16 ก็ไม่ได้สนใจ ยังคงใช้เงินเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเหมือนเดิม อีกทั้งยังเอาเงินไปทุ่มกับการช่วยอเมริกาในสงครามปฏิวัติอเมริกา
ฐานันดรที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เสียภาษีก็พากันไม่พอใจในทีสุด พร้อมบอก “พวกเราเสียภาษีตั้ง 25% แต่เหมือนไม่ได้อะไรกลับมา ฝรั่งเศสก็ไม่ได้ดีขึ้น ลองมองไปที่อังกฤษดูสิ เขาเสียภาษีกันแค่ 5% แต่เจริญกว่าพวกเราลิบลับ”
ซึ่งได้ผลครับ! ตัวของหลุยส์ที่ 16 ก็ได้มีการหันมาสนใจเสียงสามัญชนมากขึ้น โดยพยายามที่จะปฏิรูปการคลังของฝรั่งเศส
แต่ทว่า ฐานันดรที่ 2 นั้นไม่เห็นด้วยจึงทำการคัดค้าน (ในสมัยนั้นขุนนางมีอำนาจมากพอสมควร) แล้วบังคับหลุยส์ที่ 16 ให้เรียกประชุมสภาทั้ง 3 ฐานันดร เพื่อมาตกลงกันว่าจะเอายังไง
แต่การประชุมก็ไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่ครับ เมื่อสามัญชนนั้นต่างคิดว่าตัวเองเสียเปรียบ เพราะคะแนนเสียงในการลงมตินั้น ทั้ง 3 ฐานันดรมีเท่ากัน แต่ฐานันดรที่ 3 คือสามัญชนต่างโต้ว่า “พวกตูมีคนเยอะกว่าเท่าตัว แต่สามารถลงคะแนนเสียงได้เท่าพวกเอ็งเนี่ยนะ ไม่ยุติธรรมเลย!”
เมื่อการประชุมไม่ได้อะไร บวกกับสามัญชนลงคะแนนเสียงไปก็แพ้เหมือนเดิม เพราะพวกอภิสิทธิ์ชนมีคะแนนเสียงมากกว่า...
พวกสามัญชนจึงตัดสินใจตั้ง “สมัชชาแห่งชาติ” ขึ้นมา เพื่อให้สามัญชนมาตกลงกันเองและมีการจัดเก็บภาษีกันเองด้วย!
เมื่อเป็นแบบนี้ เหล่าอภิสิทธิ์ชนก็ร้อนๆหนาวๆสิครับต่างคิดว่า “แล้วใครจะจ่ายภาษีให้พวกตู” จึงมีการแตกแยกเป็น 2 ฝ่ายครับ ฝ่ายหนึ่งคือ เข้าร่วมกับหลุยส์ที่ 16 ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งต่างพากันไปซบอกสมัชชาแห่งชาติ
เหตุการณ์เริ่มตึงขึ้น เมื่อเกิดข่าวลือ(ซึ่งมาจากไหนก็ไม่รู้) ว่าสมัชชาแห่งชาติมีการเตรียมบุกพระราชวังแวร์ซาย หลุยส์ที่ 16 จึงเรียกระดมพลทหาร 20,000 คนมาที่แวร์ซาย
ทางสมัชชาแห่งชาติเมื่อเห็นทหารกรูเข้ามาในปารีส ก็กลัวสิครับ จึงพากันปลุกปั่นประชาชนให้จับอาวุธ เหตุการณ์เลยเถิดไปถึงขนาดมีการจราจล ยึดศาลาว่าการและสถานที่ราชการ...
และสถาการณ์ก็วุ่นวายจนสายเกินแก้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 ฝูงชน 800 คน ได้ทำลายประตูคุกบาสตีลย์ พร้อมจับพัสดีคุกตัดหัว ซึ่งฝูงชนบอกว่าคุกนี้เป็นคุกอัปยศที่ขังนักโทษทางการเมือง แถมยังมีการทรมานต่างๆนานา (แต่พอคุกแตกจริงๆ กลับมีนักโทษแค่ 7 คน โดยมีนักปลอมลายมือ 4 คน ขุนนางตกอับ 1 คน และคนบ้าอีก 2 คน!)
แต่เอาเถอะครับ ถึงจะผิดหวังกับเรื่องนักโทษที่อยู่ในคุก แต่ฝูงชนก็ได้ถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของการทำลายการปกครองแบบดั้งเดิมของฝรั่งเศส และเป็นการแสดงความรู้สึกของสามัญชนว่า “พวกเราจะไม่ทนการถูกเอาเปรียบอีกต่อไปแล้วโว้ย!”
เรื่องราวการทลายคุกที่บอกเล่ากันปากต่อปากว่าเป็นสัญลักษณ์และสัญญาณให้สามัญชนลุกขึ้นมาต่อสู้ได้โหมกระพรือไปทั่วปารีส แล้วไฟแห่งการปฏิวัติก็ได้ถูกจุดขึ้นในที่สุด...
หลังทำลายคุกบาสตีลย์ เหล่าสามัญชนก็เหมือนได้รับการสูบฉีดครับ พากันบุกยึดที่ดินหรือปราสาทของพวกขุนนาง ซึ่งพวกขุนนางเมื่อเจอแบบนี้ก็พากันหนีอย่างหัวซุกหัวซุน
แล้วสมัชชาแห่งชาติก็ประกาศกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้ทุกคนต้องเสียภาษีเท่าเทียมกัน พร้อมกับการประกาศสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างสังคมของฝรั่งเศสขึ้นมาใหม่ แล้วยกเลิกชนชั้นของพวกขุนนาง ส่วนกษัตริย์ก็จัดให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ....
ด้านหลุยส์ที่ 16 และขุนนางซึ่งอ่อนแอมาก ก็ไม่สามารถหยุดเหตุการณ์ที่เลยเถิดนี้ได้ จึงต้องจำใจยอมรับกฎหมายของสมัชชาแห่งชาติ
แล้วในที่สุดก็มีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใน ค.ศ.1791
แต่ใช่ว่าเรื่องจะจบครับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยมากพอ บ้านเมืองก็ยังอยู่ในสภาพวุ่นวายเช่นเดิม แถมพวกสามัญชนก็มีการแบ่งกันเป็นหลายก๊กหลายกลุ่มแย่งอำนาจกัน โดยกลุ่มเด่นๆที่ผมจะพูดถึงมีด้วยกัน 4 กลุ่มครับ คือ...
กลุ่มบริโซแตงส์ กลุ่มจิรองแดงส์ กลุ่มซังต์กือลอต และกลุ่มจาโคแบงส์
โดยกล่มที่มีอำนาจมากในช่วงแรก คือ บริโซแตงส์และจิรองแดงส์ที่มีการร่วมมือกัน โดยแนวคิดของทั้งสองกลุ่มตรงกัน คือ การสุมไฟการปฏิวัติของประชาชนให้รุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อเปลี่ยนฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ และบีบหลุยส์ที่ 16 ให้ประกาศสงครามกับประเทศในยุโรป
ตัวของหลุยส์ที่ 16 เห็นท่าไม่ดีและกลัวถูกใช้เป็นเครื่องมือ จึงหนีออกนอกประเทศพร้อมกับราชินีมารี อองตัวเน็ตต์! แต่ว่าก็ไปไม่รอดครับ ถูกจับได้ที่เมืองวาเรนส์ แล้วถูกส่งกลับปารีสในฐานะนักโทษ!
บริโซแตงส์กับจิรองแดงส์ก็ได้บังคับให้หลุยส์ที่ 16 ประกาศสงครามกับออสเตรียและปรัสเซีย ตัวของหลุยส์ที่ 16 ก็คิดว่า “เอาวะ ให้ปรัสเซียและออสเตรียมาถล่มพวกปฏิวัติ เผื่อจะได้ฟื้นอำนาจของกษัตริย์ขึ้นมาใหม่!” แล้วในที่สุด ก็มีการประกาศสงครามกับออสเตรียและปรัสเซียใน ค.ศ.1792...
โดยการประกาศสงครามนี้ทำให้พวกจาโคแบงส์ที่มีแนวคิดต่อต้านสงครามโกรธแค้นพวกบริโซแตงส์ จิรองแดงส์ และหลุยส์ที่ 16 อย่างมากครับ
โดยเฉพาะชายที่เป็นผู้นำของกลุ่มที่ชื่อว่า แมกซิมิเลียน โรเบสปิแอร์ ซึ่งจะกลายเป็นตัวละครหลักของสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว...
ฝรั่งเศสนั้นถือว่าห้าวมากครับ ที่ประกาศสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านในตอนที่บ้านเมืองวุ่นวายยุ่งเหยิง กองทัพก็ไม่เป็นระเบียบและอ่อนแอ พูดได้ว่า จะเอาอะไรไปสู้เขา?
ดังนั้น จึงมีการนำพวกนักปฏิวัติหัวรุนแรงตามชนบทเข้ามามีบทบาทในสงคราม ซึ่งพวกที่ว่า คือ พวกซังต์กือลอตนั่นเองครับ...
พวกบริโซแตงส์และจิรองแดงส์นั้น เอาจริงๆ คือ ไม่อยากใช้พวกซังต์กือลอตเท่าไหร่ เพราะพวกนี้ไม่เชื่อในทฤษฎีอะไรทั้งนั้น พลังการขับเคลื่อนอย่างเดียวของพวกนี้ คือ ความแค้น!
แต่ในสภาพแบบนี้จึงไม่มีทางเลือกที่จะใช้พวกซังต์กือลอตเข้ามาเป็นกำลังหลักในการทำสงคราม
แต่ท้ายที่สุด ทัพของฝรั่งเศสก็แพ้อย่างราบคาบ...
พวกจาโคแบงส์จึงใช้โอกาสนี้โจมตีพวกบริโซแตงส์และจิรองแดงส์ ซึ่งการรบกับประเทศเพื่อนบ้านก็ยังไม่เคลียร์ แต่กลับเกิดการรบกันในฝรั่งเศสและเกิดการสังหารหมู่ทั่วประเทศขึ้นมาอีก!
จากความวุ่นวายที่เกิดขึ้น พวกบริโซแตงส์และจิรองแดงส์จึงเอาตัวรอดโดยโยนความผิดทั้งหมดไปให้หลุยส์ที่ 16 ซะ!
เหล่าฝูงชนที่แค้นหลุยส์ที่ 16 อยู่แล้ว ก็แค้นหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม พากันถืออาวุธบุกพระราชวังตุยเลอรีส์ซึ่งเป็นที่คุมขังหลุยส์ที่ 16
จึงเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านกับกองกำลังทหารสวิสที่ปกป้องพระราชวัง ผลคือทหารสวิสเสียชีวิต 800 คน ส่วนฝ่ายจราจลเสียชีวิต 373 คน
แต่หลุยส์ที่ 16 ก็หนีรอดจากความบ้าคลั่งของฝูงชนมาได้ แต่ในตอนนี้นั้นสถานะของหลุยส์ที่ 16 ก็ได้ตกต่ำสุดๆเลยล่ะครับ อำนาจที่เคยมีก็ได้หมดไปโดยสิ้นเชิง
เหตุการณ์ก็ตึงยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อกองทัพของออสเตรียและปรัสเซียเข้าประชิดปารีส พร้อมกับมีการปั่นข่าวลือว่าจะมีการต่อต้านการปฏิวัติจากคนในปารีส
ดังนั้น พวกซังต์กือลอตก็เกิดความกังวลและความกลัวขึ้นมาจนระเบิดความบ้าคลั่งขึ้นมาโดยการฆ่าผู้ต้องสงสัยว่าเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัติโดยไม่มีการสอบสวน!
ผู้คนหรือแม้กระทั่งนักโทษถูกสังหารหมู่ไปหลายพันคน บ้างก็ถูกทารุณกรรมอย่างป่าเถื่อนโดยเรียกเหตุการณ์นี้ครั้งนี้ว่า การสังหารหมู่เดือนกันยายน...
และจากการไร้ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นของพวกบริโซแตงส์และจิรองแดงส์ ทำให้พวกจาโคแบงส์มีบทบาทและอำนาจขึ้นมาในที่สุด
แต่ตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้ครับว่าโรเบสปิแอร์และจาโคแบงส์นี่แหละ ที่อยู่เบื้องหลังในการปั่นข่าวลือให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้นมา...
เมื่อพวกจาโคแบงส์ได้เข้ามามีอำนาจ จึงทำการปลดหลุยส์ที่ 16 ออกจากบัลลังก์ แล้วเปลี่ยนฝรั่งเศสไปเป็นสาธารณรัฐในที่สุด
ซึ่งพอพวกจาโคแบงส์เข้ามา ก็สามารถยันกองทัพของออสเตรียและปรัสเซียได้เฉยเลย! แถมยังเกิดโรคระบาดในกองทัพเหล่านั้นจนต้องถอยกลับเลยล่ะครับ เรียกได้ว่า พวกจาโคแบงส์เนี่ยมากับดวงจริงๆ...
เมื่อเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้ว หลุยส์ที่ 16 ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป จาโคแบงส์ก็ได้พิจารณาโทษโดยการประหารชีวิตหลุยส์ที่ 16 ในข้อหาทรยศชาติ (มีการพบเอกสารลับในหีบ ที่บ่งบอกว่าหลุยส์ที่ 16 มีการติดต่อกับออสเตรียและปรัสเซีย)
พวกจาโคแบงส์คิดว่า การประหารหลุยส์ที่ 16 จะเป็นการทำลายอำนาจของพวกบริโซแตงส์และจิรองแดงส์ไปด้วย เพราะหลุยส์ที่ 16 ก็เหมือนหุ่นเชิดของพวกนี้ เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว...
และแล้วเช้าวันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1793 ท่ามกลางสายตาของฝูงชนนับพัน หัวของหลุยส์ที่ 16 ก็หลุดออกจากบ่าด้วยเครื่องประหารที่ชื่อว่ากิโยติน
และนี่คือการเปิดม่านสู่สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวของฝรั่งเศส...
หลังการประหารหลุยส์ที่ 16 เหล่าประเทศที่ปกครองดวยระบอบกษัตริย์ก็พากันขนหัวลุก และกลัวว่าประชาชนประเทศของตัวเองจะเอาฝรั่งเศสเป็นตัวอย่าง ประเทสเหล่านั้นจึงพากันรุมประณามพวกจาโคแบงส์ว่า “ไอ้พวกป่าเถื่อน!”
พวกจาโคแบงส์ก็ตอบโต้โดยการพยายามเผยแพร่แนวคิดแบบฝรั่งเศสเข้าไปยังประเทศต่างๆในยุโรป แถมยังเป็นฐานให้กับพวกที่อยากปฏิวัติในประเทศอื่นๆ
เหล่าประเทศยุโรปจึงระแวงฝรั่งเศสสุดๆเลยล่ะครับ มีการตราหน้าว่าฝรั่งเศสเป็นที่ซ่องสุมของพวกผู้ก่อการร้ายทั่วยุโรป!
แล้วประจวบเหมาะกับทัพของปรัสเซียและออสเตรียฟื้นตัว แถมอังกฤษก็เข้ามาร่วมวงด้วย ทัพเหล่านี้ต้องการโค่นล้มอำนาจของพวกจาโคแบงส์ จึงพากันยกทัพเข้าตีทัพฝรั่งเศสจนพ่ายแพ้อย่างราบคาบอีกครั้ง...
ความพ่ายแพ้จึงทำให้เกิดความวุ่นวายในประเทศโดยพวกซังต์กือลอตขึ้นมาอีกครั้งครับ! แต่คราวนี้ไม่ได้ถูกปลุกปั่นโดยพวกจาโคแบงส์ (อย่างที่เคยเล่าไปครับว่าพวกซังต์กือลอตขับเคลื่อนโดยความแค้นล้วนๆ!)
แต่โรเบสปิแอร์ก็ได้ใช้โอกาสความวุ่นวายที่พวกซังต์กือลอตก่อขึ้นมานี้ ทำการตั้งศาลปฏิวัติเพื่อตัดสินและกำจัดผู้ที่ต่อต้านการปฏิวัติให้หมดสิ้นไปจากฝรั่งเศส และเป้าหมายแรก คือ พวกบริโซแตงส์และพวกจิรองแดงส์ที่หลงเหลืออยู่
โดยพวกนี้โดนศาลปฏิวัติตัดสินให้ประหารโดยกิโยตินจนเหี้ยนเลยล่ะครับ! จึงเป็นจุดจบของพวกบริโซแตงส์และพวกจิรองแดงส์ในที่สุด
ทำให้ในตอนนี้โรเบสปิแอร์และจาโคแบงส์นั้นมีอำนาจสูงสุดในประเทศ...
โรเบสปิแอร์ได้ทำการจับและประหารพวกที่เข้าข่ายว่าจะต่อต้านการปฏิวัติ (เอาจริงๆ คือพวกที่จะต่อต้านโรเบสปิแอร์และจาโคแบงส์มากกว่า)
ไล่ตั้งแต่อดีตราชินีมารี อองตัวเนตต์ และพวกเชื้อพระวงศ์อื่นๆก็ถูกจับขึ้นเขียงเป็นเหยื่ออันโอชะของกิโยตินกันทั้งสิ้น รวมถึงพวกแม่ทัพหรือทหารที่แพ้ในสงคราม ก็โดนจับมาตัดคอเพื่อเป็นตัวอย่างของผลลัพธ์ถ้าหากรบแพ้...
นอกจากนี้พวกจาโคแบงส์ก็มีการต่อต้านศาสนาอีกด้วย โดยมีการทำลายโบสถ์ จับพวกพระไปเข้ากิโยตินและห้ามให้มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาใดๆทั้งสิ้น ใครฝ่าฝืน กิโยตินเตรียมพร้อมสำหรับทุกคนเสมอ!
แต่การปกครองอันป่าเถื่อนของโรเบสปิแอร์ ก็ทำให้ทหารฝรั่งเศสเกิดฮึกเหิมขึ้นมา สามารถรบในสนามรบได้อย่างไม่กลัวตายเลยทีเดียว (แหงล่ะ เพราะถ้าแพ้ก็ต้องกลับไปโดนกิโยตินสับคอตายอยู่ดี...) ทำให้กองทัพฝรั่งเศสชนะในหลายๆสนามรบเลยล่ะครับ โดยมีนายทหารหนุ่มที่โดดเด่นขึ้นมาหลายคนไม่ว่าจะเป็น จรูดอง เมอโร มาซเซนา และนโปเลียน โบนาปาร์ต...
แต่จากความโหดเหี้ยมของโรเบสปิแอร์ ที่จับคนมาบั่นคอด้วยกิโยตินเป็นว่าเล่น ซึ่งมีการประมาณการว่าเหยื่อของกิโยตินในยุคนั้นมีมากกว่า 10,000 คนเลยล่ะครับ!
และยังรวมไปถึงพวกซังต์กือลอตที่โรเบสปิแอร์เคยใช้ประโยชน์ก็ไม่รอดพ้นจากคมมีดของกิโยตินเช่นกัน เพราะโรเบสปิแอร์กลัวว่าพวกนี้จะลุกมาต่อต้านเขาในอนาคต...
เมื่อบ้านเมืองวิปริตขนาดนี้ จึงเกิดพวกที่ต่อต้านโรเบสปิแอร์ขึ้นมาในที่สุดครับ นั่นคือพวกเทอมิดอเรียนส์...
พวกที่ต่อต้านโรเบสปิแอร์ก็ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆตามเลเวลความโหดเหี้ยมในสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว
จนในที่สุดวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1794 พวกเทอมิดอเรียนส์ก็ได้มีการชิงลงมือทำการรวบตัวโรเบสปิแอร์และพรรคพวกอย่างรวดเร็ว (ซึ่งถ้าช้ากว่านี้พวกเทอมิดอเรียนส์ก็จะไม่รอดซะเอง)
แสดงให้เห็นว่าโรเบสปิแอร์และจาโคแบงส์ในตอนนี้อ่อนแอลงมาก เพราะไม่มีกำลังจากพวกซังต์กือลอตที่ถูกตัดหัวไป คอยหนุนหลังเหมือนแต่ก่อน...
และแล้วในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1794 โรเบสปิแอร์พร้อมพรรคพวกก็ถูกนำตัวเข้าสู่แท่นประหารที่จตุรัสแห่งการปฏิวัติ ที่เดียวกับที่หัวของหลุยส์ที่ 16 หลุดออกจากบ่าเมื่อ 1 ปีที่แล้ว...
เหมือนฉายภาพซ้ำเลยนะครับ โรเบสปิแอร์ถูกมัดแขนแล้วนำขึ้นไปบนแท่นประหาร...
จากนั้นคอของเขาก็ถูกล็อคเข้ากับกิโยติน พร้อมกับเสียงกรีดร้องอย่างหวาดกลัวที่ดังก้องไปทั่วจตุรัส...
แล้วเสียงนั้นก็หายไปเมื่อใบมีดเพชรฆาตได้สับลงบนคอของเขา...
กิโยตินที่เป็นเครื่องมือตัดคอสุดโปรดของโรเบสปิแอร์...
บัดนี้ กลายมาเป็นเครื่องมือที่จบชีวิตของตัวเขาเอง...
ทันทีที่หัวของเขาหลุดออกจากบ่า...
การปฏิวัติฝรั่งเศสก็สิ้นสุดลง...
พร้อมๆกับการปิดม่านของสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว...
การปฏิวัตินี้ แม้จะทำลายฝรั่งเศสในสมัยนั้นอย่างย่อยยับ...
ทั้งยังสร้างยุคสมัยแห่งความโกลาหลและความโหดร้าย...
รวมถึงกลายเป็นตัวอย่างของการปฏิวัติอย่างรุนแรงแบบถอนรากถอนโคนให้กับประเทศต่างๆทั่วโลก...
แต่ทว่าการปฏิวัตินี้ ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางประชาธิปไตยของฝรั่งเศส...
ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นฝรั่งเศสในปัจจุบัน...
ทั้งยังเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของโลกที่เราควรจะจดจำเอาไว้...
อ้างอิง
Breunig, D.W. The Age of Revolution and Reaction, New York : W.W.Norton & Co, 1970.
Rude, George E. The Crowd in the French Revolution, Oxford University Press, 1972.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น