เพลงฉ่อยชาววัง

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ย้อนประวัติศาสตร์-ข้อถกเถียง "ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์"


หนึ่งใน 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของผู้ชุมนุม คือการยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561 ให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้ชัดเจน

เล่าย้อนเกร็ดประวัติศาสตร์อ้างอิงจาก 2 แหล่ง คือหนังสือกลางใจราษฎร์ เป็นพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีผู้เขียนหลายคน แต่ประธานที่ปรึกษา คือนายอานันท์ ปันยารชุน

อีกแหล่งคืองานวิจัยเรื่อง สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจของ ศ.พอพันธ์ อุยยานนท์ เป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีผลงานวิชาการมากมาย ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว

ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมบัติทุกอย่างเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่เริ่มปรับเปลี่ยนในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อตั้งกรมพระคลังข้างที่ปี 2433 ดูแลพระราชทรัพย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 แบ่งเป็น 1.ทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ส่วนนี้ต้องเสียภาษี



2.ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติ เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เป็นต้นว่า พระราชวัง และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือทรัพย์สินที่ไม่อยู่ใน 2 หมวดแรก

ซึ่งหมายถึงที่ดินและการลงทุนในบริษัทต่างๆ ส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษี ช่วงแรก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล

มีเกร็ดประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ที่ทำให้เห็นความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับราชสำนัก เมื่อปรากฏว่า คนใกล้ชิดรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ขายที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้พรรคพวกด้วยราคาถูกผิดปกติ รัฐบาลถูกอภิปรายจนต้องลาออก

 

อีกด้านหนึ่ง รัชกาลที่ 7 ถูกตรวจสอบพบว่าโอนเงินออกไปจากพระคลังข้างที่ก่อนสละราชสมบัติกว่า 4 ล้านบาท กระทรวงการคลังฟ้องพระองค์ จนรัชกาลที่ 7 แพ้คดีต้องโอนเงินคืนรัฐบาลรวมดอกเบี้ยกว่า 6 ล้านบาท

จนกระทั่งปี 2490 เกิดการรัฐประหารอำนาจของคณะราษฎรสิ้นสุดลง ฝ่ายคณะเจ้าขึ้นมาแทนก็เกิดการแก้ไขกฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในปี 2491

สาระสำคัญคือ การทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลายเป็นนิติบุคคล อิสระจากรัฐบาล และโอนทรัพย์สินจากกระทรวงการคลัง มาอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีรัฐมนตรีคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอีก 4 คน ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์

 

จากนั้นการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็สร้างผลกำไรอย่างดี จากการถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ทั้งทางตรง 90 บริษัท และทางอ้อมอีก 300 บริษัท โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์และเครือซิเมนต์ไทย สร้างรายได้มากกว่าร้อยละ 60

รายได้หลักอีกอย่างคือ การถือครองที่ดินกว่า 40,000 ไร่ อยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 8,000 ไร่ จำนวนหนึ่งเป็นที่ทำเลทองกลางเมือง

แต่นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งองคมนตรี กล่าวไว้ในหนังสือกลางใจราษฎร์ว่า การหารายได้ไม่ใช่เป้าหมายหลักของสำนักงานทรัพย์สินฯ

ที่ดินกว่าร้อยละ 93 ที่ถือครองอยู่ ไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง และในหนังสือระบุถึงบทบาทของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่นำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะมากมาย

 

แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งในงานวิจัยของ ศ.พอพันธ์ ระบุว่า ในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เมื่อสำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาสภาพการถือหุ้นใหญ่ในธนาคารไทยพาณิชย์ แต่เงินไม่พอจนกระทรวงการคลังต้องเข้ามาถือหุ้นใหญ่แทน

จากนั้นสำนักงานทรัพย์สินฯ นำที่ดินย่านพญาไทและราชวิถี ไปแลกกับหุ้นของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ จนกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้

ศ.พอพันธ์ ระบุในงานวิจัยว่า เป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐ เพราะการแลกที่ดินกับหุ้นกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ นี่คือข้อมูลทางประวัติศาสตร์อ้างอิงจาก 2 แหล่ง

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ สนช.ออกกฎหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ปี 2560 สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงคือทรัพย์สินสาธารณสมบัติ เช่น วัดหรือวัง รวมเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และคณะกรรมการทรัพย์สินมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ต่างจากเดิมที่รัฐมนตรีคลังเป็นโดยตำแหน่ง

 

เมื่อกฎหมายเปลี่ยนก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการ และ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ ก็เป็นเลขาธิการพระราชวังด้วย นี่คือรายชื่อกรรมการปัจจุบัน คนล่าสุดที่ได้รับการแต่งเป็นกรรมการและรองผู้อำนวยการ คือ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก

1 ปีถัดมา สนช.ออกกฎหมายใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตัดคำว่า "ส่วน" ออกไป สาระสำคัญคือการรวมทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

 

จุดนี้เกิดข้อถกเถียงฝ่ายหนึ่งอธิบายข้อดีว่า การจัดการทรัพย์สินตามพระราชอัธยาศัย ทำให้สามารถพระราชทานที่ดินจำนวนมาก ให้กับหน่วยงานราชการใช้ประโยชน์ และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

แต่บางฝ่ายก็เรียกร้องให้กลับไปแยกทรัพย์สินเป็น 2 ส่วนเหมือนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพราะเป็นจุดที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น