เมื่อวานนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้เสนอ "หยุดวงจรรัฐประหารด้วย 4 ปฏิรูป" อันเป็นมาตรการพื้นฐานสำหรับปฏิรูปสถาบันกษัตริย์, รัฐธรรมนูญ, ศาล และ กองทัพ ต่อสาธารณชนให้พิจารณา https://progressivemovement.in.th/article/4374/
นี่นับเป็นก้าวสำคัญ และเป็นหมุดหมายสำหรับผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า
ในที่นี้ ผมขอคัดลอกข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เฉพาะในส่วนที่แปลงเป็นรัฐธรรมนูญแล้วมาให้พิจารณากัน ดังนี้
“มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของราชอาณาจักรไทย เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เป็นกลางทางการเมือง และเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย
การกระทำของพระมหากษัตริย์ทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐ ต้องได้รับคำแนะนำและความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเสียก่อน
การกระทำของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ การกระทำใดของพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ให้ถือเป็นโมฆะ
พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเกี่ยวกับกิจการของรัฐได้เท่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำและความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีตามการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรี
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามคำแนะนำและความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนระดับสูง ข้าราชการทหารระดับสูง ข้าราชการตำรวจระดับสูง ตามการเสนอชื่อของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและกระทำการต่างๆ ตามคำแนะนำและความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ในนามของปวงชนชาวไทย ดังนี้
(1.) ประกาศสงคราม
(2.) แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(3.) แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและกระทำการต่างๆ ตามคำแนะนำและความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ในนามของปวงชนชาวไทย ดังนี้
(1.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
(2.) ประกาศใช้พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา สนธิสัญญาระหว่างประเทศ
(3.) พระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูง
(4.) พระราชทานอภัยโทษ
(5.) สถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์ พระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์"
(6.) รับรองประมุขของรัฐต่างประเทศ เอกอัครราชทูต หรือพระราชอาคันตุกะ
(7.) ประกอบพระราชพิธี
เฉพาะการใช้พระราชอำนาจตามบทบัญญัติในมาตรานี้ องค์พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบใด ให้ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นผู้รับผิดชอบ”
นอกจากนี้ยังมีข้อให้ยกเลิกองคมนตรี, ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, สภาผู้แทนราษฎรกำหนดเงินรายปีให้พระมหากษัตริย์, จัดแบ่งทรัพย์สินเป็นสองส่วน คือส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นของแผ่นดิน และส่วนพระองค์ และให้แก้ไขกฎหมายทั้งปวงให้ "กษัตริย์ไม่อาจมีพระราชอำนาจในการบริหารกิจการราชการและประกอบธุรกิจ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น