จุดร่วมระหว่าง 'วรงค์ - พีระพันธุ์ คือทั้งคู่เคยเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลัง อภิสิทธิ์ คว้าความล้มเหลวในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
อีกหนึ่งจุดร่วมที่สำคัญคือทั้งคู่ยื่นใบลาออกจากพรรคสีฟ้าในเวลาไล่เลี่ยกัน และตัดสินใจช่วยผู้มีอำนาจเดินเกมส์ทั้งในสภาและนอกสภา
“วรงค์” เดินเกมส์นอกสภาฯ ด้วยการเดินสายเปิดเวทีปราศรัยปราบขบวนการคนชังชาติ
19 พ.ย. 2562 “วรงค์ เดชกิจวิกรม” ยื่นใบลาออกจากพรรคสีฟ้า ให้หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคลุงกำนัน โดยจ่ายเงินจำนวน 3,650 บาทเพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรคแบบตลอดชีพ พร้อมได้รับเกียรติจากแกนนำพรรคทั้งลุงกำนัน-หม่อมเต่า สวมเสื้อพรรครวมพลังประชาชาติไทยให้อย่างเป็นทางการ
ลุงกำนัน บอกว่า การมาของวรงค์ เปรียบเหมือน “พรหมลิขิตนำพา” และมอบหมายให้วรงค์นั่งตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรค หรือซีอีโอพรรค”
ลุงกำนันการันตีอีกว่า “เป็นคนเดียวที่ตนถูกใจในการทำงานตั้งแต่สมัยตนเองเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นคนทำงานจริง ทุ่มเท เปิดโปงโครงการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ให้เห็นพิษภัยของนักการเมืองที่หาผลประโยชน์จากนโยบายซึ่งอาจมีหลายโครงการ”
วรงค์ ถือเป็นโทรโข่งคนสำคัญในการจุดประเด็น เรื่อง “ลัทธิชังชาติ” สู่สังคมไทย และใช้ประเด็นนี้ปราบศัตรูทางการเมือง
“ประเทศมีปัญหาหลากหลาย สไตล์ของผมไม่เหมาะกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่เหมาะกับการออกไปปราบลัทธิชังชาติกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยมากกว่า"
"อันนี้มันยากกว่าระบอบทักษิณ เพราะมันต้องใช้ความรู้ในการต่อสู้ สมัยสู้กับระบอบทักษิณ เรื่องทุจริตเราต้องเอาหลักฐานมาสู้ แต่วันนี้เราต้องใช้ความเชื่อสู้ ต้องใช้ความรู้ไปสู้กับเขา ซึ่งมันยากกว่า มันต้องใช้ความเชื่อในตัวเองว่าสิ่งนั้นมันไม่ถูกต้อง ให้ประชาชนเห็นคล้อยตามเราว่าสิ่งนั้นไม่ถูก เช่นการดูถูกประเทศชาติของเรากันเอง มันไม่ถูก การไม่เอารากเหง้าของประเทศ แบบนี้มันไม่ถูก เรื่องพวกนี้เป็นการสร้างความเชื่อสู้กัน ซึ่งมันยากกว่า” (บทสัมภาษณ์ขนาดยาวจากไทยโพสต์)
“อะไรคือลัทธิชังชาติ ? มี 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.จาบจ้วงสถาบัน 2. ไม่ส่งเสริมทุกศาสนา นำศาสนามาสร้างความขัดแย้ง 3.ดูถูกประเทศไทยด่าประเทศไทย ไม่สนใจจารีตประเพณี 4.ชักศึกเข้าบ้าน 5.ไม่ยอมรับการตัดสินของศาล เป็นหลักพื้นฐานที่ตนเชื่อว่าประชาชนเห็นด้วยกับเรา”
“ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยของเราควรจะมีกฎหมายต่อต้านลัทธิชังชาติ (Anti-Patriotism Act)”
ภารกิจสำคัญของวรงค์ในเวลานี้อยู่นอกสภา คือเดินสายจัดเวทีปราบคนชังชาติ โดยเริ่มที่ จ.พิษณุโลก เป็นจังหวัดแรก ต่อด้วยเวทีที่วัดอ้อมน้อย อุดรธานี กาญจนบุรี ชุมพร สุราษฏร์ธานี สงขลา และกลับมาที่กรุงเทพฯ ในช่วงสิ้นปี 2562
“วิธีการหนึ่งที่จะใช้ต่อสู้กับลัทธิชังชาติคือความจริง จึงขอชวนชวนประชาชน ที่รักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าร่วม เสวนาอุดมการณ์และการสื่อสารทางการเมือง ทำความเข้าใจลัทธิชังชาติของพรรครวมพลังประชาชาติไทย #ปราบลัทธิชังชาติด้วยความจริง”
“พีระพันธุ์” เดิมเกมส์ในทำเนียบ-สภา ด้วยการนั่งตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และล่าสุด แคนดิเดตประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
9 ธันวาคม 2562 “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” อีกหนึ่งอดีตแคนดิเดตชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคสีฟ้า ลาออกจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
ให้หลังการลาออกไม่กี่วัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอขอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ให้พีระพันธุ์ ดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”
ให้หลังเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไม่กี่วัน ที่ประชุมวิปรัฐบาล มีมติเห็นชอบให้เสนอชื่อพีระพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็น ”ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560”
เรียกได้ว่า เป็นการเดินเกมส์หลังลาออกจากพรรคสีฟ้าแบบชนิดไร้รอยต่อ และถูกวางแผนมาเป็นอย่างดี
ทั้งชวนตั้งคำถามถึงสายสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับพีระพันธ์ที่ลากยาวตั้งแต่เมื่อมีชื่อพีระพันธ์ปรากฏเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคสีฟ้า เพราะในเวลานั้น วรงค์ถูกมองเป็นตัวแทนลุงกำนันในพรรคสีฟ้า ขณะที่พีระพันธ์ ถูกมองเป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจที่ส่งเข้ามากุมอำนาจในพรรคสีฟ้า
ด้วยหวังว่าหากมีคนของตัวเองกุมอำนาจอยู่ การต่อรองเก้าอี้ในพรรคร่วมรัฐบาลจะราบรื่น ไร้รอยต่อยิ่งกว่านี้ ทว่าบารมีของผู้มีอำนาจในพรรค ยังผลให้พรรคสีฟ้าใช้เก้าอี้หลักสิบ ต่อรองจนได้ตำแหน่งสำคัญทั้งหมด ทั้งในสภา - ในทำเนียบฯ
ในวันนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องตอบแทนพีระพันธุ์ ด้วยการให้นั่งในตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการหยิบยื่นตำแหน่งให้ในวันที่ผู้มีอำนาจมีร้อยราวกับหัวหน้าพรรคสีฟ้าคนปัจจุบัน จากกรณีคุมเสียงโหวตในพรรคไม่ได้
ผู้มีอำนาจหวังใช้พีระพันธุ์ทำภารกิจสำคัญด้วยการอาศัยภาพลักษณ์นักกฎหมาย เดินเกมส์-ดึงเกมส์-แก้เกมส์ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเอื้อการสืบทอดอำนาจดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และเป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจมากที่สุด
ความคิดทางการเมืองของพีระพันธ์ที่ผ่านมา เป็นอย่างไร ? และจะนำไปสู่หน้าตาของรัฐธรรมนูญแบบใด ?
เมื่อพีระพันธุ์พ่ายแพ้จากการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขาโพสต์ขอบคุณผู้สนับสนุนมากหน้าหลายตา ในจำนวนนั้นคือ [มีผู้ใหญ่หลายท่านกรุณาโพสต์ข้อความสนับสนุนผม เช่น ท่านชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกาที่รู้จักผมมากว่า 30 ปี คุณชัย ราชวัตร ที่ผมไม่เคยรู้จักพูดคุยเป็นการส่วนตัวมาก่อน เพียงแค่ชื่นชมในผลงานและจุดยืนของท่านผ่านสื่อเท่านั้น หลังสุดคือ “ท่านใหม่” ม.จ.จุลเจิม ยุคล ที่ผมไม่เคยรู้จักกับท่านมาก่อน แต่คงเป็นเพราะท่านเห็นด้วยกับแนวทางที่ผมเสนอว่าประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน และต้องธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ท่านคงเชื่อมั่นว่าผมจะนำพาพรรคประชาธิปัตย์ไปในทิศทางที่ตอบสนองความมุ่งหวังของประชาชนได้จริง ไม่ใช่เพราะท่านสนับสนุนผมเป็นการส่วนตัว]
เมื่อวรงค์ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พีระพันธ์ก็เขียนไล่เรียงว่า “หมอวรงค์ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ดีมากยิ่งขึ้น ผมเห็นท่านตรวจสอบเรื่องจำนำข้าวมาตั้งแต่แรกๆ ตั้งแต่ไม่ค่อยมีคนสนใจ จนกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ เมื่อได้พูดคุยกันในเรื่องนี้ก็ยิ่งเห็นว่าท่านทุ่มเทเพราะอยากทำงานให้สำเร็จไม่ใช่เพราะอยากดัง ท่านเหนื่อย ท่านลำบาก ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่เคยปริปากบ่น ท่านหยุดท่านเลิกเมื่อใดก็ได้ แต่ท่านทำจนจบ จนคนโกงชาติติดคุก พรรคได้หน้าได้ตา ทุกคนชื่นชมไปหมดว่าท่านเป็นฮีโร่เป็นคนของพรรค เป็นฝีมือและเป็นผลงานของพรรค
....ผมขอให้กำลังใจหมอวรงค์ เพื่อนของผม เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ไม่ว่าท่านกับผมจะอยู่พรรคการเมืองไหน แต่เราจะเป็นเพื่อนร่วมพรรคเดียวกันตลอดไป คือ พรรคประเทศไทยและภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว สถาบันและชาติบ้านเมืองต้องมาก่อนเสมอ”
เช่นเดียวกับเมื่อพีระพันธ์ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ หมอวรงค์ได้ย้ำสารเดียวกันนี้ว่า “ผมทราบข่าวว่าพี่พีระพันธุ์ ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ผมยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ที่ชัดเจนของพี่ และยังยืนยันในคำพูด ที่เราเคยคุยกันไว้ว่า
ไม่ว่าเราจะอยู่พรรคไหน เราก็ยังอยู่พรรคเดียวกัน คือพรรคประเทศไทย ที่จงรักภักดี และ ยึดมั่นในสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
จากแคนดิเดตหัวหน้าพรรคสีฟ้า วันนี้ทั้งคู่คือมือปราบคนชังชาติ-มือคุมเกมส์แก้ไข รธน. คนหนึ่งอยู่นอกสภา คนหนึ่งอยู่ในทำเนียบ-สภา ทว่าอยู่พรรคเดียวกัน คือ “พรรคประเทศไทยและภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว”!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น