เพลงฉ่อยชาววัง

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและทางออก

แทบทุกรัฐบาลประกาศว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่ยิ่งทำยิ่งเหลื่อมล้ำ องค์การอ็อกแฟมเสนอให้แก้ 3 เรื่องหลักคือ การใช้จ่ายภาคสังคม ภาษีและสิทธิแรงงาน ที่เหลืออยู่ที่ความตั้งใจของรัฐบาล



องค์การอ็อกแฟม (Oxfam International) เป็นองค์กรร่วมที่ประกอบด้วยองค์การอื่นๆ อีกเกือบ 20 แห่งที่ทำงานร่วมกัน กลุ่มเชื่อว่า 'โลกที่ปราศจากความยากจน เป็นจริงได้'
หนึ่งในผลงานของอ็อกแฟมคือทำ ‘ดัชนีพันธกรณีลดความเหลื่อมล้ำ’ (The Commitment to Reducing Inequality Index - CRI) ฉบับล่าสุดเผยแพร่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นรายงานสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลของ 193 ประเทศประกาศว่าจะลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมาย 10 ประการของ “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” (Goal 10 of the Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ
รายงานฉบับปี 2018 ครอบคลุม 157 ประเทศ มุ่งวัดผลงานของรัฐบาลในเรื่องการใช้จ่ายภาคสังคม ภาษี และสิทธิแรงงาน ทั้ง 3 ประเด็นช่วยลดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด เป็นดัชนีชี้วัดว่ารัฐบาลประเทศใดที่จริงจังลดความเหลื่อมล้ำ สถานการณ์ดีขึ้นหรือเลวร้ายลง รายงานชี้ว่าสถานการณ์บางประเทศดีขึ้นมาก โดยเฉพาะเกาหลีใต้ นามิเบีย อุรุกวัย บางประเทศที่รัฐบาลไม่เอาใจใส่ เช่น อินเดีย ไนจีเรีย สหรัฐอเมริกา
รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” ของสหประชาชาติ อุดหนุนให้การรักษาพยาบาลฟรี เรียนฟรี มีมาตรการดูแลทางสังคม ใช้อัตราภาษีแบบก้าวหน้า (ยิ่งรวยยิ่งต้องจ่ายในอัตราสูงขึ้น) เลิกนโยบายยกเว้นภาษี จัดการพวกเลี่ยงภาษีอย่างจริงจัง เคารพสิทธิของสหภาพแรงงาน สิทธิสตรีในที่ทำงาน เปลี่ยนจากใช้วิธีกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) เป็นค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต (Living Wage)

ความเหลื่อมล้ำไม่เกิดเฉพาะประเทศยากจน พบได้ในทุกแบบ ที่กังวลคือช่องว่างระหว่างคนรวยกับยากจนนับวันจะถ่างกว้างขึ้นทุกที คนรวยจำนวนหยิบมือร่ำรวยล้นฟ้า ท่ามกลางคนมากมายมหาศาลที่อยู่อย่างยากจน ปากกัดตีนถีบ
ความมั่งมีของประชากรครึ่งโลกจากฝั่งคนยากจนรวมกันมีความมั่งคั่งเพียงร้อยละ 1 ของความมั่งคั่งทั้งสิ้นโลก ในขณะที่ประชากรเพียงร้อยละ 1 ของโลกในกลุ่มคนรวยสุดครอบครองความมั่งคั่งถึงร้อยละ 50 ของโลก
ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหาเฉพาะบุคคล เพราะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ คนยากไร้มักมีสุขภาพย่ำแย่ ธนาคารโลกประเมินว่าก่อนสิ้นปี 2030 ประชากรโลก 500 ล้านคนยังอยู่กับ “ความยากจนแร้นแค้น” (extreme poverty) ผู้หญิงมักเป็นเพศที่ได้รับผลกระทบมากกว่าชาย แสดงให้เห็นถึงภาวะการกดขี่ทางเพศ
ประเทศที่ควรถูกตำหนิ เช่น ไนจีเรียได้คะแนนต่ำสุดแม้ว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันอ้างว่าให้ความสำคัญแก้ความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลฮังการีปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ละเมิดสิทธิแรงงาน บราซิลไม่เพิ่มงบประมาณช่วยเหลือทางสังคมกว่า 20 ปีแล้ว รัฐบาลทรัมป์หั่นภาษีเงินได้นิติบุคคล เหล่านี้มีแต่จะกระตุ้นสร้างความเหลื่อมล้ำ

การใช้จ่ายภาคสังคม ภาษี และสิทธิแรงงาน :
มีงานวิจัยและหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าหากจะแก้ความเหลื่อมล้ำต้องแก้ 3 เสาหลัก คือ การใช้จ่ายภาคสังคม ภาษี ดูแลสิทธิแรงงาน
การใช้จ่ายภาคสังคม เช่น อุดหนุนการศึกษา การดูแลรักษาสุขภาพ มีประกันสังคม ช่วยให้คนยากจนมีการศึกษา ได้รับการรักษายามเจ็บป่วย และได้รับเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่าย ช่วยเหลือคนตกงาน เด็กกับผู้สูงวัยได้รับการดูแล
ใช้อัตราภาษีแบบก้าวหน้า ให้บริษัทเอกชนและคนรวยเสียภาษีในอัตราสูงกว่า ให้กลุ่มเหล่านี้ช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาล การหลบเลี่ยงภาษีทุกรูปแบบเป็นอีกเรื่องที่สังคมต้องจัดการให้สำเร็จหากต้องการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ
ตราบใดที่รายได้ของกรรมกรยังต่ำ สิทธิกรรมกรถูกกีดกัน เมื่อนั้นความเหลื่อมล้ำยังดำรงต่อไป ผู้หญิงมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ยิ่งสหภาพแรงงานอ่อนแรงยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการดูแลคุ้มครองแรงงาน

อ็อกแฟมมั่นใจว่าเพียงแค่รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายจะมีผลต่อความเหลื่อมล้ำมากไม่ว่าบริบทประเทศนั้นเป็นอย่างไร ตระหนักว่าปัจจัยต่างประเทศมีผลโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
รายงาน ‘ดัชนีพันธกรณีลดความเหลื่อมล้ำ’ (CRI) เป็นของใหม่ยังต้องพัฒนาปรับปรุง แต่เป็นดัชนีตัวหนึ่งที่หวังลดความเหลื่อมล้ำ ข้อมูลที่ปรากฏเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

ข้อสรุปที่ได้จากดัชนี 2018 :
          ประการแรก ทุกประเทศสามารถออกนโยบายลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่านี้
ทุกประเทศใน 158 ประเทศที่ปรากฏในรายงานล้วนสามารถออกนโยบายลดความเหลื่อมล้ำได้มากกว่านี้ ที่น่าตกใจคือ 112 จาก 157 ประเทศ (หรือร้อยละ 71) ออกแรงไม่ถึงครึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่ทำคะแนนได้สูงสุด พูดให้ชัดคือมีหลักฐานชัดเจนว่ากว่าร้อยละ 70 ของรัฐบาลทั่วโลกไม่พยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง (ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 74)
10 ลำดับแรกที่ทำคะแนนได้สูงสุดคือ เดนมาร์ก ตามมาด้วยเยอรมนี ฟินแลนด์ ออสเตรีย นอร์เวย์ เบลเยี่ยม สวีเดน ฝรั่งเศส ไอซแลนด์ ลักเซมเบิร์ก
ประการที่ 2 ประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยกำลังเหลื่อมล้ำมากขึ้น
ประเทศอุตสาหกรรม ประชาชนมีรายได้ต่อหัวสูง ไม่จำต้องเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่เท่าเทียมกัน รายงานการศึกษาพบว่าสังคมของประเทศเหล่านี้ซึ่งมักเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยกำลังเหลื่อมล้ำมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นักการเมือง นโยบายที่บั่นทอนความเสมอภาค เช่น ลดการใช้นโยบายอัตราภาษีแบบก้าวหน้า ลดความสำคัญของสิทธิแรงงาน
ดังที่กล่าวแล้วว่ารัฐบาลมีผลต่อความเหลื่อมล้ำ หลายประเทศที่พบว่าแต่เดิมเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่เพียงได้รัฐบาลใหม่ รัฐบาลชุดใหม่ใช้นโยบายต่างจากเดิมส่งผลทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นทันตา เช่น บราซิล อาร์เจนตินา
ประการที่ 3 แบบอย่างที่ดีกับแบบอย่างยอดแย่
ประเทศที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแบบอย่างที่ดีคือเกาหลีใต้ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี มุน แจ-อิน (Moon Jae-in) เดิมนั้นเกาหลีใต้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง พวกคนจนมีรายได้เท่าเดิมในขณะที่คนรวยร่ำรวยขึ้นทุกปี รัฐบาลมุนแก้ปัญหาโดยยึดหลัก CRI ทั้ง 3 เสาหลัก เช่น เพิ่มอัตราแรงงานขั้นต่ำถึงร้อยละ 16.4 เพิ่มภาษีรายได้นิติบุคคลโดยเฉพาะบรรษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย เก็บภาษีคนมีรายได้มากในอัตราสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มขยายสวัสดิการสังคม เด็กทุกคนได้รับการดูแลจากภาครัฐครบวงจร ประธานาธิบดีมุนกล่าวด้วยความภาคภูมใจว่ารัฐบาลตนใช้ นโยบายเศรษฐกิจที่ยึดประชาชนประศูนย์กลาง (people-centered economy)
ในทางตรงข้าม 10 ประเทศหรือรัฐบาลที่ไม่เอาใจใส่ เรียงลำดับเริ่มจากแย่สุด คือ ไนจีเรีย อุซเบกิซถาน เฮติ ชาด เซียร์ราลีโอน ภูฎาน มาดากัสการ์ สปป.ลาว สิงคโปร์ และบังคลาเทศ
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมสิงคโปร์ติดอยู่ใน 10 อันดับยอดแย่ เป็นเพราะการขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 2 ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงสุดเสียภาษีแค่ร้อยละ 22 งบประมาณด้านสวัสดิการยังค่อนข้างต่ำ แรงงานสตรี ลูกจ้างสตรีได้รับค่าแรงต่ำกว่าผู้ชาย กฎหมายป้องกันการละเมิดทางเพศยังอ่อน ไม่มีอัตรารายได้ขั้นต่ำ (เว้นแต่พนักงานทำความสะอาดกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย)
ประการที่ 4 ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำอื่นๆ
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับความเหลื่อมล้ำทางเพศจะไปด้วยกัน สังคมใดมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาก การกดขี่ทางเพศจะมากตาม การแก้ไขค่านิยมให้ยกย่องสตรีเพศเป็นเรื่องยาก ที่ทำได้ง่ายกว่าคือแก้ปัญหาเศรษฐกิจอันจะช่วยลดการกดขี่ทางเพศไปในตัว ช่วยให้สตรีดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้น มีเกียรติในสังคม และต้องตระหนักว่าสตรีเพศมักเป็นผู้ได้รับกระทบเร็วและมากที่สุดจากการขึ้นภาษี ลดสวัสดิการทางสังคม การกดค่าแรง ประเทศจะลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ต้องดูว่าผู้หญิงในประเทศนั้นได้รับการปฏิบัติอย่างไร
เด็กที่เกิดในครอบครัวอยากไร้ย่อมใช้ชีวิตอย่างขัดสน หากภาครัฐไม่ดูแลเด็กเหล่านี้จะตกอยู่ใน วัฏจักรยากจนซ้ำซาก พ่อแม่ยากจนลูกจึงยากจนต่อไป ขาดโอกาสที่จะพัฒนาก้าวหน้าทั้งๆ ที่หลายคนมีศักยภาพ
การด้อยโอกาสของคนหนุ่มสาวในหลายประเทศทุกทวีปทั่วโลกกำลังเป็นปัญหาใหญ่ คนหนุ่มสาวเหล่านี้ตกงาน ขาดรายได้ เห็นว่าชีวิตไร้คุณค่า สังคมไม่น่าอยู่ หลายคนตกอยู่ในอบายมุขซึ่งทำให้ชีวิตย่ำแย่กว่าเดิม หลายคนพิการเสียชีวิตอย่างไม่สมควร

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            รัฐบาลหลายประเทศใช้นโยบายเรียนฟรี รักษาฟรี ซึ่งไม่ใช่ของแปลกใหม่ หลายประเทศใช้มานานหลายทศวรรษแล้ว สหประชาชาติประกาศสนับสนุนแนวทางนี้ แต่เท่านี้ยังไม่พอควรใช้อัตราภาษีแบบก้าวหน้า ลดนโยบายยกเว้นภาษี จัดการพวกเลี่ยงภาษีอย่างจริงจัง เคารพสิทธิของสหภาพแรงงาน สิทธิสตรีในที่ทำงาน เปลี่ยนจากวิธีกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) เป็นค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต (Living Wage) นี่คือข้อเรียกร้องจากอ็อกแฟมหากรัฐบาลตั้งใจมุ่งมั่นที่จะลดความเหลื่อมล้ำ
            ระบอบประชาธิปไตยพร่ำบอกว่าการปกครองนี้มาจากประชาชน เป็นของประชาชน เพื่อประชาชน แต่หากสังคมยังเหลื่อมล้ำมาก เรากำลังจะบอกว่าความเหลื่อมล้ำนี้มาจากประชาชนและเพื่อประชาชนใช่หรือไม่
            ความเหลื่อมล้ำเป็นอีกดัชนีชี้วัดว่ารัฐบาลซึ่งหมายถึงบรรดานักการเมือง พรรคการเมือง สถาบันการเมือง บรรดาผู้ถืออำนาจกำลังทำหน้าที่เพื่อใคร
            ส่วนการแก้ปัญหาอย่างฉาบฉวยเป็นดัชนีบ่งบอกความก้าวหน้าของประชาธิปไตยประเทศนั้นๆ
Louis Brandeis อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐ (US Supreme Court Justice) กล่าวอย่างน่าคิดว่า “เราอาจมีประชาธิปไตยหรือความมั่งคั่งที่กระจุกอยู่มือไม่กี่คน แต่ไม่อาจมี 2 อย่างพร้อมกัน”
==============================================
“คนรวย” รวยขึ้น “คนจน” จนลง ปัญหาและทางออก

โลกต้องชื่นชมเศรษฐีผู้สร้างความร่ำรวยเพื่อมุ่งช่วยเหลือสังคมให้เป็นอารยะ ไม่ส่งเสริมยกย่องเศรษฐีที่ไม่ดูแลสังคมอย่างจริงจัง ยึดหลัก “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” อยากเห็นผู้อื่นมีความสุขเหมือนตนเอง


            โลกทุกวันนี้แม้จะเจริญก้าวหน้าแต่การพัฒนาไม่ได้เกิดเท่ากัน หลายส่วนยังขาดการพัฒนาอีกมาก ความแตกต่างเกิดในหลายระดับ เช่น ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับกำลังพัฒนา ระหว่างเมืองกับชนบท แม้กระทั่งระหว่างเมืองด้วยกันเอง
            ความรวยความจนเป็นประเด็นระดับโลก มีผลต่อความเป็นไปของโลกทั้งทางบวกและลบ สร้างปัญหาต่อประเทศอื่นๆ เช่น แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ผู้อพยพเข้าเมืองจากภัยธรรมชาติ ต้นเหตุอาชญากรรมหลายประเภท
            ความยากจนยังหมายถึงกำลังซื้อที่ลดต่ำ หากเศรษฐกิจสหรัฐโตน้อยกว่าคาดจะส่งผลกระทบทั่วโลก
การแก้ไขจึงเป็นระดับโลก เช่น พูดถึงระบบเศรษฐกิจโลก แนวคิดแก้ไขความยากจนโลก แต่ไม่ใช่ทุกประเทศจะเห็นตรงกันและขึ้นกับนโยบายของแต่ละรัฐบาล รัฐบาลบางชุดเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือประเทศยากจน ในขณะที่บางชุดปรับลดงบประมาณ
ชมคลิปสั้น 3 นาที
             
คนเพียงร้อย 1 ที่ครองรายได้ร้อยละ 82 ของโลก :
Oxfam International รายงานว่าปีที่แล้วช่องว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้น ปัจจุบันทั้งโลกมีมหาเศรษฐีพันล้าน 2,043 คน ปีที่แล้วเพียงปีเดียวทั้งหมดรวยขึ้น 762,000 ล้านดอลลาร์ (เฉลี่ยคนละ 373 ล้านดอลลาร์)
            ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่าปีที่แล้วมหาเศรษฐี 500 คนแรก มีรายได้รวมกันถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อนหน้านั้น (2016) ถึง 4 เท่า ส่วนหนึ่งมาจากราคาหุ้นที่ขยับสูงขึ้น
Winnie Byanyima จาก Oxfam International ชี้ว่า “เป็นความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจ” คนเย็บเสื้อ คนงานประกอบโทรศัพท์ ชาวไร่ชาวนาถูกขูดรีด และเป็นเรื่องน่าละอายของรัฐบาลทั้งหลายที่คนเพียงร้อยละ 1 ถือครองความมั่งคั่งที่ส่วนใหญ่ ในขณะที่คนนับพันล้านคนต้องปากกัดตีนถีบ

            นับจากปี 2010 เป็นต้นมา รายได้ของพวกมหาเศรษฐีพันล้านเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี ในขณะที่รายได้ของคนทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปี บ่งชี้ว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้นเรื่อยมา มหาเศรษฐีธุรกิจเสื้อผ้าทำงานเพียง 4 วันจะมีรายได้เท่ากับช่างเย็บเสื้อผ้าบังคลาเทศทำงานทั้งชีวิต รายได้ของ CEO อเมริกันเพียงวันเดียวเท่ากับค่าแรงทั้งปีของคนอเมริกันทั่วไป
            แรงงานสตรีอยู่ในกลุ่มมีรายได้ต่ำสุด เป็นเช่นนี้ทั่วโลก เรื่องค่าแรงเป็นประเด็นหนึ่งเท่านั้น แรงงานหญิงหลายคนต้องทำงานไกลบ้าน จากลูกกับสามี เพียงเพื่อได้ค่าแรงต่ำๆ บางคนไม่เห็นหน้าลูกคราวละหลายเดือน แรงงานบางประเภทในสหรัฐต้องใส่ผ้าอ้อมเพราะไม่อนุญาตให้เข้าห้องน้ำขณะทำงาน
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะบริษัทมุ่งให้ประโยชน์แก่เจ้าของกิจการกับผู้ถือหุ้น พยายามตักตวงประโยชน์จากแรงงาน ละเมิดสิทธิแรงงาน บริษัทเอกชนรายใหญ่มีอิทธิพลกำกับนโยบายรัฐ แนวทางที่นายทุนใช้คือให้แรงงานส่วนใหญ่พออยู่ได้ มุ่งบริโภคสินค้าราคาถูก เป็นโอกาสนายทุนตักตวงผลประโยชน์จากการนี้

ทางออก :
            Oxfam เสนอแนวทางหลายข้อ เริ่มจากต้องจำกัดผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นกับผู้บริหารระดับสูง แรงงานทุกคนจะต้องมีรายได้มากพอสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดี ยกตัวอย่าง อัตราค่าแรงขั้นต่ำของไนจีเรียควรสูงกว่านี้ 3 เท่า แก้ปัญหาค่าแรงเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงกับชาย ปกป้องสิทธิสตรี ผู้มีรายได้สูงต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าและไม่เปิดช่องให้เลี่ยงเสียภาษี เพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขและการศึกษา หากเศรษฐีพันล้านจ่ายภาษีเพิ่มร้อยละ 1.5 จะมีงบประมาณให้เด็กทุกคนทั่วโลกได้เรียนหนังสือ
Byanyima ชี้ว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือไม่ใช่คนไม่รู้ปัญหา นักการเมือง นักธุรกิจล้วนรู้ปัญหา แต่น้อยคนนักที่หาคนผู้ลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ตรงกันข้ามผู้มีอำนาจไม่ว่าจะการเมืองหรือเศรษฐกิจพยายามลดภาษี ละเมิดสิทธิแรงงาน

ระบบเศรษฐกิจเป็นประโยชน์แก่ใคร :
            ลำพังจะโทษปัจจัยภายนอก ปัจจัยระดับประเทศเท่านั้นไม่ถูกต้อง สังคมไม่ควรส่งเสริมคนขี้เกียจ ไม่เก็บออม อยู่ไปวันๆ ควรตอบแทนคนขยัน ตั้งใจทำงาน รู้จักเก็บออม นี่คือมาตรฐานเบื้องต้นที่ควรยึดถือ
            แต่ทำไมคนขยันคนเก็บออมบางประเทศจึงไม่มั่งคั่งเท่ากับคนอีกประเทศหนึ่ง ...

            เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติ เป็นผลจากความคิด การบังคับใช้ ตั้งแต่ระดับโลก ระดับประเทศ จนถึงระดับล่างสุดของสังคม
            ชาติตะวันตกโดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้วางระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบันและผลักดันให้นานาชาติใช้ ประเทศพัฒนาแล้วมักกดประเทศกำลังพัฒนาให้อยู่ในฐานะเสียเปรียบ สภาพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในยุคอาณานิคมหมู่ประเทศเจ้าอาณานิคมจะให้อาณานิคมผลิตและขายพวกวัตถุดิบ อย่างเช่นฝ้าย ข้าว ยางพารา อ้อย น้ำมัน แร่ชนิดต่างๆ ในราคาถูก ส่วนพวกเขาจะนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้ผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งขาย เช่น เสื้อผ้า เครื่องจักรกล รถยนต์ ในราคาที่สูงกว่ามาก
ผลคือประเทศเจ้าอาณานิคมเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า ได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศมากกว่า สภาพเช่นนี้ยังพอเห็นได้ในปัจจุบันเพียงเปลี่ยนเป็นประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา
            หากจะแก้ปัญหาความยากจนจึงต้องรู้และเข้าใจเรื่องทำนองนี้ นำสู่การแก้ไขตรงจุด

            ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้วิพากษ์การใช้ลัทธิปกป้องการค้า (protectionism) โดยรัฐบาลทรัมป์ ความจริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐใช้ลัทธิปกป้องการค้ามาหลายครั้ง พูดให้ถูกต้องกว่านี้คือใช้เรื่อยมา ต่างตรงระดับความเข้มข้นเท่านั้น
            เหตุการณ์หนึ่งที่ควรเอ่ยถึงคือ เดิมนั้นเศรษฐกิจสหรัฐตามหลังอังกฤษ Alexander Hamilton นำเสนอ “Report on Manufactures” แนวทางคือใช้ลัทธิปกป้องการค้า ด้วยการตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เปิดทางให้ผู้ประกอบการในประเทศได้ลงทุนค้าขายโดยปราศจากคู่แข่ง จนมีกำไรกลายเป็นบริษัทที่เข้มแข็งสู้ต่างชาติได้

สิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ทำจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพียงแต่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดตรงไปตรงมามากกว่าอดีตประธานาธิบดีบางท่าน และพึงเข้าใจว่า “การค้าเสรี” หมายถึงการค้าในหมวดหมู่สินค้าบริการที่ประเทศเขาได้ประโยชน์ จึงให้ทุกประเทศเปิดเต็มที่ เพื่อตักตวงผลประโยชน์ได้มากที่สุด อนึ่ง ประเทศที่เปิดเสรีด้วยก็ได้ประโยชน์เช่นกัน จุดสำคัญคือต้องเป็นข้อตกลงที่ประเทศมหาอำนาจหรือมีอำนาจเหนือกว่าเป็นฝ่ายได้มากกว่า การปรับแก้ไขข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่นๆ เช่น NAFTA เป็นกรณีตัวอย่างที่ดี (ปรับแก้เพื่อคงความเป็นผู้ได้ผลประโยชน์มากกว่า)

ผู้มีบารมีครองโลก :
            ถ้ามองในกรอบเศรษฐกิจอย่างเดียวอาจตีความว่านายทุนคือผู้ครองโลก หากมองให้กว้างขึ้นนายทุนหรือนักธุรกิจพันล้านไม่ได้ทำงานคนเดียว เป็นผลอันซับซ้อนจากระบบอำนาจโลกในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร นักวิชาการบางส่วน ฯลฯ
            คนเหล่านี้ไม่ใช่คนพวกเดียวหรือเป็นกลุ่มเดียวกัน ทั้งหมดเห็นผลประโยชน์ในส่วนที่ตนได้ อาจกล่าวรวมๆ ได้ว่าคือความร่วมมือของผู้มีบารมีที่ยึดผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม

            แม้กระทั่งนักวิชาการบางส่วนบางสถาบันที่พร่ำสอนประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ตำราที่สอนให้เข้าใจการค้าเสรีอย่างบิดเบือน
            ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจคือตัวย่างข้อเสียที่เอ่ยถึงตั้งแต่เริ่มทุนนิยม ที่ผ่านมาถูกปกปิด ลดทอน ให้มองเป็นปัญหาเล็ก แต่ปัจจุบันการสื่อสารดีขึ้น คนมีความรู้การศึกษาสูงขึ้น เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น จึงมีผู้นำเสนอความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องชัดเจน
            และบัดนี้สังคมโลกไม่อาจปฏิเสธช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ถ่างกว้างออกมาขึ้นทุกที ทั้งๆ ที่คนจนหลายคนขยันทำงาน พยายามเก็บออม มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถเขยิบฐานะเศรษฐกิจ ในขณะที่คนจำนวนมากขาดโอกาส เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ทรัพยากร

ความสุดโต่ง 2 ด้าน ยากจนกับรวยเกิน :
            ความยากจนไม่ใช่เรื่องดี ทำไมต้องยากจนถึงขนาดสูญเสียโอกาส เช่น เป็นเด็กยากจนจึงไร้การศึกษา ไม่สามารถหาการงานที่ดีพอเลี้ยงครอบครัว ยากจนถึงขั้นต้องทำงานผิดกฎหมาย อยู่ในสังคมที่โหดร้ายทารุณ
            ในขณะที่ การให้ทุกคนมีเท่ากันทั้งๆ ที่ขยันตั้งใจต่างกันก็ไม่สมเหตุผล
            คนขยันทำงาน มีความคิดอ่านและเก็บออมควรร่ำรวย แต่ความร่ำรวยที่มากเกินพอ ไม่สร้างประโยชน์ต่อสังคม มีแต่ทำให้สังคมมุ่งแสวงหาความสุขจากวัตถุ กดขี่เบียดเบียนผู้อื่น ก่อปัญหามากมายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
            แนวทางที่เหมาะสมคือต้องมุ่ง “ต่อต้านความยากจนและร่ำรวยเกินพอ” เริ่มด้วยการปรับทัศนคติ โลกต้องชื่นชมเศรษฐีผู้สร้างความร่ำรวยเพื่อมุ่งช่วยเหลือสังคมให้เป็นอารยะ ไม่ส่งเสริมยกย่องเศรษฐีที่ไม่ดูแลสังคมอย่างจริงจัง
            พร้อมกับต่อต้านความเกียจคร้าน อยู่ไปวันๆ ไม่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

             ในระบบประชาธิปไตยหรือระบอบปกครองใดๆ ผู้นำประเทศ นักการเมือง พรรคการเมืองที่ยึดอุดมการณ์ต่อต้านความยากจนและร่ำรวยเกินเช่นนี้ควรได้รับการสนับสนุน
            แทนที่จะหาเสียงด้วยการช่วยให้หายจนเพียงอย่างเดียว ต้องสนับสนุนคนรวยหรืออยากรวยเพื่อช่วยสังคมด้วย ยึดหลัก “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” อยากเห็นผู้อื่นมีความสุขเหมือนตนเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น