เพลงฉ่อยชาววัง

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2567

สนามศุภชลาศัย ในนิทรรศการ เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม

 สนามศุภชลาศัย ในนิทรรศการ เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม



ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-30 มิถุนายน 2567 (ปิดวันจันทร์ อังคาร) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ที่ติดกับธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์มีนิทรรศการ “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” จัดแสดงเอกสารต้นฉบับ 41 ชุด กว่า 200 รายการ ที่เกี่ยวเนื่องกับหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของไทยในยุคต่างๆ
นิทรรศการแบ่งเนื้อหาของเอกสารและจารึกออกเป็น 6 ประเภทตามยุคสมัย
- “จารจารึกบันทึกสยาม” ภาพรัฐจารีตถึงรัฐสมัยใหม่ก่อนปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5
เริ่มจากเอกสารโบราณที่บันทึกอยู่ในรูปของศิลาจารึก หนังสือสมุดไทย และเอกสารใบลาน ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ นันโทปนันทสูตรคำหลวง คัมภีร์อัลกุรอาน ไตรภูมิฉบับพระมหาช่วยจารที่วัดปากน้ำ จินดามณี จุลศักราช 1144 รามเกียรติ์ บทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 หนังสือสมุดไทย เรื่อง สามก๊ก มหาชาติคำหลวง และอุรังคธาตุ
.
- “แผนภูมิของแผ่นดิน” การจัดทำแผนที่ยุคต่างๆ และสัญลักษณ์ของเมือง
ว่าด้วยแผนที่โบราณของประเทศไทย ตราประจำจังหวัด อันนี้น่าตื่นเต้นเมื่อหาเห็นเอกสารขนาดใหญ่ และมุมมองที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
- “นิติสารเมื่อเพรงกาลเล่าขานประวัติศาสตร์ไทย” เรื่องกระบวนการยุติธรรมและการต่างประเทศ
ห้ามพลาดกับเอกสารด้านกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตัวจริง อาทิ กฎหมายตราสามดวง สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เอกสารเกี่ยวกับการเลิกทาส
- “เมื่อแรกมีการพิมพ์” การเข้ามาของเทคโนโลยีการพิมพ์แบบตะวันตก
มาสู่ยุคที่ประเทศไทยเริ่มมีเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ จัดแสดงชุดเอกสารกลุ่มแรก ๆ ในสังคมไทยที่เปลี่ยนจากการจดจารด้วยวัสดุและเทคนิคแบบโบราณ มาเป็นการบันทึกด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบตะวันตก เช่น หนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์ คัมภีร์ครรภ์ทรักษา ราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ 4
- “ต้นร่างสร้างเมือง เรืองรองศิลปกรรม” การออกแบบก่อสร้างอาคารสมัยใหม่
จัดแสดงเอกสารการออกแบบก่อสร้างอาคารสำคัญตามรูปแบบตะวันตก เช่น แบบแปลนวังพญาไท แบบหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบบก่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
“ด้วยความทรงจำอันงดงามและความคิดถึง” ย้อนระลึกถึงวันวานกับของสะสมในความทรงจำ
เอกสารที่บันทึกในรูปแบบของการเขียนจดหมาย และการส่งไปรษณียบัตร
(2)
เรื่องอื่น ๆ คงมีผู้รู้เขียนไว้มากมายแล้ว
แต่ผมคิดว่ามีเรื่องหนึ่งที่อยากจะบันทึกไว้คือกรณี สนามศุภชลาศัย ซึ่งก่อนหน้านั้นมีดรามาเรื่องคณะราษฎรทุบวังวินเซอร์
84 ปีที่สาบสูญ คณะราษฎรสั่งทุบ "วังวินด์เซอร์" สร้างสนามกีฬาชื่อตัวเอง
จนต้องมีบทความ “คณะราษฎร วังวินด์เซอร์ ศาลสนามสถิตยุติธรรม” โดย ชาตรี ประกิตนนทการ เคยเขียนไว้ ขอยกตัวอย่างมา
การรื้อวังวินด์เซอร์
วังแห่งนี้ รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นโดยตั้งใจให้เป็นที่ประทับของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (มกุฎราชกุมาร) โดยวังนี้ตั้งอยู่บริเวณทุ่งปทุมวัน แต่สุดท้ายเจ้านายพระองค์นี้ได้เสด็จทิวงคตเสียก่อนที่วังจะสร้างเสร็จ วังดังกล่าวถูกทิ้งร้าง ต่อมาถูกใช้เป็นโรงเรียนและสถานที่ราชการเรื่อยมา จนสุดท้ายถูกรื้อลงเพื่อสร้างเป็น “สนามศุภชลาศัย” (สนามกีฬาแห่งชาติ)
ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่รับรู้มายาวนานโดยมิได้มีประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การรื้อวังดังกล่าวได้ถูกยกมาเป็นประเด็นดราม่าอย่างมากในโลกออนไลน์
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นภายใต้การรื้อถอนอนุสาวรีย์และวัตถุสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจอย่างกว้างขวางในมวลชนฝ่ายที่มีแนวคิดต่อต้านการรัฐประหาร เพราะหลายชิ้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และบางแห่งมีคุณค่าสูงมากในระดับที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติ
แต่ในทางตรงข้าม มวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารต่างออกมาโต้ว่า สมควรแล้วที่สิ่งเหล่านั้นถูกรื้อไป
และบางส่วนยังได้กล่าวว่า การรื้อเช่นนี้ เมื่อครั้งที่คณะราษฎรมีอำนาจก็ทำแบบเดียวกัน โดยยกกรณีการรื้อ “วังวินด์เซอร์” ขึ้นมาเป็นตัวอย่างประกอบ
ความเห็นนี้ยกระดับไปไกลมากขึ้นจนถึงขนาดพูดกันว่า การรื้อวังวินด์เซอร์เป็นเพราะคณะราษฎรเกลียดเจ้า
การรื้อในสองกรณีนี้ ผมคิดว่าเราไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้เลยนะครับ เพราะการรื้ออนุสาวรีย์ยุคคณะราษฎรเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และกฎหมาย (กรณีรื้ออนุสาวรีย์ปราบกบฏคือตัวอย่าง) ส่วนกรณีรื้อวังวินด์เซอร์ เกิดขึ้นจากเหตุผลทางด้านประโยชน์ใช้สอยโดยตรง
ควรกล่าวไว้ก่อนว่า ผมไม่ปฏิเสธเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองผ่านงานสถาปัตยกรรมนะครับ การรื้อ การย้าย การสร้างทับ การสร้างอนุสาวรีย์แข่ง การเปลี่ยนชื่อ ฯลฯ ล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญในทุกสังคม
คณะราษฎรก็ใช้เครื่องมือเหล่านี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาถนนราชดำเนินกลางที่ทับลงไปบนถนนราชดำเนินที่ตัดโดยรัชกาลที่ 5, การเปลี่ยนพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นอาคารรัฐสภา และการฝังหมุดคณะราษฎรลงบนลานพระบรมรูปทรงม้า
แต่ทั้งหมดนี้ ถ้าศึกษาอย่างละเอียดจริงก็จะพบว่า คณะราษฎรไม่เคยต่อสู้ทางการเมืองกับระบอบเก่าโดยใช้วิธีรื้อวัตถุสัญลักษณ์ของระบอบเก่าเลย
ยิ่งหากเราพิจารณาวังวินด์เซอร์ให้ดีก็จะพบว่า อาคารหลังนี้ก็มิได้มีนัยยะสำคัญทางการเมืองอะไรเลยนะครับ ตัวอาคารไม่เคยมีสถานะวัง (เป็นอาคารราชการธรรมดาๆ มาโดยตลอด) ไม่เคยมีเจ้านายประทับ และไกลห่างจากพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจมากเกินไป
แต่ที่วังวินด์เซอร์ถูกรื้อเป็นเพราะตั้งอยู่ในโลเกชั่นที่เหมาะสมต่อการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติในบริบทยุคนั้น ด้วยการมีพื้นที่ขนาดใหญ่มากพอ แต่ก็ไม่ได้ไกลปืนเที่ยงจนเกินไป อีกทั้งยังใกล้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ พื้นที่บางส่วนก็ปรับสภาพเรียบร้อยแล้ว มิได้เป็นทุ่ง เป็นไร่ เป็นสวนแต่อย่างใด ซึ่งคงประหยัดงบประมาณในการเปลี่ยนมาเป็นสนามกีฬาแห่งชาติได้ไม่มากก็น้อย
ที่สำคัญคือ ทัศนะว่าด้วยการอนุรักษ์ “สถาปัตยกรรมตะวันตก” เพราะมีคุณค่าสูง ก็เป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดแค่ราว 50 ปีเท่านั้น (ไม่เก่าเกินกว่าทศวรรษ 2510 แน่) ก่อนหน้านั้น อาคารกลุ่มนี้มิได้ถูกมองว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อะไรนะครับ และก็ถูกรื้อลงมากมาย การรื้อวังบูรพาภิรมย์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ กรณีรื้อวังวินด์เซอร์ จากหลักฐานและบริบทแวดล้อมที่มีอยู่ ผมจึงคิดว่าเราไม่สามารถประเมินการรื้อด้วยเหตุผลที่ต้องการทำลายสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์ของระบอบเก่าได้เลย
(3)
การได้มาชมนิทรรศการ“เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” และมาเห็นแปลนก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติที่เป็นมรดกของคณะราษฎรชิ้นสำคัญในการสร้างประเทศไทยขึ้นมาใหม่ นั้นเห็นได้ชัดเจนว่าเป้าหมายของ “ราชสำนัก” กับ“คณะราษฎร” นั้นแตกต่างกันอย่างไร
ถึงแม้ในนิทรรศการภาพกิจกรรมของสนามศุภชลาศัย ในนิทรรศการชุดนี้ที่เลือกมาจะเป็นกิจกรรมของราชสำนักก็ตามที เลยทำให้นึกย้อนกลับ ไปว่าเพราะมีมรดกคณะราษฎรนี่แหละ ทำให้ราชสำนักได้มีพื้นที่ในการจัด มรสพ เพื่อจูงใจอาณาประชาราษฎร
ปล.ในนิทรรศการนี้ไม่มีการอาลัยอาวรณ์ต่อวังวินเซอร์เลย เพราะคนทำก็ตระหนักดีว่ามันไม่ได้มีนัยยะที่ก่อให้เกิดดรามาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น