เพลงฉ่อยชาววัง

วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560

คนไทย ได้-เสีย ? แบ่งปันน้ำมันอ่าวไทย 2.4 แสนล้าน

ข้อดี - ข้อเสีย “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” นับถอยหลัง 60 วัน วัดใจ คสช. แหล่งน้ำมัน "เอราวัณ-บงกช” เตรียมสัมปทานรอบใหม่
ปัจจุบันประเทศไทยพบแหล่งปิโตรเลียมบนบกและทะเล ไม่น้อยกว่า 30 แหล่ง ทั้ง น้ำมันดิบ แก๊ซธรรมชาติ ฯลฯ มีกลุ่มผู้ได้รับสัมปทานจำนวน 28 กลุ่ม โดยปิโตรเลียมที่ขุดเจาะถูกนำมาใช้เป็นพลังงานในไทยประมาณร้อยละ 30 ทำให้ประหยัดเงินนำเข้าเดือนละ 4 พันล้านบาท และมีรายได้จากค่าสัมปทานกว่าปีละ 2.4 แสนล้านบาท

        “ปิโตรเลียม” เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในชั้นหินใต้พื้นผิวโลก เป็นอินทรีย์สารจำนวนมากที่ทับถมกันในหินตะกอนภายใต้ความร้อนและความดันมหาศาล เมื่อนำมากลั่นจะได้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซหุงต้ม ยางมะตอย รวมทั้งเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ

คนไทย ได้-เสีย ? แบ่งปันน้ำมันอ่าวไทย 2.4 แสนล้าน

            คสช.เพิ่มเติมกฎหมายเดิมที่ใช้มานานกว่า 45 ปี นั่นคือ “พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514”จุดประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม นอกเหนือจากการให้สัมปทาน
          แต่ที่กลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมาเพราะ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ มีการเสนอให้ตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” เพื่อเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย และมีสิทธิในการสำรวจ บริหาร จัดการปิโตรเลียม หรือเป็นผู้มีสิทธิในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดของประเทศไทย สรุปคือการเปลี่ยนจากระบบที่ได้แค่ค่าสัมปทาน มาเป็น “ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต” (Production Sharing Contract – PSC) โดยมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้ดูแล
             การตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ถูกเขียนไว้ในมาตรา 10/1 มีเนื้อความว่า
      “มาตรา 10/1 ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”
         ฝ่ายที่เห็นด้วยและผลักดันแนวคิดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” มาตลอดคือ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เช่น รสนา โตสิตระกูล และปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แต่ที่ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายนี้ เพราะไม่ได้กำหนดวันเวลาที่แน่นอนว่าจะตั้งเมื่อไร มีเพียงบอกว่า “เมื่อมีความพร้อม” แสดงถึงความไม่จริงใจที่จะจัดตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
     คนไทย ได้-เสีย ? แบ่งปันน้ำมันอ่าวไทย 2.4 แสนล้าน

            ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยตัวแทนจากบริษัทในเครือของ ปตท. แสดงความเห็นคัดค้านเพราะเป็นการเปิดช่องให้ทหารบางกลุ่มเข้ามามีอำนาจเหนือแหล่งพลังงานและกิจการพลังงานของชาติ บรรษัทน้ำมันฯ จะกลายเป็นยักษ์ตัวใหม่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศไทย ดังนั้นควรปล่อยให้เป็นกลไกตลาดเสรีแบบปัจจุบัน ที่รัฐเก็บแค่ค่าสัมปทานก็เพียงพอแล้ว
คนไทย ได้-เสีย ? แบ่งปันน้ำมันอ่าวไทย 2.4 แสนล้าน

         ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามกดดัน คสช.อย่างหนักหน่วง เนื่องจาก แปลงสำรวจ “แหล่งเอราวัณ” ของบริษัทเชฟรอน และ “แหล่งบงกช” ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) กำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2566 หรือในอีก 5-6 ปีข้างหน้า
        แหล่งสัมปทานปิโตรเลียมบงกชหมดอายุวันที่ 23 เมษายน 2566 และเอราวัณ จะหมดอายุในวันที่ 23 เมษายน 2565 ทั้ง 2 แหล่งมีการผลิตก๊าซธรรมชาติสูงถึง 2,214 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือร้อยละ 76 ของปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทย
         “มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล”  รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ “บริษัท ปตท.ผส.” เปิดเผยในเวทีเสวนาเรื่อง “พ.ร.บ.ปิโตรเลียมสะดุด ฉุดประเทศไทยเสียโอกาส” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ว่า หากการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมทั้ง “แหล่งเอราวัณ” และ “แหล่งบงกช” ล่าช้าออกไป และผลิตไม่ทัน หลังจากหมดอายุจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม คาดการณ์ว่าจะทำให้รายได้รัฐหายไปถึง 2.4 แสนล้านบาทต่อปี และต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่ม คิดเป็นมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทต่อปี การจ้างงานจะลดลง 1 หมื่นคนต่อปี
         ข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุว่า ไทยมีรายได้จากค่าภาคหลวงเพียงร้อยละ 5-15 โดยไม่ได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรจากสัมปทาน แตกต่างจากประเทศอื่น ที่นอกจากจะมีรายได้จากค่าภาคหลวงแล้วในสัญญาได้ระบุให้รัฐต้องได้รับส่วนแบ่งกำไรจากน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติที่นำขายได้อีกร้อยละ 40-50
           เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) อ้างถึงข้อมูลปี 2553 ว่า ภาคเอกชนมีรายได้จากสัมปทานประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลไทยได้ค่าสัมปทานเพียง 4-5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับ พม่า มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ถือว่าเป็นรายได้ที่ต่ำมาก
             คำถามคือ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” มี ข้อดี – ข้อเสีย อย่างไร ?
           “วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ” เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ผู้ติดตามปัญหาพลังงานประเทศไทย แสดงความเห็นการจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ว่า ขณะนี้แนวคิดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่สนับสนุน“การค้าแบบเสรี” หรือตลาดเสรี กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับการมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพราะจะไปขัดกับแนวคิดตลาดเสรีที่มีรัฐบาลมาควบคุมกลไกตลาด ควรให้ ปตท.หรือบริษัทน้ำมันต่างชาติมาขอสัมปทานสำรวจและขุดเจาะเหมือนเดิม
              ส่วนกลุ่มที่ 2 มีแนวคิดเป็นแบบ “รัฐเป็นเจ้าของ” (Nationalization) หรือการโอนทรัพยากรมาเป็นของรัฐ ทำให้ทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลระดับชาติ ในลักษณะคล้ายรัฐนิยม กลุ่มนี้เชื่อว่ารัฐควรเป็นผู้จัดสรรแบ่งปันทรัพยากรที่เจ้าของแท้จริงคือประชาชน หากมีการเวนคืนที่ดิน หรือการสำรวจพบทรัพยากรน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ผู้ที่ควรได้ประโยชน์คือรัฐ
               วิฑูรย์ วิเคราะห์ว่า กลุ่มที่มองบรรษัทน้ำมันแห่งชาติว่ามีข้อดีคือ คนไทยได้เป็นเจ้าของ รัฐสามารถหาผลประโยชน์ได้เต็มที่ไม่ต้องให้สัมปทานบริษัทต่างประเทศหรือให้เอกชนมาทำ ซึ่งไทยเสียผลประโยชน์ตรงนี้ไปจำนวนมหาศาล ส่วนกลุ่มที่มองข้อเสีย ก็ชี้ว่าหากให้รัฐมาจัดการตั้งบริษัท จะไม่มีระบบตรวจสอบ ไม่เหมือนบริษัทเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องเปิดเผยบัญชีและข้อมูลต่างๆ
               “ส่วนตัวแล้วผมไม่ได้เข้าข้างทั้ง 2 กลุ่ม จะเป็นหน่วยงานใดมาทำก็ได้ แต่อยากให้คำนึงถึงกระบวนการกำกับดูแล มีหลักธรรมาภิบาลในการบริหารและการจัดการควบคุมดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ควบคุมให้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการต่างๆ ต้องโปร่งใส มีการทำงานแบบถ่วงดุลของ 3 ฝ่ายคือ 1.ฝ่ายนโยบาย 2.ฝ่ายกำกับดูแล และ 3.ฝ่ายบริหาร เช่น การแบ่งสรรรายได้ให้แก่ท้องถิ่น ที่ผ่านมาผู้ได้สัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมได้แต่อ้างว่า พื้นที่อ่าวไทย ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของจังหวัดใด เงินจำนวนเป็นหมื่นล้านบาทเลยไม่ได้ถูกแบ่งให้ท้องถิ่นตามที่กฎหมายเขียนไว้ และที่สำคัญคือเรื่องกระบวนการรื้อถอนเพื่อคืนสู่สภาพธรรมชาติ(Decommissioning Platforms) เช่นหลังจากบริษัทที่ได้สัมปทานครบเวลาแล้ว ก่อนมอบพื้นที่คืนให้รัฐ จะต้องมีภารกิจรื้อถอนแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ในสัญญาสัมปทานไม่มีความชัดเจนว่าแนวทางรื้อถอนจะเป็นอย่างไร จากนี้ไปเมื่อต้องต่อสัญญาสัมปทานทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ ควรมีการแบ่งผลกำไรส่วนหนึ่งมาตั้งกองทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบภารกิจรื้อถอนในอนาคต" เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตฯ กล่าวยืนยัน
                  ด้าน “ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์” ผอ.วิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ:TDRI) แสดงความเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ “ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน”เนื่องจากการให้สัมปทานแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น ไม่ได้มีเงื่อนไขการประมูลหรือการแข่งขันที่ชัดเจน เช่น การประมูลไม่ได้กำหนดรายได้ที่ต้องแบ่งให้รัฐ ราคาที่ขาย จำนวนที่ขุดเจาะได้ ฯลฯ แต่เป็นการให้เอกชนมาเสนอว่าจะให้อะไรบ้าง ใครให้มากสุดก็ชนะไป ทำให้เกิดความไม่โปร่งใส ยกตัวอย่างเช่น การประมูลคลื่นความถี่ จะมีการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดทุกอย่าง เปิดเผยให้ทุกฝ่ายรับรู้เท่ากันหมด แล้วมาประมูลแข่งกัน แต่สำหรับแหล่งปิโตรเลียม เหมือนกับข้อมูลไม่มีการเปิดเผยออกมา มีการให้ใช้ดุลพินิจได้
               “หากวิเคราะห์ถึงข้อดี-ข้อเสียของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ก็เหมือนกับเรามีแหล่งน้ำมัน จะให้คนมาเช่าแล้วรอรับรายได้ อาจไม่ได้มากนัก แต่ได้แน่นอนไม่มีความเสี่ยง หรือเราจะเปิดบริษัทของตัวเอง แล้วลงทุนซื้อแท่นขุดเจาะ จ้างพนักงานทำงานเอง วิธีนี้ได้เงินเยอะกว่าเพราะไม่ต้องแบ่งให้ใคร แต่ก็มีความเสี่ยงสูง ไม่รู้ว่าลงทุนไปคุ้มหรือไม่ สิ่งที่ตอนนี้ควรพิจารณาคือ การสร้างระบบสัมปทานให้โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง เพื่อให้สังคมและทุกกลุ่มเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” ดร.เดือนเด่น กล่าวแนะนำ
                      ล่าสุด วันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีการขอถอนมาตรา 10/1 ออกไปก่อนโดยเปลี่ยนเป็นข้อสังเกตแนบท้ายกฎหมาย และให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาเพิ่มเติมภายใน 60 วันจากนั้น สมาชิก สนช.ได้ลงมติด้วยคะแนนเอกฉันท์ประกาศ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ เป็นกฎหมายบังคับใช้
                ส่วน “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” คงต้องรอลุ้นต่อไปว่าอีก 2 เดือนหลังจากนี้ คสช.จะตัดสินใจ “ยอมถอย” หรือ “ยืนยัน” ให้จัดตั้ง ?!?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น