เพลงฉ่อยชาววัง

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กลุ่มเศรษฐกิจ บริคส์ (BRICS)

กลุ่มเศรษฐกิจ บริคส์ (BRICS)
ข้อมูลทั่วไป
        คําว่า BRIC เป็นอักษรย่อใช้เรียกกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ประกอบด้วยประเทศ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China) โดยคําศัพท์นี้ถูกบัญญัติขึ้นโดย นายจิม โอนีลล์ (Mr. Jim O’Neil) หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจโลกจากโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ซึ่งคําว่า BRIC ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการ ย้ายอํานาจเศรษฐกิจโลกจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง G7มาสู่กลุ่มประเทศกําลังพัฒนา โดยที่ประเทศทั้งสี่ข้างต้นมีพื้นที่รวมกันมากกว่าหนึ่งในสี่ของโลกและมีจํานวนประชากรรวมกันมากกว่าร้อยละ 43 ของประชากรโลก มีสัดส่วนใน GDP โลกประมาณ หนึ่งในสี่ของทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 13.7 แสนล้าน ดอลล่าร์สหรัฐ และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันถึง 4.4 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ และในปี 2555 กลุ่มประเทศ BRICS มีสัดส่วนในการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (FDI) คิดร้อยละ 11 ของโลก และมีสัดส่วนในการค้าโลกถึงร้อยละ 17
            แม้ว่ากลุ่ม BRICS ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนที่จะรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจหรือสมาคมการค้าอย่างเป็นทางการเหมือนสหภาพยุโรป (EU) แต่มีข้อบ่งชี้บางอย่างว่ากลุ่ม BRIC พยายามที่จะสร้างสมาคมหรือพันธมิตรทาง การเมืองรวมถึงเปลี่ยนอํานาจทางเศรษฐกิจที่กําลังเติบโตให้เป็นอํานาจการเมืองระดับภูมิภาค ซึ่งปัจจุบัน ประเทศแอฟริกาใต้ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRIC อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 โดยเปลี่ยนชื่อกลุ่มใหม่เป็น BRICS ซึ่งอักษรย่อ “S” ที่เพิ่มต่อท้ายเข้ามาหมายถึง South Africa หรือประเทศแอฟริกาใต้
            นอกจากความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ กลุ่ม BRICS ยังมีแผนจะพัฒนาไปสู่การเป็นกลุ่มความร่วมมือทางการเมืองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ อีก ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน เนื่องจากสมาชิก BRICS เป็นประเทศที่ผลิตและใช้พลังงานมากที่สุด และเป็นประเทศผู้ผลิตผลผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ที่สุดและเป็นผู้บริโภคผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุด การพัฒนาการใช้พลังงานสะอาด การเพิ่มผลผลิตการเกษตร เป็นต้น และยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นอีก อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การค้าการลงทุน ยา และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 
โครงสร้างความร่วมมือ
            โครงสร้างความร่วมมือของ BRICS นั้นก็คือในทุกๆปีจะมีการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ BRICS โดยจะจัดขึ้นในประเทศสมาชิก และเวียนไปเรื่อยๆจนครบรอบแล้วเริ่มใหม่ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการจัดประชุมไปแล้ว 4 ครั้งดังนี้
                                      การประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 4 ณ ประเทศอินเดีย


การประชุมสุดยอด BRIC ครั้งที่ 1จัดขึ้น ณ เมือง เยคาเตรินบูร์ก (Yekaterinburg) , สหพันธรัฐรัสเซีย ในวันที่16 มิถุนายน ปี 2552 โดยมีผู้นำของทั้ง 4 ประเทศ (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) เข้าร่วมการประชุม ซึ่งได้หารือ เกี่ยวสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบัน พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นภายในกลุ่มประเทศ BRIC ได้มีการพูดถึงแนวทางความร่วมมือที่จะปฏิรูปสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศใหม่ โดยต้องการให้ กลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา จะต้องมีเสียงและส่วนร่วมที่มากขึ้นในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งในการปฏิรูปนั้นจะต้องยึดอยู่บนหลัก การดำเนินนโยบายที่เป็นประชาธิปไตยและมีความโปร่งใส, มีพื้นทางกฎหมายที่แน่น และต้องสร้างระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความร่วมมือทางด้านพลังงาน เพื่อที่จะรองรับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นและ สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการพูดถึงการนำพลังงานทางเลือกมาใช้เพื่อที่จะทดแทนแหล่งพลังงานน้ำมันซึ่งกำลังค่อยๆหมดไปทุกวัน
            นอกจากนี้กลุ่มประเทศ BRIC ยังส่งเสริมในการจัดการกับประเด็นปัญหาโลกร้อน ภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน สนับสนุนการทูตแบบหลายมิติกับทางสหประชาชาติ ในการแก้ไขปัญหาและภัยคุกคามระดับโลก พร้อมทั้งต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ
            การประชุมสุดยอด BRIC ครั้งที่ 2 จัดขึ้น ณ กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล ในวันที่ 16 เมษายน 2553 ได้มีการทำข้อตกลงที่เป็นรูปร่างชัดเจนยิ่งขึ้นโดยได้มีการแบ่งประเด็นออกเป็นหลายด้าน โดยเพิ่มประเด็นใหม่ๆขึ้นเช่น การเกษตร การต่อสู้กับความยากจน ประเด็นด้านการเงินและเศรษฐกิจระหว่างแประเทศ เป็นต้น ในประเด็นเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจโลก ก็ได้มีการพูดถึงสถานการณ์โลกที่เริ่มที่จะฟื้นสภาพจากเมื่อการประชุมสุดยอดปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลก ก็ยังอยู่ในสภาพที่ไม่แน่นอน ซึ่งทาง BRIC ก็แนะนำให้ทางธนาคารโลกและ IMF มีการให้เสียงกับประเทศที่กำลังพัฒนามากขึ้น พร้อมทั้งให้มีการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งอัตราการแลกเปลี่ยนในกลุ่มประเทศ BRIC กันเอง เพื่อที่จะลดอัตราความเสี่ยงของผลกระทบจากวิกฤตการทางการเงินของโลก ในด้านการเกษตรก็มีการส่งส่งเสริมการทำสวนในครัวเรือน (Family Farming) เพื่อเสริมสร้าง การผลิตอาหารโลก และ ความมั่นคงทางด้านอาหาร
            ในช่วงประชุมฯ ได้จัดให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างธนาคารของประเทศสมาชิก ได้แก่ Banco Nacional de Desenvolvimente Economico e Social (BNDES) บราซิล, China Development Bank Corporation (CDB), Export-Import Bank of India (Exim Bank India) และ State Corporation Bank for Development and Foreign Economic Affairs (Vnesheconombank) รัสเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนในการดำเนินการด้านการเงินในโครงการที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งในเรื่องของ cross border transactions เพื่อกระชับและขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกัน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้ง interbank ระหว่างประเทศสมาชิกด้วย
            การประชุมสุดยอด BRIC ครั้งที่ 3จัดขึ้น ณ เมือง ซันยา มณฑล ไห่หนาน ประเทศจีน ในวันที่ 14 เมษายน 2553 ประธานาธิบดีของประเทศแอฟริกาใต้ได้มาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และในช่วงปลายปีก็ได้มีการรับประเทศ แอฟริกาใต้เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของ กลุ่ม BRIC จึงทำให้มีตัวย่อ “S” ของประเทศแอฟริกาใต้เพิ่มเข้าไป กลายเป็นกลุ่มประเทศ BRICS ในปัจจุบัน ซึ่ง โดยการที่รับเอาประเทศ แอฟริกาใต้เข้ามารวมกลุ่มด้วยนั้น ก็เพื่อที่จะเป็นประตูสู่ทวีปแอฟริกา ทั้งในด้านการลงทุนและพัฒนา ในการประชุมครั้งนี้ก็ยังได้มีการจัดตั้งสโลแกน วิสัยทัศน์กว้างไกล มุ่งสู่ความสำเร็จร่วมกัน (Broad vision, Shared Prosperity)” เพื่อที่จะสร้างความแน่นแฟ้นในความร่วมมือของกลุ่มประเทศ BRICS พร้อมกับ พัฒนาความร่วมมือด้านสังคมการเมืองและการค้าระหว่างกันในแต่ละภูมิภาคเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
            นอกจากนี้ ประเด็นจุดยืนต่อ สถาบันการเงินระหว่างประเทศของ BRICS ก็ยังคงเหมือนเดิม คือ ควรให้โควตากับประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตให้มากขึ้น แทนที่จะผูกขาดอำนาจหรือตำแหน่งสูง ๆ ไว้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เสริมสร้างเสถียรภาพให้การการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยเน้นการลงทุนที่เป็นรูปธรรมแทนที่จะลงทุนในตลาดการเงินซึ่งเป็นตลาดที่มีการผันผวนและไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา ด้านสิ่งแวดล้อม BRICS สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อปรับตัวกับสภาวะ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และพร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) มีการสนับสนุนการพัฒนาและการใช้พลังงานหมุนเวียน และเล็งเห็นว่า พลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของ BRICS ในอนาคต ในด้านวิทยาศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน BRICS ได้ให้การสนับสนุนสาธารณูปโภคในทวีปแอฟริกาภายใต้กรอบ พันธมิตรเพื่อการพัฒนาแอฟริกา (New Partnership for Africa’s Development:NEPAD) ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศ ด้านการต่อต้านการก่อการร้าย BRICS ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องการป้องกันการจารกรรมข้อมูล และอาชญากรรมไซเบอร์
            การประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 4จัดขึ้น ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในวันที่ 29 มีนาคม 2555 ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ BRICS ได้มีความเห็นชอบในการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง ธนาคารเพื่อการพัฒนาแนวใต้ ใต้” (South – South Development Bank) หรือ ธนาคาร BRICS” (BRICS Bank) เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน โดยเป็นทางเลือกในการระดมทุนของสถาบันการเงินในประเทศสมาชิก นอกเหนือจากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย รวมถึงสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ
            ถึงแม้ว่าความคิดในการจัดตั้งสถาบันการเงินดังกล่าวจะยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้ลงนามข้อตกลงที่อนุญาตให้สถาบันการเงินในประเทศสมาชิกสามารถให้บริการสินเชื่อเป็นเงินสกุลของตนเองได้ และข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้บริการยืนยันเล็ตเตอร์ออฟเครดิต (Agreement on Letter of Credit Confirmation Facility) ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสมาชิก BRICS สามารถลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดโลกและลดต้นทุนการค้า นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวสามารถช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอีกด้วย พร้อมกันนี้ BRICS ได้ออกตราสารอนุพันธุ์ Benchmark Equity Index ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนจากประเทศสมาชิกหนึ่งสามารถลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของอีกประเทศสมาชิกหนึ่งได้โดยปราศจากความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
            นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจแล้ว BRICS ยังแสดงจุดยืนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในประเด็นเรื่องความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกนั้น BRICS ยอมรับในสิทธิของอิหร่านที่จะดำเนินการโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติ และสนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยใช้วิธีการเจรจาทางการทูต เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามจนกลายเป็นความขัดแย้ง สำหรับเรื่องวิกฤติการณ์ทางการเมืองในซีเรียนั้น BRICS สนับสนุนการสร้างสันติภาพในประเทศโดยผ่านการเจรจาแบบสันติวิธี โดยให้ซีเรียเป็นแกนนำในกระบวนการดังกล่าว
            การประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่5 จัดขึ้น ณ กรุงเดอร์แบน แอฟริกาใต้ ในระหว่างวันที่ 26-27 มีนาคม 2556 ได้เห็นชอบให้มีการดำเนินการจัดตั้ง ธนาคารเพื่อการพัฒนา BRICS (BRICS Development Bank)” เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและโครงการพัฒนาระยะยาวสำหรับกลุ่มประเทศ BRICS และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การจัดตั้งดังกล่าวเป็นการสร้างทางเลือกในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ลดการพึ่งพาองค์กรอย่างธนาคารโลก และ IMF ซึ่งในปัจจุบันอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศตะวันตก โดยแนวความคิดนี้ได้ถูกนำเสนอขึ้นในการประชุมสุดยอด BRICS เมื่อปีที่แล้ว การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาจะต้องมีการวางแผนโครงสร้างเนื่องจากยังมีประเด็นที่ต้องตกลงอีกหลายอย่าง อาทิ ขนาดเงินทุนรวมของธนาคาร ขนาดของเงินร่วมลงทุนของแต่ละฝ่าย และสิทธิในการออกเสียง ซึ่งจะต้องใช้เงินทุนประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเวลาอย่างน้อย 5 ปี ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของธนาคาร
            นอกจากนี้ สมาชิกเห็นชอบให้มีข้อตกลงจัดตั้งกองทุนเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement: CRA) ร่วมกันมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและป้องกันความเสี่ยงทางการเงินของทั้ง 5 ประเทศจากสภาวะการเงินโลกที่ผันผวน
            กลุ่มผู้นำยังเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงจัดตั้งกรอบความร่วมมือใหม่เพื่อจะยกระดับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในด้านการค้า การวิจัย และเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ มีการจัดตั้ง สภาธุรกิจ (Business Council)เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างธุรกิจ-ธุรกิจในกลุ่มความร่วมมือ และกลุ่มนักคิดนักวางแผน BRICS (BRICS Think Tank) เพื่อระดมมันสมอง ตลอดจนได้เพิ่มความร่วมมือด้านใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการทูตสาธารณะ ด้านการต่อต้านการคอรัปชั่น ด้านธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ ด้านการควบคุมยาเสพติด ด้านการท่องเที่ยว ด้านพลังงาน และด้านการกีฬา 
การมีส่วนร่วมของอินเดีย กับ BRICS

            อินเดียให้ความสำคัญกับกลุ่ม BRICS โดยเห็นว่าคุณภาพและความยั่งยืนของกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลกขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS เป็นหลัก อินเดียได้เสนอให้มีการก่อตั้ง เวทีเจรจาธุรกิจกลุ่มประเทศ BRIC (BRIC Business Forum) เพื่อที่จะ รวมการการค้าและเศรษฐกิจของ BRIC ให้เป็นหนึ่งเดียว, จัดตั้ง BRIC Think Tank เพื่อระดมความคิดที่จะนำมาใช้ในกรอบความร่วมมือซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก และ จัดตั้ง Joint Economic Study เพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของ เศรษฐกิจโลก และบทบาทของ BRICS ระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้อินเดียยังได้ใช้เวทีการประชุม BRICS เป็นลู่ทางในการผลักดันนโยบายที่อินเดียให้ความสำคัญและไม่อาจระบุอย่างชัดเจนในแถลงการณ์ร่วมได้ (เนื่องจากจีนไม่เห็นด้วย) เช่น ความร่วมมือด้านพลังงาน และการปฏิรูปสหประชาชาติ ส่วนลู่ทางในอนาคตทางการของอินเดียเอง ก็พยายามที่จะขยายขอบเขตความร่วมมือภายใน BRICS ให้กว้างและลึกยิ่งขึ้น
ทัศนคติของแอฟริกาใต้ต่อ BRICS
            จากการที่ แอฟริกาใต้เป็นหนึ่งในสมาชิกของ BRICS นั้น แอฟริกาใต้ จะเป็นตัวนำบทบาทที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก กับประเทศที่กำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกา โดยทวีปแอฟริกานั้นก็ถือว่าเป็นหนึ่งในตลาดที่โตเร็วที่สุดตลาดหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ประเทศเทศสมาชิกใน BRICS สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างมากซึ่งจะเห็นได้จากยอดการเข้ามาลงทุนในทวีปนี้ ซึ่ง BRICS เป็นคู่ค้าหน้าใหม่ที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะมีการขยายตัวของการค้าระหว่าง BRICS กับทวีปแอฟริกา ที่จะเพิ่มขึ้นสูงถึง 530,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2558 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าเมื่อเทียบกับอัตราการค้าในปี 2553 ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเข้าเป็นสมาชิกของแอฟริกาใต้ใน BRICS ได้เป็นประตูสู่การลงทุนและพัฒนาในทวีปแอฟริกา
            อย่างไรก็ตาม บทบาทของแอฟริกาใต้ในฐานะประตูสู่ทวีปแอฟริกา ก็ไม่อาจทำได้ง่ายนัก เนื่องจาก ความแตกต่างในหลายด้านระหว่างประเทศแอฟริกาด้วยกันเอง อีกทั้งประเทศเหล่านี้ยากที่จะเข้าถึงสำหรับคนภายนอก จึงทำให้ไม่สามารถที่จะใช้ประเทศเดียวเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงทุกประเทศในทวีปนี้ได้ ขณะเดียวกัน ความไม่สงบและความไม่มั่นคงทางการเมืองในหลาย ๆ ประเทศในทวีปแอฟริกา ยังส่งผลให้ความน่าลงทุนในภูมิภาคนี้ลดลง
BRICS กับ ASEAN
            ปัจจุบัน ASEAN มีความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาที่อยู่ในกลุ่ม BRICS อยู่ 3 ประเท ได้แก่จีน รัสเซีย และ อินเดีย รวมถึงมีความร่วมมือกับกลุ่ม MERCOSUR ที่มีบราซิลเป็นสมาชิกนอกจากนี้ ASEAN ได้เตรียมการที่จะเปิดการเจรจาความตกลงระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) กับประเทศคู่ค้าของ ASEAN ที่ได้มีการจัดทํา FTAs ระหว่างกันแล้ว เพื่อเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนต่อยอดจาก FTAs ที่มีเป็นรายประเทศอยู่แล้วกับประเทศเหล่านี้ โดย RCEP ถือได้ว่าเป็นกลไกสําคัญที่จะบูรณาการ ASEAN เข้ากับเศรษฐกิจโลกรวมทั้งกลุ่ม BRICS โดยมี ASEAN เป็นแกนกลาง
            จากปัญหาวิกฤติการณ์ด้านการเงินที่เกิดขึ้นกับ EU ในขณะนี้ ASEAN ควรให้ความสําคัญและแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS มากขึ้นโดย ASEAN ควรที่จะกําหนดประเด็นและแนวทางความร่วมมือให้มีความชัดเจนรวมถึงสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่ม BRICS เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ ASEAN เนื่องจาก มูลค่าการค้ารวมในปี 2554 ของ ASEAN กับกลุ่ม BRICS ที่มีจํานวนเพียง 5 ประเทศมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการค้าระหว่าง ASEAN กับ EU ที่มีจํานวนถึง 27 ประเทศเป็นอย่างมาก (435,518 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อ 236,791 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศต่างๆในกลุ่ม BRICS เป็นประเทศคู่ค้าที่สําคัญของ ASEAN ดังนั้น หาก ASEAN สามารถจัดทํากลไกความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS ทั้งในรูปแบบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทั่วไป หรือการจัดทํา RCEP ก็จะส่งผลให้มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่าง ASEAN กับ กลุ่ม BRICS เพิ่มสูงขึ้น

BRICS กับ ประเทศไทย
            ปัจจุบันประเทศไทยมีความร่วมมือในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีรวมถึงมีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนกับประเทศต่างๆในกลุ่ม BRICS ที่สําคัญ ดังนี้
1.             ไทย-จีน ได้แก่การทํา ASEAN-China FTA ในกรอบพหุภาคีความร่วมมือในกรอบทวิภาคีต่างๆ เช่น แผนพัฒนาระยะ 5 ปีระหว่างไทย-จีน (พ.ศ.2555-2559) ภายใต้ความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงกว้างและเชิงลึกระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและ ราชอาณาจักรไทย, แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย จีนฉบับที่ 2 (2555 – 2559) ไปจนถึงกลไกในรูปแบบของคณะทํางานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆของจีนในระดับมณฑลเป็นต้น
2.            ไทย-อินเดีย อยู่ระหว่างการเจรจา FTA ระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้สินค้าจํานวน 83 รายการมีภาษีเป็นศูนย์แล้ว นอกจากนี้อินเดียยังเป็นตลาดใหม่ที่สําคัญที่สุดของไทย โดยในปี 2554 อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทยและเป็นอันดับที่ 1 ของไทยในเอเชียใต้โดยระหว่างปีพ.ศ. 2552-2554 มูลค่าการค้ารวมไทย-อินเดียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3.            ไทย-รัสเซีย รัสเซียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States : CIS) ซึ่งมูลค่าการค้ารวมไทย-รัสเซีย ระหว่างปีพ.ศ. 2552 -2554 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4.            ไทย-บราซิล ทั้งสองประเทศได้มีการลงนามความตกลงทวิภาคีทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งในปีพ.ศ. 2554 ทั้งไทยและบราซิลต่างเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกันและกันในอาเซียน และลาตินอเมริกา (แทนที่สิงคโปร์)
5.            ไทย-แอฟริกาใต้ แอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในทวีปแอฟริกาและเป็นตลาดส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของไทยในอนุภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้นอกจากนี้ในปี 2554 แอฟริกาใต้ยังเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย

            จะเห็นได้ว่ามูลค่าการค้ารวมของไทยกับประเทศต่างๆในกลุ่ม BRICS มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหาก ASEAN สามารถดําเนินความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS ได้เป็นผลสําเร็จก็จะส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของไทย ทําให้สามารถที่จะส่งออกสินค้าต่างๆ ที่มีศักยภาพตามตารางข้างต้น ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมไปยังประเทศต่างๆในกลุ่ม BRICS ได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีรัฐบาลไทยควรกําหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน รวมถึงเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่ม BRICS ให้มากยิ่งขึ้น โดยอาศัยกลไกความร่วมมือภายใต้กรอบทวิภาคีและพหุภาคีที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ของประเทศรวมถึงเป็นการแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพให้กับภาคธุรกิจและเอกชนของไทยแทนกลุ่มประเทศ EU และสหรัฐฯ ที่กําลังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเงินอยู่ในขณะนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น