เพลงฉ่อยชาววัง

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2558

“มันคือ ... การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3”




ผลกระทบของดิจิตอลอีโคโนมี ที่อาจไม่มีในแผน 12 ของสภาพัฒน์ (1/2)
-------------------------------------------------------------------------------
“มันคือ ... การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3”
ผู้สร้างสรรนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและบรรดา CEO ต่างตื่นตาตื่นใจและรอคอยต้อนรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางอุตสาหกรรมที่บางคนเรียกไว้ล่วงหน้าว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3” ซึ่งเชื่อกันว่าการพัฒนาเทคโนโลยีออโตเมชั่นกับหุ่นยนต์ในไม่กี่ปีข้างหน้านี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก และจะส่งผลดีต่อบริษัทผู้ผลิตกับเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ถ้าไม่กำหนดนโยบายในการพัฒนาฝีมือแรงงานและการจ้างงานที่ชัดเจน ความต้องการแรงงานจะขยายตัวสูงขึ้นได้อย่างไร หากเทคโนโลยีใหม่ๆ พาเหรดเข้ามาทดแทนแรงงานคน
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมานี้มีข้อเสีย 3 ประการคือ
1. ต้องใช้ทุนเยอะ ดังนั้น คนที่มีทุนมากก็ย่อมได้เปรียบ
2. ต้องการแรงงานฝีมือที่มีความสามารถและชำนาญในการใช้เทคโนโลยี
3. ใช้แรงงานด้อยฝีมือ และใช้แรงงานโดยรวมทั่วไปน้อยลง
ความเสี่ยงก็คือเทคโนโลยีออโตเมชั่นกับหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานผลิตในอุตสาหกรรม และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นก่อนที่ฝุ่นตลบจากความตื่นเต้นของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3” ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะจางหายไปด้วยซ้ำ
พัฒนาการอย่างรวดเร็วของ Smart Software ใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา น่าจะเป็นพลังผลักดันอันสำคัญที่สุดที่ทำให้อุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตที่กำลังจะมาถึงนี้ นวัตกรรมของ Software กับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ จะเปิดประตูแห่งโอกาสให้แรงงานที่มีการศึกษาจนพอที่จะใช้มันได้ดี
โรงงานในอนาคตอาจจะมีหุ่นยนต์ 100 ตัวกับคนงานเพียง 1 คน มาร่วมกันทำงานเป็นทีม เพราะแม้แต่พื้นโรงงานที่เคยใช้แรงงานหลายคนร่วมกันทำความสะอาด ก็จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์เพียงตัวเดียว แถมยังได้ผลงานที่เหนือกว่า แล้วจะจ้างคนไปทำไมกัน นอกจากนี้ หุ่นยนต์ก็ไม่ได้เรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง และไม่ต้องมีสวัสดิการใดใดเลยด้วยซ้ำ
ที่สำคัญคือ จะไม่มีม็อบหุ่นยนต์มาเดินขบวนชูป้ายหน้าโรงงานหรือหน้าแบงค์ เพื่อเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง โบนัส กับสวัสดิการ เรียกว่าจะไม่มีสหภาพแรงงานหุ่นยนต์เกิดขึ้น
สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว เรื่องแบบนี้มันก็แค่ข่าวเก่าๆ เพราะว่าใน 30 ปีที่ผ่านมานี้ การผลิตของประเทศในยุโรปตะวันตกกับประเทศในอเมริกาเหนือก็ได้ย้ายฐานไปอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียไปแล้ว
ที่น่าห่วงก็คือ ยังไม่มีหลักประกันว่า “ผลดีทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมบริการที่ยังต้องใช้คน จะมากพอที่จะชดเชยผลกระทบจากการลดแรงงานของอุตสาหกรรมการผลิต”
ลองมาดูตัวอย่างกันบ้างว่าเทคโนโลยีที่จะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ของโลก จะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร
อย่างในวันนี้ ผู้ป่วยที่อยู่นิวยอร์คสามารถไปโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI แล้วโรงพยาบาลที่นิวยอร์คก็สามารถส่งผลผ่านระบบดิจิตอลไปยังบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย เพื่อให้ผู้ชำนาญด้าน Radiologist อ่านผลได้อย่างแม่นยำ ในราคาเพียง 1 ใน 4 ของราคาที่นิวยอร์ค
แต่อีกไม่นาน คอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์ก็จะสามารถอ่านผลได้รวดเร็วกว่า แม่นยำกว่า และถูกกว่าการใช้บริการที่ที่บังกาลอร์
Foxconn ที่ผลิตไอโฟนกับอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส่วนบุคคล ก็วางแผนจะใช้หุ่นยนต์ผลิตสินค้าเหล่านี้แทนแรงงานคนจีนกว่า 1.2 ล้านคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
ปัจจุบันนี้ Call Center ทั้งหลายของฝั่งตะวันตกเขาใช้บริการ Outsource สำหรับ Call Center ของบังกาลอร์ กับมะนิลา แต่ต่อไปอีกไม่นานก็จะมีเทคโนโลยี Voice Recognition Software มาทดแทนการ Outsource เหล่านั้น และในต้นทุนที่ถูกกว่ามาก
นวัตกรรมของเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนและแรงงานทั้งนั้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะกระทบกับอุตสาหกรรมต่างๆ ตามตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น แต่จะกระทบทุกภาคส่วนด้วย ตัวอย่างเช่น การเรียน สื่อสารมวลชน รัฐบาลและราชการ และการเดินทาง เป็นต้น
ก็เราจะต้องการครูมากมายไปทำไม ในเมื่อเราเป็นล้านคนจะสามารถเข้าถึงครูชั้นยอดได้ร่วมกันโดยผ่านเทคโนโลยีการเรียนการสอนแบบ Real Time หรือแบบ On demand ตามเวลาที่สะดวกสำหรับนักเรียนก็ได้
แล้วครูทั้งหลายที่อาจจะตกงานเขาจะไปทำมาหากินอะไรกันดี อย่างนี้มิต้องไปเป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองกันหมดหรือ
ด้านสื่อสารมวลชนก็เช่นกัน ยังไม่ต้องมองไปข้างหน้า เราก็เริ่มเห็นผลกระทบกันแล้วมิใช่หรือ เมื่อใครๆ ก็สื่อข่าวได้ ถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปปุ๊บ เขียนคำอธิบายอีกแป๊บ ก็กดปุ่มส่งปั๊บ ไปถึงทุกคนในเครือข่ายได้มาก ได้ทั่วถึง ได้ไว ได้กระชับ ซึ่งคนรับพอได้รับปั๊บก็มักจะส่งต่อปุ๊บ ในขณะที่สื่อปกติต้องรอแป๊บกว่าจะผลิตออกมาได้
แล้วต่อไปสื่อสารมวลชนจะตกงานไหม
บุคลากรในภาครัฐที่เป็นแรงงานเงาสำหรับบริการประชาชน ก็จะได้รับผลกระทบจากการตกงานด้วย แต่ประเด็นนี้น่าจะเป็นข่าวดี โดยเฉพาะรัฐบาลที่แบกภาระหนี้สาธารณะและขาดดุลงบประมาณมากๆ ที่ต่อไปจะถูกทดแทนด้วย e-government เพราะใครๆ ก็เชื่อว่าผลผลิตที่ดีขึ้นที่จะได้รับจาก e-government จะสามารถชดเชยผลกระทบของการตกงานในภาครัฐที่ไร้ประสิทธิภาพได้
แล้วการเดินทางล่ะ จะกระทบอย่างไร
ก็อีกไม่กี่ปีเราจะได้เห็นรถไร้คนขับที่กูเกิ้ล (อาจารย์กูของคนไทย) หรือค่ายอื่นๆ จะเป็นผู้นำร่องเส้นทางและการจราจร
พลขับทั้งหลาย หากจะหวนกลับไปทำนาที่บ้าน นอกจากจะไม่มีที่ดินทำกินแล้ว จะไปหวังรับจ้างเกี่ยวข้าวก็ไม่ได้ เพราะชาวนาระดับนายทุนเขาจะมีเทคโนโลยีเก็บเกี่ยวที่ทันสมัยกว่า และด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า
ที่น่าห่วงที่สุดก็คือ นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ใช้ทุนในการพัฒนาสูงและจะประหยัดแรงงานคน ผนวกกับแนวโน้มที่ว่าใครชนะก็จะได้ไปทั้งหมด จะเป็นตัวการใหญ่อีกตัวหนึ่งที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งถ่างกว้างขึ้นจนสุดกู่
เมื่อความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้เพิ่มขึ้นมาก ในที่สุดก็จะเป็นตัวฉุดกำลังซื้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะมันจะกระจายรายได้ของกลุ่มชนชั้นล่างและชั้นกลางที่เป็นผู้ใช้จ่ายมากกว่าเก็บออม ไปให้กลุ่มเศรษฐีและกิจการใหญ่ๆ ที่ออมได้มากกว่าใช้
แต่เรื่องแบบนี้ไม่ได้จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มันเคยเกิดขึ้นในอดีตที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กับต้นศตวรรษที่ 20 ที่มีการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรอุตสาหกรรมมาทดแทนแรงงานคนแล้ว แต่รัฐบาลหลายๆ ประเทศในฝั่งตะวันตกที่พัฒนาแล้วเขาลดผลกระทบของการตกงานไปด้วยการห้ามใช้แรงงานเด็ก ปรับลดชั่วโมงทำงานให้สมกับเป็นมนุษย์มากขึ้น พร้อมทั้งให้สวัสดิการสังคมต่างๆ เพื่อรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในที่สุดก็ช่วยประคองเศรษฐกิจในภาพกว้างจนกลับมาสู่จุดอันสมดุลได้
ด้วยเหตุนี้ ในแง่ของเศรษฐกิจมหภาค นวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงควรมุ่งไปที่การทำให้ผลประโยชน์ของดิจิตอลอีโคโนมีตกไปอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งแน่ละ เราจะต้องปฏิวัติการศึกษากันอย่างมาก และต้องเร่งทำ เพราะการจะให้บ้านเมืองมีเศรษฐกิจอันรุ่งเรืองด้วยดิจิตอลอีโคโนมี โดยประโยชน์ไปตกกับคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ในวงกว้างนั้น แรงงานจะต้องมีความรู้ ความชำนาญในเทคโนโลยีดิจิตอลด้วย
และถ้ารัฐบาลไม่สามารถทำให้แรงงานมีความรู้ ความชำนาญดังกลาวได้ครอบคลุมเพียงพอ มันก็จำเป็นจะต้องมีการอุดหนุนคนตกงานจำนวนมากด้วยนานาสวัสดิการที่จำเป็น เพื่อมิให้เกิดความไม่สงบในสังคม
แต่อย่าลืมบทเรียนของการให้สวัสดิการและประชานิยมที่เห็นๆ กันอยู่ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศเราเองด้วย ว่าหากมันมากเกินกำลัง ก็จะกลายเป็นหายนะของเศรษฐกิจและสังคมได้เหมือนกัน
จึงหวังว่าผู้กำหนดนโยบายก็ควรจะต้องหาทางป้องกัน หรือเยียวยาให้ครอบคลุม เพียงพอ และสมดุลด้วย
ตอนหน้า จะเป็นคำปราศรัยของ โก๊ะ จ๊ก ตง อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ (คนที่ 2 ต่อจาก ลีกวนยู) ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยโฟกัสไปที่ภาคการเงิน

CR: 
วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย
27 กันยายน 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น