เพลงฉ่อยชาววัง

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

ปิดคดีประวัติศาสตร์ อุ้มฆ่าแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์


คดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูก"ศรีธนะขัณฑ์"นางดาราวดีและด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ เมียและลูกนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ หนึ่งในผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีโจรกรรมเพชรซาอุฯ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน
มาบัดนี้ถึงคราวปิดฉากอย่างสมบูรณ์ เมื่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายทั้งปวงได้รับโทษทัณฑ์กันถ้วนหน้าตามโทษานุโทษของแต่ละคน
ผู้มีบทบาทระดับสั่งการคือ "ป๋าลอ"พล.ต.ท. ชลอ เกิดเทศ อดีตผบช.ประจำตร. ดิ้นรนต่อสู้คดีทางศาลอย่างยาวนาน
ก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาประหารชีวิต!!!
ขณะที่ทีมอุ้มฆ่านำโดย พ.ต.ท.พันศักดิ์ มงคลศิลป์ อดีต สว.สส.สภ.อ.เมืองปราจีนบุรี นายนิคม หรือ ป๊อด มนต์ศิริ และ นายสำราญ แจ่มจำรัส หรือ "พงษ์ ปากกว้าง" ที่ลงมือสังหาร 2 แม่ลูกแล้วอำพรางเป็นคดีรถชน ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ส่วนผู้ต้องหาอื่นๆ อีก 5-6 คน ต้องโทษจำคุกลดหลั่นกันไปในจำนวนนี้มี 2 คนเสียชีวิตไปแล้วระหว่างดำเนินคดี

คดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกถือเป็นเหตุการณ์โด่งดังระดับตำนานคดีหนึ่งของเมืองไทย
สร้างปรากฏการณ์มากมายให้เกิดขึ้น
1. ผู้เกี่ยวข้องกับคดีส่วนใหญ่เป็นนายตำรวจระดับสูง ยศ"พล.ต.ท."มีอย่างน้อย 2 นาย
และยังพัวพันถึงระดับ"พล.ต.อ."อีกด้วย!??

2. ทีมคลี่คลายคดีรวบรวมสุดยอดมือปราบ มือสืบสวนสอบสวนที่ดีที่สุดทั้งจากกองปราบปราม และนครบาลมารวมตัวกันมากที่สุด

3. เป็นคดีที่ซับซ้อนและโยงใยกันอย่างชุลมุน รวมทั้งแนวทางการสืบสวนคลี่คลายคดียอกย้อน และเหลือเชื่อราวกับอาชญนิยายก็ไม่ปาน

สุดท้ายเป็นคดีที่ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่มีอายุเพียง 3 ปีเศษ แจ้งเกิดเต็มตัวในฐานะสื่อที่ขุดคุ้ยและนำเสนอเรื่องราวอย่างเจาะลึก ถูกต้องแม่นยำ นำมาซึ่งความเชื่อถือของผู้อ่าน

จนทะยานขึ้นเป็นหนึ่งในสาม"
บิ๊กทรี" หนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของเมืองไทย จวบจนทุกวันนี้
หนังสือพิมพ์ดังกล่าวคือ"ข่าวสด" นั่นเอง!!!
นอกจากนี้เป็นข่าวที่"ข่าวสด"คว้ารางวัล"อิศรา อมันตกุล" หรือ"พูลิตเซอร์"เมืองไทยอีกด้วย

ปฐมบทของคดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกต้องย้อนกลับไปถึงคดี เพชรซาอุฯ ที่ นายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานในวังเจ้าชายไฟซาล ที่ลักลอบขนเครื่องเพชรจำนวนมากกลับเมืองไทยช่วงปี 2533
ตำรวจไทยจับกุมและยึดเครื่องเพชรจำนวนมากส่งคืนเจ้า ของได้สำเร็จ
ก่อนที่ต้องหน้าแตกเป็นเสี่ยงๆ เมื่อทางการซาอุฯ พบว่าเพชรจำนวนมากเป็นของปลอม
ที่สำคัญคือ"
บลูไดมอนด์"เพชรประจำราชวงศ์ ซึ่งมีคุณค่ามากที่สุดก็ยังถูกทำเลียนแบบขึ้นมา!!!
คดีเพชรซาอุฯ โยงเกี่ยวถึงตำรวจจำนวนมาก และนายพลบางคนที่ต้องสงสัยว่า "อมเพชร"
เสี่ยสันติ เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในฐานะคนรับซื้อเพชรและต้องสงสัยว่าช่วยปลอมแปลงให้นายพลคนดังกล่าว นายสันติ ยอมรับโทษแต่ไม่เคยปริปากซัดทอดถึงใคร เพราะเกรงจะได้รับอันตราย

ทุกรัฐบาลในเวลาต่อมาต่างต้องการค้นหาเพชรกลับคืนสู่ซาอุฯ เพื่อหวังฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูต
นายสันติ และนายเกรียงไกร เป็น 2 เป้าหมายที่ถูกสอบสวนทุกครั้ง

กระทั่งถึงยุค
พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ขึ้นเป็นอธิบดีกรมตำรวจ(อ.ตร.) ก็สนใจคดีนี้เช่นกัน ตั้งชุดทำงานพิเศษขึ้นมาตามหาเพชรซาอุฯ
ห้วงเวลานี้เองก็เกิดคดีปริศนาขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2537 เมื่อพบศพนางดาราวดี และด.ช. เสรี เสียชีวิตในรถเบนซ์ บนถนนมิตรภาพ อ.แก่ง คอย จ.สระบุรี ในสภาพรถถูกชน ลักษณะศพคล้ายประสบอุบัติเหตุ!??

แต่ทีมงานหนังสือพิมพ์"ข่าวสด"ได้เบาะแสมาว่าน่าจะโยงไปถึงคดีเพชรซาอุฯ เพราะพบว่าสองแม่ลูกหายตัวไปนานราวๆ 1 เดือนก่อนพบศพแล้ว

หนังสือพิมพ์"ข่าวสด"ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2537 จึงพาดหัวตัวไม้ฟันธงตั้งแต่วันแรกที่พบศพ
"สีกากีอุ้มฆ่า ลูกเมียสันติเพชรซาอุ"
เป็นข่าวที่ช็อกไปทั้งวงการสวนทางข่าวที่ว่า เป็นคดีอุบัติเหตุธรรมดา หรือมีเงื่อนงำบางอย่างเท่านั้น
การตายของสองแม่ลูกยิ่งสร้างความสับสนให้สังคมมากขึ้น เมื่อพล.ต.อ.ประทิน มองว่าเป็นเพียงคดีอุบัติเหตุธรรมดา!??

พร้อมกันนี้ พล.ต.ต.ทัศนะ สุวรรณจูฑะ ผบก.สถาบันนิติเวช ยังเปิดแถลงข่าวถึง 2 ครั้ง ชี้ว่าสองแม่ลูกตายเพราะอุบัติเหตุ มีการแสดงเหตุการณ์จำลองต่างๆ นานา
โดยบาดแผลฟกช้ำตามศีรษะและร่างกายนั้น นิติเวชจำลองภาพว่าเหวี่ยงไปชนโน่น ชนนี่ จึงเกิดรอยแผลดังกล่าว

งานนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำเกินหน้าที่นิติเวช เนื่องจากปกติแล้วสถาบันนิติเวช จะชันสูตรศพตามหลักฐานที่ปรากฏโดยไม่ใส่ความเห็น ลงไป

มีการตั้งข้อสังเกตการแถลงที่ผิดปกติเช่นนี้เกิดจากสาเหตุใดกันแน่!??

กระทั่งภายหลังเมื่อคดีเริ่มเจาะลึกมากขึ้น โดยเฉพาะการมีบิ๊กสีกากีระดับ"พล.ต.อ."ถูกลาก เข้ามาพัวพัน ข้อสงสัยเรื่องการแถลงของนิติเวช จึงยิ่งมีมากขึ้น!??

แต่การแถลงดังกล่าวเฉกเช่นลมพัดผ่านไม่มีน้ำหนักอะไร เพราะ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รมว.มหาดไทย ซึ่งดูแลกรมตำรวจออกมาว้ากเพ้ยเพราะไม่เชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ
พล.อ.ชวลิต เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทราบการลักพาตัว 2 แม่ลูกไปก่อนที่จะพบศพด้วยซ้ำ!??
คนที่นำเรื่องมาแจ้งคือนายสันติ โดยบอกกับผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยให้ช่วยเหลือ แต่ก็เกิดเรื่องขึ้นเสียก่อน

จึงเมื่อพล.ต.อ.ประทิน และนิติเวช ออกมาแถลงว่าเป็นอุบัติเหตุจึงถูกว้ากใส่ทันที
มหาดไทยสั่งตั้งชุดทำงานพิเศษขึ้นมาโดยรวบรวมทีมพระกาฬจากนครบาลและกองปราบปราม ซึ่งยุคนั้นอัดแน่นไปด้วยยอดนายตำรวจมือดี

กองปราบปราม นำโดย พล.ต.ต.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ผบก.ป. เป็นหัวหน้าทีมสืบสวน ชุดทำงาน อาทิ พ.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย, พ.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผบก.ป. พ.ต.อ.ประ มวลศักดิ์ ศรีสมบุญ ผกก.2 ป. หรือผู้กำกับประเทศไทย, พ.ต.ท.เมธี กุศลสร้าง รองผกก.1 ป. พ.ต.ต.ทวี สอดส่อง สว.ผ.4 กก.2ป. ฯลฯ
ส่วนนครบาลมี พล.ต.ต.โสภณ วาราชนนท์ รองผบช.น.เป็นหัวหน้าทีม

มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองอ.ตร. คุมคดีอีกชั้น เนื่องจากพบว่าผู้เกี่ยวข้องเป็นนายตำรวจระดับ"พล.ต.ท." จึงต้องส่ง"พล.ต.อ."ลงมาเป็นแบ๊กให้ทีมสืบสวน

การคลี่คลายคดีเริ่มจากเบาะแสเล็กๆ ในรถเบนซ์สุสานของ 2 แม่ลูก ตำรวจพบถุงของห้างสรรพสินค้าเล็กๆ แห่งหนึ่งใส่ผ้าอนามัยของนางดาราวดีตกอยู่ในรถ ตรวจสอบพบว่าเป็นห้างอยู่ในจ.สระแก้ว!??

นอกจากนี้พบข้อความเขียนด้วยลายมือเด็กชายเสรีคำว่า"เขมรเล็ก-เขมรใหญ่" คล้ายกับต้องการสื่ออะไรบางอย่าง ตำรวจปะติดปะต่อในภายหลังเชื่อว่าน่าจะหมายถึงคนในพื้นที่ชายแดน

เมื่อมารวมกับพบถุงร้านค้าในจ.สระแก้ว ตำรวจจึงพุ่งเป้าไปที่จังหวัดดังกล่าวว่าน่าจะเป็นที่กักขังสองแม่ลูก

อีกปมคลี่คลายสำคัญคือการได้พบพ.ต.ท.พันศักดิ์ หน. ทีมอุ้มซึ่งเป็นลูกน้องของพล.ต.ท.โสภณ สะวิคามิน ผบช. ภาค7 หนึ่งในชุดทำคดีเพชรซาอุฯ ที่พล.ต.อ.ประทิน ตั้งขึ้น
พ.ต.ท.เมธี กุศลสร้าง รองผกก.1 ป. เจอกับพ.ต.ท.พันศักดิ์ เนื่องจากพล.ต.ท.โสภณ เรียกไปให้รู้จักกันหวังว่าจะได้ช่วยทำคดี 2 แม่ลูก

ชุดทำงานเชื่อว่าพ.ต.ท.พันศักดิ์ อยากเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อจะได้หาทางหนีทีไล่ได้
แต่การณ์กลับเป็นว่าโดนพ.ต.ท.เมธี หลอกล่อจนคายหลักฐานออกมาโดยไม่รู้ตัว!!!

การสนทนาตอนหนึ่งพ.ต.ท.พันศักดิ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตำรวจจอมอุ้ม รับว่าลงมืออุ้มฆ่า "ส.ท.โน้ต น้อยเล็ก" มือปืนชื่อดังของภาคตะวันออก ด้วยวิธีตั้งด่านเถื่อน

พ.ต.ท.เมธี จึงเอะใจเพราะ 2 แม่ลูกก็ถูกคน ร้ายตั้งด่านดักอุ้มไปจากถนนแถวบ้านย่านตลิ่ง ชันเช่นกัน และชุดทำงานก็สงสัยว่าเป็นฝีมือตำรวจนอกแถว
แถมพ.ต.ท.พันศักดิ์ ยังเป็นตำรวจประจำ จ.สระแก้ว จุดที่ชุดทำ งานสงสัยว่าเป็นแหล่งคุมตัว 2 แม่ลูกอีกด้วย
จึงเสนอขอแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ เพื่อติดต่อกัน
จากเบอร์โทรศัพท์นี้เอง ตำรวจได้หลักฐานมากมายว่าวันที่ เกิดเหตุอุ้มคือ 2 กรกฎาคม 2537 พ.ต.ท.พันศักดิ์ ติดต่อไปที่รีสอร์ตกวีวิลล่า จ.สระ แก้ว และยังติดต่อกับพล.ต.ท.ชลอ อีกด้วย!??

ข้อมูลดังกล่าวพ้องกันอย่างจังกับคำให้การของนายสันติ ที่ระบุว่าหลังลูก-เมียถูกจับไป ตัดสินใจติดต่อกับพล.ต.ท.ชลอ ให้ช่วยเหลือ พล.ต.ท.ชลอ หายไปพักหนึ่งก็ติดต่อกลับมาบอกว่าคนร้ายต้องการค่าไถ่ และเรียกเงินไปหลายล้านบาท
แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ลูก-เมียคืนมา แถมนายสันติ ยังถูกสอบถามถึงเรื่องเพชรบลูไดมอนด์อีกด้วย!??

นายสันติ เริ่มสงสัยเพราะก่อนหน้านี้เคยถูกพล.ต.ท.ชลอ อุ้มไปรีดข้อมูลเรื่องเพชรบลูไดมอนด์มาแล้วรอบหนึ่ง แต่เมื่อไม่ยอมบอก พล.ต.ท.ชลอ ก็ขอเงินค่าเสียเวลาแล้วปล่อยตัวออกมา
เสี่ยสันติ ตัดสินใจนำเรื่องไปบอกกับผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอคำปรึกษา เพราะสงสัยว่าพล.ต.ท.ชลอจะอยู่เบื้องหลังการอุ้มลูก-เมียไป เพราะ ต้องการบีบให้คายความลับเรื่องเพชร
วันที่ 22 กรกฎาคม 2537 ซึ่งเป็นวันอาสาฬหบูชา ผู้ใหญ่ในมหาดไทยเจอกับพล.ต.ท.ชลอ จึงเข้าไปพูดในทำนองว่า “วันนี้วันพระใหญ่ ให้ปล่อยลูกเมียเขาเพื่อทำบุญดีกว่า
พล.ต.ท.ชลอ โกรธจัดโทรศัพท์ไปโวยวายกับนายสันติ ก่อนเป็นที่มาของคำสั่งตายสองแม่ลูก ด้วยความเชื่อที่ว่า

"รบกับผีดีกว่ารบกับคน"
หลังชุดทำงานได้เบาะแสสำคัญมากมายก็เข้าค้นที่กวีวิลล่า พบหลักฐานว่าเป็นที่ขังสองแม่ลูกจริงๆ ก่อนออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง

พ.ต.ท.พันศักดิ์ โดนล็อกก่อนและให้การซัดทอด
พล.ต.ท.ชลอ ว่าเป็นผู้สั่งการให้อุ้ม 2 แม่ลูก เพื่อบีบเสี่ยสันติ คายความลับเรื่องเพชร ที่น่าสนใจพล.ต.ท.ชลอ บอกกับลูกน้องว่างานนี้ทำเพื่อชาติ

เชื่อกันว่าพล.ต.ท.ชลอ ได้รับคำสั่งมาจากคนที่สูงกว่า โดยบุคคลคนดังกล่าวอยากได้หน้าก่อนเกษียณอายุราชการ เพราะหวังจะกระโดดเข้าการเมืองจึงสั่งให้พล.ต.ท.ชลอ ไปหาเพชรกลับมาคืนให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม!??
กระทั่งบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ฆาตกรรมในที่สุด
พ.ต.ท.พันศักดิ์ สารภาพว่าหลังได้รับคำสั่งฆ่าก็พาสองแม่ลูกขึ้นรถเบนซ์ขับมายังจุดพบศพ ให้ลูกน้องใช้เหล็กฟาดตายทั้งคู่ แล้วจับขึ้นนั่งบนรถ แล้วเข็นออกมาชนกับรถสิบล้อ
วันที่ 14 กันยายน 2537 พล.ต.ท.ชลอ เข้ามอบตัวให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
พนักงานอัยการสั่งฟ้องพล.ต.ท.ชลอ กับลูกน้องรวม 9 คน ในความผิด 9 ข้อหาด้วยกัน เมื่อวันที่ 28 พฤศ จิกายน 2537
8 ปี ต่อมา วันที่ 27 ธันวาคม 2545 ศาลชั้นต้นจำคุกตลอดชีวิตป๋าลอ กับลูกน้องตัวการสำคัญรวม 4 คน ส่วนจำเลยอื่นๆ ติดคุกตั้งแต่ 2 ปีเศษ และมีบางคนศาลยกฟ้อง
อีก 4 ปีต่อมา ล่วงเข้าวันที่ 3 มีนาคม 2549 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ในส่วนของป๋าลอ จาก
จำคุกตลอดชีวิตเป็นประหารชีวิต ส่วนจำเลยอื่นๆ ให้ลงโทษตามศาลชั้นต้น

กระทั่งวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษา โดยถึงวันนี้มีจำเลยเหลือเพียง 4 คนเท่านั้น เพราะมี 2 คนเสียชีวิต และที่เหลือก็รับโทษครบกำหนดไปหมดแล้ว
ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดจริงตามฟ้อง ให้ลงโทษจำเลยตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา!!!


สรุป
คดีฆ่า สองแม่ลูกอย่างเหี้ยมโหด
       
      
 คดีนี้ โจทก์มีแพทย์ผู้ชันสูตรรวมทั้งผู้ที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุรถยนต์ของผู้ตายถูกชนและพยายามเข้าไปช่วย เบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า สภาพรถยนต์ที่ถูกเชี่ยวชน มีเพียงกันชนด้านหน้าขวาที่ถูกเชี่ยวชนจนห้อยลงมา เป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ส่วนภายในรถก็ไม่ได้เกิดความเสียหาย สภาพศพนางดาราวดีนั่งก้มหัวประชิดเข่า ส่วน ด.ช.เสรี สภาพนอนหงายที่เบาะซ้ายข้างคนขับ โดยไม่มีอวัยวะใดกระแทกกับรถ อีกทั้งตำแหน่งที่รถบรรทุกมาชนรถยนต์ของนางดาราวดีมาในทิศทางเดียวไม่ได้วิ่งสวนทาง ที่จะมีแรงปะทะมาก หากเกิดการเฉี่ยวชน จึงไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้ผู้ตายทั้งสองเสียชีวิตได้ และจากผลการชันสูตรศพนางดาราวดี พบว่ามีบาดแผล 7 แห่ง ที่กะโหลกบวมช้ำ เลือดคลั่งในสมอง ผิวหนังฉีก ถลอกช้ำกระดูกหักหลายแห่งเช่นเดียวกับ ด.ช.เสรี ที่มีบาดแผล 3 แห่ง ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าทั้งสองเสียชีวิตเนื่องจากสมองบวมเฉียบพลัน ซึ่งไม่น่าจะเกิดจากอุบัติเหตุเล็กน้อยได้
    
       ส่วนแผลที่กกหูของนางดาราวดี คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ทดลองนำผู้หญิงซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับนางดาราวดีไปนั่งที่เบาะคนขับ และให้พยายามใช้ศีรษะด้านขวาไปแตะที่แกนพวงมาลัยว่าจะทำให้เกิดบาดแผลได้หรือไม่ ปรากฎว่าหญิงสาวดังกล่าวไม่สามารถนำศีรษะเข้าไปใต้แกนพวงมาลัยได้ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 อ้างความเห็นของ พล.ต.ต.ทัศนะ สุวรรณจูฑะ อดีต ผบก.นิติเวชตำรวจ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 37 ว่าผู้ตายทั้งสองตายด้วยอุบัติเหตุไม่ใช่การฆาตกรรม พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงแน่นหนารับฟังได้ว่า การเสียชีวิตของผู้ตายทั้งสองเกิดจากการฆาตกรรมด้วยของแข็งไม่มีคม โดยจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันกระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
    
       นอกจากนี้ โจทก์ยังมีพยานหลักฐานซึ่งเป็นคำให้การของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนและรายงานการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 1 และ 2 โดยจำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนติดตามหาเพชรที่หายไป โดยจำเลยที่ 1 ได้สั่งการให้จำเลยที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามหาตัวนายสันติ โจทก์ร่วม แต่ไม่พบกระทั่งจำเลยที่ 1 ทราบข่าวของโจทก์ร่วมจึงให้จำเลยที่ 2 กับพวก ไปจับตัวผู้ตายทั้งสองมากักขัง และจำเลยที่ 1 ยังสั่งให้จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปเรียกค่าไถ่เพื่อเป็นการตบตาในการจับตัวผู้ตายทั้งสอง เพื่อให้โจทก์ร่วมออกมาเพื่อที่จะได้นำตัวไปซักถามเรื่องการซื้อขายเพชร แต่เมื่อไม่เป็นไปตามแผนและจำเลยที่ 1 กลัวว่านายสันติ โจทก์ร่วมจะไปร้องเรียนกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) จึงสั่งให้จำเลยที่ 2 กับพวกฆ่าผู้ตายทั้งสอง และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 37 เวลา 10.00 น. จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์มาสอบถามจำเลยที่ 2 ว่าเรียบร้อยหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ตอบว่าเรียบร้อย ซึ่งคำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นการให้การเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับตน ไม่ได้เป็นการซัดทอดจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 ยกฎีกาขึ้นมาอ้าง ศาลจึงนำคำให้การของจำเลยที่ 2 มารับฟังประกอบกับพยานแวดล้อมอื่นที่ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น มาลงโทษจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า แม้จะได้รับแต่งตั้งให้ติดตามหาเพชร ซึ่งก็ได้ติดตามหาเพชรของกลางคืนแล้วบางส่วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนหาเพชรอีก จึงไม่มีความผิดตาม ป.อาญา ม.157
    
 ประหารชีวิต! ปิดฉาก 15 ปีคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูก
       
ศาลฎีกาเห็นว่าในการปฎิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาเพชร จำเลยที่ 1 ได้เคยทำหนังสือถึงอุปทูตประเทศซาอุดิอาระเบีย ว่าจะติดตามหาเพชรบูลไดมอนด์ เพชรประจำตระกูลเจ้าชายไฟซาล คืนมาให้ได้ภายใน 15 วัน หลังจากที่นำเพชรส่วนแรกคืนไปแล้ว จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ยังคงติดตามหาเพชรอยู่ โดยสั่งการให้จำเลยที่ 2 กับพวกจับกุมตัวผู้ตายเพื่อหวังให้ได้ตัวโจทก์ร่วมมาซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลเรื่องเพชร ขณะที่นายสันติ โจทก์ร่วมก็เคยเบิกความว่า ก่อนที่ผู้ตายทั้งสองจะถูกจับตัวไป จำเลยที่ 1 เคยจับตัวโจทก์ร่วมไปซักถาม ซึ่งโจทก์ร่วมเคยบอกไปแล้วว่าได้ขายเพชรทั้งหมดไปแล้ว พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1
    
       เป็นเวลากว่า 15 ปี ที่คดีนี้ ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ บ้างก็ว่า นี้เป็นเพราะอาถรรพ์ของเพชรซาอุฯ ที่คนริเริ่ม อย่าง เกรียงไกร เตชะโม่งถูกอาถรรพณ์เล่นงาน แม้จะติดคุกเพียง 3 ปี แต่ปัจจุบัน ยังคงต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ได้มีความสุขจากทรัพย์สินที่ตัวเองขโมยมา นอกจากนี้ ผู้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเพชรของราชวงศ์ไฟซาล ต่างก็มีอันเป็นไปต่างๆนานา สุดท้ายแม้แต่ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ที่หลงกับความงามของเพชรบลูไดมอนด์ ก็ต้องปิดฉากชีวิตด้วยคำพากษาของศาลที่ให้ประหารชีวิตสถานเดียว


26/10/2013
ราชทัณฑ์ปล่อย ชลอ เกิดเทศ พ้นคุกแล้ว


ราชทัณฑ์ปล่อย ชลอ เกิดเทศ พ้นคุกแล้ว หลังพบเป็นนักโทษชั้นดี-อายุเกิน70ปีตามเกณฑ์กระทรวงยุติธรรม
มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อช่วงบ่ายของวานนี้ (25 ต.ค.) นายชลอ เกิดเทศ ผู้ต้องขังคดีจ้างวานฆ่า 2แม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ ที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำบางขวาง ได้ออกจากเรือนจำเป็นที่เรียบร้อยแล้วตามคำสั่งของคณะกรรมการที่ได้พิจารณาหลักเกณฑ์คำร้องการพักโทษของกระทรวงยุติธรรม

โดยให้เหตุผลว่านายชลอ มีคุณสมบัติพักการลงโทษตรงตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ คือเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ของโทษ หรือ 18 ปี ในโทษจำคุกตลอดชีวิต และนายชลอยังเข้าเงื่อนพิเศษ คือเป็นนักโทษชราอายุเกิน 70 ปี และมีอาการป่วย ที่ระเบียบระบุว่าสามารถพักการลงโทษได้ตามเงื่อนไข อีกทั้งคดีจบสิ้นแล้ว คณะกรรมการจึงมีความเห็นสมควรให้พักการลงโทษ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปล่อยตัวดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติในเขตพื้นที่ที่แจ้งความจำนงไว้ทุกๆ 1 เดือน จนกว่าจะครบตามเงื่อนไข โดยปกติแล้วก็ประมาณ 3-5 ปี สำหรับการยื่นเรื่องขอปล่อยตัวของนายชลอในครั้งนี้ ได้กระทำมาแล้ว2ครั้งแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ จนมาเป็นผลในครั้งที่ 3 ที่คณะกรรมการเห็นชอบและอนุมัติให้ปล่อยตัว
สำหรับนายชลอ เกิดเทศ หรือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ ในปี2537 ก่อนจะถูกศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ให้ลงโทษพลตำรวจชลอ จำคุกตลอดชีวิต ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน
ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2549 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต ก่อนที่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืน ให้ประหารชีวิตเช่นกัน แต่เจ้าตัวขอรับพระราชทานอภัยโทษในปีพ.ศ. 2553 จึงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต และในปี พ.ศ. 2554 เหลือโทษจำคุก 50 ปี และถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำตามหลักเกณฑ์กระทรวงยุติธรรมในที่สุด
อย่างไรก็ตามจากคดีดังกล่าวได้มีประกาศถอดยศพล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด จนเหลือแต่นายชลอ เกิดเทศ ในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นคดี "เพชรซาอุฯ" จนถึงจุดจบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น