เพลงฉ่อยชาววัง

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

จุดเริ่มต้นคดี "เพชรซาอุฯ" จนถึงจุดจบ

จุดเริ่มต้นคดี "เพชรซาอุฯ" จนถึงจุดจบ ทำเอาใครหลายๆคนแทบไม่อยากเชื่อ ว่าเป็นเรื่องจริง!
แทบไม่น่าเชื่อว่าแรงงานไร้ฝีมือ เรียนจบ ม.3 จากโรงเรียนเล็กๆ ใน อ.เถิน จ.ลำปาง จะเป็นต้นเหตุทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่มีมายาวนาน
เมื่อกว่า 30 ปีแล้วคนไทยนิยมหนีความแร้นแค้นไปขุดทองในประเทศซาอุดีอาระเบีย "เกรียงไกร เตชะโม่ง" เด็กหนุ่มจากหมู่บ้านแม่ปะหลวง หมู่ 1 ต.แม่ปะ อ.เถิน จ.ลำปาง เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น หลังจากเรียนจบ ม.3 ก็ควักเงิน 2 หมื่นบาทให้นายหน้าในจังหวัดส่งตัวไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย





 เกรียง ไกรถูกส่งไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือในบริษัทรับจ้างทำความสะอาดแห่งหนึ่ง ที่รับจ้างทำความสะอาดพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บินซาฮัด อับดุลลาซิส กษัตริย์ซาอุฯ ตั้งอยู่ชานเมืองหลวงบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ภายในมีอาคารหลายหลัง มีห้องต่างๆ กว่า 100 ห้อง และมีรั้วสูงกว่า 3 เมตร ล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน แทบทุกห้องประดับประดาด้วยอัญมณีมีค่า

เพชรนิล จินดา แหวน นาฬิกา วางเกลื่อนกลาดตามตู้โชว์ โต๊ะแต่งตัว แม้แต่ตู้เซฟก็มีกุญแจเสียบคาไว้ เพราะซาอุฯ เป็นประเทศมุสลิมบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด มีการลงโทษผู้ทำผิดรุนแรง คดีอาชญากรรมโดยเฉพาะลักทรัพย์จึงไม่มีให้เห็น แต่สำหรับเกรียงไกรแล้วความหละหลวมที่ว่านี้เปิดโอกาสให้เขาลงมือลัก ทรัพย์สินของกษัตริย์ซาอุฯ ได้โดยง่าย

เกรียงไกรฉวยโอกาสขณะกษัตริย์ ไฟซาลและมเหสีแปรพระราชฐานไปพักผ่อนในแถบทะเล เมดิเตอร์เรเนียน เมื่อเดือนธันวาคม 2532 เป็นเวลา 15 วัน พระราชวังจึงปลอดคน มีเพียงแม่บ้านคอยทำหน้าที่เปิดปิดประตูอาคารในพระราชวังเท่านั้น

ระหว่าง นี้บริษัทรับจ้างทำความสะอาดที่เกรียงไกรทำงานอยู่ ถูกเรียกเข้าไปทำความสะอาดพอดี เขาเข้าไปทำงานกับเพื่อนแรงงานชาวไทย 4-5 คน ชาวฟิลิปปินส์และศรีลังกาอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีหัวหน้างานชาวฟิลิปปินส์คอยควบคุมการเซ็นชื่อเบิกเงินค่าแรงทุกเช้า- เย็น และมีรถรับ-ส่งเป็นประจำทุกวัน

เกรียงไกรดูลาดเลาอยู่ 2 วันเต็ม เช้าวันที่สาม จึงนำกระสอบปุ๋ยติดตัวไปด้วย โดยออกอุบายขออนุญาตหัวหน้างานเดินทางไป-กลับเอง พร้อมทั้งขอเซ็นชื่อในสมุดบันทึกการทำงานเช้า-เย็นในคราวเดียว ทุกวันหลังเลิกงาน แทนที่จะกลับที่พักเกรียงไกรกลับซุกตัวอยู่ในพระราชวัง เพื่อหาโอกาสหยิบฉวยอัญมณีและทรัพย์สินมีค่า โดยซุกตัวอยู่ในพระราชวังนานถึง 7 คืน เลือกหยิบเพชรและเครื่องประดับใส่กระสอบปุ๋ยจนเต็ม แล้วเหวี่ยงออกนอกกำแพงนำกลับที่พัก

ก่อนหน้านี้เกรียงไกรทำงานอยู่ ที่ซาอุฯ นานถึง 7 ปี ทำให้เดินทางไปไหนมาไหนได้ตามลำพัง รู้ทางหนีทีไล่ รวมทั้งจุดอ่อนในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และคุ้นเคยกับวิธีส่งสิ่งของกลับประเทศไทย ด้วยบริการขนส่งพัสดุทางอากาศ

เกรียง ไกรบรรจุอัญมณีลงกล่องกระดาษปะปนกับเสื้อผ้าและเครื่องใช้ส่วนตัว โดยไว้ด้านล่างทั้งหมด 4 กล่อง น้ำหนักรวมประมาณ 90 กิโลกรัม โดยไม่พิถีพิถันในการบรรจุ จ่าหน้าซองด้วยลายมือขยุกขยิก เพื่อไม่ให้เป็นที่สนใจของเจ้าหน้าที่

ก่อนที่กษัตริย์ซาอุฯ จะเสด็จกลับพระราชวัง เกรียงไกรก็หนีกลับประเทศไทยก่อนแล้ว ทั้งที่เหลือเวลาทำงานตามสัญญาอีก 2 เดือน เมื่อถึงดอนเมืองก็ไปติดต่อรับพัสดุทางอากาศที่ส่งมาก่อนล่วงหน้า โดยจ่ายเงินไป 7,000 บาทแลกกับความสะดวกในการนำกล่องออกจากสนามบิน

เกรียง ไกรไม่มีความรู้เรื่องอัญมณี รู้เพียงว่าหากเป็นเพชรจริงจะแข็ง จึงตรวจสอบโดยใช้ของแข็งทุบ เม็ดไหนไม่แตกก็นำไปขายให้แหล่งรับซื้อใน จ.ลำปาง ในราคาถูกๆ ได้เงินสดมาประมาณ 5 ล้านบาท แต่ขายยังไม่ทันหมดความก็มาแตกเสียก่อน เมื่อกษัตริย์ไฟซาลทรงทราบว่าทรัพย์สินภายในพระราชวังหายไป

ทางการซา อุดีอาระเบียเรียกบริษัทรับทำความสะอาดพระราชวังมาสอบสวน กระทั่งทราบว่าหัวขโมยคือ "เกรียงไกร เตชะโม่ง" แรงงานชาวไทยที่หนีกลับประเทศแล้ว จึงประสานให้ทางการไทยส่งตัวไปรับโทษ และทวงคืนอัญมณีทั้งหมดที่แรงงานไทยรายนี้ขโมยมา โดยในช่วงนั้นซาอุฯ ห้ามไม่ให้คนในประเทศเดินทางมาไทย และเข้มงวดแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศของเขา

เกรียงไกรทราบเรื่อง การถูกตามล่าจากเพื่อนแรงงานที่ข่มขู่ขอส่วนแบ่ง เขาจึงมอบอัญมณีให้ไปส่วนหนึ่งปิดปาก ก่อนจะหนีเข้าป่าด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก เข้าพม่า ด้วยความเสียดายทรัพย์สินเขาจึงนำใส่ถุงพลาสติกแล้วฝังดินไว้ใกล้ๆ บ้าน พร้อมทั้งพกยาไซยาไนต์ติดตัวไว้ฆ่าตัวตายหากจนมุมตำรวจ โดยระยะแรกที่เข้าป่ามีลูกหาบติดตามดูแล แต่นานวันเข้าผู้ติดตามทนความลำบากไม่ไหวก็แยกตัวออกมา

พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น สั่งการให้ พล.ต.ต.ชลอ เกิดเทศ รอง ผบช.ก. เจ้าของฉายา "สิงห์เหนือ" ซึ่งกำกับดูแลกองปราบปราม จัดทีมไล่ล่าเกรียงไกรโดยมี พ.ต.ท.เจษฎากร นะภีตภัทร และ ร.ต.อ.จีรวัฒน์ แท่งทอง (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นกำลังสำคัญ

หนึ่งเดือนต่อมา เกรียงไกรก็ถูกจับภายในโรงแรมเล็กๆ ใน อ.แม่สอด ที่เขาเช่าพักอยู่กับหญิงรายหนึ่ง แต่ทางการไทยไม่ได้ส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่ซาอุฯ เพราะเห็นว่าโทษที่จะได้รับคือประหารชีวิต ซึ่งเป็นโทษที่สูงเกินไป
 เกรียง ไกรถูกแจ้งข้อหาลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืน ระวางโทษจำคุก 1-7 ปี เขาให้การรับสารภาพศาลจึงลดโทษ และติดคุกจริงไม่ถึง 5 ปี จากวันนั้นถึงวันนี้เกรียงไกรได้รับอิสรภาพมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่สัมพันธภาพระหว่างไทยกับซาอุฯ ถึงจุดต่ำสุด และยิ่งตอกย้ำเมื่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รมว.ต่างประเทศ ไปเยือนซาอุฯ เพื่อฟื้นสัมพันธ์ แต่ต้องผิดหวังเพราะซาอุฯ กล่าวหาว่าไทยเอาเพชรปลอมไปคืนแถมคืนให้ไม่ครบ โดยเฉพาะ "บลูไดมอนด์" เพชรประจำราชวงศ์ก็ยังไม่ได้คืน

ปฏิบัติการ ติดตาม "บลูไดมอนด์" ในไทยจึงเกิดขึ้น โดยนายโมฮัมหมัด ซาอิค โคจา อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ถึงกับว่าจ้างชุดสืบสวนพิเศษแกะรอยตามหาเพชรอย่างลับๆ ควบคู่ไปกับการทำงานของตำรวจยุคที่มี พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดี

เกรียง ไกรให้การในทำนองว่าบลูไดมอนด์น่าจะอยู่ในมือของ "สันติ ศรีธนะขัณฑ์" เจ้าของร้านเพชรสันติมณี ย่านเจริญกรุง จนกลายเป็นที่มาของคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ และเป็นการปิดตำนาน 2 ตำรวจมือปราบ เจ้าของฉายาสิงห์เหนือและเสือใต้

ชีวิตหลังพ้นโทษของ "เกรียงไกร เตชะโม่ง" ไม่แตกต่างจากอดีตนักโทษคนอื่นๆ เขาไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของสังคม และขาดความมั่นใจในการเผชิญชีวิตนอกห้องขัง

หลังพ้นโทษไม่นานเกรียง ไกรเปลี่ยนไปใช้นามสกุลอื่น อาศัยอยู่ที่บ้านหลังเล็กๆ ใน อ.เถิน จ.ลำปาง กับภรรยา ส่วนลูกชายเข้ามาขายแรงงานใน กทม.นานๆ จึงกลับไปเยี่ยมสักครั้ง สองสามีภรรยาใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและปฏิเสธที่จะรื้อฟื้นความทรงจำหนหลัง

ทุก วันนี้เกรียงไกรมีรถกระบะเก่าๆ อยู่ 1 คัน วิ่งรับจ้างขนทรายไปส่งตามสถานที่ก่อสร้าง นอกจากทำนาในที่ดินของตัวเองที่มีอยู่ประมาณ 10 ไร่ ฐานะพอกินพอใช้ หาเช้ากินค่ำ ไม่แตกต่างจากชาวบ้านแม่ปะหลวงรายอื่นๆ

"เขาไม่สนทนา กับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะกับนักข่าวหากพบหน้าจะเดินหนีทันที เคยถามเขาเหมือนกันว่าหนีหน้าคนอื่นทำไม เขาบอกว่าไม่อยากคุยด้วยเพราะนักข่าวชอบถามแต่เรื่องเดิมๆ ที่ตัวเขาอยากลืม"

เครดิตข่าว: http://www.lannapost.net/2013/10/blog-post_5038.html



ข่าวเกี่ยวข้อง
ปิดคดีประวัติศาสตร์ อุ้มฆ่าแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น