อัล ชาบับ เป็นกลุ่มก่อการร้ายสุดโต่ง ถือกำเนิดจากภาวะไร้ขื่อแปในโซมาเลีย หลังการโค่นผู้นำเผด็จการในปี 2534 ชื่อภาษาอาหรับแปลว่า "เยาวชน" มีเป้าหมายตั้งรัฐบาลอิสลามเคร่งจารีตในประเทศแอฟริกาตะวันออกแห่งนี้ ประเมินกันว่า อัล ชาบับ มีนักรบในกลุ่มหลายพันคน รวมถึงนักรบต่างชาติหลักร้อย บางส่วนมาจากตะวันออกกลางที่ผ่านสมรภูมิอิรักและอัฟกานิสถาน อีกส่วนเป็นคนหนุ่มจากชุมชนชาวโซมาเลียในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
ในปี 2549 อัล ชาบับ คุมพื้นที่ในกรุงโมกาดิชู เมืองหลวงโซมาเลียเกือบทั้งหมด กับพื้นที่กว้างใหญ่ทางภาคกลางและตะวันตก กระทั่งกองกำลังที่สหประชาชาติสนับสนุนจากสหภาพแอฟริกัน ซึ่งรวมถึงทหารจากเพื่อนบ้านอย่างเคนยาและยูกันดา ได้เข้าไปผลักดันกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ออกไปจากเมืองหลวงโซมาเลียในปี 2554 และขับออกจากเมืองท่าสำคัญ "คิสมาโย" ในปีที่แล้ว แต่ยังคุมพื้นที่ชนบทของประเทศไว้และปกครองภายใต้ชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม ที่มีบทลงโทษผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาคบชู้สู่ชายด้วยการปาหิน และตัดมือผู้ทำผิดฐานเป็นขโมย นอกจากนั้น ยังก่อเหตุระเบิดพลีชีพโจมตีหลายครั้งทั้งในเมืองหลวงโมกาดิชู และเมืองท่าคิสมาโย
อัล ชาบับ ยึดหลักอิสลามนิกายวาฮาบี แบบในซาอุดีอาระเบีย เคยได้รับความนิยมจากชาวโซมาเลียแม้ส่วนมากเป็นมุสลิมนิกายซูฟี เพราะได้รับความปลอดภัยและเสถียรภาพ หลังจากต้องเผชิญความไร้ขื่อแปและความรุนแรงมานานหลายปี แต่อัล ชาบับ เสื่อมความนิยมลงมากหลังบุกทำลายสุเหร่าของนิกายซูฟี และแย่ลงอีกเมื่อไม่ยอมรับความช่วยเหลืออาหารจากตะวันตกเพื่อบรรเทาความอดอยากและภัยแล้งเมื่อปี 2554
พวกเขาเคยขู่เมื่อสองปีที่แล้วว่า จะโจมตีล้างแค้นเคนยา ที่เข้าไปมีบทบาทนำส่งทหารเข้าโซมาเลีย ทำให้อำนาจอิทธิพลของกลุ่มลดลงอย่างได้ผล นอกจากนี้ อัล ชาบับ ยังอ้างเป็นผู้ลงมือโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ สังหารผู้คนที่กำลังชมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศที่ร้านอาหารยอดนิยมของชาวต่างชาติแห่งหนึ่งในกรุงคัมปาลา เมืองหลวงยูกันดา เมื่อปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 70 ราย
สหประชาชาติประเมินในปี 2554 ว่า อัล ชาบับเคยมีรายได้ระหว่าง 70-100 ล้านดอลลาร์ จากค่าธรรมเนียมและศุลกากรที่เก็บจากท่าเรือและสนามบิน ตลอดจนรีดภาษีจากผู้ผลิตในประเทศ ก่อนสูญรายได้เกือบทั้งหมดนับจากถูกกองกำลังแอฟริกันขับออกจากเมืองหลวงและเมืองท่า
สำหรับโซมาเลียในปัจจุบัน หลังจากตกอยู่ในสภาพรัฐล้มเหลวมายาวนาน เริ่มมีความหวังมากขึ้นหลังได้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบ 20 ปีเมื่อที่แล้ว คือนายฮัสซัน เชค โมฮามุด ซึ่งเป็นอดีตนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวชาวโซมาเลียจำนวนมากเริ่มเดินทางกลับจากการลี้ภัยพร้อมกับเงินลงทุนและความชำนาญต่างแดนเข้าไปเปิดธุรกิจและพัฒนาประเทศ
นายทุนใหญ่ของกลุ่มก่อการร้าย “อัล ชาบับ”
6 ตุลาคม 2013
รายงานโดย อิสรนันท์
มาถึงวันนี้ คนไทยกลุ่มหนึ่งอาจจะลืมไปแล้วว่า เมื่อไม่นานมานี้เคยเกิดข่าวใหญ่สะท้านโลก กรณีหน่วยกล้าตายของกลุ่มก่อการร้าย “อัล-ชาบับ ” ราว 10-15 คน บุกเข้าไปในห้างสรรพสินค้า “เวสต์เกต ช็อปปิ้ง มอลล์” อันสุดหรูหราในกรุงไนโรบี นครหลวงของเคนยา จากนั้นลงมือสังหารหมู่ประชาชนที่เดินช็อปปิ้งในห้างนั้นอย่างเหี้่ยมโหด โดยทั้งใช้ระเบิดขว้างและกราดปืนกลอัตโนมัติใส่ผู้คน กว่าทหารและตำรวจเคนยาจะยึดห้างนี้คืนได้ต้องใช้เวลานานถึง 4 วัน
แม้ทางการจะคุยว่าสามารถช่วยชีวิตตัวประกันจำนวนมาก นอกเหนือจากการจับตายผู้ก่อการร้ายจำนวนหนึ่งในที่เกิดเหตุแล้ว ยังสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 11 คน ในจำนวนนี้ 7 คนถูกรวบตัวที่สนามบินขณะเตรียมการหลบหนี แต่ถ้อยแถลงนี้ก็ไม่สามารถปกปิดความจริงอันน่าเศร้าสลดได้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างน้อย 72 คน หรืออาจจะมากถึง 100 คน บาดเจ็บอีก 175 คน
เหนืออื่นใด ถ้อยแถลงของทางการเคนยาไม่สามารถตอบคำถามสำคัญได้ว่าเหตุใดกลุ่มก่อการร้ายโนเนมกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้จึงกำแหงหาญได้มากถึงขนาดนี้ พลพรรคส่วนใหญ่เป็นใคร เหตุใดจึงมีชาวต่างชาติเข้าร่วมด้วย โดยเฉพาะหญิงชาวอังกฤษเจ้าของสมญา “แม่ม่ายขาว” ซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในโลก
ที่สำคัญ ใครเป็นนายทุนใหญ่ให้กลุ่มฮาราคัต อัล ชาบับ อัล มูจาฮิดีน หรือเรียกสั้นๆ ว่าอัล ชาบับ ซึ่งเป็นภาษาอาหรับที่แปลว่าขบวนการเยาวชนหรือเด็กชาย เคยเป็นกลุ่มอิสลามิสต์สุดโต่งหน่วยหนึ่งของกลุ่มอัล ไกดา ในโซมาเลีย แต่เกิดแตกคอกันเมื่อปีที่แล้วด้วยแผนการผนึกกำลังกันเป็นพันธมิตร ส่งผลให้อัล ไกดา ตัดความช่วยเหลือกลุ่มอัล ชาบับ ซึ่งยึดมั่นในนิกายวาฮะบีห์แบบเดียวกับซาอุดีอาระเบีย และประกาศนโยบายชัดเจนว่า “ต่อต้านศัตรูของอิสลาม” ทุกรูปแบบ รวมไปถึงการลักพาตัวและสังหารทหารหรือข้าราชการโซมาเลีย คนงานต่างชาติหรือเจ้าหน้าที่องค์การช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหภาพแอฟริกา จนทำให้องค์การเหล่านั้นต้องถอนตัวออกไป
แม้จะตัดขาดกับกลุ่มอัล ไกดา แต่กลุ่ม อัล ชาบับ กลับได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2555 จากการยึดครองพื้นที่กว้างใหญ่ทางภาคใต้และภาคกลางของโซมาเลียได้ และนำกฎหมายอิสลามมาใช้ในพื้นที่ยึดครอง หลังจากเคยถูกกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหภาพแอฟริกา รวมทั้งทหารจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเคนยาและอูกานดาช่วยกันขับไล่ออกจากพื้นที่ยึดครองในกรุงโมกาดิชู เมืองหลวงของโซมาเลีย เมื่อปี 2554 ก่อนจะช่วยกันผลักดันออกจากเมืองท่าสำคัญคิสมาโย เมื่อปีที่แล้ว
ด้วยความแค้น กลุ่มอัล ชาบับ ได้ประกาศจะล้างแค้นเคนยาและอูกานดา และการล้างแค้นก็เริ่มขึ้นเมื่อกลุ่มนี้อ้างว่าเป็นตัวการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพร้านอาหารยอดนิยมของชาวต่างชาติแห่งหนึ่งในกรุงคัมปาลา เมืองหลวงยูกันดาระหว่างกำลังชมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศ เมื่อปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 70 ราย
เชื่อว่าเมื่อปี 2553 กลุ่ม อัล ชาบับ มีนักรบราว 200-300 คนก่อนจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนเป็นหลายพันคน ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมในระดับต่างๆ อยู่ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะในระดับนำ ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักรบมูจาฮิดีนที่เคยผ่านศึกสงครามที่อ่าวเปอร์เชียและในอีกหลายประเทศ ทั้งที่เป็นชาวเยเมน ซูดาน อัฟกานิสถาน ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ นอกเหนือจากนักรบชาวโซมาเลียอีกราวพันคน และเมื่อปี 2555 กลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการดึงชาวเคนยามาเข้าร่วมจำนวนมาก ทำให้กลุ่ม อัล ชาบับ กลายเป็นกลุ่มก่อการร้ายหลากหลายเชื้อชาติที่ทวีความเข้มแข็งมากขึ้นในภูมิภาคนั้น
จากข้อมูลของหน่วยสืบราชการลับเอ็มไอ 5 ของอังกฤษระบุว่า มีชาวเมืองผู้ดีอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน บังกลาเทศและแอฟริกันตะวันตกราว 100 คน ได้ลักลอบไปฝึกอาวุธกับกลุ่มนี้
ขณะที่คณะกรรมาธิการฝ่ายความมั่นคงแห่งผืนมาตูภูมิของสหรัฐระบุว่า ระหว่างปี 2550-2553 กลุ่มนี้สามารถชักชวนชาวอเมริกันมุสลิมให้มาเข้าร่วมได้กว่า 40 คน แต่หลังจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่ามีชาวอเมริกันกว่าสิบคนถูกฆ่าตายในโซมาเลีย การหาอาสาสมัครมาเข้าร่วมก็ลดน้อยลง
การที่กลุ่มอัล ชาบับ สามารถระดมหาอาสาสมัครชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวอเมริกันได้นั้นทำให้มีข้อดี 2 ประการ คือ เป็นทั้งทหารรับจ้างและเป็นพรีเซนเตอร์การโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการผ่านวิดีโอและอินเทอร์เน็ต ส่งตรงไปถึงกลุ่มสุดโต่งอื่นๆ เพื่อดึงดูดใจยุวมุสลิมอื่นๆ ให้มาเข้าร่วมในขบวนการมากขึ้น แทนที่จะระดมหาจากสุเหร่าเหมือนในอดีต
เหนืออื่นใด อาสาสมัครชาวต่างชาติรวมไปถึงชาวอเมริกันและชาวอังกฤษมีส่วนร่วมกันพัฒนาแนวทางการต่อสู้ไปจนถึงระดับการใช้วิธีระเบิดพลีชีพ ซึ่งในอดีตนั้นกลุ่มนี้ไม่เคยใช้มาก่อน นอกเหนือจากช่วยระดมอาสาสมัครเพิ่มเติมจากชาวมุสลิมในต่างประเทศอาทิที่สหรัฐ และอังกฤษ
ในส่วนของเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้ายนั้น จากรายงานของสหประชาชาติที่นำเสนอเมื่อปี 2554 ระบุว่าอัล ชาบับ เคยมีรายได้ระหว่าง 70-100 ล้านดอลลาร์ จากภาษีส่งออกที่เก็บจากท่าเรือและสนามบิน ตลอดจนรีดภาษีจากผู้ผลิตในประเทศ ก่อนสูญรายได้เกือบทั้งหมดนับจากถูกกองกำลังแอฟริกันขับออกจากเมืองหลวงและและเมืองท่าใหญ่
อย่างไรก็ดี รายงานฉบับล่าสุดของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อกลางปีที่แล้วระบุว่า กลุ่ม อัล ชาบับ มีรายได้หลายทางปีละกว่า 25 ล้านดอลลาร์ (ราว 780 ล้านบาท) ตั้งแต่เรียกค่าไถ่ ค่าคุ้มครอง ไปจนถึงการลักลอบส่งออกถ่านไม้และการเรียกเก็บภาษีส่งออกถ่านไม้ไปยังตะวันออกกลางผ่านเมืองค่าคิสมายูและบาราเวในโซมาเลีย จุดหมายปลายทางส่วนใหญ่มุ่งไปที่ดูไบ ซึ่งจะส่งต่อถ่านไม้เหล่านั้นไปทั่วอ่าวเปอร์เชีย โดยเฉพาะที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งต้องการใช้ถ่านไม้จำนวนมากในการอบขนมปังส่งไปขายไปตามภัตตาคารและห้างสรรพสินค้าต่างๆ
นอกจากนี้ รายได้อีกทางหนึ่งยังมาจากชาวโซมาเลียโพ้นทะเล โดยเฉพาะจากนักธุรกิจชาวโซมาเลียที่ในเคนยา ซึ่งในช่วงหลังรายได้ก้อนนี้ลดลงมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากศรัทธาในกลุ่มอัล ชาบับ เสื่อมลงตามลำดับจากการหันไปใช้แนวทางการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสกัดเส้นทางการลักลอบส่งเงินบริจาคเหล่านั้นไปให้ แต่กลุ่มอัล ชาบับ ก็แก้ปัญหาด้วยการตั้งบริษัทบังหน้าหรือเปิดธุรกิจเล็กๆ อาทิ รับซ่อมรถยนต์หรือรับชาร์จแบตเตอร์รีโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นช่องทางเล็กๆ ในการส่งเงินให้กับกลุ่ม ยิ่งกว่านั้น ธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้ยังสามารถเป็นสายข่าวสืบความเคลื่อนไหวของทุกภาคส่วนได้อย่างสะดวกง่ายดาย
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญชาวนอร์เวย์ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของกล่มอัล ชาบับ มานานให้ความเห็นว่า แหล่งทุนใหญ่ของอัล ชาบับ มาจากการเรียกภาษีท้องถิ่นในพื้นที่ยึดครอง โดยเฉพาะภาษีการขนส่งและการคมนาคม
รายได้สำคัญอีกแหล่งหนึ่งยังมาจากการบริจาคจากกลุ่มอิสลามิสต์สุดโต่งโพ้นทะเล โดยเฉพาะจากรัฐเอริเทรียซึ่งต้องการใช้พื้นที่ของโซมาเลียเป็นฐานที่มั่นในการบ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลเอธิโอเปีย แต่กลุ่มนี้ปฏิเสธว่าไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับกลุ่มอัล ชาบับ
รายงานของสหประชาชาติยังอ้างคำให้การของอดีตพลพรรคอัล ชาบับ ที่แปรพักตร์มามอบตัวต่อทางการที่เผยว่า รายได้เหล่านั้น แกนนำได้นำมาเป็นค่าจ้างทหารรับจ้างต่างชาติ ซึ่งจะมีเงินเดือนประจำคนละ 100-500 ดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับสถานภาพและความอาวุโสภายในกลุ่ม
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ นอกจากจะทำให้โลกรู้จักกลุ่มอัล ชาบับ โลกยังรู้จักชื่อและประวัติของ “แม่ม่ายขาว”ตัวการใหญ่ในการวางแผนและบุกสังหารหมู่ที่ช็อปปิ้งมอลแห่งนี้ด้วย หลังจากที่เคยรู้จัก “หน่วยพลีชีพแม่ม่ายดำ” มาแล้วเมื่อกลางปี 2545 คราวที่บรรดาแม่ม่ายใจเด็ดชาวเชเชนในแดนหมีขาวรัสเซียที่สามีเสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนเชเชนหรือเชสเนีย ออกจากรัสเซียได้จู่โจมบุกยึดโรงละครโอเปราในกรุงมอสโกพร้อมจับตัวประกันราว 800-950 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติกว่า 70 คนจาก 14 ประเทศ ต่อรองให้รัฐบาลประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ถอนทหารออกจากเชชเนีย แต่ปูตินกลับใช้ความรุนแรงยุติความรุนแรง ทำให้หน่วยพลีชีพแม่ม่ายดำและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ตายเรียบ 33 คน รวมทั้งตัวประกัน 129 คน
11 ปีผ่านมา โลกก็รู้จักแม่ม่ายก่อการร้ายอีกคนหนึ่ง ซึ่งสื่ออังกฤษได้ตั้งสมญาให้ว่า “ไวท์ วิโดว์” หรือ “แม่ม่ายขาว” เลียนแบบคำเรียกขานเธอว่า “ไวท์ ซิสเตอร์ ” หรือ “พี่สาวคนขาว” ในหมู่พลพรรคกลุ่มอัล ชาบับ ว่ากันว่าเธอผู้นี้เองที่เป็นคนวางแผนและเป็นตัวการนำผู้ก่อการร้ายอัล ชาบับ โจมตีศูนย์การค้าเวสต์เกท
หลังจากตำรวจเคนยาใช้เวลา 4 วันกว่าจะยึดคืนศูนย์การค้าแห่งนั้น ก็ได้พบศพหญิงชาวอังกฤษคนหนึ่งที่มีผ้าคลุมศีรษะตามแบบฉบับสตรีมุสลิม จากการสอบปากคำพยานหลายคนบ่งชี้ตรงกันว่า ศพของหญิงชาวอังกฤษผู้นี้ก็คือ “แม่ม่ายขาว” ผู้ก่อการร้ายหญิงที่ทั่วโลกต้องการตัวมากที่สุด ในฐานะนักฆ่าที่เลือดเย็นที่สุดคนหนึ่งนั่นเอง
ซาแมนธา ลิวธ์เวท หรือ “แม่ม่ายขาว” วัย 29 ปีเป็นบุตรสาวของนายทหารอังกฤษคนหนึ่งที่ถูกส่งไปประจำการที่ไอร์แลนด์แล้วได้พบรักจนถึงขั้นแต่งงานกับหญิงชาวไอร์แลนด์ผู้หนึ่ง จนมีบุตรสาวด้วยกันคนหนึ่งซึ่งก็คือซาแมนธา ลิวธ์เวท์ ซึ่งเกิดที่แบนบริดจ์ ในไอร์แลนด์ แต่ไปโตที่ย่านเอลส์บิวรี เขตบัคกิงแฮมไชร์ ในกรุงลอนดอน
ชีวิตในวัยเด็กจนย่างสู่วัยสาวของเธอก็เหมือนกับเพื่อนร่วมรุ่นทั่วไปในยุคนั้นที่ชอบไปเต้นรำที่ดิสโกเธค แต่แล้วชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปเมื่อได้พบกับ เจอร์เมน ลินด์เซย์ เพื่อนร่วมชาติที่นับถือศาสนาอิสลามผ่านห้องแชทออนไลน์ตอนที่เธออายุ 17 ปี ทั้ง 2 คน ได้แต่งงานกันในอีก 3 ปีต่อมา โดยเธอยอมเปลี่ยนศาสนาไปนับถืออิสลามตามลินด์เซย์ ทั้งคู่มีพยานรักด้วยกัน 3 คน แต่บางกระแสว่ามี 2 คน โดยคนเล็กเพิ่งมีอายุแค่ไม่กี่สัปดาห์ช่วงที่ลินด์เซย์ได้ก่อเหตุสะเทือนขวัญทั่วแดนดินถิ่นผู้ดีอังกฤษ จนทำให้ชีวิตซาแมนธา ลิวธ์เวท์ เปลี่ยนไปและเป็นที่มาของสมญานี้
เหตุสะเทือนขวัญที่ว่านี้ ก็คือ เจอร์เมน ลินด์เซย์ พร้อมด้วยเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 3 คน ได้แยกย้ายกันก่อเหตุบึ้มขบวนรถไฟใต้ดินที่บริเวณสถานีคิงส์ครอสและรถโดยสารคันหนึ่งที่ลานจอดรถในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 โดยยอมตายพร้อมกับเหยื่อบริสุทธิรวม 52 คน ในจำนวนนี้ 26 คน เสียชีวิตจากฝีมือของลินด์เซย์
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ตำรวจเมืองผู้ดีสอบปากคำเธอขนานใหญ่ฐานต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนรู้เห็นด้วย แต่เธอปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น แถมยังประณามการกระทำของลินด์เซย์ด้วยจนตำรวจคลายความสงสัยและยุติการเฝ้าติดตามเธอ ซึ่งเท่ากับเปิดช่องให้เธอหอบลูกเต้าทั้ง 3 คน หลบหนีไปยังแอฟริกาตะวันออก และเริ่มร่วมขบวนการก่อการร้ายอย่างเต็มตัวโดยใช้พาสปอร์ตปลอมหลายฉบับในชื่อต่างกันออกไป กระทั่งกลายเป็นแกนนำคนสำคัญในกลุ่มก่อการร้ายอัล ชาบับ
โดยเธอเป็นทั้งนายทุนการก่อการร้ายในแอฟริกาตะวันออก เป็นคนเกณฑ์คนมาเข้าร่วมขบวนการอัล ชาบับ ซึ่งเธอเป็นโฆษกอย่างเป็นทางการของกลุ่มนี้ เป็นครูฝึกให้กับนักรบหญิงญิฮัดที่ค่ายหลายแห่งในโซมาเลียให้กลายเป็นมือสังหารกล้าตายของอัล ชาบับ อีกทั้งยังได้จัดตั้งหน่วยนักรบญิฮัดหญิงล้วนในแอฟริกาขึ้น นอกเหนือจากเป็นผู้วางแผนจัดการโจมตีสถานที่ที่นักท่องเที่ยวตะวันตกชื่นชอบไปเที่ยวกันหลายต่อหลายครั้ง
8 ปีให้หลัง ชื่อของ “แม่ม่ายขาว” เริ่มโด่งดังไปทั่วทวีปแอฟริกาในฐานะตัวการก่อการร้ายหลายครั้ง อาทิ นำผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปปาระเบิด 6 ลูก ถล่มบาร์แห่งหนึ่ง ใกล้ถิ่นมุสลิมในเมืองมอมบาซา รีสอร์ตชายฝั่งทะเลของเคนยา ซึ่งเป็นที่สังสรรค์ของตำรวจและชาวอังกฤษ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน รวมถึงเด็กชายวัย 3 ขวบคนหนึ่ง และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 50 คน
อย่างไรก็ดี ตำรวจไม่เคยสงสัยเธอแม้แต่น้อย แม้จะมีพยานหลายคนยืนยันตรงกันว่าเห็นผู้หญิงผิวขาวคนหนึ่งคลุมฮิญาบมีส่วนร่วมในการก่อก่อการร้ายครั้งนั้น กระทั่งเมื่อเดือน ธ.ค. 2554 ตำรวจเคนยาได้บุกค้นอพาร์ทเมนต์ 2 ใน 4 แห่งที่เธอเช่าพักอาศัยในเมืองมอมบาซา ปรากฏว่าที่อพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่ง ตำรวจพบสารเคมีชนิดหนึ่งเหมือนกับสารเคมีที่ลินด์เซย์ใช้ถล่มรถไฟใต้ดินในลอนดอน ส่วนอพาร์ทเมนต์อีกแห่งหนึ่งบริเวณตลาดใกล้กับโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว ตำรวจพบกระสุน เครื่องยิงระเบิด ปืนไรเฟิล และเงินสดที่ซ่อนอยู่ในกล่องดำ
อย่างไรก็ดี ลิวธ์เวท ซึ่งขณะนั้นใช้พาสปอร์ตปลอมของแอฟริกาใต้ในชื่อของนาตาลี เฟย์ เวบบ์ พยาบาลจากเอสเส็กซ์ในอังกฤษ ที่ไม่เคยเดินทางไปแอฟริกาตะวันออกมาก่อน ก็หนีรอดเงื้อมมือของกฎหมายได้ พร้อมกับฮาบิบ ซาเลห์ กานี หนุ่มอังกฤษเชื้อสายเคนยาแต่บรรพบุรุษเป็นชาวปากีสถาน ซึ่งเป็นสามีใหม่ที่เธอแต่งงานด้วยขณะหลบหนีไปทั่วแอฟริกาตะวันออก ขณะที่เจอร์เมน แกรนท์ หนุ่มอังกฤษวัย 31 ป ีผู้เปรียบเสมือนแขนขวาของเธอ หนีไม่รอดถูกตำรวจจับกุมในข้อหาก่อการร้าย
ระหว่างแยกกันหลบหนีร่วม 2 ปี ฮาบิบ กานี สามีใหม่ก็ถูกตำรวจยิงตายโดยเธอไม่มีโอกาสรับรู้ว่าสามีคนที่สองเสียชีวิตแล้ว เพราะมัวแต่วางแผนจะยึดศูนย์การค้าใหญ่ในกรุงไนโรบีเพื่อตอบโต้ที่แกรนท์ถูกจับกุม
ที่สำคัญ เธอไม่มีโอกาสทราบเลยว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นปฏิบัติการครั้งสุดท้ายของ “แม่ม่ายขาว” ที่ตำรวจทั่วโลกต้องการตัวมากที่สุด
ข่าวล่าสุด
ข่าวล่าสุด
อัล-ชาบับใช้วาทะทรัมป์เกณฑ์คน
เมื่อ 3 ม.ค. หน่วยงานเฝ้าระวังการก่อการร้ายในโลกออนไลน์ “ไซท์” ของสหรัฐฯ เผยว่า กองกำลังติดอาวุธอัล-ชาบับในโซมาเลีย เครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายอัล-เคดาในแอฟริกาตะวันออก เผยแพร่คลิปวีดิโอยาว 51 นาที ผ่านเครือข่ายสังคม “ทวิตเตอร์” เมื่อวันที่ 1 ม.ค.เพื่อหาแนวร่วมในการต่อสู้กับสหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มอัล-ชาบับได้นำคลิปวีดิโอหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปประกอบการปลุกระดม โดยอ้างถึงนโยบายซึ่งนายทรัมป์เสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามชาวมุสลิมทั่วโลกเดินทางเข้าประเทศ ถือเป็นนโยบายเหยียดเชื้อชาติและกีดกันชาวมุสลิมซึ่งดำเนินการอย่างเป็นระบบ ส่วนนายเบน โรดส์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ งดออกความเห็นต่อทัศนะของนายทรัมป์ แต่ระบุว่ารัฐบาลต้องประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่าสหรัฐฯทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ไม่ใช่ทำสงครามกับอิสลาม
วันเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯมองเหตุโจมตีฐานทัพอากาศของอินเดีย ตอนเหนือของรัฐปันจาบ ติดชายแดนปากีสถาน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 11 ศพ รวมทหารยศพันโทประจำหน่วยคอมมานโดสังกัดกองกำลังพิทักษ์แห่งชาติ และมือปืนต้องสงสัยทั้งหมด 4 ราย บาดเจ็บอีก 9 รายนั้น เป็นก่อการร้ายที่กระทำอย่างโหดเหี้ยม พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศประสานงานร่วมกันตามล่าผู้ที่อยู่เบื้องหลัง.
'อัล-ชาบับ' ก่อเรื่องอีก ซุ่มโจมตีทหารฝึกหัดโซมาเลียดับ 30 ศพ
3 พ.ย. 58 04:30
3 พ.ย. 58 04:30
'อัล-ชาบับ' บุกถล่มโรงแรมในเมืองหลวงโซมาเลีย ดับ 15 ศพ
1 พ.ย. 58 23:15
1 พ.ย. 58 23:15
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น