เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ทุกคนหวังกันว่า ประเทศสมาชิกทั้งหลายจะสามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานได้อย่างเสรี ในส่วนของสินค้า บริการและเงินทุนนั้น ดูเหมือนจะไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่นัก แต่ที่ห่วงมากที่สุดน่าจะเป็นส่วนของแรงงาน เพราะการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีนั้น อนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้เฉพาะแรงงานประเภทที่มีฝีมือเท่านั้น ดังนั้น แรงงานกึ่งมีฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมือจึงยังมีข้อจำกัดอยู่เหมือนเดิม
สำหรับประเทศที่เชื่อเรื่องทฤษฎีที่ว่าด้วยภาวะทันสมัย (modernization) ประเทศเหล่านั้นรวมทั้งสมาชิกของอาเซียน ล้วนต้องการเร่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามอย่างตะวันตก โดยสิ่งที่จะชี้วัดความเจริญนอกเหนือจากตัวเลขทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นเรื่องของวัตถุที่มีความเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ซึ่งนั่นก็คือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน ทางรถไฟ ทางระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบบำบัดขยะ ฯลฯ ผมมองว่างานเหล่านี้ คือ “งานสร้างชาติ” ลองคิดดูว่าโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะต้องใช้แรงงานกึ่งมีฝีมือหรือแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมากขนาดไหน
ในภาคธุรกิจก็เช่นกัน ผู้ประกอบการยังคงพึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มธุรกิจผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบก็มีความต้องการแรงงานกึ่งมีฝีมือในสัดส่วนที่สูง แล้วแรงงานที่ว่านี้มาจากไหนกันบ้าง
หากตรวจสอบสถานการณ์ตลาดแรงงานปัจจุบันเฉพาะประเทศไทยจะพบว่า ไทยยังคงขาดแคลนแรงงานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยตลาดแรงงานไทยจำนวน 39 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือถึงร้อยละ 80 และเป็นผู้มีงานทำที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 75 อีกทั้งโครงสร้างการผลิตของไทยก็ยังต้องการแรงงานทักษะต่ำจำนวนมากที่มีค่าจ้างราคาถูก อีกทั้งยังเป็นแรงงานนอกระบบที่มากถึง 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด
นอกจากนี้ แรงงานไทยยังเลือกงานและไม่ต้องการทำงานหนักประเภท 3D คือ งานสกปรก (dirty job) งานอันตราย (dangerous job) และงานยาก (demanding หรือ difficult job) ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานเพื่อนบ้านมาทดแทน โดยในเดือนกันยายน ปี 2557 มีแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนถูกกฎหมายประมาณ 1.4 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปี 2550 ที่มีอยู่ประมาณ 700,000 คน จะเห็นได้ว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว
สำหรับคำว่า “งาน 3D” นั้น ความจริงแล้วศัพท์คำนี้มีต้นกำเนิดมาจากภาษาญี่ปุ่นที่เรียกว่า “งาน 3K” ซึ่งประกอบด้วย Kitanai (งานที่สกปรก) Kiken (งานที่อันตราย) และ Kitsui (งานที่ยากเย็นแสนเข็ญ) แต่เดิม อาชีพเหล่านี้ในญี่ปุ่นเป็นอาชีพที่นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงที่สูงมาก เนื่องจากเป็นอาชีพที่ไม่มีใครอยากทำและหาคนทำยาก นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าแรงที่แพงขึ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีคนมาทำงาน ทำให้แรงงานที่ไม่มีการศึกษาและไร้ทักษะสนใจทำงานเหล่านี้มากขึ้น เพราะสามารถทำให้เขามีความเป็นอยู่และสถานะทางสังคมที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม แรงงานประเภท 3D ในปัจจุบันนั้นไม่ได้รับค่าแรงที่สูงเหมือนในอดีต สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากกระแสทุนนิยมเสรีที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้น ด้วยเหตุที่นายทุนต้องการสร้างกำไรจึงลดต้นทุนด้วยการหาแรงงานราคาถูกมาใช้งาน เป็นผลให้ปริมาณการเคลื่อนย้ายแรงงานสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แรงงานจำนวนมากไม่มีทางเลือกจึงยอมทำงานเหล่านี้ด้วยค่าแรงที่ต่ำเพื่อความอยู่รอด
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง และอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีการผลิตระดับกลาง แต่ภาคการผลิตยังมีประสิทธิภาพต่ำ จึงต้องการแรงงานกึ่งมีฝีมือหรือแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก แต่ไทยกลับมีแรงงานดังกล่าวน้อยมาก สาเหตุหลักน่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และระบบค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน โดยอัตราการเพิ่มค่าจ้างจริงต่ำกว่าอัตราการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน ผนวกกับค่านิยมของคนไทยที่มักสอนลูกให้เรียนสูง ๆ เพื่อจะได้เป็น “เจ้าคนนายคน” และไม่ลำบากเหมือนพ่อแม่
ด้วยเหตุนี้ คนรุ่นใหม่จึงนิยมเรียนให้สูงขึ้น เพราะหวังว่าจะได้ทำงานที่ดีขึ้น แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากตลาดแรงงานในระดับปริญญานั้นมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และเริ่มอิ่มตัว คนที่จบปริญญาจึงตกงานกันมากขึ้น จะให้กลับไปใช้แรงงานเหมือนรุ่นพ่อแม่ก็คงทำได้ยาก
หากมองในมุมของการพัฒนาประเทศ รวมถึงการพัฒนาอาเซียน ผมมองว่า คนของแต่ละประเทศจะมีความรักความผูกพันกับประเทศของตนมากกว่า ดังนั้น การทำงานเพื่อสร้างชาติจึงควรเป็นเรื่องของคนในชาติเท่านั้น และจะต้องเกิดมาจาก “สำนึกร่วม” (collective consciousness) ที่สร้างได้ด้วยการปลูกฝังผ่านระบบการศึกษา
สำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการสร้างชาติ สร้างอาเซียนนั้น อาจมีแนวทาง ดังนี้
การแก้ปัญหาในเชิงปริมาณ แก้ได้ด้วยการช่วยกันส่งเสริมการสร้างค่านิยมเกี่ยวกับ “แรงงานสร้างชาติ” ให้มากขึ้น เพราะการสร้างชาติควรเกิดจากฝีมือของคนในชาติเท่านั้น จะให้คนต่างชาติมาสร้างชาติแทนก็คงไม่ใช่เรื่อง หากคนไทยเกี่ยงงาน ไม่อยากทำงานประเภท 3D รัฐก็ควรอุดหนุนหรือหาแนวทางยกฐานะทางสังคม และยกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้น ให้แก่แรงงานเหล่านั้น แรงงานในประเทศจะมีปริมาณที่มากขึ้น
ส่วนการแก้ปัญหาในเชิงคุณภาพนั้นสามารถแก้ได้ด้วยการให้การศึกษาแก่แรงงานในระดับที่สูงขึ้น และควรลดสัดส่วนของการจ้างแรงงานต่างด้าวให้น้อยลง เพราะแรงงานต่างด้าวจะมีข้อจำกัดอยู่ที่ไม่สามารถเข้ารับการศึกษาในประเทศไทยได้ หากเราเน้นแต่การลดต้นทุนด้วยการจ่ายค่าแรงราคาถูก คุณภาพของงานก็อาจจะไม่ได้อย่างที่หวัง
สุดท้ายนี้ อยากให้มองในเชิงเปรียบเทียบดูว่า หากเราให้แรงงานไร้ฝีมือเป็น “เสาเข็มไม้” ให้แรงงานกึ่งมีฝีมือเป็น “เสาเข็มคอนกรีต” และให้แรงงานมีฝีมือเป็น “เสาเข็มเหล็ก” แล้วให้เลือกว่าจะใช้เสาเข็มแบบไหนในการสร้างบ้านของคุณ ยิ่งไปกว่านั้น หากเปรียบบ้านเป็นประเทศหรือภูมิภาคอาเซียนล่ะ คุณคิดว่าอย่างไร? สำหรับผมคิดว่าการสร้างบ้านที่ดีจะต้องใช้เสาเข็มที่ดีก็เท่านั้นเอง
เรียบเรียงโดย
พันธ์รบ ราชพงศา
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : ASEAN+
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น