เพลงฉ่อยชาววัง

วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2558

**สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน***

**สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน***
(เก็บตกจากในห้อง Line)
หลักสูตร.FEF#3
วันพุธที่ 18 มีนาคม 2558 ช่วง Trend Economics โดยดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (รองผู้อำนวยการ.สนง.เศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง) จัดโดย.สถาบัน CEDI ม.กรุงเทพ
• สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
- เศรษฐกิจไทยตอนนี้โตน้อยมากเมื่อเทียบกับศักยภาพที่เป็นไปได้
- การส่งออกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีน้ำหนักมาก (75%) ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เมื่อภาคส่งออกที่เป็นสัดส่วนใหญ่ไม่โตเท่าที่ตั้งเป้าไว้จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยแผ่ว
- จากที่เราคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้นด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ แต่ตัวเลขค่าใช้จ่ายภาครัฐทั้งจากการลงทุนและค่าใช้จ่ายอื่นรวมกันไม่ถึง 15% ของ GDP เศรษฐกิจจึงไม่น่าจะฟื้นได้เร็วจากการกระตุ้นองค์ประกอบนี้อย่างเดียว
- ภายนอกประเทศดูสัดส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเมื่อเทียบกับ GDP เปรียบเสมือนเวลาดูคนที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ ต้องดูด้วยว่าส่วนต่างที่ขาดดุลนั้นเป็นสัดส่วนเท่าไรเมื่อเทียบกับรายได้ของคนๆ นั้น
- ปราการด่านสุดท้ายของตัวชี้วัดเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคือทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องของประเทศ องค์ประกอบส่วนนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยมั่นคงมาก ไม่ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะเกิดเหตุวุ่นวายในบ้านเมืองมากมาย ต่างจากตอนปีพ.ศ. 2540 ที่ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงมาก แม้ว่าส่วนอื่นจะยังดูดีก็ไม่ทำให้ดูน่าเชื่อถืออีกต่อไป ค่าเงินบาทจึงอ่อนตัวลงมาก
- หากดูเสถียรภาพภายในประเทศ ดูที่อัตราว่างงาน, NPL (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ของธนาคาร และสัดส่วนหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับ GDP
- ขณะนี้ ประเทศไทยมีกำลังแรงงาน (อายุ 15-60 ปี)39.7 ล้านคนจากประชากรไทย 65 ล้านคน มีคนว่างงาน 3 แสนคนซึ่งถือว่าน้อยมาก คิดเป็นไม่ถึง 1% จึงเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยดูมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
- ปัจจุบัน NPL ของธนาคารอยู่ที่ 2% และยังมีปราการด่านสุดท้ายอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มความน่าเชื่อถือคือ ข้อกำหนดที่ให้ธนาคารต้องมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง มาตรฐานโลกกำหนดที่ 8%มาตรฐานธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 8.5%ตัวเลขจริงของธนาคารปัจจุบันอยู่ที่ 16% ถือว่าธนาคารไทยเข้มแข็งมาก
- สำหรับหนี้สาธารณะ มาตรฐานโลก OECD หรือยุโรปกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับ GDPอยู่ที่ 60% มาตรฐานธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 60% เช่นเดียวกันตามมติคณะรัฐมนตรี ตัวเลขจริงของประเทศอยู่ที่ 46% ถือว่ายังมั่นคงมาก แต่ในอนาคตอาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการดำเนินนโยบายของภาครัฐในด้านต่างๆ
- สรุปคือ เศรษฐกิจไทยปัจจุบันพึ่งพาภาคส่งออกเยอะ ขณะที่ภาคส่งออกไม่ดี การบริโภคในประเทศมีปัญหาแต่ยังไม่สายเกินแก้ เศรษฐกิจจึงแผ่ว แต่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังดีอยู่
• แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะสั้น
- ดร.เอกนิติย้ำ “ท่ามกลางวิกฤติ มีโอกาส”
- เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเปราะบาง สหรัฐมีสัญญาณฟื้นตัว ญี่ปุ่นดูดีขึ้นจากการออกนโยบายช่วงก่อนแต่ยังคงชะลอตัว ขณะที่จีนและยุโรปดูไม่ค่อยดี สำหรับ CLMV ขยายตัวในอัตราเร่ง
- การเงินโลกผันผวน ดอลลาร์แนวโน้มจะแข็งขึ้นและดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น ภาคส่งออกต้องระวัง ยูโรและเยนมีแนวโน้มอ่อนลง และประเทศเหล่านี้น่าจะออกมาตรการเพื่อพยายามดูแลเศรษฐกิจตัวเองอย่างถึงที่สุด
- การใช้จ่ายในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ และการบริโภคและการลงทุนที่ฟื้นตัวจากปีก่อนๆ


• แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาว มอง 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การแข่งขันทางการค้าของโลกที่รุนแรงขึ้น
- non-tariff barrier มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น
- ความสำคัญของเอเชียในโลกจะมากขึ้นเรื่อยๆ ใน 10-20 ปีข้างหน้า มองแนวโน้มโลกได้จาก reserve และประชากรโลก 60% อยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะอินเดียจะกำลังมา เป็นประเทศ rising ประเทศใหม่ที่คนยังไม่ค่อยพูดถึง
- ขีดความสามารถของไทยที่ลดลง
- อันดับความสามารถในการแข่งขันปีพ.ศ. 2557-2558 วัดโดย World Economic Forum ไทยได้เลื่อนระดับขึ้นเป็นลำดับที่ 31 จาก 144 ประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อดูภาพย่อย เรายังดูไม่ดีนักในเรื่องกฎระเบียบ การศึกษา ประสิทธิภาพแรงงาน เทคโนโลยี นวัตกรรม
- อันดับความสามารถในการแข่งขันปีพ.ศ. 2557 วัดโดย IMD ลำดับไทยไม่ค่อยขยับขึ้น และเมื่อดูภาพย่อย ผลออกมาในทางเดียวกันว่าไทยยังคงต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา ประสิทธิภาพแรงงาน เทคโนโลยี
- แรงงานไทยมากกว่า 67% ของกำลังแรงงานในปัจจุบันสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าม.ต้น
- ความเหลื่อมล้ำของรายได้และทรัพย์สิน
- Gini coefficient ของไทยอยู่ที่ประมาณ 0.48 คือมีความเหลื่อมล้ำ
- ด้านรายได้ หากเอาคน 100 คนมาเรียงกัน กลุ่มคน 20%ที่รวยที่สุดในประเทศมีรายได้คิดเป็น 54.31% ของ GDP ขณะที่กลุ่มคน 20% ที่จนที่สุดในประเทศมีรายได้ 4.6% ของ GDP
- ด้านการเงิน ในประเทศมีกลุ่มคนที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาทเป็น 1.5% ของคนที่มีบัญชีเงินฝาก แต่กลุ่มคน 1.5% นี้ถือเงินฝาก 3 ใน 4 หรือ 76% ของเงินฝากทั้งระบบ
- การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มองเป็นได้ทั้งวิกฤตและโอกาส
- เมืองไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอัตราที่เร็วมาก เร็วที่สุดในอาเซียน อัตราเร่งเกือบจะเร็วที่สุดในโลก แรงงานจะไม่พอ อาจต้องปรับอายุเกษียณ
- ปีพ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 13.8% ของประชากร และในปี 2568 สัดส่วนนี้จะเพิ่มเป็น 20% หรือ 1 ใน 5 ของประชากร
- สภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อม
- ภัยแล้งจะรุนแรงขึ้น อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น
- ในเชิงธุรกิจ ธุรกิจประกันจะขยายตัว
- เศรษฐกิจไทยเติบโตด้วยเศรษฐกิจภูมิภาคมากขึ้น
- ตอนนี้การเจริญเติบโตของเมืองเร็วมากในเมืองชายแดน ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดี เป็นผลโดยตรงจากการที่เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านขยายตัว
- ปีนี้จะเป็นปีแรกที่สัดส่วนคนที่อาศัยในเมืองจะมากกว่าคนในชนบท
สรุปโดย ดร.พูลศรี สาครราษฎร์ : หลักสูตร FEF 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น