เพลงฉ่อยชาววัง

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

จัดอันดับโรงพักเมืองกรุง จำหน่ายเก้าอี้สีกากีกุมบังเหียนทำเลทอง!?


ที่ผ่านมาเคยมีข่าวคราวการซื้อขายตำแหน่งข้าราชการตำรวจหลุดออกมาเข้าหูประชาชนอยู่บ่อยๆ จึงเป็นเหตุให้หลายคนสงสัยว่าการซื้อเก้าอี้ในสถานีตำรวจเมืองกรุงนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่? หรือเป็นเพียงแค่ลมปากบอกเล่าต่อๆ กันมาเท่านั้น
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอพิสูจน์จากปากคำบอกเล่าของบุคคลดังอย่างนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย และเป็นอดีตเจ้าพ่ออาบอบนวด พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีตรอง ผบช.ภ.9 รวมไปถึง แหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อ อดีตนายตำรวจระดับผู้บังคับการ จะมาช่วยร้อยเรื่องราวประสบการณ์ที่เคยพบเจอและได้ยินมาให้ผู้อ่านได้รับรู้ไปพร้อมๆ กัน...
รายได้ที่เป็นทางการของโรงพัก
นายชูวิทย์ เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า โรงพักแต่ละโรงพักจะมีอสังหาริมทรัพย์ ตึกสูง โรงแรม ศูนย์การค้า ร้านทอง ธนาคาร อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเจ้าของกิจการเหล่านี้อาจจะมีการจัดงบประมาณส่วนหนึ่งมอบให้กับทางโรงพัก เดือนละ 50,000-100,000 บาท จะมากจะน้อยอยู่ที่รายได้ของกิจการ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลหรือประสานงานกับเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตาม รายได้เหล่านี้มักไม่ค่อยมีใครอยากได้ เพราะว่าเป็นรายได้ที่มาตามระบบอยู่แล้ว




คุณสมบัติไม่ได้ คู่แข่งเยอะ จึงต้องใช้เงินวิ่งเต้น

รายได้ที่ไม่เป็นทางการของโรงพัก
นายชูวิทย์ อธิบายถึงรายได้อย่างไม่เป็นทางการของโรงพัก แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1.สถานบริการ : ยกตัวอย่างเช่น ในเขตบางรักมีพัฒน์พงษ์ตั้งอยู่ ในเขตห้วยขวาง เขตรัชดา เขตทองหล่อ มีสถานบริการเยอะ หรือหากเป็นในต่างจังหวัดจะเป็นในเขตอำเภอเมือง เช่น จ.อุดรธานี จ.นครศรีธรรมราช จ.เชียงใหม่ จ.สงขลา ที่มีสถานบริการตั้งอยู่จำนวนมาก สถานบริการแต่ละที่จะต้องดูว่าเป็นประเภทไหน เช่น ผับในทองหล่อไม่มีใบอนุญาตและมีคนมาเที่ยวเยอะ จะต้องจ่ายอย่างต่ำเดือนละ 500,000 บาท ถ้าเป็นสถานที่ใหญ่ๆ อย่างอาบอบนวด อาจจะถึง 800,000 บาท ถ้ากลางๆ ก็ประมาณ 300,000 บาท ส่วนคาราโอเกะเล็กๆ ก็ 50,000 บาท
2.บ่อนการพนัน : ตำรวจอยากได้มากถือว่าเป็นรายได้อันดับ 1 เพราะบ่อนการพนันจะให้เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจจะให้เดือนๆ หนึ่ง ที่จะต้องมอบให้ท้องที่นั้นๆ 1 ล้านบาท และจะจัดสรรไปให้นายตำรวจในพื้นที่นั้น อย่างในระดับผู้กำกับประมาณ 2-3 แสนบาท และแบ่งเป็นซองให้สืบสวน ปราบปราม เป็นต้น บ่อนเป็นแหล่งที่หาเงินได้รวดเร็วมาก จะต้องจ่ายมากถึง 2-3 ล้านบาท
3.ในพื้นที่ที่เป็นเส้นทางการลำเลียงสิ่งของผิดกฎหมาย : ในกรณีที่เป็นต่างจังหวัดและไม่ได้อยู่ในอำเภอเมือง ไม่มีสถานบริการหรือบ่อนการพนันในพื้นที่ แต่เป็นทางผ่านในการขนสินค้าผิดกฎหมาย จึงทำให้โรงพักที่อยู่ในพื้นที่นี้เป็นทำเลทองของเจ้าหน้าที่ อาจจะได้ค่าช่วยเคลียร์เส้นทาง
4.ธุรกิจสีเทาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง : ยกตัวอย่างเช่น ใน อ.อรัญประเทศ เป็นที่เลื่องชื่อในการขนสินค้าเถื่อน แรงงานเถื่อน อาจจะได้รายได้จากส่วนนี้


นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตเจ้าพ่ออาบอบนวด

จัดอันดับโรงพักเมืองกรุง 4 เกรด !?
นายชูวิทย์ กล่าวว่า “หลักในการพิจารณาว่าพื้นที่โรงพักไหนเป็นพื้นที่ทองคำ จะต้องพิจารณาจากรายได้ที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งสำหรับในพื้นที่ของนครบาลนั้น จะแบ่งได้เป็น 4 เกรด นั่นคือ โรงพักเกรด A+ ในพื้นที่ บางรัก ห้วยขวาง ทองหล่อ สุทธิสาร มักกะสัน โรงพักเกรด A พื้นที่ ปทุมวัน ดุสิต ลาดพร้าว โชคชัย โรงพักเกรด B พื้นที่พระโขนง บางนา โรงพักเกรด C พื้นที่ ศาลายา เทียนทะเล หรือโรงพักรอบนอกเมือง เป็นโรงพักสำหรับนายตำรวจที่เพิ่งขึ้นมาเป็นผู้กำกับครั้งแรกเพื่อมาปรับตำแหน่ง”


นายชูวิทย์ จัดอันดับโรงพักเมืองกรุง แบ่งเป็น 4 เกรด

นายชูวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า “สำหรับค่าใช้จ่ายในการย้ายมาเป็นผู้กำกับโรงพักเกรดต่างๆ นั้น ที่ได้ยินมาโรงพักเกรด A+ มีการจ่ายถึง 20 ล้านบาท ถ้าเป็นโรงพักเกรด A มีการจ่ายถึง 10 ล้านบาท ส่วนโรงพักเกรด B มีการจ่ายถึง 5 ล้านบาท และโรงพักเกรด C มีการจ่ายประมาณ 1-2 ล้านบาท”
สำหรับโรงพักยอดฮิต นายชูวิทย์ ระบุว่า บางรักเป็นเป็นอันดับหนึ่งตลอดกาล เพราะมีรายได้จากสถานบันเทิงใหญ่อย่างพัฒน์พงษ์และการขายสินค้าแบรนด์เนม รวมถึงมีกลุ่มยาเสพติดเข้ามาในสถานบันเทิงอีกด้วย
ด้าน พล.ต.ต.วิสุทธิ์ เล่าย้อนไปในอดีตว่า สมัยก่อนเหตุผลที่ สน.ปทุมวัน ขึ้นชื่อว่าเป็นเกรด A+ เนื่องจากว่าในพื้นที่นั้นมีสนามม้า มีโต๊ะเถื่อนรับพนันมากมาย อีกทั้งเมื่อก่อนต้องจ่ายต่ำๆ สัปดาห์ละ 1 ล้านบาท โดยคนจ่ายคือหัวหน้าวิน ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมเงินจากโต๊ะพนันม้ามาจ่าย ส่วนเงินที่ได้มาแล้ว ก็ต้องส่งขึ้นระดับบน การส่งนั้นเงินนั้น ก็อยู่ที่เกรดของโรงพักอีก ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นโรงพักเกรด A+ อาจจะจ่าย 50% ของรายได้ เกรด A จ่าย 40% ของรายได้ ซึ่งแต่ละโรงพักจะมีการทำบัญชีกันไว้ และรู้กันในวงการว่า โรงพักไหนเกรดอะไร


พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีตรอง ผบช.ภ.9

กลุ่มธุรกิจลงขัน ผลักดันตำรวจ !?
พล.ต.ต.วิสุทธิ์ เล่าว่า กลุ่มคนที่ทำธุรกิจสีเทา หรือ สีดำ จะร่วมกันลงขันจ่ายให้ เพื่อผลักดันให้ตำรวจนายหนึ่งขึ้นมาคุมโรงพักในพื้นที่เดียวกันกับธุรกิจเหล่านี้ โดยตำรวจนายนั้นอาจจะไปสัญญาหรือแลกเปลี่ยนกับกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ว่าหากขึ้นดำรงตำแหน่งแล้ว จะเก็บส่วยน้อยลง หรือเอื้อเฟื้อ อำนวยความสะดวกให้ธุรกิจเหล่านี้ได้
เงิน ตั๋ว ผลงาน = ใบเบิกทางนั่งเก้าอี้ที่ต้องการ !
แหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อ อดีตนายตำรวจระดับผู้บังคับการ เปิดเผยว่า เหตุผลหลักๆ ของการซื้อตำแหน่ง เพราะว่าเป็นการแลกผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน บางรายที่ซื้อเพราะคุณสมบัติไม่ได้หรือไม่ครบ รวมไปถึง มีคู่แข่งในการขึ้นตำแหน่งเยอะ จึงใช้เงินในการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ต้องการ แต่ทั้งนี้ การจะวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งนั้น จะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ คือ มีเงิน มีเส้น มีผลงาน ถ้ามีครบทั้ง 3 ประการ ถึงจะเรียกได้ว่าครบเครื่อง
“บางคนรวยอยู่แล้ว แต่ต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ก็มี หรือบางคนไม่มีทั้งสองอย่างก็มีความอยากที่จะได้อยากที่จะเป็นก็มี ไม่จำเป็นว่าจะมีแต่ตำรวจอย่างเดียว ข้าราชการอื่นๆ ก็มีการซื้อขายตำแหน่งเหมือนกัน โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์” อดีตนายตำรวจ กล่าว
ขณะที่ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ ระบุว่า หากมีเส้นสายใหญ่โต บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน ส่วนกรณีที่ไม่มีเส้นสาย ก็ต้องใช้เงินล้วนๆ ยิ่งถ้าเป็นการข้ามสายงานมาจากที่อื่น และต้องการอยู่ในโรงพักที่เกรดสูง จะต้องใช้เงินมากกว่า


บางคนรวยอยู่แล้ว แต่ต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ก็มี

กลยุทธ์ซื้อ-ขาย...เสี่ยงแค่ไหนก็ยอม !
อดีตนายตำรวจ อธิบายว่า “มีหลากหลายวิธีในการซื้อตำแหน่งไม่จำเป็นจะต้องจ่ายเงินเพียงอย่างเดียว โดยมีทั้ง การตั้งขายที่ดินในราคาสูง และให้นายตำรวจที่มีความต้องการตำแหน่งมาซื้อ หรือ การจัดตั้งมูลนิธิ เพื่อให้ตำรวจมาบริจาคเงิน การขายเซตลดน้ำหนัก ราคาสุดแสนจะแพง รวมไปถึง การจัดทอดกฐิน ซึ่งวิธีการก็คือแจกซองให้กับผู้ที่มีความต้องการในตำแหน่งต่างๆ มีการเขียนชื่อไว้หน้าซองแต่ไม่ระบุจำนวนเงิน และอยู่ที่คนจัดจะแจกซองกี่ซองและมอบให้วัดกี่ซองไม่มีใครรู้ ทั้งนี้ เหมือนกับเป็นการฟอกเงินเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบได้”
ทั้งนี้ ในการซื้อขายตำแหน่งจะมีนอมินีเป็นตัวแทนซื้อขาย แล้วไปรายงานกับหัวหน้าโดยตรง และให้ผู้ที่มาซื้อรอเวลาการตกลง แต่เนื่องจากการซื้อขายตำแหน่งเป็นเสมือนการประมูล อาทิ นายเอ ให้ 5 ล้าน ในตำแหน่งผู้กำกับ แต่ถ้ามีอีกคนมาให้ 6 ล้าน ในตำแหน่งเดียวกัน คนที่ให้ 5 ล้านก็หมดสิทธิ์ แต่จะไม่ได้เงินคืน เนื่องจากให้แล้วให้เลยจะไปทวงคืนหรือฟ้องร้องไม่ได้ ต้องยอมรับเพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เป็นสัญญาลมปากไม่มีการเซ็นสัญญาจริงๆ


ข้าราชการที่ดีจะต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่ง ไม่เข้าไปอยู่ในวงการน้ำเน่า

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะใช้ความสนิทสนม เชื่อใจไว้ใจกันถึงจะยอมลงทุน หรือบางคนอยากได้ตำแหน่งนี้มากๆ แม้เสี่ยงแค่ไหนก็ยอม ทำให้เสียเปล่าไปเลยก็มี
“ข้าราชการที่ดีจะต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่ง ไม่เข้าไปอยู่ในวงการน้ำเน่า ถึงแม้จะไม่ก้าวหน้า แต่จะได้รับผลตอบแทนเป็นความภาคภูมิใจ ถึงแม้จะไม่มีผู้ใหญ่เห็น แต่ประชาชนเห็น ความมีคุณค่า ศักดิ์ศรี ความเป็นผู้บังคับบัญชามันเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของคุณเอง” อดีตนายตำรวจ ทิ้งท้ายชวนคิด
สำหรับเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น เป็นเพียงข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่า ประสบการณ์ ของแหล่งข่าวเท่านั้น ส่วนการซื้อขายตำแหน่งจะมีจริงหรือไม่ ทางทีมข่าวฯคงจะยืนยันไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานชี้ชัด อยู่ที่วิจารณญาณของผู้อ่านว่าคิดเห็นกับเรื่องราวเหล่านี้อย่างไร ?

Credit: http://www.thairath.co.th/content/480023

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น