ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ชาวปารีสหัวรุนแรงที่เรียกว่าพวกซองกูลอต (sans-culottes) ยกขบวนประมาณ 800 คนไปที่คุกบาสตีย์ (Bastille) ซึ่งใช้เป็นที่ขังนักโทษการเมือง เหตุการณ์การทลายคุกบาสตีย์ (Fall of the Bastille) นี้ซึ่งต่อมาถือเป็นวันเริ่มต้นเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นวันชาติฝรั่งเศสในปัจจุบัน
เพื่อรักษาความสงบทั้งในเมืองและชนบทระหว่างที่ 5-11 สิงหาคม ค.ศ. 1789 สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติออกพระราชกฤษฎีกาหลายฉบับรวมเรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาเดือนสิงหาคม (August Decrees)" ระบุถึงการยกเลิกระบบฟิวดัล (ศักดินาสวามิภักดิ์) ศาลต่างๆ มีการปรับปรุงกฎหมายอาญาโดยใช้หลักมนุษยธรรมมากขึ้นด้วยการยกเลิกการทรมานและตัดอวัยวะ นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 1792 รัฐบาลปฏิวัติเริ่มนำเครื่อง "กิโยติน (guillotine)" มาใช้เป็นเครื่องประหารเพื่อให้สิ้นชีวิตโดยเร็วและเจ็บปวดน้อยที่สุด สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติต้องการให้คริสตจักรฝรั่งเศสพ้นจากการควบคุมดูและของสำนักสันตะปาปาที่ปรุงโรม และประกาศใช้ พระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์ใน ค.ศ. 1790 บังคับให้พระปฏิญาณว่าจะรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศ
ในระยะแรกของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1789 นั้น มีเป้าหมายอยู่ที่การสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเกิดความวุ่นวายและการต่อต้านการปฏิวัติโดยราชวงศ์และพันธมิตรราชาธิปไตยในยุโรป ในที่สุดจึงประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐในเดือนกันยายน ค.ศ. 1792 ตามมาด้วยการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในปีถัดมา นำไปสู่การยุติระบอบราชาธิปไตย และสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นเป็นครั้งแรกในทวีปยุโรป และหลังจากนั้นกระแสปฏิบัติประชาธิปไตยก็แพร่สะพัดไปทั่วยุโรป แต่ความผันผวนของสถานการณ์ การพลิกฟื้นกลับไปกลับมาของขั้วอำนาจ 2 ฝ่าย ก่อให้เกิดความรุนแรงและการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ยุคแห่งความหวาดกลัว (Reign of Terror)" ระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. 1793 ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1794 หรือ "ยุคแห่งความเหี้ยมโหด"
ทั้งนี้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1794 ที่ถือว่าเป็น ช่วงเวลาแห่ง "ความน่าสะพรึงกลัวสูงสุด (Great Terror)" ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นเมื่อมีการออกกฎหมาย ระบุว่าศัตรูของประชาชนจะต้องถูกนำตัวขึ้นศาลปฏิวัติแห่งกรุงปารีส และถูกพิพากษาจากการวินิจฉัยโดยคณะลูกขุน จำเลยจะไม่ได้รับสิทธิของคำปรึกษา แก้คดีและคำตัดสินก็มีเพียงให้ปล่อยตัวหรือให้ประหารเท่านั้น ภายใน 9 สัปดาห์ที่ใช้กฎหมายนี้จำนวนพลเมืองที่ถูกศาลปฏิวัติตัดสินประหารมีจำนวนมาก กิโยตินทำงานไปเกือบ 2,000 ครั้ง
กระทั่งในที่สุดเมื่อ แมกซิมิเลียง โรแบสปีแยร์ (Maximillen Robespierre) ผู้นำการปฏิวัติคนสำคัญถูกสภาประกาศให้เป็นบุคคลนอกกฎหมาย จึงถูกประหารด้วยเครื่องกิโยตินในวันที่ 28 กรกฎาคม 1794 จึงสิ้นสุด "ยุคแห่งความหวาดกลัว"
และนับจากการเกิดสาธารณรัฐที่ 1 ในปี ค.ศ. 1793 จนถึงสาธารณรัฐที่ 3 ในปี ค.ศ. 1875 ซึ่งเมื่อพิจารณาโดยละเอียดและกล่าวอย่างถึงที่สุด ฝรั่งเศสใช้เวลาถึง 86 ปี กว่าจะสิ้นสุดระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในขณะที่ระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยถูกคั่นด้วย "การปกครองวิชี 1940" ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมาถึงสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 และรัฐธรรมนูญ 1958 ปมเงื่อนคือ ถ้าใช้วาทกรรมตัดตอนประวัติศาสตร์ เป็นท่อนๆ ไม่เกี่ยวเนื่องกัน ก็จะทำให้มองไม่เห็น "ช้างทั้งตัว" ของการสถาปนาระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยฝรั่งเศส
การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ได้ปลุกกระแสการสร้างสำนึกทางสังคมและการเมืองให้แก่ชาวยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 การปฏิวัติฝรั่งเศสมีอิทธิพลอย่างมากต่อการปฏิวัติในหลายประเทศ ก่อให้เกิดผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อประชาสามัญชนนับล้านคนในขอบเขตทั่วโลก อุดมการณ์ประชาธิปไตยมีคุณค่าเปลี่ยนยุคประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่หาข้อโต้แย้งได้ยากเต็มที ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คำขวัญ "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ หรือความตาย" ที่การปฏิวัติฝรั่งเศสฝากไว้แก่มนุษยชาติ และถูกยกขึ้นเป็นคำขวัญของประเทศ นับจากสาธารณรัฐที่ 3 ซึ่งก็ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1946 และ 1958 ตราบเท่าปัจจุบันวลีสั้นๆ "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" กลายเป็นถ้อยคำที่ทรงพลังที่สุดในทางการเมืองของประชาชนผู้รักและหวงแหนในเสรีภาพและการปกครองระบอบประชาธิปไตย
"เสรีภาพ" หมายถึงเสรีภาพของปัจเจกชน ซึ่งครอบคลุมทั้งในด้านความคิด ความเชื่อ การศึกษา การเขียนอ่านตีพิมพ์และเผยแพร่ข่าวสาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง
"เสมอภาค" คือความเท่าเทียมกันตามกฎหมายของปัจเจกชน โดยขึ้นต่อหลักความเที่ยงธรรมในเรื่องสิทธิและหน้าที่ เช่น การเสียภาษี (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) การรับใช้ชาติโดยการเป็นทหาร และสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง (1 คน 1 เสียง)
"ภราดรภาพ" หรือความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นความเท่าเทียมกันที่ไม่ได้หมายถึงผู้หนึ่งผู้ใดจะเรียกร้องเอาความเป็นพี่ เพื่อกดให้ผู้คนอื่นๆเป็นน้อง มนุษย์แต่ละคนล้วนมีความเท่าเทียมกันและต้องปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง
ในช่วง "ปฏิวัติใหญ่ 1789" มาจนถึง "คอมมูนปารีส 1871" และการสถาปนา "สาธารณรัฐที่ 3" ทั้งฝ่ายประชาธิปไตย/สังคมนิยม และฝ่ายราชาธิปไตย ต่างฆ่าฟันล้มตายเป็นจำนวนมาก กิโยตินดื่มเลือดของทั้ง 2 ฝ่าย ทว่าเป็นที่น่าเสียดายที่ ในขบวนที่มักกล่าวอ้างหรือประกาศความเป็นประชาธิปไตยของไทย มักถูกทำให้ให้เข้าใจผิดในประเด็นการลุกขึ้นสู้ในการปฏิวัติฝรั่งเศสเสมอมา
สำหรับ "รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 5 (the Fifth Republic)" ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ หรือ มหาชนรัฐโดยมุ่งรักษาหลักการใหญ่ของระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐที่ 3 และ 4 เอาไว้บ้างแต่นำเอาส่วนดีหรือส่วนที่แข็งแกร่งของระบบประธานาธิบดีแบบสหรัฐอเมริกามาผสมเข้าด้วยกัน จึงมีผู้เรียกระบบที่เกิดขึ้นใหม่นี้ว่า ระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี (semi-parliamentary-presidential system) ซึ่งมีความแตกต่างจากจาก ระบบรัฐสภาแบบขนานแท้และดั้งเดิม (classical parliamentary regime) อย่างเห็นๆไ็นได้ชัด มีความใกล้เคียงกับ ระบบประธานาธิบดี (presidential system) แบบสหรัฐอเมริกา ยิ่งเมื่อประกอบกับบุคลิกและความสามารถส่วนตัวของ ชาร์ลส์ เดอโกลล์ ประธานาธิบดีคนแรกของสมัยสาธารณรัฐที่ 5 ซึ่งได้รับคะแนนนิยมและความไว้วางใจจากชาวฝรั่งเศสอย่างมาก ประธานาธิบดีจึงกลายเป็นสถาบันแห่งอำนาจ ซึ่งมีอำนาจมหาศาลกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีฐานะเหนือองค์กรอื่นใด โดยเฉพาะรัฐสภากลับถดถอยลงจนไม่อาจทัดทานประธานาธิบดีได้
ต่อมาเมื่อหลังสมัยของเดอโกลล์พ้นไปแล้วอำนาจประธานาธิบดีคนต่อมา จึงได้ลดลงเหลือแต่เฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น ส่วนแนวความคิดที่ว่าจะให้ฝ่ายบริหารไม่เป็นรองฝ่ายนิติบัญญัตินั้นเชื่อกันว่ามีที่มาจากความต้องการของเดอโกลล์เป็นหลัก จะเห็นได้ว่าความพยายามที่จะสร้างระบบการเมืองให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพนั้น ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลานาน จากตอนนั้น (ตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789) จนถึงตอนนี้ ประเทศฝรั่งเศสได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหลายครั้ง คือ ได้มีการจัดตั้งสาธารณรัฐ 5 ครั้งและได้มีการเปลี่ยนมาใช้ระบอบจักรวรรดิ 2 ครั้ง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอาจจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ ฉะนั้น ฝรั่งเศส ในรอบ 200 กว่าปีมานี้ จึงมีรัฐธรรมนูญมาแล้วไม่น้อยกว่า 9 ฉบับ ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงมากในยุโรปตะวันตก สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า La cinquième République หรือ รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 นั่นเอง
รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 หรือที่มักเรียกกันว่า "ฉบับเดอโกลล์" ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1958 มาจนกระทั่งถึงบัดนี้กว่า 46 ปีแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าได้กับสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดเปลี่ยนแปลงไป ในแต่ละยุค แต่ละสมัย รัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงถูกแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดบางส่วนอยู่เสมอๆ หลายครั้ง เช่น การให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง (1962) การเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับการรับโทษทางอาญาของรัฐมนตรี (1993) การให้มีการประชุมสภาเพียงสมัยเดียว การขยายขอบข่ายที่จะให้มีการออกเสียงประชามติ (1995) การกำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับสถานภาพของนิวแคลีโดเนีย (1998) การจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและเงินตรา การให้หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกันสำหรับการอยู่ในวาระเลือกตั้งและการดำรงตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง การยอมรับขอบข่ายอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (1999) การลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี (2000) เป็นต้น ดังนั้น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับนี้ ซึ่งรวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมด้วย จึงมีทั้งสิ้น 15 หมวด (Title) รวมจำนวน 90 มาตรา (Article)
เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งได้ยืนยันรับรอง "ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง" ที่ได้ประกาศเมื่อ ค.ศ. 1789 [http://arinwan.info/index.php?topic=1412.0] และคำปรารภอันยืดยาวของรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 4 ค.ศ. 1946 เขียนไว้ 3 หน้า รวมถึงได้ประกาศสิทธิในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพิ่มเติมรวมไว้ในส่วนต้นนี้ด้วย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น