เพลงฉ่อยชาววัง

วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ได้จริงหรือ?

คลังถก "หม่อมอุ๋ย" เตรียมคลอด "นาโนไฟแนนซ์"


3,459 views
รัฐมนตรีคลัง หารือ "หม่อมอุ๋ย" บ่ายสามวันนี้ เตรียมออกสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หากเห็นชอบดำเนินการทันที

ยอมรับว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่อยู่ในภาวะเงินฝืด เนื่องจากคนมีรายได้น้อย ไม่มีงานทำ และไม่มีเงินใช้จ่าย ส่วนคนที่มีรายได้มาก ก็ไม่อยากจะลงทุน หรือใช้จ่ายเพิ่มเติม ทำให้ทุกอย่างอยู่ในภาวะนิ่งไปหมด


สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีคลัง บอกว่า โครงการการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (Nano-Finance) ให้กับประชาชนในวงเงินไม่เกิน 100,000 - 120,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 36 ต่อปี จะให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีกี่รายให้ความสนใจเข้าร่วม แต่รัฐบาลจะเป็นผู้รับรองในการดำเนินกิจการให้ ซึ่งเรื่องทั้งหมดจะมีการเสนอเพื่อหารือกับ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ให้เห็นชอบในหลักเกณฑ์วันนี้เวลา 15.00น. 

โดยยืนยันว่าโครงการดังกล่าว จะไม่เป็นการเพิ่มปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนให้กับประชาชน แต่จะเป็นการทดแทนหนี้ครัวเรือน ในส่วนที่เป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ในส่วนนี้ดีขึ้น ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นไม่ได้เกิดจากการกู้เพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหลาย ๆ ส่วน จึงต้องลงไปดูในรายละเอียด

นาโนไฟแนนซ์ ...

เครื่องมือที่เรียกว่า "นาโนไฟแนนซ์" หรือบริษัทสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย (มาก) โดยมีกลุ่มเป้าหมายเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับคนที่เข้าถึงสินเชื่อทั่วไปไม่ค่อยได้ (จะเรียก ซับไพร์ม แบบอเมริกาก็คงไม่ผิดอะไร) ซึ่งปัจจุบันถูกขูดเลือดขูดเนื้อจากภาวะหนี้นอกระบบอย่างแสนสาหัสฟังดูโดยหลักการแล้ว ก็ถือเป็นหลักการทั่วไป ไม่มีอะไรเสียหาย

- ให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค
- อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี (คิดกลมๆก็ตกประมาณ 3% ต่อเดือน) ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ระดับ 24-28% ต่อปีในปัจจุบัน
- ปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อลูกค้าหนึ่งราย และปล่อยกู้ได้เฉพาะในเขตจังหวัด หรือพื้นที่ตัวเอง
- บริษัทที่ปล่อยกู้ห้ามระดมเงินฝาก ต้องปล่อยกู้โดยใช้เงินตัวเอง

หากมองในด้านดี นี่คือโอกาสที่คนทำมาหากินจะเข้าถึงสินเชื่อในระดับที่ดีกว่าการกู้หนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงมาก และทำได้แค่ผ่อนดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ อย่างไร้อนาคต

สุดท้ายแล้ว "สินเชื่อ" ก็เป็นเพียงเครื่องมือซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าผู้กู้จะนำมันไปใช้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวย หรือสร้างความยากจนให้กับตัวเอง

กลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง ... ยังไง "ความฉลาดทางการเงิน" ก็คงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้
เรื่องโดย Nation TV
วันที่ 24 ตุลาคม 2557 12:37 น.


ชง"นาโนไฟแนนซ์"-ปล่อยกู้รากหญ้า ให้เอกชนลงทุนคิดดอก36%-ชี้แก้เงินนอกระบบ

ผุดไอเดียใหม่ปล่อยกู้รากหญ้าหวังแก้เงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้เอกชนตั้ง"นาโนไฟแนนซ์"ปล่อยกู้รายย่อยที่ไร้หลักประกันรายละไม่เกิน 1 แสน ให้คิดดอกสูงถึง 36% ชี้หากคสช. ไฟเขียวเดินหน้าได้ทันที

นาย กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.เสนอหลักการเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยสำหรับประชาชนที่มีรายได้ น้อยและไม่มีหลักประกัน ในรูปของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (Nano-Finance) ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ไม่ให้บริการด้านสินเชื่อเพราะมองว่าไม่คุ้มค่าต่อต้นทุน

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า รูปแบบการให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ให้เอกชนเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ แต่ภาครัฐจะเข้าไปกำกับดูแลให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมกับผู้รับบริการ โดยเอกชนที่ร่วมงานต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท

"การปล่อยสินเชื่อของนาโนไฟแนนซ์ กำหนดไว้ให้ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท เพื่อให้เพียงพอต่อการเป็นทุนในการประกอบกิจการต่างๆ และป้องกันการกู้เงินมากเกินควร ขณะที่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 36% ต่อปี เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่เป็นอัตราต่ำกว่าอัตราสินเชื่อนอกระบบในปัจจุบัน" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว

นาย กฤษฎากล่าวอีกว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เกิน 36% ต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 3% แม้จะมองว่าเป็นอัตราที่สูง แต่ต้องเห็นใจผู้ปล่อยกู้ด้วยเพราะรายย่อยถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงควรมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 28% และต้องจำกัดการปล่อยสินเชื่อต่อราย รวมถึงพื้นที่ในการให้บริการด้วย และไม่ให้รับฝากเงิน

ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวอีกว่า การกำกับดูแลอาจจะไม่ได้เข้มงวดเหมือนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หลังจากที่ผ่านความเห็นชอบจาก คสช.แล้วสามารถเดินหน้าได้เลยซึ่งสอดคล้องกับการแก้หนี้นอกระบบของคสช.และพ. ร.บ.ทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรมด้วย

"ส่วนคุณสมบัติผู้กู้นาโนไฟแนนซ์จะ ต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีหรือไม่มีหลักประกันในการกู้ก็ได้ โดยการพิจารณาสินเชื่อจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นก็จะถูกชดเชยโดยการอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจ คิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงขึ้น" นายกฤษฎากล่าวและว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เห็นด้วย เพราะเป็นการช่วยเหลือประชาชน
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น