เพลงฉ่อยชาววัง

วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การปรองดองในในทัศนะของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ

การปรองดองในในทัศนะของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ตอนที่ 2 ทำไมความจริงต้องปรากฏและรากเหง้าความขัดแย้งของสังคมไทย?


1. จากตอนที่ 1 องค์ประกอบ 8 ข้อที่นำไปสู่การปรองดองของคนในประเทศอย่างแท้จริงและยั่งยืนนั้น ในข้อที่ 1 คือการทำให้ความจริงปรากฏในสังคม ต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ด้วยเหตุที่เกิดการแตกแยกร้าวฉานในสังคมไทยอันเนื่องมาจาก
1.3 ทัศนะที่มองโลก มองสังคมอย่างล้าหลังที่สามารถบิดเบือนข้อมูล หรือเลือกรับข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของแต่ละฝ่าย
ทำให้ความจริงไม่ปรากฏในสังคม มีแต่ชุดความจริงตามความเชื่อของแต่ละฝ่ายที่แตกต่างกัน ดังนั้นการทำความจริงทางภววิสัยให้ปรากฏแก่สังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อทำให้สังคมมีเอกภาพในการรับรู้ทางภววิสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้นในประเทศนี้ และตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกัน ถ้าไม่หยุดยั้งการบิดเบือนความจริงหรือสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากความเชื่อที่ไม่ใช่ความจริง
การทำความจริงให้ปรากฎในสังคมเป็นปฐมบทของการปรองดองที่แท้จริง ป้องกันการขยายตัวความขัดแย้งต่อไป และอาจหยุดความขัดแย้งได้ในเบื้องต้น โดยมีการไต่สวนค้นหาความจริงและกระบวนการที่น่าเชื่อถือและมีความเที่ยงธรรมแท้จริง ไม่ใช่ทำโดยกลุ่มบุคคลองค์กรที่เลือกข้างชัดเจนแล้วดังที่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ดังนั้นในอดีต คอป. โดยประธาน คอป. และประธานอนุกรรมการค้นหาความจริงซึ่งเน้นเรื่องการปรองดอง สอบไม่ผ่านในการทำความจริงให้ปรากฏ จึงเป็นองค์กรที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในที่สุด เพราะไม่พยายามค้นหาความจริงทางภววิสัย แต่เสนอความจริงทางอัตวิสัยของตนที่สวนทางกับผลการไต่สวนในศาลโดยสิ้นเชิง ดังนั้น องค์กรและบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ปรองดองนั้น ต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ ต้องเริ่มต้นจากตั้งใจทำความจริงให้ปรากฏ และที่สำคัญต้องไม่เลือกข้าง มิฉะนั้นก็ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จ
2. ว่าด้วยรากเหง้าของความขัดแย้ง ตามทัศนะของผู้เขียน นี่เป็นเรื่องสำคัญมากในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของประเทศไทย
กลุ่มต่าง ๆ ที่หวังดีต้องการแก้ปัญหาประเทศนี้ให้ลุล่วงมีหลายกลุ่ม หลายวิธี ปัญหาอยู่ที่มีความเห็นต่อรากเหง้าของความขัดแย้งต่างกัน จึงกำหนดมิตร ศัตรู ต่างกัน กำหนดเป้าหมายอนาคตการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ก็ต่างกันตามจุดยืน ผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่แตกต่างกัน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของกลุ่มตน ก็กำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ที่จะต่อสู้เอาชนะเพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่มตนให้ได้
รากเหง้าความขัดแย้งในสังคมไทย (จะเน้นเฉพาะฝ่ายที่เป็นผู้กระทำและเป็นด้านหลักของความขัดแย้ง)
กลุ่มที่หนึ่งมีฐานเป็นด้านหลักของความขัดแย้ง เนื่องจากยึดกุมกลไกอำนาจรัฐไว้ได้ยาวนานและสร้างกลไกรัฐแบบใหม่ ๆ เพื่อควบคุมการเมืองไว้ในมือ แม้จะมีฐานมวลชนน้อยกว่าแต่คงอำนาจในการควบคุมประเทศได้ ประกอบด้วยบุคคลกลุ่มอนุรักษ์นิยม เป็นคนชั้นกลางบนขึ้นไปเป็นกำลังหลัก และมีมวลชนพื้นฐานประจำถิ่นฐานของพรรคอนุรักษ์นิยมจำนวนหนึ่งเป็นองค์ประกอบ พิจารณารากเหง้าความขัดแย้งของกลุ่มนี้มาจาก
ก. จุดยืนและผลประโยชน์ขัดแย้งกับพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงต้องการหยุดพัฒนาการประชาธิปไตยแบบสากล แต่นำเสนอประชาธิปไตยแบบไทย ๆ เพื่อยับยั้งอำนาจประชาชน
ข. ถือเอาปัญหาบุคคลสำคัญกว่าระบบและหลักการ ตัวอย่างรากเหง้าปัญหาที่ประธาน คอป. เสนอคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ตัดสินให้คุณทักษิณ ชินวัตร มีความผิดตั้งแต่ต้นในปี พ.ศ. 2554 เปิดโอกาสให้ได้ตั้งรัฐบาลบริหารประเทศเรื่อยมา วิธีคิดแบบนี้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวมวลชนของคนกลุ่มนี้ที่มุ่งโจมตีบุคคลเป็นหลัก ยกบุคคลเป็นระบอบ มาจนถึงผู้นำหญิงในรัฐบาลที่ผ่านมาเช่นกัน อันที่จริงการมุ่งโจมตีบุคคลใช้ได้กับผู้นำเผด็จการที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แม้กระนั้นการต่อต้านเผด็จการก็ต้องเน้นที่ระบอบเผด็จการภายใต้การนำโดยบุคคลคนเดียว และต้องจำแนกเรื่องกับบุคคลให้ชัดเจน ไม่สามารถพูดตีขลุมหยาบ ๆ ได้ การโจมตีบุคคลนั้นง่ายในการก่อกระแสเกลียดชัง แต่ก็อาจได้ผลกลับกันเพราะสังคมอาจมีปฏิกิริยาโต้กลับในเชิงสงสารดังเกิดขึ้นแล้วในประเทศนี้
ค. ความคิด เทพ-มาร กลุ่มคนเหล่านี้คิดว่ากลุ่มตรงข้ามเป็นพวกเลวร้าย สามานย์ ไม่มีคุณธรรม เป็นทาสเงิน ดังจะเห็นเอกสารในสถาบันพระปกเกล้าแบ่งความขัดแย้งมีรากเหง้ามาจากกลุ่มหนึ่งยึดคุณธรรมเป็นหลัก อีกกลุ่มยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้กลุ่มเหล่านี้จึงถือเป็นความชอบธรรมที่จะทำลายล้างผู้นำที่มาจากระบอบประชาธิปไตย หรือว่าที่มาจากระบบการเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ให้ทุนสามานย์ครอบงำประเทศ ดังนั้นข้อสรุปของกลุ่มพวกนี้คือเทพชอบธรรมที่จะเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่ให้มารมาเป็นผู้ปกครอง เป็นรากเหง้าทางความคิดที่แบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม คือ เทพกับมาร ปลุกให้คนมาแสดงตัวเป็นคนดีง่าย ๆ โดยเพียงแต่มาชี้หน้าด่าคนอื่นว่าชั่ว
ง. ความสัมพันธ์และส่งผลสะเทือนต่อกันของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา อุดมการณ์ วัฒนธรรม ที่มีการเคลื่อนไหวเป็นพลวัตร ส่งผลต่อผู้ที่ตามไม่ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
เศรษฐกิจจากระบอบกสิกรรมดั้งเดิมปรับเปลี่ยนมาสู่ยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ส่งผลการเมืองก็ต้องพัฒนาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสากลเหมือนสังคมโลกาภิวัฒน์ และมีผลต่อการปรับตัวโครงสร้างชั้นบน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม อุดมการณ์ วัฒนธรรม ศาสนา ให้มีลักษณะสากลที่เน้นสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน และภราดรภาพ แต่กลุ่มบุคคลในปริมณฑลเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และสังคมวัฒนธรรมของไทยจำนวนหนึ่งปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ จึงต้องดำเนินการฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ เพื่อไม่ให้กลุ่มตนสูญเสียอำนาจและสถานะในสังคมโดยอ้างว่าต้องการประชาธิปไตยแบบไทย ๆ
ดังนั้น สรุปโดยย่อคือ ฝ่ายที่เป็นผู้กระทำด้านหลักให้น้ำหนักที่บุคคลเป็นศัตรูสำคัญที่สุดที่ต้องถูกเข่นฆ่าทำลายล้างโดยวิธีใดก็ได้รวมทั้งพลพรรค และถือว่ากลุ่มตนนั้นมีคุณธรรม (ที่ไม่มีมาตรวัด คิดเองตามใจชอบ) สมควรจะเป็นผู้ปกครองประเทศและมีอำนาจในประเทศนี้ เมื่อตั้งโจทย์ประเทศเป็นเช่นนี้ ก็กำหนดศัตรูและมิตร และวิธีการต่อสู้ที่ทำได้ทุกวิธี โดยอ้างความชอบธรรมตามความคิดของกลุ่มตน
ถ้าคิดว่าประเทศไทยเป็นร่างกายของผู้ป่วย ผู้ที่ต้องการรักษาผู้ป่วยนี้ให้หายก็ต้องวินิจฉัยโรคให้ถูก จึงจะดำเนินการรักษาและป้องกันโรคไม่ให้ย้อนกลับมาเป็นอีกได้
การตั้งโจทย์ปัญหาประเทศไทยผิด หรือแพทย์ประเมินสมุฏฐานโรคผิด ก็ทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาและรักษาผู้ป่วยผิดได้ ดังนั้นผู้ป่วยแทนที่จะหายก็ต้องเสียชีวิตในที่สุด หรือรู้สมุฏฐานช้าไปก็ไม่รอดเช่นกัน นอกจากแก้ความขัดแย้งไม่ตก ยังขยายความขัดแย้งออกไปจนเหตุการณ์ลุกลามและความขัดแย้งที่ดูว่าสงบก็กลับมาก่อปัญหาอีก
ส่วนคู่ขัดแย้งที่เป็นพรรคการเมืองและประชาชนผู้ต้องการระบอบประชาธิปไตย เป็นผลพวงจากพัฒนาการของสังคมในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่ต้องการการเมืองการปกครอง สังคมระบอบประชาธิปไตยที่เน้นสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคทางการเมือง สิทธิมนุษยชน และใช้การแข่งขันตามกติกาในระบอบประชาธิปไตย เฉกเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว คู่ขัดแย้งสามารถเอาชนะและกำจัดอำนาจคู่แข่งได้ตามกติกาในระบอบประชาธิปไตย
แต่ถ้าสรุปในเชิงทฤษฎีก็ต้องกล่าวว่า ความขัดแย้งของกลุ่มคนนั้นมาจากจุดยืน ผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ทัศนะที่มองพัฒนาการของโลก สังคมไทยที่แตกต่างกัน นำมาสู่วิธีการที่แก้ปัญหาประเทศนี้แตกต่างกัน
ธิดา ถาวรเศรษฐ
30 ก.ค. 57
(เอกสารนำเสนอ : สร้างอนาคตประเทศไทยที่เจริญรุ่งเรืองและมีสันติภาพ)
**********************************************
การปรองดองที่ยั่งยืนและประสบผลสำเร็จในทัศนะของธิดา ถาวรเศรษฐ
(ตอนที่ 1) 26 ก.ค. 57


เนื่องจากมีความพยายามจัดการปรองดองโดยรูปแบบ พิธีการ งานฉลอง งานรื่นเริง ก็เป็นความพยายามที่ดูเผิน ๆ คล้ายกับว่ามีการปรองดองเกิดขึ้นแล้วสมบูรณ์ในประเทศไท
ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่านั่นไม่น่าจะใช่การปรองดองที่แท้จริงและมีความยั่งยืน

แน่นอนว่าปัญหาของประเทศไทยก็มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากประเทศอื่น เพราะสามเหตุแห่งปัญหา กระบวนการพัฒนาของปัญหา และวิธีแก้ปัญหาที่ผิด ๆ กลับซ้ำเติมวิกฤตปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ กระนั้นก็ตามถ้าไม่นับปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ความขัดแย้งทั่วไปในประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกับประเทศอื่นที่ไม่ใช่ปัญหาสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา และการเข้ามาครอบครองของจักรวรรดินิยม แต่เป็นการแย่งอำนาจการปกครองระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นนำ และชนชั้นนำกับระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน ดูเผิน ๆ ปัญหานี้ไม่น่ารุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่จับอาวุธลุกขึ้นสู้ ล้มตายนับร้อยนับพันกระทั่งนับล้านคน

แต่ระยะเวลาและพัฒนาการรุนแรงร้าวลึกในสังคมไทย กระทั่งการเมืองการปกครองประเทศไทยไม่สามารถดำเนินได้ปกติ กล่าวคือมีการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก มีการเลือกตั้งแล้วพรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่สามารถบริหารประเทศได้เพราะถูกขัดขวางจากข้าราชการ ทหาร พลเรือน และกระบวนการยุติธรรม องค์กรตามรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งเลือกข้างจนไม่สามารถดำรงความยุติธรรมในสังคม ไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศอย่างปกติสุขได้เช่นนี้ ก็ถือว่าสังคมไทยประสบวิกฤตความขัดแย้งในระดับสูงได้เช่นกัน

ที่จำเป็นต้องพูดถึงวิกฤตการเมืองการปกครอง เพราะนี่เป็นส่วนสำคัญว่าประเทศนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดองหรือไม่? เพราะถ้าระบบยุติธรรมปกติ ระบอบการเมืองการปกครองปกติ ยังดำเนินได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดอง ซึ่งต้องใช้ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่ขัดแย้งต่อสู้ล้มตายมาสู่สังคมปกติ ดังนั้นเราต้องตอบคำถามว่า ประเทศนี้จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดองหรือไม่? คำตอบจึงอยู่ที่ระบบยุติธรรมและกระบวนการค้นหาความจริงสามารถดำเนินไปได้หรือไม่? เพราะถ้าดำเนินได้ ความขัดแย้งก็ไม่ขยายตัวและจะคลี่คลายไปได้

แต่ถ้าไม่สามารถดำเนินการให้เกิดความยุติธรรมแท้จริง ไม่สามารถค้นคว้าหาความจริงทางภววิสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นผู้กระทำ ใครถูกกระทำ การกระทำนั้นถูกผิด ละเมิดชีวิต สิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียงไร ความขัดแย้งก็จะขยายตัว ลุกลาม รุนแรง จำเป็นต้องพิจารณาเข้าสู่การปรองดองแท้จริงที่ยั่งยืน ที่คนไม่ต้องคิดฆ่าฟันทำร้ายกันและเคารพศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของคนที่อาศัยในประเทศทั้งหมด ได้เช่นนี้สังคมก็อยู่กันได้ปกติสุข

กระบวนการที่จะนำไปสู่จุดนั้นคือการปรองดองที่ยั่งยืนด้วยเหนือหาในทัศนะผู้เขียน จึงต้องใช้ 3 เรื่องคือ
ก. ความจริง
ข. ความยุติธรรม
ค. กลไกในระบอบประชาธิปไตย

และกล่าวโดยย่อสำหรับกระบวนการปรองดอง (Reconciliation) จึงต้องจัดให้มีองค์ประกอบอย่างน้อย 8 ข้อคือ
1. เริ่มจากมีความตั้งใจทำความจริงให้ปรากฏในสังคม
2. เข้าใจและพบรากเหง้าของความขัดแย้งจริง
3. มีการไต่สวนค้นหาความจริงโดยองค์กรและกระบวนการที่ได้รับความเชื่อถือและมีความเที่ยงธรรมแท้จริง
4. สังคมตระหนักรับรู้และยอมรับความจริงทางภววิสัย ไม่ใช่ความจริงทางอัตวิสัยของแต่ละฝ่าย
5. มีความตกลงร่วมกันที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น มีการลงโทษเฉพาะที่จำเป็นและไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง
6. มีความตกลงร่วมกันที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการสร้างเป้าหมายประเทศทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และอุดมการณ์ของคนในประเทศว่าเป็นอย่างไร? โดยฉันทามติของคนทั้งประเทศ
7. มีการเยียวยาผู้เสียหายจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เหมาะสม
8. ละเว้นการใช้อำนาจบังคับในการทำงานปรองดอง การปรองดองจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต้องมาจากความสมัครใจ

1.1 การรับรู้ข้อมูลไม่รอบด้านเป็นเบื้องแรก ตามมาด้วย
1.2 ปัญหาจุดยืน ผลประโยชน์ที่ขัดกัน


วารีนา ปุญญาวัณน์

กลับหน้าหลัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น