เพลงฉ่อยชาววัง

วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

วิธีเอาผิดนักการเมืองโกง (ตามกฏหมาย)

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองไทยเป็นหนึ่งในการเรียกร้องหลักเพื่อการปฏิรูปประเทศของ กปปส. ขณะที่คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่มากกว่านักการเมือง และเป็นปัญหาที่เกาะกินสังคมไทยเรื้อรังมานานถึงเวลาต้องปฏิรูปเสียที 
ก่อนมุ่งหน้าปฏิรูป คงต้องมาสำรวจกันให้เข้าใจก่อนว่า ระบบป้องกัน ปราบปราม การทุจริตคอรัปชั่นของประเทศไทยในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบการจัดการกับ 'นักการเมือง' ที่มักถูกกล่าวหาเสมอว่า ‘ขี้โกง’ ที่สุด
เมื่อส่องไปที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2550 ในฐานะกฎกติกาพื้นฐานที่กำหนดความสัมพันธ์ทางการปกครอง พบว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก ดังจะเห็นว่าในหมวด 11 และ หมวด 12 ของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดให้มีองค์กรต่างๆ สำหรับปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น เช่น คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ ถอดถอนจนถึงดำเนินคดีอาญา




วิธีการเอาผิดนักการเมืองโกง
ในการเอานักการเมืองโกงมาลงโทษ ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวของ เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เปิดช่องดำเนินการเอาผิดกับนักการเมืองไว้หลายช่องทาง ซึ่งมีกระบวนการที่นำไปสู่ทั้ง การถอดถอน และ การดำเนินคดีอาญา 
ช่องทางแรกเมื่อเราเห็นนักการเมืองโกง ในฐานะประชาชนตาดำๆ เราสามารถรวบรวม ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20,000 คน เพื่อยื่นถอดถอนนักการเมืองผู้นั้นต่อ ประธานวุฒิสภา จากนั้นประธานวุฒิสภาจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวน หากไต่สวนแล้วพบว่ามีมูลความผิด ให้ ป.ป.ช. ก็จะต้องทำสองอย่าง คือ  (1) ส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภา เปิดประชุมวุฒิสภาพิจารณาถอดถอนโดยการถอดถอนต้องใช้คะแนนเสียงของ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด และ (2) หากเป็นกรณีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองอื่น ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ป.ป.ช.ก็ต้องส่งเรื่องให้ อัยการ เพื่อส่งฟ้องคดีต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ดำเนินคดีเพื่อเอาผิดและลงโทษตามกฎหมาย  
อีกช่องทางที่คล้ายกัน คือเริ่มต้นโดย ส.ส. เข้าชื่อกันจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมดสามารถยื่นถอดถอนโดยใช้กระบวนการเดียวกันกับประชาชน 
ผู้ที่อยู่ในข่ายอาจถูกกระบวนการนี้ถอดถอนได้ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด เป็นต้น ทั้งนี้ยังหมายรวมถึงตำแหน่งทางราชการระดับสูงอื่นอีก เช่น กรรมการองค์กรอิสระ ผู้พิพากษา ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และข้าราชการระดับสูง ซึ่งระบุอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของ ป.ป.ช.
นอกจากนี้ ประชาชนตัวเล็กๆ เพียงคนเดียวก็สามารถทำได้โดยการแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตฯ ผ่าน ป.ป.ช. หรือ ร้องเรียนต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องยื่นผ่าน ป.ป.ช. อีกที) ทั้งนี้หากหน่วยงานทั้งสองพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายการกระทำทุจริตฯ ก็สามารถดำเนินการเองได้โดยมิต้องมีผู้ร้องเรียน หากไต่สวนแล้วพบว่าคดีมีมูลจึงส่งเรื่องให้ อัยการสูงสุดและประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินคดีอาญาและถอดถอนตามขั้นตอนที่ได้กล่าวไปข้างต้น
สำหรับ ผู้เสียหาย ที่ได้รับความเสียหายจากการทุกจริตคอรัปชั่นโดยตรง ก็สามารถยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ตามขั้นตอนปกติ หรือสามารถใช้วิธียื่นคำร้องต่อ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา รับเรื่องก็จะตั้ง ผู้ไต่สวนอิสระ เพื่อไต่สวนซึ่งหากมีมูลก็ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอนต่อไปได้เหมือนกัน หรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะใช้ช่องทางส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช. ก็ได้
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่สำคัญมากเพราะในช่องทางการดำเนินการต่างๆ ทั้งถอดถอนและดำเนินคดีอาญา โดยในขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาที่จะต้องส่งเรื่องต่อให้อัยการสูงสุดนั้น หากอัยการสูงสุดไม่ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ป.ป.ช. สามารถดำเนินการยื่นฟ้องเองได้ 
จะเห็นว่ากระบวนการเกี่ยวกับการปราบปรามคอรัปชั่นในแวดวงนักการเมืองนั้นกฎหมายปัจจุบันได้กำหนดรายละเอียดขั้นตอนไว้ค่อนข้างมาก เพื่อปิดช่องว่าง และเพิ่มช่องทางการเอาผิดให้เป็นไปได้มากที่สุดแล้ว โดยเปรียบเทียบสถาบันนักการเมืองเป็นสถาบันที่มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจค่อนข้างเข้มข้นเมื่อเทียบกับสถาบันทางสังคมอื่นๆ ในประเทศไทย เช่น ทหาร ศาลยุติธรรม ศาสนา เป็นต้น
หลังจากเห็นภาพรวมของกระบวนการป้องกัน ปราบปราม การทุจริตคอรัปชั่นของประเทศไทยแล้ว ก็อาจทำให้เห็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอันเป็นเหตุให้นักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นยังลอยนวลอยู่ในสังคมได้ ซึ่งทางกลุ่มกปปส.ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เสนอแก้ไขระบบดังกล่าว เช่น เสนอแก้ไขกฎหมายให้ประชาชนสามารถฟ้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดโดยตรง เสนอให้คดีทุจริตฯ ไม่มีการหมดอายุความ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ยังมีข้อน่าสังเกตอยู่บ้าง ดังจะกล่าวในบทต่อไป 
 ที่มา: http://ilaw.or.th/node/3023


แอบดูข้อเสนอปฏิรูปกฎหมายคอรัปชั่น ตามแนวทาง กปปส.
กปปส. ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปเพราะเหตุว่านักการเมืองปัจจุบันคอรัปชั่นกันมาก และหนึ่งเรื่องที่ต้องปฏิรูปคือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามคอรัปชั่น แม้ข้อเสนอชุดใหญ่ว่าจะปฏิรูปแบบเป็นรูปธรรมอย่างไรยังไม่เห็นกันชัดเจน แต่ก็เปิดข้อเสนอออกมาให้เห็นบ้างอย่างน้อยสองประเด็น
1) แก้กฎหมายให้ความผิดฐานคอรัปชั่น ไม่มีอายุความ
ข้อสังเกตประการแรก ข้อเสนอนี้ยังมีความหละหลวมอยู่มาก เพราะไม่มีการระบุให้แน่ชัดว่าความผิดฐาน “คอรัปชั่น” นั้นหมายถึงความผิดฐานใดบ้าง ประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 2 หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการมีทั้งหมด 20 มาตรา ลักษณะ 3 หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมมีทั้งหมด 6 มาตรา ในพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ก็มีความผิดที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่อีกอย่างน้อย 6 มาตรา และในกฎมายเฉพาะอื่นๆ ก็มีความผิดที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก ความผิดแต่ละฐานมีความร้ายแรงแตกต่างกันไป ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้ระบุให้ชัดเจน ให้เห็นตรงกันว่าความผิดใดบ้างที่ควรกำหนดให้ไม่มีอายุความ หรือจะรวมถึงความผิดที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ราชการทั้งหมดเลย
ข้อสังเกตประการที่สอง ตามกฎหมายในปัจจุบันความผิดแต่ละฐานจะมีอายุความแตกต่างกันไปตามอัตราโทษสูงสุดของความผิดนั้นๆ โดยความผิดที่มีอายุความยาวที่สุดมีอายุความ ยี่สิบปี โดยมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 เป็นบทกำหนดอายุความของความผิดอาญาทุกฐาน ตามกฎหมายไทยยังไม่มีความผิดฐานใดเลยที่ไม่มีอายุความ ความผิดที่ไม่มีอายุความปรากฏให้เห็นในกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฐานอาชญากรสงคราม และฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ the Convention on the Non-Applicability of Statutory Limitations to War Crimes and Crimes Against Humanity of 1968 ("the 1968 Convention") 
ข้อสังเกตประการที่สาม สาเหตุที่กฎหมายต้องกำหนดให้ความผิดทางอาญามีอายุความจำกัด ก็เพื่อต้องการคุ้มครองสิทธิของจำเลยด้วย เพราะหากไม่มีกำหนดอายุความเลย ปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ก็จะมีอยู่ติดตัวจำเลยไปตลอดไม่มีวันสิ้นสุด และเป็นการป้องกันไม่ให้มีการนำเรื่องราวที่ผ่านมานานแล้วกลับมาฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งกันได้อีก หากความผิดฐานใดไม่มีอายุความก็เท่ากับการคุ้มครองสิทธิของจำเลยไม่มีอยู่อีกต่อไป
นอกจากเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลยแล้ว อายุความยังมีขึ้นเพื่อคุ้มครองระบบยุติธรรมด้วย เพราะหากโจทก์พบการกระทำความผิดแล้วปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาอันสมควร พยานหลักฐานก็อาจเลอะเลือนหรือสูญหายจนไม่อาจดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมได้ ดังนั้นในทางกลับกันการกำหนดให้ความผิดฐานใดไม่มีอายุความก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน เพราะอาจทำให้ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ป.ป.ช. หรือพนักงานอัยการไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินคดี จนสุดท้ายกว่าคดีความจะถึงมือศาลพยานบุคคลก็อาจจดจำเหตุการณ์ไม่ได้ พยานหลักฐานต่างๆ ก็อาจเก่าหรือสูญหายจนยากจะพิสูจน์ความผิดกันได้อีก

ข้อสังเกตประการที่สี่ เมื่อปี 2554 ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยแก้กฎหมายเกี่ยวกับอายุความของการคอร์รัปชั่นมาก่อนแล้ว โดยเพิ่มมมาตรา 74/1 ในพ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่กำหนดว่า
                “มาตรา ๗๔/๑ ในการดําเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดําเนินคดี มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ”
เท่ากับว่าปัจจุบันการดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้จะมีการหลบหนีระหว่างดำเนินคดีไม่ว่าจะหลบหนีไปนานเท่าใด คดีก็ไม่มีวันขาดอายุความ เมื่อใดที่จับตัวได้ก็สามารถนำมาดำเนินคดีได้เสมอ น่าสงสัยว่าเหตุใดการแก้ไขกฎหมายในปี 2554 ถึงไม่รวมกรณีที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดแล้วแต่จำเลยหลบหนี ให้ไม่มีการนับอายุความระหว่างการหลบหนีเข้าไปด้วย
หมายเหตุ 
กรณี “คดีที่ดินรัชดา” ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีจากความผิดที่ศาลตัดสินให้จำคุก 2 ปี นั้น เป็นกรณีที่ศาลตัดสินและคดีถึงที่สุดแล้วไม่ใช่กรณีหลบหนีระหว่างดำเนินคดีจึงไม่ใช่กรณีตามพ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 74/1 แต่เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98(3) ที่กำหนดให้มีอายุความ 10 ปีนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาจนถึงวันที่นำตัวมาลงโทษได้ แต่เนื่องจากคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว หากหายหลังจากมีคำพิพากษาแล้วมีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องอายุความ ตามหลักกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษแก่จำเลย คดีที่ดินรัชดาย่อมมีกำหนดอายุความเท่าเดิม



2) แก้กฎหมายให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายฟ้องร้องฐานคอรัปชั่นได้
 
ข้อสังเกตประการแรก ข้อเสนอนี้มีข้ออ่อนอยู่เช่นเดียวกับข้อเสนอข้อที่ 1) คือ ความไม่ชัดเจนว่าความผิดฐานใดตามกฎหมายใด จึงจะรวมอยู่ในข่ายความผิดฐานคอรัปชั่นบ้าง
 
ข้อสังเกตประการที่สอง ตามกฎหมายปัจจุบัน ความผิดที่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นความผิดต่อรัฐ ประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจึงไม่สามารถฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลได้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดก็สามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือ ป.ป.ช.ให้เป็นผู้ดำเนินคดีได้ เพราะกฎหมายมองว่าประชาชนรายบุคคลไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง เหมือนความผิดต่อบุคคล เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น หากให้ประชาชนมีอำนาจฟ้องได้ทุกคดี ก็อาจทำให้มีคดีความรกโรงรกศาล หรือมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐในชั้นศาลกันมากจนเจ้าหน้าที่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่ เพราะกลัวถูกฟ้องร้อง 
 
แต่หากเป็นการกระทำความผิดที่ทำให้ประชาชนบางคนได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ เช่น การจงใจใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้งบุคคลบางคนเป็นการเฉพาะ หรือการเอื้อประโยชน์ให้กับบางคนทำให้บางคนเสียหายโดยตรง คนที่เสียหายนั้นก็ย่อมมีฐานะเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐได้เองอยู่แล้ว
 
หลักเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องความเป็นผู้เสียหายที่กล่าวมานี้ ไม่ได้ปรากฏอยู่ในกฎหมายมาตราใด แต่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7030/2551, 1510/2551 และ 3509/2549 (ดูรายละเอียดได้ตามไฟล์แนบ) ซึ่งเป็นแนวการใช้กฎหมายที่ได้รับการยอมรับต่อเนื่องมายาวนานแล้ว 
 
เพราะฉะนั้น หากต้องการจะแก้ไขหลักเกณฑ์เรื่องผู้เสียหาย ก็ต้องเปลี่ยนแปลงที่แนวการวินิจฉัยของศาลฎีกาให้วินิจฉัยว่าประชาชนทุกคนในรัฐเป็นผู้เสียหาย หรือบางกรณีอาจหมายถึงเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นๆ ก็ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับของการตีความคำว่า “ผู้เสียหาย” และปรับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
 
หากข้อเรียกร้องของกปปส.บรรลุผล คือ ให้อำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจบริหารเป็นของ “สภาประชาชน” ก็ไม่อาจเข้าไปแก้ไขหลักเกณฑ์ข้อนี้ได้ หรือหากทำได้ก็เกรงจะเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจบริหารมาก้าวล่วงอำนาจตุลาการ นอกเสียจากว่าให้ศาลฎีกามีแนวคำวินิจฉัยใหม่กลับแนวคำวินิจฉัยเดิมเสียเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายหรือปฏิรูประบบด้วยอำนาจของสภาประชาชน
 
ข้อสังเกตประการที่สาม หากจะมีการแก้ไขกฎหมายฉบับใดโดยเขียนลงไปให้ชัดเจนว่าความผิดบางฐานให้ผู้เกี่ยวข้องบางคนเป็นผู้เสียหายโดยเฉพาะและมีสิทธิฟ้องคดีเองได้ ก็อาจเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องระบุชัดเจนว่าหมายความถึงความผิดตามมาตราไหนบ้าง ดังที่เคยเห็นมาแล้วในการเขียนกฎหมายบางฉบับ ตัวอย่างเช่น 
 
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐
 
                   มาตรา ๑๕๙ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งใด ให้ถือว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองซึ่งส่งสมาชิกของตนลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2552
 
                   มาตรา 73 ในกรณีมีการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น หรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือการใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทําความผิดดังกล่าวเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา 
 
แต่หากจะแก้กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนในราชอาณาจักรเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีเองได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับความผิดนั้นหรือไม่ ก็อาจเป็นแนวทางการเขียนกฏหมายแบบกว้างขวางที่ไม่ค่อยคุ้นตานัก
 

มาตรา 157 ดาบสองคมเพื่อการเอาผิดคอรัปชั่น

ประมวลกฎหมายอาญา
                   มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาหรือที่รู้จักกันในฐานะ ความผิดฐาน “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ซึ่งร่วมการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย เป็นกฎหมายมาตราแรกๆ ที่ต้องนึกถึงเมื่อจะดำเนินคดีเอาผิดกับการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ 
 
ขณะที่ในมาตราอื่นของประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น กำหนดความผิดฐานต่างๆ แยกตามการกระทำไว้โดยชัดเจนแล้ว เช่น การยักยอกทรัพย์ การรับสินบน การเข้ามีส่วนได้เสีย ฯลฯ แต่ก็ยังมีมาตรา 157 เป็นความผิดที่เขียนไว้กว้างๆ เพื่อจะได้ครอบคลุมความผิดต่างๆ ที่ไม่ได้เขียนไว้ในมาตราอื่นๆ ได้หมด
 
มาตรา 157 ถูกวิพากษวิจารณ์มาตลอดว่าเป็นกฎหมายที่เขียนไว้กว้างขวางเกินไป ซึ่งขัดกับหลักของกฎหมายอาญาที่ต้องเขียนให้ชัดเจนและแคบเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลย แถมยังเป็นกฎหมายที่มีโทษค่อนข้างสูง การฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐแทบทุกคดีไม่ว่าจะเนื่องมาจากการกระทำใด ก็จะต้องมีข้อหามาตรา 157 มาด้วยเสมอ ในอีกแง่หนึ่งมาตรา 157 ก็กลายเป็นดาบสองคมทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่หรือไม่กล้าตัดสินใจแม้ว่าอาจจะเป็นสิ่งที่สมควรต้องรีบทำเพราะกลัวถูกฟ้องตามมาตรา 157 ในภายหลัง
 
ปัจจุบันมีข้อเสนอในการแก้ไขมาตรา 157 ให้ชัดเจนขึ้น ตีความได้น้อยลงเพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกฟ้องคดีพร่ำเพรื่อ แต่ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่คืบหน้านัก ดังนั้น หากมีการแก้ไขกฎหมายให้มาตรา 157 ไม่มีอายุความและให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีได้เอง ก็จะทำให้ “ใครก็ได้” ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ “เรื่องอะไรก็ได้” และ “เมื่อไรก็ได้” ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ปฏิบัติงานเช่นกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น