เพลงฉ่อยชาววัง

วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2557

ผัวเมียตีกัน?

March 7, 2014 จักรภพ เพ็ญแข - Jakrapob Penkair

นั่งดูสถานการณ์ในสาธารณรัฐยูเครนสักพัก เราก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมสถานการณ์ไทยจึงไม่เป็นที่สนใจและเข้าใจของผู้คนในระดับโลกถึงขนาดนั้น วิกฤติการณ์ยูเครนขณะนี้กลายเป็นการวิวาทระหว่างยุโรป สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐรัสเซียไปแล้ว ถึงจะเป็นสงครามคำพูด แต่ก็ทำท่าจะลุกลามเป็นสงครามร้อนขนาดเข้าสัประยุทธ์กันได้ทุกขณะ ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องใหญ่โตขนาดนี้ มีจุดเริ่มต้นที่คล้ายคลึงชนิดตคู่มากับวิกฤติการณ์การเมืองของไทย ฝ่ายค้านยูเครนเคลื่อนตัวประท้วง (อดีต) ประธานาธิบดียานุโควิชในเวลาใกล้เคียงเป็นอย่างมากกับการออกอาละวาดของม็อบเส้นใหญ่อย่าง กปปส. และเครือข่าย ข่าวโลกในตอนนั้นเสนอภาพการประท้วงในยูเครนและประเทศไทยคู่กันอยู่เป็นสัปดาห์ ผลัดกันเป็นที่หนึ่งที่สองกันอย่างน่าดูชม จนแทบไม่รู้ว่าฉากต่อไปของใครจะร้อนแรงยิ่งกว่า แต่ปรากฏว่า จู่ๆ ข่าวของไทยก็หายวับไปจากจอเรดาร์ของโลก เหลือแต่ช่องเอเชียอย่าง Channel News Asia ของสิงคโปร์ที่มักกัดข่าวร้ายของเพื่อนบ้านอย่างชนิดไม่ยอมปล่อย เราแปลกใจก็เพราะว่าสถานการณ์ไทยไม่ได้มีอะไรดีขึ้นเลย มิหนำซ้ำยังเสี่ยงต่อการปะทะกันของมวลชนสองฝ่ายและการรัฐประหาร โดยมีประเด็นการสืบราชสันตติวงศ์ในอนาคตอยู่ในฉากหลังอีกต่างหาก แต่ข่าวไทยกลับหายไปราวกับเหตุการณ์ทั้งหมดกลับดีขึ้นแล้ว จนโลกอาจจะเข้าใจผิดได้ เรื่องแบบนี้น่านำมาขบคิดว่าบทเรียนของเราคืออะไร

ผมขอเสนอสมมติฐานหนึ่งว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกรณียูเครน ซึ่งดูจะเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ทุกคนมองเห็นและยอมรับปัญหา หรือเป็น legitimate issue / conflict แต่กรณีของไทยกลับมีลักษณะคล้ายกับประเด็นที่ภาษากฎหมายสากลเขาเรียกว่า domestic violence หรือความรุนแรงในครอบครัว เช่น สามีภรรยาทำร้ายกันและกัน พ่อหรือแม่ทำร้ายลูกเพราะอาการทางจิต อารมณ์ทดแทน หรือเพราะบันดาลโทสะ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมมนุษย์ในอดีตเคยกำหนดใจไว้ว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะเป็น “เรื่องผัวเมียตีกัน” หรือสอนกันแม้กระทั่งว่า อย่าไปยุ่งกับเรื่องของผัวเมีย พอเขาดีกันเราก็กลายเป็น “หมาหัวเน่า” เหล่านี้เป็นต้น ผลจากการเพิกเฉยก็คือบางครอบครัวทำร้ายกันจนกระทั่งบาดเจ็บล้มตายกันไป ภรรยาตาย สามีตาย ลูกตาย ญาติพี่น้องตาย หรือบางครั้งก็บาดเจ็บพิการทางกายและทางใจกันไปตลอดชีวิต โดยสังคมก็ยืนกรานว่าตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้ มาไม่นานปีนี้เองที่มีการรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนทัศนะในเรื่องนี้ ผู้เคลื่อนไหวในระดับโลก แสดงความปรารถนาให้สังคมยอมรับว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของสังคมรอบข้างด้วย มิฉะนั้นเราก็นั่งเฉยนอนเฉยให้มนุษย์ถูกทำร้ายได้อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว ผลก็คือความรุนแรงในครอบครัวลดลงมาก ในหลายสังคมก็พัฒนากลไกในการรองรับปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น เรื่องนี้ที่คล้ายคลึงกับกรณีที่เราเผชิญอยู่ในระดับโลก คู่ขัดแย้งของไทยทั้งฝ่ายอำมาตย์ศักดินาและฝ่ายประชาธิปไตย ต่างช่วยกันสื่อสารว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสังคมโลก จนโลกเผลอมองไปว่าเป็นเรื่องของคนไทยเขาตีกันและเขาคงไปเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้ 

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่อ่อนแอของฝ่ายประชาธิปไตยมาตลอด โลกส่วนรวมเขาต่างก็สนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย ต่างจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรืออำมาตย์ศักดินา ที่ต้องการปิดหูปิดตาทุกคน ถึงขั้นคิดปิดประเทศเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อความชั่วของฝ่ายตนเองโผล่พ้นน้ำ และปิดไม่มิดอีกต่อไป ฝ่ายประชาธิปไตยไทย ต้องโหมรณรงค์ส่งเสริมให้โลกเพิ่มความสนใจ เข้ามาใส่ใจ และทำความเข้าใจกับสถานการณ์ของเรา ให้มากที่สุดและถ่องแท้ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การพบกลุ่มต่างๆ ระหว่างประเทศจึงเป็นภารกิจที่จำเป็นของฝ่ายประชาธิปไตย พม่าปฏิรูปมาได้ขนาดนี้ ก็เพราะเขาสานความสัมพันธ์กับรัฐบาลประชาธิปไตยและกลุ่มประชาธิปไตยต่างๆ ของโลกตะวันตกอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ไม่ใช่ว่าเขาจะได้ความสนับสนุนหรือความเข้าใจขึ้นมาเองดื้อๆ 

ปัญหาการนำของฝ่ายเราคือมักจะเชื่อว่าการเจรจาต่อรองจะช่วยให้เราหาทางออกได้ในบั้นปลายเสมอ สิ่งนี้เป็นมิจฉาทิฐิที่ทำให้เรายังไม่ชนะจนบัดนี้ ทั้งๆ ที่เรามีเสียงข้างมากในประเทศล้อมกรอบคณะโจรเสียงข้างน้อย (แต่มีอิทธิพลมาก) อยู่
ผมเสนอว่า เราเลิกหวังอะไรจากเป้าหมายเดียวและเข้าร่วมในวิธีการสู้รบในเกมข้อมูลข่าวสารในระดับโลกได้แล้ว ทุกอย่างยังไม่สายเกินไป แต่ควรรู้ว่าทุกๆ นาทีที่ผ่านไปคือความเสียโอกาสที่ไม่จำเป็นเลย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น