เพลงฉ่อยชาววัง

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

"อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทาง"

ฉันหยิบหนังสือ "อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทาง" เล่มนี้ขึ้นมาอ่านด้วยการแนะนำของพี่คนหนึ่ง เมื่อรู้ว่าฉันกำลังสนใจอ่านงานเขียนแนวชีวประวัติของบุคคลซีกคอมมิวนิตส์ และกำลังอยากศึกษาแนวคิดของประธานเหมาเจ๋อตุง...

"หนังสือเล่มนี้เขียนแบบนิยายอ่านง่าย เนื้อหาดี แต่อาจจะทนหมั้นไส้คนเขียนหน่อยนะ เหมือนคิดว่าตัวเองเป็นนางเอก" พี่คนนั้นบอกให้ทำใจก่อนอ่าน....

"คนเขียนที่คิดว่าตัวเองเป็นนางเอก" ตามที่พี่คนนั้นบอกก็คือ "คุณจีรนันท์ พิตรปรีชา" ชีวิตของผู้หญิงคนนี้คนไทยที่สนใจการเมือง และงานวรรณกรรม ล้วนรู้จักเธอดี สำหรับฉันรู้จักชื่อนี้สมัยเป็นนักเรียน ในฐานะที่เธอเป็นเจ้าของรางวัลกวีซีไรต์ "ใบไม้ที่หายไป" ที่โด่งดัง ... และตอนเรียนมหาวิทยาลัยฉันก็เคยอาศัยงานเขียน "ใบไม้ที่หายไป" เป็นบททดสอบในวิชาบทความและบทวิจารณ์ ทำรายงานส่งอาจารย์

วันนี้ฉันได้อ่านงานเขียนของคุณจีรนันท์อย่างตั้งใจอีกครั้ง ในผลงานอีกแขนงหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างออกไป ฉันอ่านแบบไม่มีเงื่อนไขอะไรมาก 

จากที่ตั้งใจแค่จะหาอ่านหนังสือที่มีข้อมูลแนวคิด ประธานเหมา เจ๋อ ตุง (ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง)งานเขียนเล่มนี้ยังพาฉันเลื่อนกาลเวลาไปยังยุคต่อสู้ทางการเมือง ตุลาคม 2514 เป็นต้นไปอีกต่อเนื่องเกือบ 6 ปี ในช่วงหัวเลี้ยวต่อหัวต่อในชีวิตของคุณจีรนันท์ และให้บังเอิญที่รอยทางบางเศษเสี้ยวที่เธอเคยเดินย่ำผ่านเป็นเส้นทางที่ฉันมีโอกาสเดินเบี่ยงๆ ผ่านเข้าไปในเวลาอีกยี่สิบกว่าปีต่อมา ในบทบาทคนละเรื่องกับเธอและสหายของเธอโดยสิ้นเชิง 

บางตอนของหนังสือเล่มนี้เคยผ่านตามาแล้ว เพราะเป็นการรวมเล่มจากที่เคยลงเป็นตอนๆ ในแพรว อย่างบรรยากาศสดๆ ในเหตุการณ์จลาจลที่ถนนราชดำเนินของผู้เขียน ตลอดจนเรื่องราวรักทรหด และการคลอดลูกกลางป่า ...

เนื้อหาน่าสนใจใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้อ่าน คือประสบการณ์ในประเทศฝรั่งเศส จีน เวียนนามและลาว ของคุณจีรนันท์ วันเวลายาวนานก่อนที่จะวกอ้อมเข้าสู่ไทยและสู่แนวหน้าในฐานะทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย คุณจีรนันท์ถ่ายทอดความรู้สึกที่แตกต่างในมิติสังคมแต่ละประเทศได้ชัดเจน และบ่งชัดถึงทัศนคติที่เธอมีต่อดินแดนเหล่านั้น รวมทั้งมุมมองต่อสังคมทั้งของตัวเองและเพื่อนร่วมแรมทางแต่ละท่าน ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมเจ้าหน้าที่รัฐในสมัยนั้นจึงปล่อยเมล็ดพันธุ์ความคิดอย่างเธอและสหายอีกจำนวนมากให้เติบโตขยายกิ่งก้านสาขาไม่ได้อย่างเด็ดขาด...

บุคคลในประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิตส์แห่งประเทศไทยหลายคนปรากฎตัวในหนังสือของคุณจีรนันท์เล่มนี้ ชัด !!!และมีชีวิตจนฉันแอบยิ้มและน้ำตาซึมไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นลุงไฟ อัศนี พลจันทร์ ลุงคำตัน พันโทพโยม จุลานนท์ คุณพ่อของคุณลุงแอ้ด นายกฯในดวงใจของฉันตลอดกาล...

ไม่เพียงแค่นั้นบรรดา ฐานที่มั่นที่น่าน // ป่าในอุ้มผาง และทุ่งใหญ่ ฯ รวมไปถึงฐานที่มั่นภูหินร่องกล้า ก็ถูกบรรยายและพูดถึงจนมองเห็นภาพ ทำให้ฉันคิดถึงช่วงเวลาหนึ่งที่มีโอกาสไปฝากรอยเท้าไว้ ณ สถานที่เหล่านั้นในวันเวลาที่กลายเป็นสถานที่ศึกษาแนวคิดการเมืองและป่าอนุรักษ์ไปแล้ว บางครั้งฉันเคยสมมุติตัวเองไปยืนอยู่ ณ ที่แห่งนั้นในวันที่ประวัติศาสตร์ยังเดินไปตามเข็มนาฬิกาปกติ ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือทางการเรียนรู้เหมือนวันนี้....

สังคมอุดมคติ สวยงาม สมถะ มีวินัยเข้มแข็ง และเท่าเทียม แฝงความโรแมนติค เป็นภาพฉาบด้านหนึ่งของสังคมคอมมิวนิตส์ที่ถูกเปิดแง้มออกมาจากหนังสือเล่มนี้ การผสมผสานความแข็งแกร่ง และความอ่อนโยนจนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งหมดนี้แหละที่น่าจะเป็นเสน่ห์ของกลิ่นอายคอมมิวนิตส์ คนรุ่นหลังสักเท่าไหร่กันที่รู้ว่าวิถีและแนวทางเช่นนั้นมันเคยเบ่งบานอยู่ ณ สถานที่ลับๆหลายแห่งในประเทศนี้ และหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เราได้เห็นภาพเหล่านั้นแจ่มชัดขึ้นมาภายใต้เงาลางๆ ของอดีตที่คงจะตายไปในที่สุดหากปราศจากการบอกเล่าและบันทึก 

แม้บางคนจะไม่แน่ใจข้อเท็จจริงบางอย่างในหนังสือ เพราะการเสนอมุมมองด้านเดียว ที่อาจเติมแต่งให้ตัวผู้เขียนดูดี หรืออาจตีค่าให้เป็นเพียงนิยายรักอิงแอบประวัติศาสตร์การเมืองผ่านชีวิตเด็กสาวที่โด่งดังในยุคสมัยหนึ่งเท่านั้น แต่ฉันกลับคิดว่าอย่างน้อยๆ หนังสือเล่มนี้ก็เป็นประโยชน์สำหรับเด็กที่เกิดไม่ทันอย่างคนรุ่นฉันและรุ่นต่อๆ ไป เหนือกว่านั้นการนำเสนอพัฒนาการทางความคิดและเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ก็ช่วยไขข้อข้องใจหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคุณจีรนันท์ ทั้งในบทบาทกวีซีไรต์ //อดีตดาวจุฬาผู้กลายเป็นคนเดือนตุลา //หญิงสาวของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำคลื่นมหาชนบนถนนราชดำเนิน และคุณแม่ของเด็กหนุ่มสองคน หนึ่งในนั้นเป็นขวัญใจสาวๆ อายุต่ำกว่า 20 ปี ตรงตามแนวคิดที่หนังสือได้ตั้งโจทย์ไว้แล้วกับผู้อ่านมาตั้งแต่ต้น....



ภาพจากห้องชมรมบ.ใบไม้ ในพันทิปค่ะ 



***********************************************************************



อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต / จิระนันท์ พิตรปรีชา: เรื่องและภาพ – กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2549.
ประวัติศาสตร์เหมือนเป็นสิ่งมีชีวิต มันบอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้ มันแต่งเติมความได้เองอย่างอิสระ ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์อาจกลายเป็นเพียงวัตถุโบราณ ที่มีค่าเพียงตั้งวางไว้ชมแล้วเดินจากไป แต่ประวัติศาสตร์ยังขึ้นอยู่กับคนในสังคมว่าต้องการให้มันเป็นอะไร
16 ตุลา เอ… หรือ 14 ตุลา อ้าว… แล้วปีอะไรล่ะ 2519 หรือ 2516 ความจำแบบคลุมเครือของคนรุ่นใหม่ปี 2000 อย่างฉัน แทบจะไม่มีจินตนาการถึงเหตุการณ์เดือนตุลาด้วยซ้ำไป หากจะกล่าวโทษเด็กรุ่นนี้แต่ฝ่ายเดียวว่าไม่ใฝ่รู้ ไม่ซาบซึ้งประชาธิปไตย อาจจะไม่ใช่เสียทั้งหมด เพราะยามที่เราจะหาคนรับผิดชอบคงเป็นเรื่องง่ายกว่าการวิจารณ์ตัวเอง
ฉันรู้จัก “ดอกไม้จะบาน” ไม่ใช่จากบทกวีของจิระนันท์ พิตรปรีชา แต่ฟังเป็นเพลงไพเราะจากเสียงขับร้อง สุชาติ ชวางกูร นักร้องเสียงดีโด่งดังตอนเรียนชั้นมัธยม และเมื่อได้อ่านกวีนิพนธ์รางวัลซีไรท์ “ใบไม้ที่หายไป” ความเข้าใจที่พอรับรู้ได้เป็นเพียงบางส่วนเสี้ยวของความนัยอันซับซ้อน “ยิ้มของแม่โพสพ” เป็นบทกวีที่กล่าวถึงข้าวได้ตรึงใจ แต่บทสุดท้ายที่ว่า



… ข้าวประชาชนนี้มีมามอบ
สนองตอบนักสู้ผู้หาญกล้า
แม่โพสพแบกกระบุงเดินมุ่งมา
ยิ้มในหน้า, ปาดเหงื่อเหนือไรคิ้ว”
กุญแจไขจินตนาการในสมองว่าง ๆ กลับมองไม่เห็นอะไรเลย จนเมื่อสหายในที่ทำงานแบ่งหนังสือ “อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต” มาให้อ่าน ภาพเบลอในบทกวีที่เคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว เหมือนตบเท้าเดินแถวดาหน้าฝ่าหมอกเข้ามาในสมอง
อ๋อ… ความเศร้าในบทกวี “คนหาปลา” มันหนักหนาสาหัสถึงเพียงนี้ หรือความสูญเสียในใจ ความสิ้นหวังในทางเลือก ทุกความพ่ายแพ้ที่ประเดประดังผู้รักอุดมการณ์ มาสุมรวมอยู่ในบทกวี “ตะวันตกที่ซับฟ้าฝ่า” ถ้อยความในร้อยกรอง และร้อยแก้ว ล้วนเป็นบันทึกวินาทีของชีวิตที่ควรแก่การบอกเล่า
ความสอดคล้องกันของบทกวีและเรื่องเล่าในหนังสือ จึงเป็นส่วนขยายให้แก่กันและกัน ยามหยิบเล่มใดขึ้นมาก็ต้องรีบพลิกอ่านอีกเล่มซ้ำความรู้สึกเข้าไปอีก ฉันจึงขอแนะนำให้คุณผู้อ่านปัดฝุ่น ใบไม้ที่หายไป จากหิ้งหนังสือหรือในกล่องเก็บหนังสือมาเตรียมไว้ก่อนที่จะอ่าน อีกหนึ่งฟางฝัน
ประวัติศาสตร์ที่เล่าขานนับไม่ถ้วน ล้วนถูกลิขิตด้วยเจ้าของเรื่องราว เช่นเดียวกับช่วงเวลา 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ผู้ลิขิตมันให้มีชีวิตย่อมมีเจตนารมย์ของเขาเอง แต่ใครจะตีความออกหรือค้นเจอระหว่างบรรทัด ขึ้นอยู่ว่าสมองในตอนนั้นว่างพอจะรับเพียงใด

ตอนนี้ฉันไม่ใจเต้นตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ ยามมีคนไม่รู้เหมือนกันถามว่า ตุลาอะไรนั่นน่ะ มันคือวันที่เท่าไรกันแน่” เพราะโดยเนื้อในของช่วงเวลานี้ แปลเป็นความทรงจำส่วนหนึ่งในสมองของฉัน ใช้ประกอบมองประวัติศาสตร์สังคมไทยไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนั่งจดจำวันเดือนปี เพราะสมองก้อนน้อยเชื่อมต่อเวลาอดีตกับปัจจุบันจนเข้าใจได้เอง

*****************************************************************************************************************************************

หนังสือดีที่น่าอ่าน "อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต" ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา



ดื่มด่ำกับภาษากวีอันงดงามที่สะท้อนภาพการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์กร้าวแกร่งของคนหนุ่มสาว  การใช้ชีวิตในป่าร่วม ๖ ปี   มิตรภาพอันงดงามในยามยาก  และตัวตนที่ผ่านการทดสอบของตัวละครต่างๆ
จิระนันท์เขียนเล่าเรื่องราวชีวิตในช่วงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ กระทั่งเข้าร่วมกับ พคท. และออกจากป่าเข้ามอบตัวเมื่อตุลาคม ๒๕๒๓ 
จิระนันท์บอกเล่าวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ทิ้งเมืองด้วยอุดมการณ์อันบริสุทธิ์เข้าอยู่ป่าผ่านชีวิตของเธอและคู่ชีวิตคือ อาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล  บอกเล่าเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์  กระทั่งหนุ่มสาวปัญญาชนจากเมืองตั้งคำถามแก่ตัวเองในระยะปีท้ายๆ ว่า  พวกเขาไปทำอะไรกันที่นั่น  และวาระสุดท้ายที่พวกเขาคืนสู่เมืองในลักษณะที่คุณจิระนันท์เรียกขานตัวเองว่าเป็น สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์
หลายวรรค หลายวลีที่ทำให้เราในฐานะของคนร่วมกาลเวลาร่วมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครานั้นต้องน้ำตาซึมกับภาษาที่ฉายภาพและอารมณ์ต่างๆ ออกมาอย่างชัดเจนราวกับได้ร่วมในเหตุการณ์  
เราจะได้รู้จักนายผี หรือ สหายไฟ ไม่ฟ้า จากตัวหนังสือของจิระนันท์  ได้รู้จักลุงคำตัน หรือ พันโทโพยม จุลานนท์ และบุคคลต่างๆ ที่มิใช่เพียงได้ยินชื่อจากสื่อต่างๆ   โดยเฉพาะความสัมพันธ์อันงดงามของเธอกับสหายไฟ ไม่ฟ้า ที่เธอเรียกขานว่าเป็น  ครูกวีคนสุดท้ายของผู้เขียน
อ่านจบแล้วได้เห็นภาพของประวัติศาสตร์ช่วงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ จนถึงเวลาแห่งการคืนเมืองของหนุ่มสาวที่อ่อนล้าได้ชัดเจน  แม้จะเป็นการบอกเล่าผ่านผู้หญิงคนหนึ่ง  แต่สามารถต่อเป็นภาพใหญ่ที่สมบูรณ์ได้ไม่ยาก
ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปอ่านกวีนิพนธ์แห่งชีวิต  ใบไม้ที่หายไป ของจิระนันท์ ซึ่งได้รับรางวัลซีไรท์ ปี ๒๕๓๒  ยิ่งเห็นภาพชัดทุกตัวอักษร  รับรู้ลึกซึ้งสะเทือนใจกับความเศร้า และสิ้นหวังของเจ้าของบทกวี  ตั้งแต่  ตะวันตกดินที่ซับฟ้าผ่า  พินัยกรรม  หิ่งห้อย  และ  ท่อนสุดท้ายของบทกวีที่ชื่อ  เศษธุลี
          “ฉัน คือกรวดเม็ดร้าว    แหลกแล้วด้วยความเศร้าหมองหม่น   ปรารถนาเป็นธุลีทุรน   ดีกว่าทนกลั้นใจอยู่ใต้น้ำ 
ถ้าคุณเป็นนักอ่าน  ไม่ว่าจะเป็นคนร่วมสมัยสิบสี่ตุลาหรือไม่  ขอเชิญชวนให้ซื้อหามาอ่าน  หนังสือเพิ่งออกขายเมื่อต้นปี ๔๙  พิมพ์ครั้งที่ ๒ แล้ว  มีคุณค่ามากเหลือเกินสำหรับหนังสือดีที่น่าอ่านเล่มนี้  อ่านจบแล้วคุณจะเห็นด้วยกับที่คุณคมสัน พงษ์สุธรรม เขียนถึงเธอไว้เมื่อปี ๒๕๒๔ ว่า
          “เธอมิใช่กรวดเม็ดร้าว   เธอยังสุกสกาวสดใส   กาลเวลาไม่อาจพรากเธอจากไกล   เธอยังอยู่ในใจ  ยังจดจำ   เขียนเมื่อ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

*****************************************************************************************************
อีกหนึ่งฟางฝัน...บทบันทึกแรมทาง <<-หนังสือที่ทำให้คุณจุดประกาย ไขว้คว้าความฝันของคุณ ถึงแม้มันจะเป็นเพียงแค่ฟางเส้นเล็กเส้นหนึ่ง
http://narugi.exteen.com/20060502/entry


ฉันตอบข้อกังขาของคนรุ่นหลังแล้วอมยิ้มอยู่ในใจ อย่างน้อยฟางฝันเส้นนั้นก็ไม่ได้จมหายสาบสูญในห้วงอนธการ ฉันเพียงแต่ปล่อยให้มันล่องลอยไปสู่อิสรเสรี แม้ว่าตัวตนของฉันจะไร้ซึ่งที่ยึดเหนี่ยวไขว่คว้า และอาจดิ่งจมลงสู่ห้วงลึกของกาลเวลาในที่สุด

.....หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบแล้ว ฉันได้อะไรหลายอย่างจากหนังสือเล่มนี้ มากกว่าการหาอะไรทำฆ่าจังหวะการเดินของเวลาชีวิตของฉัน ที่ต้องมารอค่อยการประการผลคะแนน addmission หลังจากยกเลิกผลประกาศมาแล้ว 2 ครั้ง(เอาเวลาของกู ที่พวกผู้ใหญ่ในกระทรวง ทำให้มันไร้ค่า.... คืนมา อ๊ากกก ครื้นนนน วู้ๆๆๆๆ <=== แค่เสียงเพรียกร้องของวิญญาณผีเน่าตัวหนึ่ง อย่างไปสนใจเลยคะ)

หนังสือเล่มนี้ ได้จุดประการ ความฝันในอดีตวัยเด็ก ความฝันก่อนหน้านี้ ที่ความท้อแท้ ความเบื่อ ความเหนื่อยกับชีวิต ได้ทำให้ฉันหลงลืมความฝันเหล่านั้น หรือแม้แต่ความฝันที่ยังคงอยู่ในใจฉันขณะนี้ และฉันกำลังจะไขว้คว้าไปไม่ถึง ให้ฉันต้องเดินหน้าไขว้คว้า ฝ่าฟัน อุปสรรค เพื่อไล่ตามสิ่งที่ฉันไฝ่ฝันต่อไป ด้วยกำลังใจที่มากกว่าเดิม

ต่อถึงเรื่องเนื้อหาในหนังสือ....... คุณจีระนันท์ คง(เจตนา) ทิ้งอะไรหลายๆอย่าง ให้ผู้อ่านได้ขบคิด ถึงสังคม การเมือง บทบาทของนักศึกษา บลาๆๆๆ ใครที่อ่านหนัวสือเล่มนี้แล้ว มาแบ่งปันความคิดกันบ้างนะคะ

สุดท้ายนี้ขอนำกลอนของคุณ จีระนันท์ มาฝาก

บทกวี ฉันจึงมาหาความหมาย

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว


ผลิ

ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน
บริสุทธิ์กล้าหาญ จะบานในใจ
สีขาว หนุ่มสาวจะใฝ่
แน่วแน่แก้ไข จุดไฟศรัทธา
เรียนรู้ ต่อสู้มายา
ก้าวไปข้างหน้า เข้าหามวลชน
ชีวิต อุทิศยอมตน
ฝ่าความสับสน เพื่อผลประชา
ดอกไม้ บานให้คุณค่า
จงบานช้าๆ แต่ว่ายั่งยืน
ที่นี่ และที่อื่นๆ
ดอกไม้สดชื่นยื่นให้ปวงชน...



ขอโทษนะคะที่มีข้อมูลมาโพสแค่นี้ ความจะแล้วยังมีบทกลอนอีกหลายๆบทกลอน บทความอีกหลายๆบทความ มาโพส แต่ว่า.......คุณยายแย่งเอาหนังสือไปอ่านซะแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น