เพลงฉ่อยชาววัง

วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

ประชาธิปไตย : (2) สมัยกรีก


เรื่องประชาธิปไตยตอนที่แล้วกล่าวถึงฐานคติว่าประชาธิปไตยมาจากตะวันตก พร้อมทั้งสำรวจข้อ   เท้จจริงและปัญหาของประชาธิปไตยในเมืองไทย ประชาธิปไตยในตะวันตกเกิดขึ้นก่อนคริสตกาลในเนื้อหาและบริบทที่แตกต่างจากปัจจุบันมาก หลังยุคประชาธิปไตยกรีก ประวัติศาสตร์โลกได้ผ่านสมัยโบราณและสมัยกลางมาเป็นเวลาเกือบ 2 สหัสวรรษโดยไม่มีประชาธิปไตย แต่มีพัฒนาการหลายประการที่วางรากฐานประชาธิปไตยสมัยใหม่ เนื้อหาตอนนี้จึงนำเสนอเฉพาะเหตุการณ์สมัยกรีก โบราณ
กรีกหรือเฮลเลนส์ (Hellenes) เป็นชุมชนเลี้ยงสัตว์เผ่าอินโด-ยุโรเปียน อพยพจากถิ่นฐานเดิมแถบลุ่มแม่น้ำดานูปเข้าไปตั้งหลักแหล่งในดินแดนใหม่ได้แก่คาบสมุทรแห่งทะเลอีเจียน(Aegean Sea) โดยค่อย ๆ แทรกซึมและยึดครองพื้นที่ได้ในที่สุด เมื่อประมาณ 1850 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่านี้เรียกตนเองตามภาษาของตนว่าเฮลเลนส์  ชาวกรีกมีหลายเผ่า มีเชื้อชาติและวัฒนธรรมด้านภาษาและศาสนาต่างกัน เผ่าใหญ่ ๆ ได้แก่เผ่าโดเรียน และไอโอเนียน ตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนการเมืองหรือระบบการเมืองขนาดย่อมจำนวนหลายร้อยแห่งที่เป็นอิสระต่อกันกระจายตัวอยู่ตามสภาพภูมิศาสตร์ซึ่งมีเทือกเขาและทะเลเป็นพรมแดนตามธรรมชาติ  และมีพรมแดนกว้างขวางกว่าภูมิศาสตร์หรือแผนที่ของประเทศกรีกสมัยใหม่ ทั้งนี้กรีกโบราณอาจจะจำแนกตามลักษณะภูมิศาสตร์เป็นกรีก ตอนเหนือ กรีกตอนกลาง และกรีกตอนใต้ เขตพื้นที่หรือระบบการเมืองกรีกโบราณที่มีชื่อเสียงและบทบาทสำคัญบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกได้แก่อัตติกา (Attica) นครหลักชื่อเอเธนส์ (Athens) เขตลาโคเนีย(Laconia) ของเผ่าโดเรียน นครหลักชื่อสปาร์ตา (Sparta) และมาเซโดเนียในพื้นที่ตอนเหนือ นครหลักชื่อเพลลา ระบบการเมืองกรีกเหล่านี้ใช้ระบบการปกครองแตกต่างกัน ลาโคเนียใช้ระบอบอภิชนาธิปไตย (aristocracy) มาเซโดเนียใช้ระบอบราชาธิปไตย (monarchy) ส่วนอัตติกาซึ่งมีเอเธนส์เป็นนครหลักเดิมก็เป็นระบอบราชาธิปไตย เปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 683 ก่อน ค.ศ. ต่อมาในปี 594 ก่อน ค.ศ. โซลอนได้ปฏิรูปการเมืองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยทางตรง นับเป็นจุดแรกเริ่มของระบอบประชาธิปไตยอันเป็นจุดสนใจศึกษาในที่นี้
 อริสโตเติล ( 384 – 322 ก่อน ค.ศ.) ปรัชญาเมธีสำคัญคนหนึ่งของกรีก ศิษย์ของเพลโต ยุคสมัยของ อริสโตเติลตกอยู่ภายหลังสงครามเปโลโปนเนเซียน อันเป็นช่วงที่เอเธนส์ผ่านยุคประชาธิปไตยรุ่งเรืองไปแล้ว ตัวเขาเองก็เคยทำงานกับราชสำนักอาณาจักรมาเซโดเนียซึ่งเป็นราชาธิปไตยในฐานะอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชอยู่ประมาณ3 ปี เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ขึ้นครองราชย์ ก็ทรงฝากผลงานไว้เป็นอนุสรณ์ที่ยิ่งใหญ่ในฐานะเป็น มหาราช” และยกฐานะรัฐมาเซโดเนียขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจแรก ๆ ของโลก  ด้านการศึกษา อริสโตเติลเคยศึกษาในสำนักอะคาเดมีของเพลโต ภายหลังอริสโตเติลได้เปิดสำนักลีเซอุม (Lyceum) ของตนเองขึ้น มีความเจริญมาก เขาได้เขียนหนังสือขึ้นในวิชาการหลายหมวดซึ่งมีรัฐศาสตร์รวมอยู่ด้วย สำหรับวิชารัฐศาสตร์ (Politics)  อริสโตเติลได้รับยกย่องเป็นบูรพาจารย์ของวิชาการเมืองเปรียบเทียบ เขาได้ตระเวนศึกษาการปกครองของรัฐและนครรัฐต่าง ๆ ถึง 158 แห่ง นับเป็นปรัชญาเมธีที่เป็นนักวิชาการรุ่นแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญต่อแนวความคิดและวิธีวิทยาในการศึกษาแนววัตถุวิสัยหรือภาวะวิสัย (objective) ในท่ามกลางกระแสการศึกษาร่วมสมัยแนวอัตตวิสัย (subjective) ซึ่งทรงอิทธิพลและแพร่หลายในยุคนั้น

อริสโตเติลนำผลการสำรวจมาประมวลเป็นกรอบการจำแนกประเภท (classification scheme) ระบบการเมืองของรัฐต่าง ๆ ของกรีกในสมัยนั้น เป็นการปกครอง 2 รูปใหญ่ ๆ คือการปกครองเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม กับการปกครองที่รับใช้ผลประโยชน์ส่วนตัวของคนส่วนย่อย ( ของคน ๆ เดียวหรือหลายคน) หลักในการพิจารณาได้แก่ หลักจำนวนผู้ปกครองผู้เป็นหรือร่วมเป็นรัฏฐาธิปัตย์และใช้อำนาจปกครองประการหนึ่ง กับอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฏฐาธิปัตย์ที่สะท้อนขอบข่ายและขนาดของประชากรเป้าหมายที่ระบบการเมืองมุ่งจะปกป้องและสนองประโยชน์ (serve) อีกประการหนึ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งตามกรอบความคิดหรือภาษารัฐศาสตร์สมัยใหม่ว่ามุ่งตอบคำถามขั้นพื้นฐาน(fundamental)  สองข้อ ข้อแรกคือ คือ เป็นการปกครองเพื่อใคร?” หรือ ใครได้รับประโยชน์ ?” (who benefits?)  และข้อที่สอง ใครมีและใช้อำนาจปกครอง” ( who governs ?) สำหรับคำถามข้อแรกที่ว่าลักษณะ ขอบข่ายและขนาดของประชากรเป้าหมายที่ฝ่ายปกครองมุ่งจะปกป้องและสนองประโยชน์ (who benefits? ) นั้น ผู้เขียนนำมาตีความและใช้ศัพท์บัญญัติใหม่ ได้แก่ การปกครองเพื่อสนองประโยชน์ส่วนรวม (public serving) ประการหนึ่ง และการปกครองเพื่อสนองตนเองและ/หรือพวกพ้อง (self – serving) อีกประการหนึ่ง ส่วนคำถามที่สองที่ว่าใครเป็นผู้ปกครองนั้น มีการจำแนกการปกครองตามจำนวนผู้ปกครอง ซึ่งหมายถึงผู้มีและใช้อำนาจรัฐแบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ การปกครองโดยปัจเจกบุคคล (individual) แบบหนึ่ง การปกครองโดยคณะบุคคล (group) แบบหนึ่งและ การปกครองโดยมหาชนหมู่มาก (the majority) อีกแบบหนึ่ง
 ส่วนข้อที่ว่าเป็นการปกครองเพื่อใคร ? หรือใครได้รับประโยชน์ ก็พิจารณาคล้ายกัน อาจจะเป็นปัจเจกบุคคล (autocracy) การใช้อำนาจอธิปไตยสิทธิขาดหรือฝ่ายผู้ปกครองเองเป็นใหญ่ประการหนึ่ง หรือคณะบุคคล หรือการปกครองเพื่อประชาคมหรือส่วนรวมเป็นใหญ่อีกประการหนึ่ง  ลักษณะการใช้อำนาจตามเกณฑ์ข้อหลังนี้น่าจะยึดลักษณะเชิงสัมพัทธ์ (relative) ไม่ใช่เชิงสัมบูรณ์ (absolute) กรอบความคิดนี้จึงประกอบด้วยระบอบการปกครอง 6 แบบ ตามตารางดังต่อไปนี้
จำนวนผู้ปกครอง

ปกครองเพื่อ
ปัจเจกบุคคล
คณะบุคคล
มวลชน
ตนเอง

(self-serving)
ทรราชย์

Tyranny
คณาธิปไตย

Oligarchy
ประชาธิปไตยมวลชน

Democracy
ส่วนรวม

(public serving)
กษัตริย์

Monarchy, Royalty
อภิชนาธิปไตย

Aristocracy
ประชาธิปไตยสาธารณชน

Polity

ในระบบการจำแนกประเภท (taxonomy)  ข้างต้น อริสโตเติลยังได้ประเมินค่า (valuate) และจัดเรียงลำดับระบบการปกครองเหล่านี้ในแง่ของคุณสมบัติเชิงปทัสถาน(normative) และก้าวไปถึงขั้นการจัดอันดับ (rank) หรือวางตำแหน่งของระบบเหล่านี้บนระนาบ ที่เรียงตามเกณฑ์ความดี (virtue) และความไม่ดี ซึ่งมีนักวิชาการไทยบางท่านใช้ภาษาบรรยายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าระบอบที่ดี และระบอบที่เลว  ปรากฏเป็นระนาบ (continuum) ของระบอบการเมืองที่เรียงจากระบอบที่ดีที่สุดไปจนถึงระบอบที่เลวที่สุด ( ในทัศนะตามบริบทและยุคสมัยของอริสโตเติล) ดังต่อไปนี้
ดีที่สุด
ดีปานกลาง
ดีน้อยที่สุด
เลวน้อยที่สุด


เลวปานกลาง
เลวที่สุด
Monarchy
Aristocracy
Polity
Democracy


Oligarchy
Tyranny
ข้อแรก แนวความคิดส่วนใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในตารางข้างต้นตั้งอยู่บนฐานคติ (assumptions) ที่สะท้อนความเป็นจริงและโลกทัศน์ของประชาคมชาวกรีกในสายตาของอริสโตเติล 384  322 ก่อน ค.ศ.) ในห้วงเวลาระหว่างศตวรรษที่ 5 ถึงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ในแง่ภาษา คำนิยามและแนวความคิดของถ้อยคำหรือศัพท์สำคัญบางตัวในบริบทของสังคมสมัยนั้นก็แตกต่างจากความหมายในปัจจุบัน จึงต้องใช้หรือวิเคราะห์ด้วยความระมัดระวัง การใช้ภาษาถอดความหมายจากบริบทของกรีก โบราณให้เป็นที่เข้าใจในภาษาไทยร่วมสมัย สำหรับกรอบการจำแนกประเภทขั้นพื้นฐานที่พยายามตอบคำถาม  ข้อแรกว่า who benefits? นั้น ตำราภาษาไทยเล่มหนึ่งระบุว่า เป็น การปกครองที่ดี เพื่อประชาชน” และ “ การปกครองที่เลวเพื่อผู้ปกครอง” ก็ดี อีกเล่มหนึ่งระบุว่า เป็น การปกครองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม” และ การปกครองเพื่อประโยชน์ของส่วนตัวหรือพรรคพวก” ก็ดี หรือที่ผู้เขียนเอกสารนี้ยังเลือกที่จะใช้ภาษาที่แตกต่างออกไปเป็น การปกครองเพื่อตนเอง” และ  การปกครองเพื่อส่วนรวม” ก็ดี หากเป็นการสื่อสารระดับทั่วไปก็ถือว่ารู้เรื่องพอใช้ได้แล้ว แต่เนื่องจากข้อเขียนนี้มีลักษณะวิชาการหรือกึ่งวิชาการ แนวความคิดบางเรื่องที่เป็นสาระสำคัญคงต้องมีการถกศัพท์หรือแจงรายละเอียด (elaborate)เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ลึกซึ้งอีกระดับหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า คำว่าความดี” และ ความเลว” ของระบอบการปกครองในทัศนะของอริสโตเติลในบริบทของนครรัฐกรีกโบราณ  นิยามโดยอาศัยเกณฑ์จุดหมายการปกครองว่าปกครองเพื่อประโยชน์ของใคร (who benefits?) เพื่อฝ่ายประชาชนส่วนรวมหรือฝ่ายผู้ปกครองเอง การอ้างอิงปรัชญาการเมืองของอริสโตเติลมาบรรยายหรืออธิบายระบบการเมืองสมัยใหม่มีปัญหาที่ต้องการการตีความหรือคำอธิบายอย่างระมัดระวังหลายประการ เช่นมีผู้ยกข้อความ ระบอบ democracy เป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด” มาใช้ในปัจจุบัน ผู้ใช้ทราบหรือไม่ว่าเป็นการเปรียบเทียบกับระบอบใดบ้าง?  ในบริบทสมัยอริสโตเติลหรือสมัยใหม่? คำว่า ดีหรือเลว” มีความหมายอย่างไร? หากเป็นกล่าวตามสามัญสำนึกโดยไม่คำถึงถึงพื้นฐานทางปรัชญาหรือวิชาการ ข้อความที่กล่าวก็ไม่มีน้ำหนักหรือความหมายใด ๆ ทางวิชาการ  รวมความว่าปรัชญาที่อริสโตเติลเขียนขึ้นในโลกยุคก่อนคริสตกาลกว่าสองร้อยปี หากจะนำมาใช้อ้างอิงหรืออธิบายการเมืองปัจจุบันมีหลายประเด็นที่ต้องการคำนิยาม แนวความคิดหรือการตีความใหม่ เช่นคำว่า democracy ที่อริสโตเติลใช้มีความแตกต่างจากความหมายในการเมืองสมัยใหม่ ที่ประเทศไทยนำเข้ามาใช้และแปลว่า ประชาธิปไตย” ส่วนที่เหมือนกันก็คือเป็นการปกครองโดยประชาชนส่วนใหญ่ (majority rule) ส่วนที่ต่างกันเป็นประเด็นของการปกครองเพื่อใคร หรือเพื่อประโยชน์ของใคร democracy สมัยกรีก หมายถึงระบบที่กลุ่มเสียงส่วนใหญ่ที่มีอำนาจปกครองใช้อำนาจเพื่อกลุ่มตนเอง เป็นจุดที่แตกต่างจากระบบ polity ที่หมายถึงการปกครองที่เสียงส่วนใหญ่มีอำนาจปกครอง แต่ใช้อำนาจปกครองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือสาธารณชน (public) สรุปความว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ปลุกให้ฟื้นขึ้นมาในสมัยฟื้นฟู (renaissance) สมัยรู้แจ้ง (enlightenment) หรือสมัยใหม่ คือระบบ polity สมัยกรีก (ซึ่งเป็นการปกครองที่ดีน้อยที่สุด อยู่ท้ายแถวของกลุ่มดี) แต่ปรัชญาเมธีสมัยใหม่ไม่ยอมใช้คำว่า polity อย่างตรงไปตรงมา กลับโปรดปรานคำว่า democracy ( ซึ่งหมายถึงmob rule อันเป็นการปกครองที่เลวน้อยที่สุดสมัยกรีก อยู่หัวแถวของกลุ่มเลว)  และหากวิเคราะห์ตามแนวทางนี้ต่อไป ในสายตาของนักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ที่สนับสนุนประชาธิปไตย (คือ polity) เป็นการวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบกับระบบอื่น ๆ อีก 5 ระบบ ( democracy ในความหมายเก่า monarchy, aristocracy, oligarchy, และ tyranny) เท่ากับเป็นการสรุปว่า democracy สมัยใหม่ (คือ polity ในความหมายเก่า)  เป็นระบอบการปกครองที่ ดีที่สุด”  เป็นจุดยืนที่แตกต่างจากสมัยอริสโตเติล พิจารณาในแง่นี้ ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่ประนีประนอมกับราชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ เป็นระบอบ constitutional monarchy หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็เท่ากับเป็นการผสมผสานระหว่างระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในทัศนะของนักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ กับระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในทัศนะของอริสโตเติลนั่นเอง  
 นอกจากนี้ การที่ผู้เขียนเลือกใช้คำศัพท์มาบรรยายความหมายประชาธิปไตยสมัยใหม่ตามอับราฮัม ลินคอล์นว่าเป็น การปกครองเพื่อประชาชน” (government for the people) แต่เลือกคำว่า “public serving” มาประกอบเพื่อเสริมความหมายภาษาอังกฤษ ก็เพื่อสื่อความหมายให้ชัดเจนที่สุด ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ของการใช้ภาษาในปัจจุบัน คำว่า ประชาชน” (people) หรือคำว่า ประชาธิปไตย” เป็นคำศัพท์ที่นำมาใช้กันมาก ถึงระดับที่ฟุ่มเฟือย (overused).ซึ่งมีทั้งการใช้สื่อสารด้วยความรับผิดชอบ (informative) มีเนื้อหาถูกต้องครบครัน แต่ส่วนใหญ่ใช้ในความหมายไม่ครบ เช่นคำว่าประชาธิปไตยก็หมายถึงคุณสมบัติหรือองค์ประกอบบางส่วนหรือบางข้อ เช่นเดียวกับคำว่า “ประชาชน ก็หมายถึงประชาชนบางส่วนหรือบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่ก็ตาม อันเป็นการใช้ภาษาเพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีเกินความจริงและทำให้สาธารณชนเข้าใจคลาดเคลื่อน(misleading)  
 คำว่าประชาชนส่วนน้อย (minority) ตัดออกไป เพราะไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่คงเหลือแนวความคิด 3 ประการที่น่าจะมีความเข้าใจสับสนที่สุดคือ
1.       ประชาชนส่วนใหญ่ (majority)
2.       ประชาชนทุกคน (totality)
3.       ประชาชนส่วนรวม (public) 
การอภิปรายแนวความคิดเหล่านี้จะพิจารณาทั้งระดับอุดมคติ (idealism) และสัมฤทธิคติ (pragmatism) และจะพิจารณาประชาชนทั้ง 2 สถานะ คือในฐานะเป็นผ่ายอธิปัตย์(sovereign หรือ authority) คือเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย (ถ้าเป็นระบบประชาธิปไตยโดยผู้แทน หรือ representative democracy ก็คือรัฐบาล) ฝ่ายหนึ่ง กับในฐานะจุดหมายปลายทาง (ends หรือ beneficiary) หรือประชาชนผู้ถูกปกครอง คือผู้รับประโยชน์จากการใช้อำนาจ การจัดสรรทรัพยากร ขององค์อธิปัตย์อีกฝ่ายหนึ่ง
 ตามกรอบการวิเคราะห์นี้ ในแง่ของการใช้อำนาจ หรือย้อนไปถึงการเข้ามาสู่อำนาจของฝ่ายใช้อำนาจ ตามอุดมคติอาจจะต้องการอำนาจที่เป็นตัวแทนของประชาชนทุกคน เช่นต้องชนะการเลือกตั้งโดยได้รับคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ (consensus) ในการเลือกตั้ง แต่ตามสัมฤทธิคติหรือในภาคปฏิบัติเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ ถ้านำมาใช้ก็จะเป็นระบบที่ขาดประสิทธิผลและประสิทธิภาพ เพราะการบรรลุถึงมติเอกฉันท์ต้องใช้เวลามาก ทำให้เรื่องที่ได้รับมติเอกฉันท์มีจำนวนน้อยมาก และยังมีนัยที่ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย คือเสียงส่วนน้อยอาจจะยับยั้งเจตนารมณ์ของเสียงส่วนใหญ่ได้ ทางออกของเรื่องนี้ต้องยึดปรัชญาสัมฤทธิคติ คืออาศัยหลักการที่เป็นไปได้ คือหลักเสียงข้างมาก
 รัฐบาลซึ่งปฏิบัติหน้าที่บนพื้นฐานของเสียงข้างมากที่ได้รับมาจะดำเนินการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นใด เพราะประชาชนผู้จะได้รับผลกระทบหรือได้รับประโยชน์จากรัฐบาลเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็น ตัวการ” (principal) ที่มอบให้ ตัวแทน” ได้แก่ผู้แทนและรัฐบาลไปดำเนินการปกครองและบริหารสาธารณกิจตามอำนาจหน้าที่(authority and responsibility) ไม่ใช่เป็นการมอบหมายแบบให้มีอำนาจเต็ม แต่เป็นการมอบโดยมีทั้งเงื่อนไขและเงื่อนเวลา
 ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คำว่า ประชาชน” ใน การปกครองเพื่อประชาชนในระบอบประชาธิปไตย” จะนิยามแบบสัมฤทธิคติหรือแบบอุดมคติ ในกรณีนี้ เป้าหมายแบบสัมฤทธิคติได้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ และเป้าหมายแบบอุดมคติคือการนิยามแบบสมัยกรีก คือ ปกครองเพื่อส่วนรวมหรือ public serving  จะเห็นได้ว่า ถ้ากำหนดขอบเขตเป้าหมายของการปกครองตามแนวทางสัมฤทธิคติเป็นเพียงการปกครองเพื่อคนส่วนใหญ่ จะทำให้การปกครองถูกจัดเป็นกลุ่มการปกครองที่เลวทันที ถึงแม้จะเป็นระดับเลวน้อยที่สุดก็ตาม ถ้าจะยกระดับการปกครองประชาธิปไตยให้อยู่ในกลุ่มการปกครองที่ดี ก็ต้องยกระดับเป้าหมายการปกครองเป็น   การปกครองเพื่อประชาชนส่วนรวม (public) อันเป็นอุดมคติของการปกครองแบบ polity สมัยกรีกซึ่งตรงกับอุดมคติของ democracy สมัยใหม่
 ผู้เขียนนิยามคำว่า “ประชาชนทุกคน” แตกต่างจากคำว่า ประชาชนส่วนรวม”  คำว่า การปกครองเพื่อ ประชาชนทุกคน” เป็นสภาวะรูปธรรมที่มีความหมายในกลุ่มดี แต่ในทางสัมฤทธิคติปฏิบัติได้โดยยากหรือไม่ก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะนัยของคำว่า ประชาชนทุกคน” หมายถึง 100 เปอร์เซ็นต์ และหมายถึง  ไม่มีข้อยกเว้น”  จะเห็นได้ว่า การกำหนดปทัสถานให้รัฐบาลประชาธิปไตยใด ๆ ต้องดำเนินนโยบายสาธารณะทุกเรื่อง (ไม่ว่าจะเป็นประเภท regulative, distributive, redistributive, หรือ symbolic) ให้ครอบคลุม ให้บังคับใช้ ให้อำนวยประโยชน์ หรือให้มีผลตกต้อง (incidence) ต่อประชาชนทุกคน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในภาคปฏิบัติ ผู้เขียนเห็นว่าทางออกของประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากกลับไปเปลี่ยนปทัสถานหรือเปลี่ยนคำนิยามให้เป็น การปกครองเพื่อประชาชนบางส่วน” จะเป็นส่วนใหญ่หรือส่วนน้อยก็ได้ มอบให้รัฐบาลใช้วิจารณญาณ เรื่องนี้ต้องกลับไปทบทวนว่ารัฐสภาและรัฐบาลเป็น *คณะบุคคล” ที่มีฐานะเป็น ผู้แทน” หรือตัวแทน (agent)  และ มาจากการเลือกตั้ง” อาจจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ หรือเสียงส่วนน้อยมารวมตัวกันจนได้เสียงส่วนใหญ่แล้วจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสม (coalition government)
 กระบวนการปกครองโดยประชาชนที่จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยที่ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งมีประเด็นสำคัญที่ต้องทำความรู้จักและเข้าใจในระดับทราบซึ้ง ต้องทำความเข้าใจว่าอาณัติ (mandate) ที่มอบให้นักการเมืองมาทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนหรือเป็นผ่ายบริหารในรัฐบาลก็ดี เป็นอาณัติที่ตั้งอยู่ภายใต้และท่ามกลางจารีต วัฒนธรรมอารยะ(civic culture) สัญญาประชาคม และวิญญาณ (spirit) ของความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องการพันธกรณี (commitments) ที่จะให้นักการเมืองดำเนินการปกครองเพื่อประชาชนโดยมีจิตสาธารณะ (public serving) ศรัทธาในอุดมการณ์ในการทำงานโดยยึดสาธารณประโยชน์ (public interest) หนือประโยชน์ส่วนตนและหมู่คณะ (particular interest)เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่ได้มีเนื้อหาเรื่องการปกครองโดยประชาชนเท่านั้น แต่ต้องปกครองเพื่อประชาชนด้วย และการปกครองเพื่อประชาชนคือการปกครองเพื่อสาธารณชน ยึดสาธารณชนเป็นที่ตั้ง
 จะเห็นได้ว่า ลำพังการได้มาหรือการเข้าสู่ตำแหน่งผู้ปกครองซึ่งอาจจะถือเป็นเนื้อหาครึ่งแรก คือการปกครองโดยประชาชน หรือ มาจากการเลือกตั้ง”  โดยคะแนนเสียงเท่านั้นเท่านี้ ไม่ได้ทำให้นักการเมืองมีฐานะเป็นจักรพรรดิ เป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นเผด็จการรัฐสภา เป็นคณาธิปัตย์ (oligarch)  หรือเป็นทรราชย์ (tyrants)โดยพฤติการณ์ หากเป็นนักการเมืองฝ่ายบริหาร ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นตำแหน่งใด ตัวอย่างเช่นถ้าเป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะในสาธารณรัฐหรือในราชอาณาจักรระบบ constitutional monarchy) นายกรัฐมนตรี ก็จะมีบทบาทด้านการปกครองหรือบริหารราชการแผ่นดิน (government) ซึ่งต้องใช้อำนาจอธิบไตยภายใต้การกำกับหรือการนำของประมุขของรัฐ (ruler) ไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์ หรือประธานาธิบดีก็ตาม หากเป็นระบบสาธารณรัฐที่เป็นระบบประธานาธิบดีเช่นสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขของประเทศทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล (คือควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย ก็ไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
 ตามกรอบการวิเคราะห์ข้างต้น ซึ่งถือว่า การได้อำนาจหรือการเข้าถึงตำแหน่งผู้ปกครองเป็นสาระครึ่งแรกของกระบวนการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื้อหาส่วนที่เหลือ ได้แก่การดำเนินการปกครอง (government in action) ซึ่งได้ข้อยุติแล้วว่า อาณัติที่ได้รับไม่ใช่ในฐานะเป็นองค์อธิปัตย์ แต่เป็นการดำเนินการภายใต้และภายในกรอบอันเป็นข้อจำกัดนานัปการเช่น กรอบกฎหมาย มาตรฐานแห่งกรรมวิธี (standard procedure) การดำเนินงาน กรอบความสัมพันธ์กับประมุขของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรอบพันธกรณีที่จะต้องปกครองเพื่อประชาชนโดยยึดสาธารณชนเป็นที่ตั้ง
 ประเด็นนี้น่าจะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในบริบทของระบบการเมืองไทยในปัจจุบัน หากจะถือเป็นปัญหา ก็เป็นปัญหาที่ร้ายแรงไม่ใช่น้อยด้วยเหตุผลสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ
ประการแรก ระบบค่านิยมของสังคมไทยที่ปลูกฝังกันมาช้านานไม่เอื้อต่อการยอมรับ (absorb) หรือการเติบโตของประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นอุดมการณ์หรือวิถีชีวิต ซึ่งเป็นอุดมการณ์ต่างด้าวที่นำเข้ามาจากประเทศตะวันตก สังคมไทยรู้จักระบอบประชาธิปไตยในระยะแรกในฐานะกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ที่บัญญัติระบอบการปกครองโดยประชาชน ความรู้จักมักคุ้นกับประชาธิปไตยของคนไทยส่วนใหญ่จึงเป็นแนวนิตินิยม อันที่จริงสังคมไทยไม่ใช่สังคมแห่งอุดมการณ์ เป็นสังคมที่มีประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมการเมืองแบบไพร่ฟ้า (subject culture) มาช้านาน ไม่มีวัฒนธรรมที่ปลูกฝังให้ชาวบ้านยืนหยัดหรือต่อสู้เพื่อรักษาหลักการที่ตนศรัทธา มีการรับอิทธิพลของสากลนิยม หรือสมัยนิยม(modernism) ในด้านรูปแบบ (form) และวัตถุนิยมกันอย่างรวดเร็วและแพร่หลายเป็นแฟชั่น  แต่มักจะไม่ใส่ใจอุดมการณ์หรือปรัชญานามธรรมอันเป็นเนื้อหาที่อยู่เบื้องหลังรูปแบบหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่รับมา หลักเสรีภาพและการเลิกทาสในสังคมไทยไม่ได้เกิดจากการต่อสู้ แต่เป็นการริเริ่มและพระราชทานแก่สังคมไทย (devolution) โดยพระมหากษัตริย์ ในทางตรงกันข้าม สังคมไทยเน้นระบบคุณค่าที่ปลูกฝังลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพที่สุภาพ เรียบร้อย เกรงใจ อดออมถ้อยคำกับผู้ที่มีสถานภาพเหนือกว่า ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะขัดแย้ง (paradox) ที่มีความก้าวร้าว (hostility) ต่อคู่กรณีในความขัดแย้งทั้งทางวาจา (verbal) และทางกายภาพ (physical) ความขัดแย้งในสังคมดั้งเดิมมีน้อยที่เป็นความขัดกันเชิงอุดมการณ์ โครงสร้างเชิงแนวดิ่ง (vertical)  ของสังคมเดิมของไทยและทัศนคติเชิงยอมรับ (permissive และ submissive) ก็ไม่เอื้อต่อการขยายตัวของหลักการด้านความเสมอภาค (equality) ของระบอบประชาธิปไตย 
ปัญหาประการต่อไปของระบบการเมืองไทยปัจจุบันได้แก่อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวและทัศนคติแบบอำนาจนิยมในสังคมไทย ซึ่งจะกลายเป็นลักษณะประจำตัวของนักการเมืองไปด้วย นักการเมืองไทย โดยเฉพาะในเขตชนบท จะเข้าใจความสำคัญของความสัมพันธ์ส่วนตัวและการเกี่ยวดองเชิงเครือญาติ ตลอดจนความรู้สึกท้องถิ่นนิยม ในการหาเสียง การชุมนุมทางการเมือง การประชาสัมพันธ์อุดมการณ์และนโยบายพรรคจะใช้ได้เฉพาะในเมืองใหญ่ ต่อมาเมื่อแนวโน้มทางการเมืองเปลี่ยนเป็นการซื้อเสียง (money politics) ลักษณะคู่ขนาน (dualism) อันเป็นความแตกต่างของพฤติกรรมการเมืองระหว่างสองงเขต (เมืองและชนบท) ก็ยังมีอยู่ต่อไป เมื่อการซื้อเสียงใช้ได้กับเขตชนบทมากกว่ากับชนชั้นกลางในเขตเมือง 

ที่มา:
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=420380



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น