เพลงฉ่อยชาววัง

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สงครามซีเรีย...ย้อนปมความขัดแย้งสู่สมรภูมิเลือด

สงครามซีเรีย
ABO SHUJA / AFP

สงครามซีเรีย
ABO SHUJA / AFP

สงครามซีเรีย
Ammar al-Arbini / SHAAM NEWS NETWORK / AFP
ภาพประกอบจาก ABO SHUJA / AFP, Ammar al-Arbini / SHAAM NEWS NETWORK / AFP, SAID KHATIB / AFP, SANA / AFP, SHAAM NEWS NETWORK / AFP

             สงครามกลางเมืองซีเรีย คร่าชีวิตผู้คนไปนับแสน สาเหตุสงครามซีเรีย เกิดจากอะไร มาย้อนรอยเหตุการณ์ในประเทศซีเรียไปพร้อม ๆ กัน

             เป็นข่าวการนองเลือดที่ช็อกโลกอีกครั้ง เมื่อในวันที่ 21 สิงหาคม 2556 รัฐบาลซีเรีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ได้สั่งการให้กองทัพทิ้งระเบิดเพื่อปราบกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล ในเมืองกัวตาห์ ชานกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,300 ราย ท่ามกลางคำกล่าวอ้างของกลุ่มพันธมิตรซีเรียที่ระบุว่า รัฐบาลใช้อาวุธเคมี รวมทั้งแก๊สพิษซารินในการสู้รบกับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน แม้ภายหลังทางการซีเรียจะออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แต่ทางสหประชาชาติก็เตรียมจะขอเข้าไปพิสูจน์เรื่องนี้แล้ว

             หลายคนที่ได้ติดตามข่าวมาพักใหญ่ ๆ ก็คงพอทราบว่า การสู้รบระหว่างรัฐบาล และฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ยืดเยื้อมานานกว่า 29 เดือนแล้ว และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้ (23 สิงหาคม 2556) ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการมีอย่างน้อย 1 แสนคน และมีชาวซีเรียขอลี้ภัยเกือบ ๆ 2 ล้านคน 

             ...อะไรที่ทำให้สงครามซีเรียรุนแรงมากขนาดนี้ แล้วชนวนเหตุของสงครามกลางเมืองซีเรียแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร ลองตามกระปุกดอทคอมไปย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดกัน 

             ในช่วงปลายปี 2553 เรื่อยมาจนถึงปี 2554 ประชาชนในหลายประเทศของกลุ่มตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกาเหนือ ได้ลุกฮือประท้วงรัฐบาลของตัวเอง เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีก้าวลงจากตำแหน่ง หลังจากผูกขาดอำนาจมานานหลายทศวรรษ ไล่เรียงมาตั้งแต่ ตูนีเซีย อียิปต์ ลิเบีย เยเมน บาห์เรน ฯลฯ ระบาดไปทั่วภูมิภาคจนมีการเรียกขานปรากฏการณ์นี้ว่า "อาหรับสปริง" หรือการปฏิวัติในประเทศอาหรับ 

สงครามซีเรีย
SAID KHATIB / AFP

             และในที่สุดปรากฏการณ์นี้ก็ขยายวงกว้างมาถึงประเทศซีเรีย เมื่อในวันที่ 15 มีนาคม 2554 กลุ่มประชาชนชาวซีเรียนับหมื่นที่ไม่พอใจรัฐบาลพรรคบะอัษ (Ba'ath) ของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ได้ประท้วงเดินขบวนเรียกร้องให้พรรคบะอัษยุติการปกครองประเทศ และประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ต้องลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าคนในตระกูลอัล อัสซาด ผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตำแหน่งประธานาธิบดีมานานกว่า 4 ทศวรรษ คือตั้งแต่ปี 2514 พันเอกฮาเฟซ อัล-อัสซาด ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ลูกชายคือประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

             เมื่อสถานการณ์การประท้วงทำท่าจะลุกลาม และบานปลายขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด ในเดือนเมษายน 2554 รัฐบาลก็ได้สั่งการให้กองกำลังความมั่นคงเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมในหลาย ๆ เมืองทั่วประเทศ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จากหลักสิบพุ่งเป็นหลักร้อย หลักพัน ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ จนองค์การสหประชาชาติ (UN) ต้องออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชน 

             เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรซีเรีย ไม่ต่างจากสันนิบาตอาหรับที่สั่งระงับสมาชิกภาพของซีเรีย ขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็พยายามกดดันซีเรียเช่นกัน ด้วยการอายัดทรัพย์สินในต่างประเทศของผู้นำซีเรีย และแกนนำระดับสูงของรัฐบาลซีเรีย 6 คน พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้นำซีเรียสละอำนาจโดยเร็ว  

             อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า รัฐบาลซีเรียจะไม่ได้สนใจต่อเสียงเรียกร้องจากนานาชาติเท่าใดนัก ยังคงเปิดฉากกวาดล้างผู้ชุมนุมอีกหลายครั้งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศรัสเซีย และอิหร่าน ขณะที่ประเทศจีนคอยให้ความช่วยเหลือทางการทูต ทำให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ปรากฏตัวผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ย้ำความมั่นใจว่ารัฐบาลของตัวเองจะไม่ถูกโค่นล้มอย่างแน่นอน

สงครามซีเรีย
SHAAM NEWS NETWORK / AFP

             ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ตอนแรกเป็นเพียงการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่เมื่อถูกปราบปรามอย่างหนัก ในที่สุดก็ลุกขึ้นมาจับอาวุธ โดยความร่วมมือกันระหว่างทหารที่แปรพักตร์ อาสาสมัคร และพลเรือนส่วนหนึ่ง หลังจากได้รับการสนับสนุนอาวุธจากประเทศตุรกี และซาอุดีอาระเบีย โดยมีประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี กาตาร์ ให้ความช่วยเหลือทางการทูต

             การสู้รบยิ่งระอุขึ้นเรื่อย ๆ ในปลายปี 2554 เมื่อกลุ่มต่อต้านก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในกรุงดามัสกัส เมืองหลวง และเมืองอะเลปโป เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ขณะเดียวกันก็สะสมกองกำลังติดอาวุธมากขึ้น ทำให้รัฐบาลซีเรียต้องหันไปสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย "ฮิซบอลเลาะห์" ที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศเลบานอน ให้เข้ามาร่วมปฏิบัติการปราบกบฏกับกองทัพซีเรียด้วย โดยลั่นวาจาว่าปฏิบัติการจะดำเนินไปจนกว่าฝ่ายกบฏจะย่อยยับ

             เมื่อกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก้าวเข้ามาร่วมในสงคราม ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์สงครามกลางเมืองเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ทางฝ่ายกบฏได้ลอบคาร์บอมบ์ ระเบิดที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก็เดินหน้าถล่มฝ่ายกบฏ พร้อมกับยึดเมืองคืน ขณะเดียวกันที่เป็นปริศนาก็คือ มีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย เรียกกันว่า "ชาบีฮา" ซึ่งเป็นกองกำลังชุดดำติดอาวุธได้ทำการสังหารหมู่ประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กัน

สงครามซีเรีย
SANA / AFP

             เหตุการณ์ลุกลามมาเรื่อย จนถึงในช่วงต้นปี 2556 องค์การระหว่างประเทศได้ออกมาประณามรัฐบาลซีเรียอย่างกว้างขวาง หลังจากได้จับกุมผู้ประท้วงหลายหมื่นคนไปทรมานอย่างหนักในเรือนจำของรัฐ รวมทั้งประณามฝ่ายต่อต้านที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สหประชาชาติประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามซีเรียที่กินเวลามาเกือบ 2 ปี สูงกว่า 70,000 คน ราวครึ่งหนึ่งเป็นพลเรือน ผู้สูญหายอีกหลายหมื่นคน ขณะที่มีประชาชนชาวซีเรียกว่า 1.4 ล้านคน ขอลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

             ฝั่งนานาชาติก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์นี้ หลายประเทศในกลุ่มอาหรับประกาศปิดสถานทูตในซีเรีย เพื่อประท้วงรัฐบาลที่สังหารประชาชน ขณะที่องค์การที่เกี่ยวข้องก็ประชุมออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกดดันให้สงครามครั้งเลวร้ายยุติลง แต่ดูเหมือนว่ายิ่งเวลาผ่านไปเท่าใด คำว่า "สันติภาพ" ในประเทศซีเรีย ก็ยิ่งไกลห่างออกไปทุกที การสู้รบยังคงเกิดขึ้นอย่างดุเดือดและต่อเนื่อง แต่ละวันจะมีผู้คนล้มตายจำนวนนับไม่ถ้วน


ภาพประกอบจาก mapsnworld.com

             ในปี 2556 ดูเหมือนว่าสงครามจะไม่ได้เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลซีเรีย และฝ่ายต่อต้านแต่เพียงเท่านั้น เมื่อฝ่ายต่อต้านได้ลักพาตัวเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติ จำนวน 21 นาย เพื่อกดดันให้รัฐบาลถอนกำลัง อีกด้านหนึ่งทางกองทัพอิสราเอลก็ตัดสินใจยิงจรวดโจมตีคลังอาวุธของกองทัพซีเรียหลายครั้ง เพื่อหวังจะทำลายขีปนาวุธพิสัยไกลที่อิสราเอลอ้างว่าประเทศอิหร่านส่งมาช่วยซีเรียใช้ต่อสู้กับฝ่ายกบฏ และจะส่งต่อให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในชายแดนเลบานอน

             เมื่อประเทศอิสราเอลเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งครั้งนี้ ก็ทำให้กลุ่มประเทศสันนิบาตชาติอาหรับอดวิตกกังวลไม่ได้ว่า สถานการณ์จะยิ่งบานปลายขนาดไหน และก็เป็นดังคาด เมื่อกองทัพซีเรียขู่จะเปิดศึกอีกด้านกับอิสราเอล โดยประกาศกร้าวจะตอบโต้อิสราเอลที่ยิงจรวดโจมตีคลังแสงซีเรีย จนทำให้ทหารเสียชีวิต 42 นาย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนทางรัฐบาลอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา กลับมองว่า การที่อิสราเอลส่งจรวดเข้าทำลายอาวุธของกองทัพซีเรีย ถือเป็นสิทธิของอิสราเอลที่จะปกป้องประเทศให้พ้นจากภัยคุกคามของกลุ่มติดอาวุธตามแนวชายแดน 

สงครามซีเรีย
SHAAM NEWS NETWORK / AFP

             ขณะที่สงครามกลางเมืองในซีเรียก็ยังดำเนินต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าจะสงบลง กระทั่งปรากฏเป็นข่าวช็อกโลกในวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556 เมื่อกองทัพซีเรียทิ้งระเบิดปราบกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลในเมืองกัวตาห์ ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,300 คน ในจำนวนนี้มีทั้งเด็ก สตรี และคนชรา โดยภาพของศพนับพันที่นอนกันเรียงรายกลายเป็นภาพโศกนาฏกรรมอันน่าหดหู่ที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก 

             จากเหตุการณ์นี้ ทำให้กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติซีเรียและนักเคลื่อนไหวออกมาประณามรัฐบาลที่โจมตีประชาชนด้วยอาวุธเคมี และแก๊สพิษซาริน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ทางการได้รีบออกมาปฏิเสธโดยทันที ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนก็เชื่อว่าอาจจะเป็นฝีมือของมือที่สามเข้ามาแทรกแซงก็เป็นได้ 

             อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สหประชาชาติ และนานาชาติ ต่างพากันเรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียอนุญาตให้คณะผู้ตรวจสอบการใช้อาวุธเคมีของสหประชาชาติเข้าถึงพยาน และเหยื่อได้อย่างอิสระ โดยไม่มีการแทรกแซงหรือปั้นแต่งหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้กระจ่างชัด

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Edward Snowden, Where are you?

กรณีนาย Edward Snowden


ข่าวดังระดับโลกเมื่อหลายเดือนก่อนต้องยกให้กรณีอื้อฉาวของรัฐบาลสหรัฐ โดยมีคู่กรณีคือนาย Edward Snowden อดีตเจ้าหน้าที่ Central Intelligence Agency (CIA) ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว BBC ของอังกฤษว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังใช้อำนาจที่มีอยู่ในการกำกับดูแล ตรวจสอบ เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Information) ของประชาชนโดยมิต้องขออนุญาต รวมถึงการดักฟังโทรศัพท์ (Wiretapping) และกำกับดูแลการใช้ข้อมูลการอินเทอร์เน็ต (Monitoring of Internet Data) ของประชาชน โดยรัฐบาลใช้ข้อกล่าวอ้างที่ว่า “อาจเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อรัฐบาลสหรัฐ” เป็นเหตุผลหลักในสำหรับการกระทำการดังกล่าว
ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้แสดงความกระตือรือร้นอย่างยิ่งในการติดตามตัวนาย Snowden กลับมายังมาตุภูมิเพื่อรับโทษตามกฎหมายในข้อหาเปิดโปงข้อมูลอันเป็นความลับของทางราชการโดยมิได้รับการอนุญาต โดยรัฐบาลสหรัฐได้ขอความร่วมมือไปยังหลายสิบประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศภาคีที่สหรัฐมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Extradition Treaty) ด้วย ในขณะที่นาย Snowden เองก็ได้ขอลี้ภัยในหลายสิบประเทศเช่นกัน โดยประเทศที่เสนอ (Offer) ให้นาย Snowden ลี้ภัยภายในประเทศของตนก็มีหลายประเทศ เช่น เวเนซุเอลา นิคารากัว โบลิเวีย
สถานการณ์ล่าสุดขณะนี้ (วันที่ 13 สิงหาคม 2556) นาย Snowden ได้ลี้ภัย (Asylum) อยู่ในประเทศรัสเซีย โดยที่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเพิ่งให้การรับรองการลี้ภัยของนาย Snowden อย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ก่อน เนื่องจากรัสเซียและสหรัฐไม่มีความตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน นอกจากนี้ ตามกฎหมายของรัสเซียนาย Snowden มีสิทธิที่จะลี้ภัยอยู่ในรัสเซียได้นานถึง 1 ปี และสามารถต่อสิทธิการลี้ภัยออกไปได้
จากสาเหตุนี้เองนำไปสู่ความตึงเครียด (Tension) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผลสะท้อนกลับของความไม่พอใจจากสหรัฐคือ การที่ประธานาธิบดีโอบามาได้ยกเลิกการประชุมสุดยอดสหรัฐและรัสเซีย (US-Russia Summit) เป็นการตอบโต้การกระทำของรัสเซีย
ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว ประเด็นปัญหาของนาย Snowden ไม่ควรที่จะลุกลามบานปลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างสหรัฐและรัสเซียด้วยซ้ำ แต่ในที่สุดก็เป็นไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด และจากจุดนี้เองอาจเปรียบเสมือนเชื้อไฟลามทุ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกันในด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้น การบริหารจัดการเรื่องความมั่นคงภายในประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
จากจุดเดียวกันนี้เอง ทำให้ระบบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาที่เชื่อว่าเป็นระบบประชาธิปไตยที่ดีที่สุดระบบหนึ่งของโลก กำลังถูกท้าทายจากประชาคมโลกว่า ประชาธิปไตยในแบบที่สหรัฐเป็นอยู่นั้นเป็นประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพและประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ (Liberty and Freedom) จริงหรือไม่
เนื่องจากการใช้อำนาจที่ค่อนข้างเกินขอบเขต (Excessive Power) ของรัฐบาลในสหรัฐ ด้วยการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลเชิงลึกโดยมิได้มีแจ้งการให้ทราบล่วงหน้า จนกระทั่งบัดนี้เองก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า การใช้อำนาจที่เหมาะสม มีความเป็นกลาง มีประสิทธิภาพ โดยมีเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ตั้งจุดสมดุล (Balance) จะอยู่ที่ใด นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันปัจจุบันและกำลังแผ่ขยายความตึงเครียดในระดับโลก


ก่อนจะเริ่มเขียนคอลัมน์ในวันนี้ ขอถือโอกาสส่งกำลังใจและส่งความปรารถนาดีไปถึงพี่น้องชาวมุสลิมที่กำลังปฏิบัติความเคร่งเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และพิสูจน์แรงศรัทธาต่อพระอัลเลาะห์ในเดือนรอมฎอน ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ขอให้ความดีที่ตั้งใจทำไว้กลับสู่ทุกท่านอย่างทวีคูณ และขอให้บุญกุศลที่สะสมเอาไว้นั้นคุ้มครองทุกท่านครับ  

  
สำหรับคอลัมน์ในวันนี้จะถือว่าเป็นการครบรอบเกือบ 1 เดือนเต็มที่คนทั่วโลกจะได้ยินชื่อนาย Edward Snowden ไม่ว่าใครจะติดตามข่าวคราวประเภทจริงจังหรือประเภทผิวเผิน  หรือแม้แต่จะคุ้นกับชื่อของ Snowden แต่เมื่อเอ่ยชื่อของเขาขึ้นมา ผมเชื่อว่าหลายคนคงต้องคุ้นบ้าง    

ลำพังเพียงแค่ชื่อของ Snowden เฉยๆ ก่อนเกิดเหตุการณ์คงไม่มีใครในโลกนี้รู้จักเขาเท่าไรนัก เพราะเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่งไม่ได้เป็นดารา ไม่ได้เป็นนักเขียน ไม่ได้เป็นอาจารย์ ไม่ได้เป็นนักกีฬา และไม่ได้เป็นนักการเมือง เขาเป็นเพียงผู้ชายคนหนึ่งเท่านั้น แต่ที่น่าสนใจคือเป็นผู้ชายที่ทำงานในหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ แต่ไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โตหรือสำคัญอะไรเป็นพิเศษนัก แต่ที่เป็นจุดเด่นขึ้นมาทั่วโลกมาตลอด 1 เดือนเต็มก็คือ เขาได้ข้อมูลลับๆ หรือเรียกว่าเอกสารที่เป็นหลักฐานชัดๆ ว่า ทางหน่วยงานความมั่นคงฝ่ายสหรัฐ ร่วมกับของประเทศอังกฤษ ได้ปฏิบัติตัวในทางมิชอบเป็นประจำ ซึ่งหมายความว่าแอบดักฟังโทรศัพท์ของคนทั่วไปหรือเลือกเฉพาะกลุ่ม แอบอ่าน E-mail ของคนทั่วไปเช่นเดียวกัน หรือพูดง่ายๆ ทำในสิ่งที่คนทั่วไปสงสัย และสันนิษฐานว่าหน่วยงานเหล่านี้ต้องทำเพื่อรักษาความสงบและรักษาความปลอดภัยให้กับประเทศ

   
พอ Snowden เริ่มรู้ตัวว่าทางหน่วยงานที่เขาสังกัดอยู่นั้น จับได้ว่า Snowden เป็นหนอนบ่อนไส้ ทาง Snowden เลยถือโอกาสหนีออกจากประเทศและพยายามเลือกประเทศที่ไม่มีข้อตกลงเรื่องสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับสหรัฐอเมริกา   และที่ผมงงคือเลือกไปประเทศฮ่องกง ซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นประเทศแล้วครับ แต่ถือว่าเป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้ประเทศจีน  

    หลังจากที่อยู่ฮ่องกงเป็นเวลาไม่นานนัก เพราะทางฮ่องกงปฏิเสธที่จะลี้ภัยให้ Snowden ทางเขาจึงต้องหาประเทศอื่นเพื่อลี้ภัยต่อไป ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมามีการสันนิษฐานว่าจะไปประเทศเอกวาดอร์ หรือรัสเซีย หรือจะไปประเทศไหนก็ตามแต่ที่ไม่ใช่ประเทศที่ทางสหรัฐสามารถลากตัวเขากลับมาได้ ตามข่าวล่าสุดมีข่าวลือว่า Snowden อยู่ที่รัสเซีย โดยที่ทางรัสเซียไม่ค่อยยอมให้ความร่วมมือกับทางสหรัฐ   เลยเป็นเรื่องที่ยืดยาวและต่อเนื่องไปเรื่อยๆ 

    แต่ถึงแม้เรื่องของ Snowden จะค่อยๆ เลือนหายออกจากความสนใจของคนทั่วโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจหรอกครับ เพราะประเด็นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งก็คือ ความรู้สึกของคนทั่วไปเมื่อทราบข่าวเรื่องนี้  

    ลึกๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นคนอเมริกัน คนอังกฤษหรือคนอะไรก็แล้วแต่ในทุกประเทศทั่วโลก ตามความเข้าใจของคนคือ หน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงของประเทศไม่ว่าจะเป็นหน่วยข่าวกรอง กองทัพหรือตำรวจ อาจจะต้องใช้วิธีการรักษาความปลอดภัยและความสงบที่ไม่ค่อยสะอาดหรือซื่อตรงเท่าไรนัก   เพราะเมื่อต้องจัดการกับมารยิ่งเฉพาะมารที่อยู่ในที่มืด ต้องทำตัวเป็นมารเช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่าความเข้าใจตรงนี้เป็นสิ่งที่คนไทยรับได้และรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อความปลอดภัยของส่วนรม

    แต่ความตลกของความเป็นมนุษย์ คือ เมื่อมีใครเปิดโปงว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นหรือเปิดเผยว่าสิ่งเหล่านี้มีจริง คนทั่วไปจะรู้สึกยัวะและโกรธขึ้นมา เพราะสิทธิส่วนบุคคลของเขาถูกละเมิด มันเข้าข่ายความคิดตรงนี้ไหมครับว่าในบางเรื่องการไม่รับรู้เปรียบเสมือนความสุขที่แท้จริง เพราะพอรู้ขึ้นมาจะทำให้รู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจ

  
  อย่าบอกว่าตัวเองไม่เคยคิดหรือไม่เคยเชื่อว่าหน่วยงานที่รักษาความสงบและความปลอดภัยของสังคมจะไม่ได้ใช้วิธีที่บางครั้งล้ำเส้น เพราะถ้าทุกคนเชื่อแบบนั้นผมเชื่อว่าทุกคนคงอยู่ในโลกแห่งความฝัน บางครั้งอาจจะต้องใช้วิธีการสกปรกๆ  เพื่อให้เรื่องชัดเจนหรือสะอาดขึ้น แต่เพื่อความสบายใจให้แก่สังคมโดยรวม บางครั้งในการที่ไม่บอกให้รับรู้ เป็นการรักษาความสงบที่ดี เพียงแต่เกิดคำถามที่ว่าขอบเขตและเส้นแบ่งระหว่างความจำเป็นกับการทำเลยอำนาจมันอยู่ตรงไหน และถ้ารู้ขึ้นมาว่าเจ้าหน้าที่ดักฟังโทรศัพท์เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตน นั่นแหละครับคือจุดเริ่มต้นของปัญหา ซึ่งในครั้งนี้ผมเชื่อว่าคนทั่วไปสนใจในเรื่องของ Snowden เพราะเขามีข้อมูลอยู่ในมือว่าทางสหรัฐและทางอังกฤษแอบดักฟังการคุยโทรศัพท์ได้มากน้อยเพียงไร และข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างยิ่งของคนทั่วไป และจะเกิดความอึดอัดจากฝ่ายสหรัฐอเมริกา

    แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดเรื่องได้คือข่าวที่หน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐแอบขโมยหรือ Hack ข้อมูลของจีนด้วยซ้ำ เพราะอย่าลืมว่าในช่วงที่เรื่องนี้กำลังเปิดเผยไปทั่วโลกเมื่อประมาณเดือนที่แล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผู้นำของประเทศจีนกับสหรัฐอเมริกาไปพบปะคุยกันในรีสอร์ตแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งประเด็นหลักในการพบปะกันในครั้งนั้นคือเรื่องของการ Hack ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ที่ฝั่งสหรัฐจะกล่าวหาว่าฝ่ายจีนเป็นฝ่ายที่ละเมิดการกระทำตรงนี้ แต่ปรากฏว่า Snowden เปิดโปงว่าเป็นฝ่ายสหรัฐที่ทำเสียมากกว่า  

    หลังจากที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศเจอกันเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อล่าสุดมานี้ทางคณะจากจีนได้ไปที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อสืบเรื่องราวต่างๆ จากการพบกันในครั้งนั้น ซึ่งจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาทางประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้แสดงท่าทีต่อคณะจากจีนว่า เขาค่อนข้างผิดหวังกับการกระทำของจีนที่เหมือนกับปล่อยตัว Snowden ออกจากประเทศจีนได้ง่ายดายขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ทางสหรัฐเรียกร้องให้ฮ่องกงส่งตัว Snowden มาที่สหรัฐอย่างเป็นทางการระหว่างที่ Snowden  อยู่ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ทางโอบามาบอกฝ่ายจีนว่าการกระทำแบบนี้ทำให้เจตนารมณ์และบรรยากาศดีๆ ของการพบปะกันในครั้งโน้น เสียหายไปหรืออย่างน้อยก็เสื่อมลงอย่างแรง  

    แต่ฝ่ายจีนตอบมาสุดยอดครับ ผู้อาวุโสสุดของคณะจีนบอกว่าทางรัฐบาลกลางของจีนไม่เคยเข้ามาแทรกแซงอำนาจอธิปไตยเขตปกครองพิเศษฮ่องกงมาตลอดระยะเวลา 16 ปี ที่ประเทศอังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้กับประเทศจีน ซึ่งเป็นการเรียกร้องของประเทศตะวันตกอย่างเช่นสหรัฐและอังกฤษ เป็นต้น ดังนั้นที่ฮ่องกงอนุญาตให้ Snowden ออกจากประเทศไปในทางกฎหมายและตามความชอบธรรมของฮ่องกงโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลกลางของจีนแม้แต่นิดเดียว  

    ผมคงไม่ต้องบอกหรอกครับว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นี้ฝ่ายสหรัฐไม่พอใจกับทั้งจีนและรัสเซียอย่างมาก แต่ตอนนี้เราลองดูว่าบทบาทของฮ่องกงเป็นอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ดีกว่า ถ้ามองผิวเผินหลายคนอาจตีความว่าทางฮ่องกงร่วมมือกับรัฐบาลกลางจีน หรือรับคำสั่งจากรัฐบาลกลางจีนให้ปล่อยตัว  แทนที่จะให้ความร่วมมือกับทางสหรัฐ ด้วยการส่ง Snowden กลับบ้าน และหลายคนอาจจะตีความว่าพอฝ่ายจีนรู้ขึ้นมาว่าฝ่ายสหรัฐแอบ spy ฝ่ายจีนเป็นว่าเล่น ก็คงไม่ผิดหรอกถ้าจะคิดว่าฝ่ายจีนจะไม่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐ เพื่อแก้แค้นหรือกลั่นแกล้งก็ว่าได้ แต่ผมไม่อยากให้มองข้ามการรักษาอธิปไตยและแสดงพลังของเกาะฮ่องกงหรอกครับ

    ในการแถลงของฮ่องกงที่ปล่อยให้ Snowden ออกไปได้นั้น ทางฮ่องกงแถลงว่าตลอดระยะเวลาที่เรื่องนี้เกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงตลอดระยะเวลาที่ Snowden อยู่ในประเทศของเขา  ฝ่ายสหรัฐเรียกร้องให้ทางฮ่องกงออกหมายจับ Snowden แต่ต่อเมื่อทางฮ่องกงขอฝ่ายหรัฐถึงเหตุผล รวมถึงหลักฐานว่า Snowden เป็นบุคคลที่ควรออกหมายจับนั้น ทางสหรัฐไม่สามารถให้เอกสารหรือเหตุผลตามรอบเวลาที่ Snowden มีสิทธิ์อยู่ในประเทศและตามกฎหมายของท้องถิ่นด้วย เพราะเหตุผลเหล่านี้บวกกับการเรียกร้องอย่างเป็นทางการไปถึงสหรัฐ เรื่องที่สหรัฐแอบ Hack ข้อมูลที่มีผลกระทบต่ออธิไตยของฮ่องกงด้วยซ้ำ จึงเป็นเหตุผลที่อนุญาตให้ Snowden ออกจากประเทศได้ 

    เหตุผลและหลักการอยู่ที่เรื่องเอกสารระหว่างฮ่องกงและสหรัฐ ที่ทางฮ่องกงแถลง แต่เรื่องที่พูดถึงการแอบ Hack ข้อมูล จากสายตาผมนั้นเหมือนเป็นการตอกย้ำและตบหน้า   แต่ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่การที่ฮ่องกงจะปล่อยตัว Snowden ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรครับ ถึงแม้ฮ่องกงจะอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลจีนกลางก็ตาม แต่ทางฮ่องกงได้อธิปไตยที่แยกตัวออกมาจากจีนนานพอสมควร เพราะถ้าดูประวัติของฮ่องกงตลอดระยะเวลา 16 ปีที่อยู่ภายใต้จีน จะเห็นได้ชัดว่าเขาพยายามทุกวิถีทางที่ให้ทั่วโลกและจีนรู้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นมณฑลหนึ่งของจีนเท่านั้น แต่ของเขาเป็นเขตปกครองพิเศษที่มีอธิปไตยและเอกลักษณ์ของตัวเขาเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางจีนควรจะจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเขาสามารถยืนหยัดด้วยตนเองและตบหน้าสหรัฐด้วยความใจกล้าอย่างนี้ อีกหน่อยเขาจะไม่ทำเช่นนี้กับรัฐบาลกลางของจีนหรอกเหรอ  

    หลังเหตุการณ์ที่ Snowden ออกจากฮ่องกง ทั้งสื่อท้องถิ่นและประชาชนของฮ่องกงลุกขึ้นปรบมือและให้กำลังใจผู้บริหารเกาะฮ่องกง และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูต่อไปว่าฮ่องกงจะวางตัวอย่างไรต่อไปในอนาคต ส่วนเรื่องของ Snowden ก็ต้องดูกันต่อไปว่าดราม่าในเรื่องของเขาจะเป็นเช่นไร.