คำว่า “วิป” ที่คนไทยหลายคนคงมักได้ยินบ่อยครั้งเมื่อมีการประชุมสภา เช่นคำว่า วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน แล้วคำว่า “วิป” ในที่นี้มีความหมายว่าอย่างไร มีที่มาจากไหน?
วิป เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษจากคำว่า “Whip” เป็นคํากริยา แปลว่า เหวี่ยง เฆี่ยน หวด หรือโบย หากเป็นคํานามจะแปลว่า ไม้เรียวหรือแส้ เมื่อนํามาใช้กับบุคคลจะหมายถึงผู้ที่ใช้แส้ในกิจการบางอย่าง
ต้นกำเนิดของคำว่าวิปในศัพท์ทางการเมืองมีที่มาจากประเทศอังกฤษ โดย เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) ใช้คําว่า Whip เป็นคนแรกในปี ค.ศ. 1769 เพื่อเปรียบเทียบกับการล่าสัตว์ เมื่อสุนัขล่าสัตว์แตกฝูง ผู้ควบคุมการล่าจึงต้องคอยควบคุมให้สุนัขกลับมารวมฝูงจึงเรียกว่า Whip หรือ Whisperers-in
พรรคทุกพรรคในสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษจะมีคณะเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า “ผู้คุมคะแนนเสียงในสภา” หรือวิป ประกอบไปด้วย หัวหน้าวิป รองหัวหน้าวิป วิปอาวุโส และคณะวิป โดยผู้ที่อยู่ใน “วิป” จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจและมีความสามารถในการเจรจาและควบคุมสมาชิกพรรคได้ ทั้งยังต้องเป็นผู้ที่หัวหน้าพรรคให้ความไว้วางใจอีกด้วย
วิปยังมีอีกความหมายหนึ่งคือ “หนังสือเวียน” หรือเอกสารวิป ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1621 เป็นเอกสารที่หัวหน้าวิปของแต่ละพรรคส่งให้กับสมาชิกในสังกัดทางไปรษณีย์ทุกวันศุกร์ ถ้าเป็นกรณีพิเศษมักส่งเวียนในระหว่างสัปดาห์
เอกสารวิปจะระบุกิจกรรมที่มีขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์ต่อไป โดยจะทำเครื่องหมาย “ขีดเส้นใต้” เพื่อเน้นความสำคัญของแต่ละเรื่อง คือ
1) ขีดเส้นใต้ 3 เส้น หมายความว่าเรื่องนั้นมีท่าทีว่าจะต้องลงมติ และการเข้าประชุมสภาจําเป็นอย่างยิ่ง
2) ขีดเส้นใต้ 2 เส้น หมายความว่าเรื่องนั้นมีความสําคัญแต่ไม่สําคัญยิ่งยวด
3) ขีดเส้นใต้ 1 เส้น หมายความว่ามีการประชุมตามปกติ และจะไม่มีเรื่องยุ่งยากเกิดขึ้น
ปัจจุบันคําว่า “วิป” ในการเมืองประเทศอังกฤษจึงหมายถึง สมาชิกของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีหน้าที่ควบคุมให้สมาชิกของพรรคมาประชุมเพื่อออกเสียงลงมติ และหมายถึงหนังสือเวียนซึ่งสมาชิกของพรรคส่งไปเรียกตัวสมาชิกพรรคของตน และแจ้งให้สมาชิกทราบถึงกําหนดการทํางานในสภาผู้แทนราษฎร
ส่วน “วิป” ในการเมืองไทยก็มีลักษณะคล้ายกับการเมืองอังกฤษ ฝั่งวิปรัฐบาลจะมีชื่อเป็นทางการว่า “คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร” หรือ “ปสส.” มีการแต่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2526 โดยมีนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นประธาน ตามคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 79/2526 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
หน้าที่หลักของ ปสส. คือดำเนินงานให้การปฏิบัติงานและติดต่อประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกในพรรคร่วมรัฐบาล ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างกฎหมาย ญัตติ การตอบกระทู้ถาม รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ให้ดําเนินไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้วิปจะมีหน้าที่ติดต่อให้สมาชิกในพรรคทำหน้าที่ให้เป็นเอกภาพตามแนวทางของพรรคที่วางไว้ และต้องควบคุมสมาชิกในพรรคของตนหรือพรรคร่วมรัฐบาลให้มาประชุมสภาเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงสนับสนุนเพียงพอในการลงมติ ส่วนการดำเนินงานของ “วิป” คณะอื่น ๆ เช่น วิปฝ่ายค้านก็จะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันดังที่กล่าวเบื้องต้น
“วิปรัฐบาล” มีส่วนสำคัญใน “เกมการเมือง” อย่างมาก เพราะเป็นเสมือน “กุนซือ” ของฝ่ายรัฐบาลก็ว่าได้ ที่เปรียบเช่นนี้เพราะ หากคณะรัฐมนตรีต้องการเสนอร่างพระราชบัญญัติใด ๆ จะต้องส่งให้ ปสส. พิจารณาก่อนส่งให้สภาผู้แทนราษฎร และ ปสส. ยังต้องพิจารณาระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรประจําสัปดาห์ เพื่อกําหนดแนวทางการดําเนินงานในเรื่องต่าง ๆ แล้วนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ดังนั้น วิปจึงเปรียบเสมือนคณะผู้ประสานงานคณะหนึ่งเป็น “ศูนย์กลาง” ที่คอยควบคุมจัดการให้กิจการดำเนินไปอย่างเรียบร้อย และเป็นกลไกสำคัญทางการเมือง หากมี “วิป” ที่เก่งกาจและ “รู้ทัน” ฝ่ายตรงข้ามก็จะทำให้ฝ่ายตนมีประสิทธิภาพเหนือ ดังสำนวนที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”
อ้างอิง :
คู่มือแนวทางปฏิบัติงาน คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (ปสส.) โดย ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ ปสส., มีนาคม 2551.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น