เพลงฉ่อยชาววัง

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ความขัดแย้งภายในและภายนอกของ ซาอุดิอาระเบีย, สุกิจ ทรัพย์เอนกสันติ

อาหารสมอง ไม่ฟังไม่ได้แล้ว ขอบคุณคุณสุกิจค่ะ









Read this first

รู้จัก ‘ฉนวนกาซ่า’ เข้าใจวิกฤติตะวันออกกลาง

ศราวุฒิ อารีย์
- สำเร็จการศึกษาปริญญาโทและเอก สาขาเอเชียตะวันตกศึกษา (อินเดีย)
- นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฉนวนกาซ่า เป็นชื่อเรียกอาณาบริเวณเล็ก ๆ ขนาด 360 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับอียิปต์ ทางเหนือและตะวันออกติดกับประเทศอิสราเอล และทางตะวันตกติดทะเล    เมดิเตอร์เรเนียน เหตุที่เรียกว่า ‘ฉนวนกาซ่า’ ก็เพราะเขตแดนส่วนนี้ถูกกำหนดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์หลัง สงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรก ปี 1948 ให้เป็นคล้าย ๆ เขตกันชนระหว่างคู่อริทั้ง 2 ฝ่าย 
แม้จะมีพื้นที่ที่เล็กมาก แต่กาซ่าก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก ประชากรอาศัยอยู่ที่นี่มีมากถึง 1.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 75 เป็นผู้หญิงและเด็ก ประชากรในกาซ่าถึง 3 ใน 4 เป็นผู้อพยพลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ที่สหประชาชาติจัดไว้ให้ ส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกิดในพื้นที่ฉนวนกาซ่า แต่ก็มีบางส่วนที่อพยพมาตั้งแต่หลัง สงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกในปี 1948
หลังปี 1948 ฉนวนกาซ่าถูกปกครองโดยอียิปต์ แต่อียิปต์ก็ไม่ได้ผนวกรวมเอาดินแดนส่วนนี้เป็นของตน จนกระทั่งอิสราเอลชนะสงครามหกวัน ในป 1967 (ซึ่งอิสราเอลสามารถยึดครองดินแดนของอาหรับได้มากมาย) ทำให้ฉนวนกาซ่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง อย่างไรก็ตาม อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ทำสนธิสัญญาออสโลร่วมกันในปี 1993 ซึ่งส่วนหนึ่งในข้อตกลงนั้นคือ การอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตัวเอง (อย่างจำกัด) ในเขตฉนวนกาซ่า
ต่อมาในปี 2005 อิสราเอลจึงได้ดำเนินการถอนทหารและนิคมชาวยิว (ที่ผิดกฏหมาย) ออกจากฉนวนกาซ่าทั้งหมด จากนั้น เมื่อฮามาสชนะการเลือกตั้งปี 2006 ฉนวนกาซ่าจึงเป็นเขตอิทธิพลของรัฐบาลฮามาสจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
หากเทียบกาซ่ากับดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่ น้ำจอร์แดน หรือ ‘เวสต์แบงก์’ (ซึ่งทั้ง 2 อาณาบริเวณนี้ถูกกำหนดให้เป็นรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต) ต้องถือว่า กาซ่ามีขนาดเล็กกว่ามาก อีกทั้งประชากรยังมีฐานะยากจนกว่า เพราะกาซ่ามีทรัพยากรน้อยกว่า มีผลผลิตทางการเกษตรน้อยกว่า เป็นดินแดนแห้งแล้งทุรกันดาร แถมยังเป็นที่อยู่ของผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีงานทำอยู่แล้ว
สภาพอย่างนี้ โดยปกติชาวกาซ่าก็มีความเป็นอยู่ที่ลำบากอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลายปีหลังนับตั้งแต่ 2007 อิสราเอลยังใช้มาตรการปิดล้อมกาซ่า จำกัดการนำเข้าอาหารการกิน ยารักษาโรค วัสดุก่อสร้าง และสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ด่านพรมแดนต่างๆ ทั้งที่จะข้ามไปอียิปต์และอิสราเอลก็ถูกปิด สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนเปรียบเสมือนถูกลงโทษอยู่ใน ‘คุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก’
ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งมีคนตายจำนวนมากในกาซ่าอันเกิดจากมาตรการปิดล้อมดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากการโจมตีของอิสราเอลครั้งต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต หรือการตายอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเพราะไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษา โรคเพียงพอ ที่แย่กว่านั้นคือ เด็กปาเลสไตน์กว่าครึ่งในฉนวนกาซ่าเป็นโรคขาดสารอาหาร ทั้งหมดเป็นผลมาจากการปิดล้อมกาซ่าของอิสราเอลตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
การปิดล้อมดังกล่าวถือเป็น “อาชญากรรมสงคราม” ตามที่ Judge Richard Goldstone ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะไต่สวนความจริงของสหประชาชาติ1 ได้ระบุเอาไว้ และถือว่าเป็นรูปแบบ “การลงโทษแบบเหมารวม” (collective punishment) ตามความเห็นของทั้งหัวหน้ากิจการด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ และสภาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่ได้ติดตามศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2008
ต่อมาในปี 2010  International Committee of The Red Cross ได้สรุปว่า การปิดล้อมกาซ่าของอิสราเอลถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา และเรียกการปิดล้อมนี้ว่า “การลงโทษแบบเหมารวม” ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ2 นอกจากนั้น แถลงการณ์ที่มีน้ำหนักและทรงอิทธิพลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในปี 2010 ยังมาจาก Navi Pillay ข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนที่ออกมาประณามการปิดล้อมกาซ่าอย่าง รุนแรง
กาซ่ามิใช่ดินแดนเดียวที่ได้รับความเดือด ร้อนในปาเลสไตน์ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศนั้น ทั้งดินแดนกาซ่าและเวสแบงก์ถือเป็นดินแดนของปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง (Occupied Territories) ดินแดนเวสแบงก์ขณะนี้อยู่ภายใต้การนำของ “คณะปกครองปาเลสไตน์” (Palestinian Authority) ซึ่งแตกต่างกับกาซ่าที่ปกครองโดยกลุ่มขบวนการฮามาส
แม้กระนั้นก็ตาม ดินแดนเวสแบงก์ก็ถูกยึดครองและมีการตั้งถิ่นฐานชาวยิวอย่างผิดกฎหมายคิดเป็น ร้อยละ 40 ของดินแดนในเวสแบงก์ทั้งหมด ดินแดนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ที่เหลือถูกปิดล้อมด้วยกำแพง คอนกรีตสูงลิบที่อิสราเอลเรียกว่า “กำแพงความมั่นคง” แต่โดยคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว กำแพงดังกล่าวนี้ถือเป็น “สิ่งผิดกฎหมาย” และเป็นการ “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ”
สำนักงานสหประชาชาติเพื่อการประสานงานด้าน กิจการมนุษยธรรมได้รายงานว่า กำแพงดังกล่าวได้ผนวกล้ำดินแดนเวสแบงก์ไปร้อยละ 9.5 นอกจากนั้น ในปี 2010 ชาวปาเลสไตน์ในเวสแบงก์อย่างน้อย 14 คนยังถูกสังหารโดยกองทัพอิสราเอลและอีกนับร้อยๆ คนถูกจับกุมคุมขัง
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ชาวปาเลสไตน์ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ตนเองมีอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำ ธนาคารโลกมีรายงานออกมาว่า อิสราเอลได้บริโภคน้ำที่ได้มาจากดินแดนปาเลสไตน์อย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวน มากกว่าที่ชาวปาเลสไตน์ทั้งในกาซ่าและเวสแบงก์ใช้บริโภคถึง 4 เท่าตัว 3
ความจริงตามมติของสหประชาชาติและกฎหมาย ระหว่างประเทศ อิสราเอลจะต้องถอนตัวออกไปจากดินแดนเวสต์แบงก์และกาซ่า (รวมถึงดินแดนภายใต้การยึดครองอื่นๆ ของซีเรียและเลบานอน) ที่ตนเองยึดครองอย่างผิดกฎหมายมาเป็นเวลา 47 ปีแล้ว หรือตั้งแต่หลังสงคราม 6 วัน ปี 1967 แต่จวบจนปัจจุบัน อิสราเอลก็ปฏิเสธการถอนตัว อีกทั้งยังไม่ยอมรื้อถอนนิคมชาวยิวและกำแพงคอนกรีตตามคำสั่งของกฎหมาย ระหว่างประเทศ ในทางกลับกัน นิคมชาวยิวแห่งใหม่ๆ ผุดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์จำนวนมาก ศาสนสถานสำคัญของชาวปาเลสไตน์ถูกลอบวางแผนทำลายหรือไม่ก็ถูกอ้างว่าเป็นของ ชาวยิว
นอกจากนี้ ตามข้อมูลของผู้สังเกตการณ์ของสหประชาชาติ การโจมตีของอิสราเอลครั้งต่างๆ ในกาซ่า (ปี 2008 และปี 2012 รวมถึงครั้งนี้ในปี 2014) มักพุ่งเป้าไปที่บ้านเรือนประชาชน โรงเรียน มัสยิด โรงงานส่งจ่ายไฟฟ้าและน้ำประปา คลีนิกรักษาโรค สำนักงานเทศบาล ยานพาหนะที่เคลื่อนไหว บ้านคนพิการ หรือแม้แต่พื้นที่ทำเกษตรขนาดเล็ก ด้วยเหตุนี้ ชาวปาเลสไตน์ที่เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอลในครั้งนี้ กว่าร้อยละ 80 จึงเป็นพลเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ของพลเรือนก็คือผู้หญิงและเด็ก
เป็นที่น่าสังเกตว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นระลอกล่าสุดในฉนวนกาซ่ามักถูกฉายภาพออกมาในลักษณะการ ห้ำหั่นกันระหว่าง 2 รัฐ คือ ปาเลสไตน์กับอิสราเอล แต่ในความเป็นจริงนั้น มันเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่เป็นผู้ยึดครองซึ่งกระทำต่อผู้ถูกยึด ครองอย่างไร้ความปราณี เพราะตลอดช่วงเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายไม่มีอะไรที่เท่าเทียมกันเลย อิสราเอลเป็นฝ่ายที่รุกไล่ เอาเปรียบ และกดขี่ปาเลสไตน์มาโดยตลอด
เดิมดินแดนที่เรียกว่า ‘อิสราเอล’ ในวันนี้ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด ในช่วงเวลานั้น อาจมีชาวยิวอยู่บ้างที่เป็นชนส่วนน้อย มีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด แต่ปัจจุบัน อิสราเอลบุกเข้าไปยึดครองจนเหลือพื้นที่ให้ ‘เจ้าของบ้านเดิม’ ไม่ถึงร้อยละ 20 แถมยังรุกล้ำพื้นที่ที่เหลืออยู่น้อยนิดนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งนิคมชาวยิวที่ผิดกฏหมายมากมาย หรือการสร้างกำแพงและรั้วลวดหนาม กักบริเวณชาวปาเลสไตน์ไม่ให้ได้ลืมตาอ้างปาก และไม่ให้มีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกได้ง่ายๆ
มาตรการปิดล้อมกาซ่ามีเป้าหมายประการหนึ่ง คือ ต้องการโดดเดี่ยวกาซ่าภายใต้การปกครองของกลุ่มฮามาส อิสราเอลตั้งใจให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าเจอปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ จากนโยบายปิดล้อม และตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกอิสราเอลโจมตีอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าลุกฮือต่อต้านกลุ่มฮามาส
แต่ผลที่ปรากฏออกมากลับตรงข้าม นับวันฮามาสยิ่งมีคะแนนนิยมมากขึ้น บ้านเมืองในฉนวนกาซ่ามีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น หลักนิติธรรมถูกนำมาใช้อย่างเคร่งครัด แม้ประชาชนจะได้รับความทุกข์ยากจากการถูกกีดกันทางเศรษฐกิจก็ตาม ที่สำคัญคือ กองกำลังฮามาสมีความเข้มแข็งและถูกจัดตั้งอย่างเป็นระบบมากขึ้น
สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้อิสราเอลต้องใช้กำลังเข้ามาโจมตีกา ซ่าอย่างที่เราเห็นกันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน

----------------------------------------------------------------

อ้างอิง
1 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Report of the United Nations Fact-Finding Mission on the Gaza Conflict, United Nations Office of the High Commissioner for Human Rights, 25 September 2009.
2 “Red Cross: Gaza blockade illegal”.  Aljazeera online. 14 June  2010.  Available at http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2010/06/201061452646659588.html
3 ดู World Bank (2013). West Bank and Gaza - Area C and the future of the Palestinian economy. World Bank, Washington DC.
Keywords : สงครามอาหรับ - อิสราเอล ฉนวนกาซ่า อียิปต์ อิสราเอล ปาเลสไตน์ ดร.ศราวุฒิ อารีย์
ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2557







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น