“…จำเลยที่ 4-6 เป็นข้าราชการมีความรู้และประสบการณ์การเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีมาแล้วทั้งสิ้น ย่อมต้องทราบขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีเป็นอย่างดี แต่การขายข้าวตามฟ้องปรากฏข้อพิรุธผิดปกติหลายประการ บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 4-6 ทราบดีอยู่แล้วว่า การซื้อขายข้าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้พยายามปกปิด มิให้แพร่งพรายออกไปสู่ภายนอก…”
หลายคนคงทราบกันไปแล้วว่า นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา ‘จำคุกหนัก’ เป็นเวลา 36 ปี และ 42 ปี ตามลำดับ กรณีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) พ่วงด้วยจำเลยคดีนี้รวมทั้งสิ้น 15 ราย ยกฟ้อง 8 ราย และหลบหนี 3 ราย (อ่านประกอบ : รูดม่านคดีจีทูจีเก๊ชาติเจ๊งหมื่นล.!คำพิพากษาชำแหละ‘ภูมิ-บุญทรง-บิ๊ก ขรก.-ก๊วนเปี๋ยง’, INFO:จำแนกครบ17จำเลย-โทษเรียงคนคดีทุจริตข้าวจีทูจีเจ๊งหมื่นล.ยกฟ้อง 8-ออกหมายจับ3)
ในคราวที่แล้วสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพิพากษาฉบับเต็ม เปลือยพฤติการณ์ของนายภูมิ และนายบุญทรง ให้ทราบกันไปแล้วว่า ดำเนินการอย่างไร ทำไมศาลฎีกาฯจึงต้องพิพากษาจำคุกรุนแรงขนาดนี้ (อ่านประกอบ : ชัดๆคำพิพากษาศาลฉบับเต็ม!ชำแหละพฤติการณ์‘ภูมิ-บุญทรง’คดีจีทูจีเก๊)
คราวนี้มาดูในส่วนอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้กันบ้าง ?
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฯฉบับเต็มดังกล่าว อธิบายถึงพฤติการณ์ของนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (จำเลยที่ 4) นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว (จำเลยที่ 5) และนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ (จำเลยที่ 6) สรุปได้ ดังนี้
@สัญญาฉบับที่ 1-2
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 4-6 เป็นผู้ทำหน้าที่เจรจาขายข้าวแบบจีทูจีให้บริษัท กวางตุ้งฯ และบริษัท ไห่หนานฯ (2 รัฐวิสาหกิจจีน ที่ถูกอ้างว่าเข้ามาซื้อข้าวจีทูจี) โดยข้อตกลงตามสัญญาส่อความผิดปกติหลายประการ ดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว (อ่านข้อมูลดังกล่าวได้จาก : ชัดๆคำพิพากษาศาลฉบับเต็ม!ชำแหละพฤติการณ์‘ภูมิ-บุญทรง’คดีจีทูจีเก๊)
จำเลยที่ 4-6 เป็นข้าราชการมีอำนาจหน้าที่โดยตรงและเคยมีประสบการณ์ขายข้าวแบบจีทูจีมาก่อน ย่อมทราบดีว่าประเทศจีนมอบหมายให้ COFCO เป็นหน่วยงานำเข้าข้าวแบบจีทูจี และโควตาการนำเข้าข้าวของจีนได้มีการประกาศไว้ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) รวมถึงสถิติที่มีการนำเข้าจริง
ทั้งนี้จำเลยที่ 5 (นายทิฆัมพร) ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการระบายข้าว ครั้งที่ 1/2554 ว่า ปี 2554 และปี 2555 คาดการณ์ว่าจีนจะนำเข้าข้าวเพียง 6 แสนตัน และ 4 แสนตันตามลำดับ ส่วนจำเลยที่ 6 (นายอัครพงศ์) ได้แนบเอกสารบริษัท กวางตุ้งฯ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับค้าข้าวของจีนในเรื่องการนำเข้า การส่งออก และสถิติการนำเข้าข้าวจากไทยปี 2552-2553 ว่า จีนนำเข้าข้าวไทยเพียง 333,000 ตัน และ 2.6 แสนตัน ตามลำดับ ส่วนปี 2554 ตั้งแต่ ม.ค.-ส.ค. จีนนำเข้าข้าวไทยเพียง 2 แสนตันเศษเท่านั้น
การที่บริษัท กวางตุ้งฯ ขอซื้อข้าวจากไทยหลายล้านตันในคราวเดียว จำเลยที่ 4-6 ย่อมต้องทราบถึงข้อผิดปกติ และยังปรากฏข้อพิรุธเกี่ยวกับเงื่อนไขการขายที่ระบุให้บริษัท กวางตุ้งฯ นำข้าวที่ซื้อส่งไปขายต่อยังประเทศที่สามในลักษณะเชิงพาณิชย์ได้ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่า มีผลกระทบต่อการแข่งขันราคาในตลาดข้าวอันเป็นการเสียหายต่อประเทศไทย ข้อตกลงดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และขัดต่อแนวปฏิบัติของกรมการค้าต่างประเทศในเรื่องการทำสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจี
แม้จำเลยที่ 5 จำเบิกความอ้างว่า ในอดีตกรมการค้าต่างประเทศเคยทำสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจีกับ COFCO มีข้อตกลงว่าให้ re-export คือส่งออกไปยังประเทศที่สามได้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 5 เบิกความตอบข้อซักถามโจทก์ (พนักงานอัยการ) ว่า คำว่า re-export ไม่ได้มีความหมายชัดเจน แต่หลังจากผู้ซื้อรับมอบข้าวไปแล้ว ได้ส่งต่อไปยังคิวบา แต่ไม่ทราบว่า เป็นการส่งไปขายหรือบริจาค และไม่ได้ยืนยันว่า เป็นการขายในลักษณะเพื่อการพาณิชย์
ส่วนที่จำเลยที่ 4 มีความเห็นว่า การระบุเงื่อนไขในสัญญายินยอมให้คู่สัญญาฝ่ายผู้ซื้อสามารถส่งข้าวที่ซื้อขายต่อไปยังประเทศที่สามในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากมีข้าวเปลือกเข้าสู่โครงการรับจำนำจำนวนมาก และไทยไม่มีศักยภาพเอื้อมไปถึงตลาดข้าวบางแห่งในต่างประเทศ เช่น แอฟริกา เป็นต้น แต่จีนกำลังมีพัฒนาการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ หากเปิดโอกาสให้คู่สัญญาฝ่ายผู้ซื้อซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน สามารถส่งข้าวที่ซื้อขายไปยังประเทศที่สามได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องการแย่งตลาด เพราะมีข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวจำนวนมาก เปรียบเสมือนน้ำท่วมจึงต้องรีบสูบออกหรือระบายออกไปโดยเร็วนั้น
เห็นว่า การให้บริษัท กวางตุ้งฯ มีสิทธิส่งข้าวทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ไปยังประเทศที่สามเพื่อการค้านั้น เป็นการขัดต่อแนวปฏิบัติและยังมีผลเท่ากับกรมการค้าต่างประเทศขายข้าวให้บริษัท กวางตุ้งฯ ในราคาต่ำกว่าปกติอย่างมาก แล้วให้บริษัท กวางตุ้งฯ นำไปขายต่อในประเทศที่สามเพื่อทำกำไร ย่อมไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไม่อาจถือว่าเป็นสัญญาจีทูจีตั้งแต่แรก
นอกจากนี้กระบวนการจัดทำและการนำเสนอยุทธศาสตร์การระบายข้าวที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ดำเนินการก็ส่อว่ามีการวางแผนเพื่อรองรับรัฐวิสาหกิจของมณฑลให้สามารถทำสัญญาแบบจีทูจีได้โดยไม่ต้องได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ในขั้นตอนก่อนการเจรจากับบริษัท กวางตุ้งฯ จำเลยที่ 4 ได้ทำบันทึกถึง ผอ.สำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยตรวจสอบว่า บริษัท กวางตุ้งฯ เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนหรือไม่ แทนที่จะขอให้ตรวจสอบว่า บริษัท กวางตุ้งฯ ได้รับมอบหมายจากจีนหรือไม่ และขณะเจรจากับบริษัท กวางตุ้งฯ ยังไม่ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวแต่อย่างใด
สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ในกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการเจรจาซื้อขายข้าวจีทูจี พยานฝ่ายโจทก์ ระบุว่า หลังทำสัญญา เคยถามจำเลยที่ 5 ว่า หากภายหลังผลการตรวจสอบปรากฏว่า บริษัท กวางตุ้งฯ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจจะดำเนินการอย่างไร จำเลยที่ 4 ตอบว่า ฝ่ายไทยสามารถยกเลิกสัญญาได้
แม้ว่าพยานรายนี้จะเบิกความตอบคำถามของทนายจำเลยที่ 4-6 ว่า ขณะเจรจามีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปสอบถามผลการตรวจสอบจากสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ได้รับแจ้งว่า บริษัท กวางตุ้งฯ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 100% ก็ไม่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ผู้โทรศัพท์สอบถามเป็นใคร
พยานรายนี้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ในขณะที่ยังไม่มีการชี้มูลความผิด จึงน่าเชื่อว่าเป็นการให้ถ้อยคำตามความเป็นจริงยิ่งกว่าที่เบิกความต่อศาล
ในเรื่องการตรวจสอบสถานะของบริษัท กวางตุ้งฯ ยังได้ความอีกว่า จำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ให้ช่วยตรวจสอบว่า บริษัท กวางตุ้งฯ เป็นรัฐวิสาหกิจจีนหรือไม่ กรมเอเชียตะวันออกมีหนังสือแจ้งว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ติดต่อประสานงานเป็นการภายในกับกรมการค้าต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำไทยแล้ว โดยสถานเอกอัครราชทูตพร้อมให้ความร่วมมือ แต่จำเลยที่ 4 เกษียน สั่งเพียงว่า ส่งสำนักบริหารการค้าข้าวพิจารณา ในที่สุดกรมการค้าต่างประเทศเพิกเฉยไม่ได้ตอบหนังสือของกรมเอเชียตะวันออก ทั้งที่ขณะนั้นหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบของ ผอ.สำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ยังส่งไม่ถึงกรมการค้าต่างประเทศ แต่จำเลยที่ 4 ระบุในบันทึกขอความเห็นชอบการเจรจาว่า บริษัท กวางตุ้งฯ เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน ซึ่งฝ่าฝืนต่อความจริง
ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่-6 มีเจตนาให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายข้าว โดยไม่คำนึงถึงสถานะของบริษัท กวางตุ้งฯ
ส่วนที่พยานจากกระทรวงพาณิชย์ เบิกความว่า ก่อนเจรจา จำเลยที่ 6 ได้ขอหลักฐานการมอบหมายจากรัฐบาลจีน แต่บริษัท กวางตุ้งฯ ไม่มีเอกสารมอบอำนาจ ทั้งได้ยินจากจำเลยที่ 6 แจ้งจำเลยที่ 4 ว่า บริษัท กวางตุ้งฯ ไม่มีหลักฐานการได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน และจำเลยที่ 6 ยังแจ้งว่า รัฐบาลไทยไม่เคยทำสัญญาแบบจีทูจีที่กำหนดราคาขายแบบหน้าคลังสินค้า (Ex-warehouse) มาก่อน แต่จำเลยที่ 4 ตอบว่า ให้เจรจาไปก่อนแล้วนำเสนอจำเลยที่ 1 (นายภูมิ) เป็นผู้พิจารณานั้น
เห็นว่า พยานรายนี้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. 2 ครั้ง ในการให้ถ้อยคำครั้งที่ 2 คณะอนุกรรมการไต่สวน ถามว่า ในการเจรจามีการพูดเรื่องสถานะของหน่วยงาน และการได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนหรือไม่ อย่างไร พยานรายนี้ตอบว่า ไม่ได้ยินการพูดคุยในเรื่องสถานะของหน่วยงาน หรือเรื่องการได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีน ส่วนจำเลยที่ 6 เองให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนหลายครั้ง แต่ไม่เคยให้การถึงเรื่องดังกล่าว คำเบิกความในส่วนนี้ของพยานรายนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
นอกจากนี้จำเลยที่ 5 ยังให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า โดยทั่วไปการเจรจาซื้อขายแบบจีทูจีทุกครั้ง เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่รัฐบาลต่างประเทศ มักมีเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์เดินทางไปต้อนรับ แต่กรณีของบริษัท กวางตุ้งฯ และบริษัท ไห่หนานฯ จำเลยที่ 4 แจ้งว่า ผู้แทนของบริษัททั้งสองจะเดินทางเข้าไทยด้วยตนเอง ขัดต่อเหตุผลที่ผู้แทนรัฐวิสาหกิจต่างประเทศเดินทางมาเจรจาซื้อขายแบบจีทูจีจะหาที่พักแรมเอง
ยิ่งกว่านั้นหลักการและวิธีปฏิบัติในการเจรจาแบบจีทูจี ข้าราชการผู้มีอำนาจจะต้องขอความเห็นชอบกรอบการเจรจาจากรัฐมนตรีผู้มีอำนาจเห็นชอบผลการเจรจาในเงื่อนไขต่าง ๆ แต่ตามสัญญาฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ไม่ปรากฏว่า มีการขออนุมัติกรอบการเจรจา
หลังจากทำสัญญา 2 ฉบับแรกกับบริษัท กวางตุ้งฯ จำเลยที่ 4 ได้เสนอบันทึกขอความเห็นชอบในการแก้ไขสัญญาฉบับที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง และเสนอบันทึกขอความเห็นชอบในการแก้ไขสัญญาฉบับที่ 2 จำนวน 5 ครั้ง การแก้ไขแต่ละครั้ง ไม่ปรากฏว่า มีการเจรจากับใคร ที่ไหน แม้แต่จำเลยที่ 5 ในฐานะ ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว มีอำนาจหน้าที่เตรียมข้อมูลการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญา ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า ไม่เคยเข้าร่วมเจรจาในการแก้ไขสัญญา และไม่เคยเห็นตัวแทนของบริษัท กวางตุ้งฯ หรือบริษัท ไห่หนานฯ เดินทางเข้ามาเจรจา ทราบเพียงว่า อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (จำเลยที่ 4) อนุมัติให้แก้ไขสัญญาตามบัญชาของ รมว.พาณิชย์ (จำเลยที่ 2) ส่วนจำเลยที่ 4 ไม่เคยชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนหรือให้การในชั้นการพิจารณาว่า ในการแก้ไขสัญญาแต่ละครั้ง ได้มีการเจรจากับตัวแทนของผู้ซื้อ ที่ไหน อย่างไร
ข้อเท็จจริงประจักษ์ชัดเจนว่า วิธีปฏิบัติในการแก้ไขสัญญาเริ่มจากฝ่ายข้าราชการของกรมการค้าต่างประเทศ จัดทำเอกสารการแก้ไขกันเอง โดยไม่มีการเจรจาใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ในเรื่องเพิ่มวิธีชำระค่าข้าวด้วยการโอนเงินผ่านธนาคาร และวิธีชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็ค เป็นการขอแก้ไขหลังจากทำสัญญาไปเพียง 5 วัน นับเป็นข้อพิรุธยิ่ง เพราะหากผู้ซื้อประสงค์เพิ่มวิธีชำระเงินดังกล่าว ก็น่าจะเจรจากันให้ได้ข้อยุติตั้งแต่ขณะทำสัญญาแล้ว
อีกทั้งวิธีชำระเงิน 2 วิธีที่เพิ่มมาก็ไม่สอดคล้องกับแนวทางการซื้อขายแบบจีทูจีซึ่งเงินที่ชำระต้องมาจากผู้ซื้อที่เป็นรัฐต่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศไม่เคยปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน การชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คหรือโอนเงินผ่านธนาคาร ย่อมทำให้ตรวจสอบและควบคุมการส่งออกข้าวเป็นไปด้วยความยุ่งยาก และเปิดช่องให้นำข้าวไปเวียนขายภายในประเทศ หรือนำกลับไปจำนำในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะซื้อมาในราคาถูกกว่าท้องตลาดตามที่ปรากฏตามข่าวว่า ภายหลังการทำสัญญามีการใช้แคชเชียร์เช็คชำระค่าข้าวตามสัญญาฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 หลายร้อยฉบับ เช็คบางฉบับสั่งจ่ายเพียง 2,400-20,460 บาท และเงินที่ใช้ซื้อแคชเชียร์เช็คล้วนแต่มาจากบุคคลหรือนิติบุคคลภายในประเทศทั้งสิ้น โดยไม่มีการชำระค่าข้าวด้วยเงินของรัฐวิสาหกิจผู้ซื้อทั้ง 2 รายเลย
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการนำข้าวตามสัญญามาเวียนขายภายในประเทศโดยไม่มีการส่งไปยังต่างประเทศ ที่จำเลยที่ 4-6 ต่อสู้ว่า กรมการค้าต่างประเทศไม่มีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้าวตามสัญญาได้ส่งออกไปต่างประเทศหรือไม่ แต่เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าวนั้น เห็นว่า กรมการค้าต่างประเทศในฐานะเป็นคู่สัญญาย่อมต้องมีอำนาจและหน้าที่ต้องตรวจสอบว่า ผู้ซื้อได้มีการนำข้าวที่ซื้อออกนอกไทยอันเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญาหรือไม่ ทั้งกรมการค้าต่างประเทศเองมีหน้าที่ออกใบอนุญาตส่งออก ย่อมสามารถตรวจสอบข้อมูลการส่งออกได้โดยง่าย ส่วนคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว มีหน้าที่ติดตามและตรวจสอบในกระบวนการรับจำนำข้าวเปลือกเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขภาพรวม ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสอบการปฏิบัติตามสัญญาโดยที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาด้วย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 4-6 ฟังไม่ขึ้น
@สัญญาฉบับที่ 3
สำหรับสัญญาฉบับที่ 3 ลงบันทึกเมื่อปี 2555 ว่า บริษัท กวางตุ้งฯ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนมีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (จำเลยที่ 4) ขอทำสัญญาซื้อขายข้าวฉบับใหม่ โดยขอซื้อข้าว 2 ชนิด รวม 5 แสนตัน ตันละ 11,500 บาท และ 9,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 4 มีการเจรจากับผู้แทนของบริษัท กวางตุ้งฯ เมื่อใด สถานที่ใด
อีกทั้งพยานฝ่ายโจทก์ ผู้มีหน้าที่จัดเตรียมข้อมูลการเจรจา ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า กรมการค้าต่างประเทศเคยมีการเจรจากับบริษัท กวางตุ้งฯ เพียงครั้งเดียวในวันที่ 5 ต.ค. 2554 ขณะที่พยานฝ่ายโจทก์ ผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 ให้ทำหน้าที่ดูแลด้านซื้อขายข้าวกับต่างประเทศ การรับแคชเชียร์เช็ค และเบิกจ่ายข้าวให้บริษัท กวางตุ้งฯ เบิกความว่า กลางเดือน มิ.ย. 2555 ได้เสนอบันทึกขอความเห็นชอบเพื่อทำสัญญาฉบับที่ 3 ให้จำเลยที่ 4 และ 6 พิจารณา จนจำเลยที่ 2 (นายบุญทรง เตริยาภิรมย์) ได้ให้ความเห็นชอบ นำไปสู่การลงนามในสัญญาที่ 3 แต่พยานไม่เคยพบตัวแทนของบริษัท กวางตุ้งฯ เลย ส่วนจำเลยที่ 4-6 ไม่เคยชี้แจงหรือแสดงหลักฐานไม่ว่าในชั้น ป.ป.ช. หรือชั้นการพิจารณาว่า มีการเจรจากับบริษัท กวางตุ้งฯ เมื่อใด ที่ใด
อีกทั้งปรากฏว่า ข้าวที่บริษัท กวางตุ้งฯ ขอซื้อเพิ่มนั้น เป็นข้าวที่รวมอยู่ในสัญญาฉบับที่ 2 อยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 4-6 กลับเสนอขอความเห็นชอบให้ขายข้าวต่ำกว่าราคาตามสัญญาเดิม ทำให้บริษัท กวางตุ้งฯ ได้ประโยชน์จากการซื้อขายข้าวชนิดเดียวกันในราคาที่ต่ำลง ข้ออ้างของจำเลยที่ 4-5 ว่า ข้าวชนิดดังกล่าวตามสัญญาฉบับที่ 2 เป็นข้าวนาปี ส่วนข้าวในฉบับที่ 3 เป็นข้าวนาปรังที่มีราคาถูกนั้น จำเลยที่ 4 ไม่ระบุเหตุผลตามที่อ้างไว้ในบันทึกขอความเห็นชอบผลการเจรจา แต่กลับปรากฏว่า ในเดือน มิ.ย. 2556 จำเลยที่ 5-6 เป็นคณะเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีให้บริษัท ไห่หนานฯ เป็นข้าวนาปี และนาปรัง ในราคาเท่ากันคือ 9,000 บาท/ตัน
นอกจากนี้การขายข้าวแบบจีทูจีให้ COFCO เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2556 ขณะนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็น รมว.พาณิชย์ ก็ตกลงขายข้าวนาปรับ ในราคาแพงกว่าข้าวนาปี ข้าวนาปีจึงหาได้มีราคาสูงกว่าข้าวนาปรังตามที่อ้างไม่
@สัญญาฉบับที่ 4
สำหรับสัญญาฉบับที่ 4 ได้ความตามบันทึกขอความเห็นชอบกรอบแนวทางเจรจาว่า บริษัท ไห่หนานฯ มีหนังสือแจ้งความประสงค์ถึง รมว.พาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2554 แต่จำเลยที่ 4 เพิ่งจะทำบันทึกขอความเห็นชอบกรอบแนวทางเจรจาในวันที่ 23 ส.ค. 2554 อันเป็นวันที่อ้างว่า มีการนัดหมายเจรจากับบริษัท ไห่หนานฯ อีกทั้งตามบันทึกระบุชื่อเรื่องว่า แนวทางการเสนอราคาขายข้าวแบบจีทูจี ระหว่างไทยและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน ซึ่งขัดแย้งกับเนื้อความในบันทึกที่ระบุว่า บริษัท ไห่หนานฯ เป็นเพียงรัฐวิสาหกิจของมณฑลไห่หนาน และจำเลยที่ 4 มีบันทึกถึง ผอ.สำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยตรวจสอบสถานะความเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของบริษัท ไห่หนานฯ แทนที่จะขอให้ตรวจสอบว่า บริษัท ไห่หนานฯ ได้รับมอบอำนาจหรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนหรือไม่
@ปกปิดชื่อลูกค้าในแคชเชียร์เช็ค
สำหรับขั้นตอนปฏิบัติในการส่งมอบข้าวตามสัญญา ได้ความจากพยานฝ่ายโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงพาณิชย์ว่า จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็น ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าวในขณะนั้น ได้สั่งไว้ว่า ไม่ต้องนำหนังสือเกี่ยวกับการรับมอบข้าวไปลงทะเบียนรับหนังสือตามระเบียบงานสารบรรณ โดยอ้างว่า เป็นความลับของทางราชการ ในระยะแรก ๆ จำเลยที่ 5 จะยกร่างหนังสือให้จำเลยที่ 4 ลงนามแจ้งไปยังองค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ให้จ่ายข้าว โดยระบุชื่อคนไทยที่เป็นผู้รับมอบอำนาจ แต่ไม่ระบุชื่อบริษัท กวางตุ้งฯ หรือบริษัท ไห่หนานฯ และระบุด้วยว่า ขอให้ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นทางลับอย่างยิ่ง หากข้อมูลการจำหน่ายข้าวสารแพร่กระจายออกสู่สาธารณชน อาจสร้างความปั่นป่วนต่อระบบตลาดข้าว และอาจก่อให้เกิดปัญหาในประเทศผู้ซื้อ
ในระยะต่อมาพยานโจทก์รายนี้ จะพิมพ์หนังสือตามแนวทางที่จำเลยที่ 5 เคยร่างไว้ จำเลยที่ 5 สั่งพยานผู้ถือหนังสือขอเบิกข้าวไปส่งให้ถึงมือ พ.ต.ต.ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ ผอ.อคส. (ขณะนั้น) หากไม่พบ ผอ.อคส. ให้ฝากหนังสือไว้กับเลขานุการ โดย อคส. ไม่มีการลงทะเบียนรับหนังสือไว้เป็นหลักฐาน
ในระยะต่อมาพยานโจทก์รายนี้ จะพิมพ์หนังสือตามแนวทางที่จำเลยที่ 5 เคยร่างไว้ จำเลยที่ 5 สั่งพยานผู้ถือหนังสือขอเบิกข้าวไปส่งให้ถึงมือ พ.ต.ต.ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ ผอ.อคส. (ขณะนั้น) หากไม่พบ ผอ.อคส. ให้ฝากหนังสือไว้กับเลขานุการ โดย อคส. ไม่มีการลงทะเบียนรับหนังสือไว้เป็นหลักฐาน
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ อคส. จะนำใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี มาส่งให้ ผอสำนักบริหารการค้าข้าว (จำเลยที่ 5) โดยตรง หาก ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าวไม่อยู่ พยานจะเป็นผู้รับหนังสือไว้แทน แต่ไม่มีการลงทะเบียนรับหนังสือไว้เป็นหลักฐานเช่นกัน แล้วพยานจะโทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 7-9 (นายสมคิด เอื้อนสุภา นายรัฐนิธ โสจิระกุล และนายลิตร พอใจ) ให้มารับใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี ไปใช้เป็นหลักฐานในการเบิกข้าวออกจากคลังสินค้า ทั้งนี้ใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี ช่องชื่อลูกค้าจะระบุ กรมการค้าต่างประเทศ และไม่ระบุราคาต่อหน่วย ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก สาเหตุที่ปฏิบัติเช่นนั้น เนื่องมาจากตามบันทึกขอให้เบิกจ่ายข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ ระบุให้ออกในนามกรมการค้าต่างประเทศ โดยไม่มีการระบุราคาและมูลค่า
เมื่อพิจารณาจากบันทึกข้อความแจ้งเบิกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศที่ระบุว่า จำเลยที่ 1 (นายภูมิ) เห็นชอบให้จำหน่ายข้าวสารในปริมาณหนึ่งให้แก่รัฐบาลต่างประเทศ ปกปิดชื่อไม่ระบุชื่อคู่สัญญา และปริมาณที่ขายตามสัญญา และยังได้ความจากพยานฝ่ายโจทก์ ที่เป็นเจ้าหน้ากระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ตรวจสอบการเบิกจ่ายข้าวว่า แคชเชียร์เช็คที่ชำระค่าข้าวที่นำส่งกองคลังนั้น ช่วงแรกเจ้าหน้าที่กองคลังจะลงชื่อในบันทึกการรับแคชเชียร์เช็คไว้เป็นหลักฐาน
แต่ในช่วงหลังเจ้าหน้าที่กองคลังไม่ยอมลงชื่อ โดยจำเลยที่ 5 แจ้งว่า ไม่ต้องทำบันทึกการรับแคชเชียร์เช็ค ทั้งที่หนังสือขอชำระเงินค่าข้าวก็ดี หนังสือแจ้งให้เบิกจ่ายข้าวก็ดี ใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษีก็ดี บันทึกการรับแคชเชียร์เช็คก็ดี ล้วนแต่เป็นเอกสารสำคัญที่เป็นหลักฐานการปฏิบัติตามสัญญา หากเป็นความลับที่อ้างก็ต้องนำไปลงทะเบียนเป็นหนังสือลับตามระเบียบงานสารบรรณ
การที่จำเลยที่ 5 ไม่ให้นำหนังสือทุกขั้นตอนของการรับข้าวไปลงทะเบียนเลขรับส่งหนังสือ ไม่ให้ทำหลักฐานการรับแคชเชียร์เช็ค ไม่ระบุชื่อลูกค้าอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เห็นว่า จำเลยที่ 4-6 เป็นข้าราชการมีความรู้และประสบการณ์การเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีมาแล้วทั้งสิ้น ย่อมต้องทราบขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีเป็นอย่างดี แต่การขายข้าวตามฟ้องปรากฏข้อพิรุธผิดปกติหลายประการ บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 4-6 ทราบดีอยู่แล้วว่า การซื้อขายข้าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้พยายามปกปิด มิให้แพร่งพรายออกไปสู่ภายนอก
การกระทำของจำเลยที่ 4-6 จึงเป็นการร่วมกับจำเลยที่ 1-2 จัดการทรัพย์โดยมิชอบอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 4 วรรคหนึ่ง 10 และ 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
เป็นการกระทำความผิดตามสัญญา 4 ฉบับ เป็นความผิดรวม 4 กระทง พิพากษาจำคุกนายมนัส กระทงละ 10 ปี รวม 40 ปี นายทิฆัมพร กระทงละ 8 ปี รวม 32 ปี และนายอัครพงศ์ กระทงละ 6 ปี รวม 24 ปี
อ่านประกอบ :
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายมนัส และนายทิฆัมพร จาก ผู้จัดการออนไลน์, ภาพนายอัครพงศ์ จาก inn news
------------------------------------------------------------------------------------------------------------อย่าโยนบาปให้ ขรก.! ‘วรงค์’ให้การคดีข้าวจีทูจีเก๊-พบพิรุธใหม่ในสัญญาขาย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------อย่าโยนบาปให้ ขรก.! ‘วรงค์’ให้การคดีข้าวจีทูจีเก๊-พบพิรุธใหม่ในสัญญาขาย
‘หมอวรงค์’ ให้การคดีข้าวจีทูจีเก๊ ‘บุญทรง-ภูมิ’ ยันการระบายข้าวต้องไม่เปิดช่องทุจริต แต่ถูกคุ้ยพบไม่ได้ทำจริง ลั่นไม่มีประเทศไหนในโลกหอบเงินมาซื้อแคชเชียร์เช็คทำจีทูจีในไทย ระบุอย่าปัดความรับผิดชอบ โยนบาปให้ ขรก. พบพิรุธใหม่ในสัญญาขาย ท้าโชว์สัญญามอบอำนาจจาก รบ.จีนให้ GSSG
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ (จำเลยที่ 1) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ (จำเลยที่ 2) กับพวกรวม 30 ราย เป็นจำเลย ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ
ในวันนี้ (15/6/59) เป็นการไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ โดยมี นพ.วรงค์ เดชวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เบิกความเป็นปากแรก โดยมีทนายฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายซักถาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซักถามในประเด็นกฎ ระเบียบ หรือข้อกฎหมายว่า การระบายข้าวแบบจีทูจีสามารถทำได้หรือไม่ และสามารถทำการระบายข้าวจีทูจีกับ GSSG ซึ่งอ้างว่าเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศจีนได้หรือไม่
นพ.วรงค์ เบิกความทำนองว่า การระบายข้าวจีทูจีจะต้องยึดตามหลักการคือ สุจริต โปร่งใส และไม่มีการเปิดช่องในการเกิดการทุจริต ซึ่งในกรณีดังกล่าวจากการตรวจสอบของตน สื่อมวลชน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า ไม่ได้มีการขายข้าวจีทูจีให้กับจีนจริง แต่เป็นการนำข้าวมาเวียนขายภายในประเทศ ดังนั้นแม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีมารองรับการซื้อขายข้าวจีทูจีก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถนำมาบังคับใช้หากเกิดกรณีทุจริตขึ้นได้
“การที่ทนายพยายามจะถามในประเด็นกฏเกณฑ์ หรือระเบียบต่าง ๆ เพื่อหาเรื่องตีความเปิดช่องโหว่ว่า การกระทำดังกล่าวสามารถทำได้ ทั้งที่อาจเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตใช่หรือไม่ การขายจีทูจีชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการขายระหว่างรัฐต่อรัฐ และสำหรับประเทศจีน มอบหมายให้กับ COFCO รายเดียวเท่านั้น ดังนั้นชื่อจีทูจีก็สะท้อนตัวเองอยู่แล้ว” นพ.วรงค์ กล่าว
นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องยุทธศาสตร์การระบายข้าวของรัฐบาลนั้น สามารถทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการขายข้าวให้กับเอกชน หรือการขายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งในการขายแบบจีทูจีนั้น แบ่งการขายออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ FOB หรือการขายที่ท่าเรือผู้ขาย CIF การขายที่ท่าเรือผู้ซื้อ และ Ex-warehouse คือผู้ซื้อเข้ามาซื้อ ณ โกดังฝากคลัง ซึ่งการขายแบบ Exware House ตามที่จำเลยอ้างนั้น เปิดช่องให้เกิดการทุจริตหลายอย่าง และมีความยุ่งยากซับซ้อน
“ไม่มีประเทศไหนในโลก หรือแม้แต่ประเทศจีน ที่จะหอบเงินเข้ามาในประเทศไทย เพื่อมาซื้อแคชเชียร์เช็ค มันสามารถทำได้ แต่ตามหลักสามัญสำนึก รวมถึงตามหลักการปฏิบัติจริง ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน” นพ.วรงค์
ทั้งนี้ทนายฝ่ายจำเลยที่ 1 (นายภูมิ) และที่ 2 (นายบุญทรง) ได้ถามทำนองว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำตามขั้นตอนกระบวนการทุกอย่าง ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตใช่หรือไม่
นพ.วรงค์ กล่าวทำนองว่า การที่ทนายฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามคำถามดังกล่าว เป็นการโยนบาปไปให้กับข้าราชการ ทั้งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยเป็นประธานอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งได้รับคำสั่งจากประธาน กขช. ให้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบการซื้อขายข้าวจีทูจี รวมถึงมาตรา 11 และ 20 แห่ง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ก็ระบุไว้ชัดเจนเช่นเดียวกัน
“ในช่วงการตรวจสอบโครงการระบายข้าวจีทูจีดังกล่าว ข้าพเจ้าพบว่าเกิดขึ้นในช่วงที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรี แต่ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการดังกล่าว ทั้งที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยเตือนไปแล้วด้วย ดังนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่เป็นรัฐมนตรี จะต้องรับผิดชอบกรณีนี้ด้วย” นพ.วรงค์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ทนายฝ่ายจำเลยถาม นพ.วรงค์ ได้ให้ดูเอกสารหลักฐานที่นายบุญทรง ลงนามขั้นตอนสุดท้ายในสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจีกับรัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งกรณีนี้ นพ.วรงค์ ได้สังเกตว่า เป็นเอกสารหลักฐานใหม่ ที่พบว่า มีการเขียนเปิดช่องให้ทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจจีนคือ GSSG ทั้งที่ประเทศจีนได้มอบหมายให้ COFCO เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ดังนั้นจึงอยากให้นายบุญทรง นำเอกสารที่ GSSG ได้รับมอบหมายจากประเทศจีนในการซื้อขายข้าวจีทูจีนำมาแสดงด้วย
อ่านประกอบ :
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น