เพลงฉ่อยชาววัง

วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560

3 เดือนของการตามความจริง ข้าวดีตีเป็นเสื่อม .... ใครพูดจริง - ใครโกหก?



12 กันยายน 2560 เวลา 11:15 น.
3 เดือนของการตามความจริง ข้าวดีตีเป็นเสื่อม .... ใครพูดจริง  - ใครโกหก?
3 เดือนของการตามความจริง ข้าวดีตีเป็นเสื่อม .... ใครพูดจริง  - ใครโกหก?
จิตนภา จรูญโรจน์ ณ อยุธยา
ผู้สื่อข่าวด้านธุรกิจ/การตลาด และนักศึกษาทุนปริญญาโท บริหารธุรกิจเอสเอ็มอี ม.กรุงเทพ
26 กรกฎาคม   2560 
วันที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางไป จ.อ่างทอง  เพื่อไปทำข่าว “คลังข้าววรโชติ ร้องสื่อ  ข้าวหอมปทุมที่ตนดูแลมาอย่างดี  ถูกจัดเกรดเป็นข้าวสำหรับทำอาหารสัตว์ ถูกขายไปโลละ 5.07 บาท”  แต่เมื่อดูภาพข้าวในคลังที่อ่างทองตามภาพด้านล่าง 
ยอมรับโดยตรงเลยว่า   ไปมันแบบ  Blank  Blank  เนี่ยล่ะ  ไปถามเอาที่แหล่งข่าวเลยว่ามันเป็นยังไง  เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน  เห็นพี่นักข่าวอีกช่องไปทำข่าวนี้มาแล้ว  แต่ยังไม่มีรายละเอียดอะไรออกมา  เลยไม่มีข้อมูลอะไรเลย  มารู้ทีหลังว่าพี่นักข่าวช่องนั้น ไปทำข่าวในคลังนี้แล้วไม่ได้ออกอากาศ ไหงเป็นงั้นล่ะ? อันนี้ไม่รู้


เมื่อเดินทางไปถึง   เจอนักข่าวอีก 2 ช่อง  และได้สัมภาษณ์ไป 2 รอบ  ในวันนั้น  เป็นวันส่งมอบข้าว ซึ่งผู้ที่ประมูลได้  มาขนข้าวพอดี  แต่เมื่อเห็นนักข่าว 3 ช่อง รวมกันก็เป็นมนุษย์ 6 คน มันดูเยอะ  เค้าคงรายงานนาย  เลยหยุดการขนข้าวไป  
ให้หลังไม่เกิน 1 ชั่วโมง  มีรถทหาร  รถตู้  ซึ่งมีเจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัด  มาที่คลังวรโชติ  มายืนๆ มองๆ ว่าพวกนักข่าวมันทำอะไร  เราก็สอบถามพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ตามปกติ  ว่าพี่มาทำอะไรคะ  เค้าก็เดินหนี ไม่ตอบคำถามเรา  
เราก็ไปถ่ายทำแถวๆหน้าโกดังเก็บข้าว  เพื่อคุยกับพี่ทหารว่า  พี่มาจากไหน มาที่นี่ทำไมคะ (เพราะตามปกติ  การรักษาข้าวในโกดังที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง อคส.ผู้นำชุมชน เซอร์เวย์เยอร์) เป็นผู้ถือกุญแจ รวมกันเป็น 4 ดอก  (ซึ่งตอนนี้ผู้ถือกุญแจเปลี่ยนไปแล้วตามสัญญาฝากเก็บใหม่)   ซึ่งพี่ทหารที่เราคุยกับเค้า  คือมาเต็มยศ  ห้อยเครื่องกระสุนเป็นพวงเหมือนแกเตรียมจะไปออกรบ  ยังไงยังงั้น 
ตอนที่ยืนคุยกันช่างภาพเค้าก็ถ่ายภาพตามปกติ  เป็นการถ่ายภาพนักข่าวยืนคุยกับแหล่งข่าว (ซึ่งการถ่ายอินเสิร์ต  คือการถ่ายภาพช็อตสั้นๆ ไม่เกิน 7 วินาที   เสียงสนทนาจะฟังได้ไม่เป็นประโยค  ) 
เรา 3 คน ถามทหารยศใหญ่ (ตัวใหญ่ด้วย) ว่า “พี่มาทำอะไรคะ”   พี่แกสวนกลับด้วยเสียงอันดุดัน   “แล้วพวกน้องอ่ะ มาทำอะไร  มาจากที่ไหนกันบ้าง”  (มาจากสำนักข่าวไหน)  เราก็ตอบไปเรียงช่อง 3 ช่อง  
“ทำไม   มาจากไหนที่กันบ้าง”   แกถามครั้ง 2 ทั้งที่เราก็ตอบไปแล้ว  
น้องนักข่าวสาวอีกช่องถามต่อ  “แล้วพี่ล่ะคะมาจากหน่วยไหน  ชื่ออะไรคะ ขอไปดูข้าวได้มั๊ย ”  ( ตอนนั้นน้องอาจจะยังไม่เข้าใจเกณฑ์การถือกุญแจคลังข้าวของรัฐ เลยถามไปแบบนั้น) 
พี่ทหารตัวใหญ่ตะโกนด่าช่างภาพที่ถ่ายอินเสิร์ตอยู่   “เดี๋ยวผมยึดกล้องหมดนะ  ถ้ามีปัญหา  ไอ้เห้ย เนี่ยพูดไม่รู้เรื่อง”
พี่นักข่าวช่อง 3  บอก “อ่าวพี่  คุยกันดีๆก็ได้  เราก็อุตส่าห์ใจเย็นๆแล้ว” 
นี่ยืนตรงหน้าพี่ทหาร  โดนหางพี่ตัวเห้ยฟาดหน้าเต็มๆ  คิดในใจ ตายๆ เกิดมาไม่เคยโดนผู้ชายด่าว่าเห้ยเลย  เอาทำข่าวต่อ The Show must go on รายละเอียดข่าววันนั้น  ตามนี้ค่ะ https://news.voicetv.co.th/business/510523.html
จากนั้นก็เข้าออฟฟิศ   และกลับบ้านตามปกติ    แต่วันนั้นรู้สึกติดค้างในใจลึกๆ ว่า  ทำไมเราถึงรู้สึกไม่โอเคกับการทำข่าวในวันนั้นนะ   ก็นึกขึ้นได้ว่า อ่อ  เพราะเราไปยืนรับคำว่าเห้ยเข้าตัวนี่เอง  เลยตัดสินใจเล่าเรื่องราวที่เจอในวันนั้นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว  ก็ไม่คิดว่าจะมีสำนักข่าวไหนนำทวิตเตอร์เราไปเขียนเป็นข่าว  จนกลายเป็นเรื่องราว ทหารด่านักข่าว  จนคนลืมประเด็นหลักไปว่า  ประเทศชาติ  ได้หรือเสียอะไรไป   จากการจัดเกรดข้าวดีเป็นเสียครั้งนี้หรือไม่  และเราจะต้องจ่ายไปอีกเท่าไหร่ https://www.matichon.co.th/news/611719
28 กรกฎาคม 2560     
ลงพื้นที่ จ.สระบุรี เพื่อไปพบกับโกดังเก็บข้าวของรัฐอีก 7 แห่ง  เมื่อรวมกับคลังที่ จ.อ่างทองด้วยเป็น 8 แห่ง  เกิดปัญหาในกรณีเดียวกันคือ  ข้าวที่คลังรับจ้าง อคส.เก็บข้าว  เป็นข้าวดี  แต่ถูกจัดเกรดเป็นข้าวเสื่อม   ขายเข้าสู่โรงงานอาหารสัตว์บ้าง  เป็นปุ๋ยบ้าง   ซึ่งนับถือใจเจ้าของคลังมากๆ ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ในภาวะแบบนี้ เหตุใดจึงกล้าชน  ทั้งที่ตอนนี้เราอยู่ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหาร  
เคยถามพวกเขาตามตรงนะคะว่า  พี่สู้ทำไม   พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ก็พี่ไม่ผิด  พี่เก็บข้าวดีมาตลอด  ข้าวของพี่ปี 56/57  ข้าวไม่ถึง 5 ปี มันจะเป็นข้าวที่คยกินไม่ได้  ได้ยังไง   พี่รมยาทุก 2 เดือนตามมาตรฐาน   เพดานไม่รั่ว น้ำไม่ได้ท่วมคลัง  ข้าวพี่ยังสภาพดี  ดูจากตัวอย่างข้าวในคลังพี่ได้   และข้าวที่จะต้องทำเป็นอาหารสัตว์  มันจะต้องเป็นอีกแบบนึง   ซึ่งพี่มีตัวอย่างมาให้ดู  น้องดูว่า ข้าวในคลังที่พี่ดูแล  น้องเอาไปหุงทำกินได้มั๊ย”  
8 คลังข้าว ที่ออกมาเรียกร้องคุณภาพข้าวในคลังที่ตัวเองดูแลนั้น   ในทางกฏหมายและระเบียบข้อตกลง  พวกเค้าเป็นเพียง “ผู้รับจ้างฝากเก็บข้าวของรัฐ”  มีหน้าที่ในการดูแล รักษา สภาพ  คุณภาพและปริมาณข้าว   ตามที่ได้รับมา  ง่ายๆคือ รับมาเป็นรูป A เมื่อรับไปแล้วจะกี่ปีก็ต้องเป็น A จะเป็น B หรืออย่างอื่นไม่ได้ 

ภาพด้านล่างคือการนำตัวอย่างข้าวเกรดไม่ดี  เปรียบเทียบให้นักข่าวดู
ทีนี้เมื่อหม่อมหลวงปนัดาลงพื้นที่ปูพรมเก็บตัวอย่างข้าวในคลังของรัฐทั่วประเทศ   เมื่อกรกฎาคมปี 2557  และในระหว่างเก็บตัวอย่างข้าว  ก็มีเอกสารมาให้เจ้าของคลัง  “เซนต์เอกสารรับทราบว่าชุดตรวจมาจริง”  เจ้าของคลังทุกคลังทั่วประเทศ   ก็ต้องเซนต์   คือ เหมือนการเชคชื่อ  ว่าทีมชุดหม่อมปนัดดา  มาตรวจแล้วนะ    
2  เดือนหลังจากเก็บตัวอย่างข้าวไป   มีเอกสารมาบอกว่า  ข้าวในคลังของรัฐ  มีคุณภาพข้าวไม่ตรงกับที่รับมา   ซึ่งเจ้าของคลังมองว่า  อ้าวววววว  ปีที่แล้วบอกว่ามาเก็บตัวอย่างข้าวไป  แล้วปกติต้องบอกผลการตรวจคุณภาพข้าวทันทีเลยนี่  แต่ครั้งนี้คือ  มาเก็บตัวอย่างข้าวไปนาน 2 เดือน แล้วกลับมาบอกว่า ข้าวเราไม่ตรงตามคุณภาพ 
นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน  คลังข้าวอ่างทองได้พยายามทำหนังสือร้องเรียนไปยังกรมการค้าต่างประเทศเอย องค์การคลังสินค้าเอย หรือหน่วยงานสารพัด  ก็ไม่เป็นผล  โดยมีหนังสือตอบกลับของกรมการค้าต่างประเทศสรุปว่า ได้ทำตามระเบียบแล้ว  
มกราคม 2560  ที่ประชุม นบข.ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ได้อนุมัติหลักเกณฑ์ในการจัดเกรดคุณภาพข้าวใหม่  เป็นกลุ่มๆ  ในเอกสารการประชุม  ระบุว่า เป็นการเกรดข่าว 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 คนบริโภคได้ กลุ่ม 2  คนบริโภคได้ และกลุ่ม 3 คือ คนบริโภคไม่ได้
แต่ในความเป็นจริง  ข้าวในคลังของรัฐ ถูกจัดกลุ่ม แยกย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม อธิบายให้ง่ายคือ 
เกรด P คือ พรีเมี่ยม  ไม่มีที่ติ
เกรด A คือ ดี 
เกรด C อาหารสัตว์ 
เกรด C เป็นปุ๋ย-พลังงาน   

9 สิงหาคม 2560 
เราเดินทางไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อไปดูสถานการณ์การรับซื้อข้าวเปลือก ที่ท่าข้าวแห่งหนึ่ง  พบว่า ชาวนาที่เกี่ยวข้าวมาขายให้กับท่าข้าว  “เกี่ยวข้าวเปียก” หรือข้าวที่ล้มจมน้ำฝน มาขาย  ซึ่งสถานการณ์นี้ก็จะเจอกันทุกปีในฤดูฝน  แต่สิ่งที่เราพบคือ  การกำหนดราคารับซื้อข้าวของท่าข้าว  ที่ส่งต่อมาจากโรงสี   “ต่ำมาก”  โดยราคาข้าวที่แทบแห้งคุณภาพดี แบบไม่มีความชื้นเลย ราคารับซื้อจะอยู่ที่ตันละ 7,000 บาท (ราคากลมๆ)  ส่วนข้าวเปียกมากๆ แบบจมขี้โคลนมาเลย   ท่าข้าวให้ราคารับซื้อได้แค่ 5,400 บาท  คือแทบจะมองไม่เห็นต้นทุนกันเลยทีเดียว  แต่ที่ต้องเกี่ยว  เพราะถ้ารอ  แล้วเจอฝนตกหนัก จะเกี่ยวไม่ได้เลย  จะไม่ได้เงินสักบาท  

เจ้าของท่าข้าวบอกเราว่า ราคารับซื้อช่วงนี้มาต่ำมาก  เพราะข้าวที่สีแปรแล้วน่าจะเข้าสู่ตลาดเยอะ  ช่วงแรกที่สัมภาษณ์   ไม่ได้อยากจะพาดพิงใคร  หรือฝ่ายใด  ที่เป็นต้นเหตุให้ราคารับซื้อข้าวตกต่ำขนาดนี้  ตอนแรกก็ถามราคารับซื้อข้าวเปลือกของปีที่แล้ว เทียบกันดู (ปกติเวลาเทียบราคาสินค้าทุกประเภท  จะเทียบราคาแบบปีต่อปี  เช่น มกราคม 2559 เทียบกับ มกราคม 2560 แตกต่างกันอย่างไร) เพื่อให้คนมองภาพชัดขึ้น
สัมภาษณ์ไปมา เจ้าของท่าข้าว ซึ่งอดีตแกเคยเป็นประธานสมาคมพืชไร่  แกก็ปรี๊ด  แกบอกว่า เข้าเรื่องเลยละกันนะ  พี่ไม่รู้ว่ารัฐบาลคิดอะไรกันอยู่ บลาๆ  และสุดท้ายเราก็ได้รู้ว่า ราคารับซื้อข้าวเปลือกที่มันตกต่ำ  เพราะมีข้าวสีแปรที่หาต้นตอไม่ได้เข้าสู่ระบบแล้ว   https://news.voicetv.co.th/business/514726.html

29 สิงหาคม 2560 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว  ครั้งที่ 5/2560  มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่มี พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา ที่ปรึกษา (สบ.10) ผู้อำนวยการสืบสวนสอบสวนเป็นหัวหน้าคณะตรวจคลังข้าวสาร 8 คลัง   และให้รายงานผลการตรวจสอบกลับมาภายใน 10 วัน 
4 กันยายน 2560  
เราเดินทางไปที่จังหวัดลพบุรี   ซึ่งเป็นที่ตั้งของคลังข้าวกิจเจริญทรัพย์   หลังจากเราได้รู้ในทางลับว่า ทีมที่ปรึกษา สบ.10 จะลงพื้นที่ตรวจคลังข้าวในวันนี้   รอแล้วรอเล่า  เฝ้าแต่รอ  ก็ไม่มีใครมา   นอกจากเจ้าหน้าที่พาณิชย์ ที่ระบุว่า ที่มาคลังในวันนี้ก็เพื่อติดตามงานการระบายข้าวตามปกติ   

5 กันยายน 2560    
ทีมที่ปรึกษา สบ.10ลงพื้นที่จังหวัดลพบุรี  เพื่อตรวจ 2 คลังข้าว  คือ คลังกิจเจริญทรัพย์ และคลังเจริญประภา   ตอนแรกก็ใจชื้นว่า  เอาละ ความหวังของเหล่าเจ้าของคลังที่จะแสดงความบริสุทธ์ใจของตัวเองในการดูแลข้าวนั้น  เริ่มเห็นลำแสงในปลายอุโมงค์แล้ว   ปรากฎไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด

เพราะทันทีที่ทีมที่ปรึกษา สบ.10 นั่งเฮลิคอปเตอร์  มาถึง จ.ลพบุรี ก็ประชุมกับตำรวจที่กองบังคับการกองปราบปรามและทีมตรวจของกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นจึงเดินทางมายังคลังพร้อมหมายค้น  ขั้นตอนการทำงานของทีม สบ.10 ที่ระบุว่ามาตรวจคลังข้าวคือ 
1.แสดงหมายค้นในทุกคลัง
2.เปิดประตูคลังจากผู้แทนที่ถือกุญแจ 4 ดอก
3.ห้ามคนนอกเข้า  จากนั้นตำรวจก็ดูกองข้าวที่เป็นกระสอบเรียงๆตัวกันจากภายนอก
4.จบ
5.ตำรวจท้องที่เขียนสรุปผลการตรวจค้น ให้เจ้าของคลังรับทราบ
กระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ........ใช่ค่ะ 10 นาที  โดยที่ปรึกษา สบ.10บอกเราว่า  มีวิธีการตรวจแบบสูตรพิเศษที่คิดขึ้นมาใหม่ จากการหารือร่วมกันกับทีมพาณิชย์ส่วนกลาง เจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่น  ต่างๆ  เป็นการตรวจแบบ “คนตาบอด” 
“ให้น้องคิดดูนะว่า เวลาคนตาบอดเค้าเดิน เค้าจะเดินแบบคลำทางไม่เจอ  ซึ่งเราจะตรวจแบบนั้น  ตรวจแบบไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย   แต่เราบอกละเอียดไม่ได้ เอาเป็นว่า  ให้รู้ว่าเป็นการตรวจทางกายภาพละกันนะ”   พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รอง ผบ.ตร และที่ปรึกษา สบ.10 ในฐานะหัวหน้าคณะอนุกรรมกรรมการตรวจข้าวที่นายกฯแต่งตั้ง กล่าวกับเรา  
เมื่อตรวจเสร็จแล้ว  คณะของที่ปรึกษา สบ.10 เดินทางกลับ   ก็มอบหมายให้ตำรวจท้องที่เขียนใบสรุปผลการตรวจคลังเพื่อให้รับทราบ    ซึ่งเมื่อได้อ่านผลการตรวจค้นที่เจ้าของคลังจะได้รับ   ก็เหมือนกันทุกที่ค่ะ  คือ  ผลการตรวจสอบไม่พบสิ่งผิดปกติ ไม่มีรอบงัดแงะ  และปริมาณข้าวอยู่ครบเต็มจำนวน
จุดที่สองที่ที่ปรึกษา สบ.10 ลงพื้นที่ไปตรวจคือคลัง เจริญประภา  ไม่รู้ตำรวจจากไหนเดินทางมาสมทบเพิ่ม  คือเยอะมาก  ถ้าจำนวนคร่าวๆ เป็น 2 กองร้อย  https://news.voicetv.co.th/thailand/521425.html
7 กันยายน 2560 
ทีมที่ปรึกษา สบ.10 ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ตรวจสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับข้าว 3 แห่ง  3 จังหวัด   ได้แก่ คลังถาวรโชคชัย จ.สระบุรี  ต่อด้วย บริษัท วีซีเอฟ กรุ๊ป  บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ในจังหวัดราชบุรี  ที่ประมูลข้าวไปได้เยอะมาก   และคลังข้าวแสงไพฑูรย์ (2000) จังหวัดนนทบุรี ซึ่ง 2 คลังข้าวอยู่ในกลุ่มคลังข้าว 8 แห่งที่ขอร้องให้ตรวจสอบ “คุณภาพข้าว”  ซ้ำอีกรอบ  ttps://news.voicetv.co.th/business/522034.html
เราต้องทำความเข้าใจนะคะว่า    คลังข้าว 8 คลัง  ที่ขอให้รัฐตรวจสอบคุณภาพข้าวใหม่    เค้าขอร้องให้นายกฯ ตรวจสอบ “คุณภาพข้าว”   ว่ามันไม่ได้เน่าเสียหาย  จนต้องนำออกประมูลไปเป็นอาหารสัตว์ แม้เจ้าหน้าที่รัฐบางท่านมองว่า  “เจ้าของคลังมีหน้าที่รับฝากเก็บ  และข้าวที่เก็บไม่ใช่ของพวกเขา”   แต่คุณขา  ในเมื่อพวกเขาเก็บข้าวดี  คนกินได้  แต่ถูกจัดเกรดเป็นข้าวไม่ดี   พวกเค้าถูก อคส.ฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่นะคะ  เพราะอะไร
ก็เพราะ   แรกรับข้าว  ข้าวดี  แต่พอจัดเกรดข้าวใหม่  ข้าวกลายเป็นเกรดไม่ดีเฉย  พวกเขาเลยถูกฟ้องคดี  เป็นคดีอาญานะคะ  แถมตอนนี้  ยังถูกริบเงินประกัน (เป็นเงินประกันที่รัฐกำหนดว่า  ผู้ให้เช่าคลังต้องมีเงินค้ำประกันไว้กลัวผิดสัญญา)   เงินประกันนี้ก็ไม่ใช่น้อยๆ หลายล้านบาท   แถมเมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว   ยังจะต้องเสียค่าทนาย  ค่าส่วนต่างที่จะต้องให้รัฐ  เพราะดูแลข้าวไม่ได้   คือ โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง  
คุ้มมั๊ยถามใจดู 
คลังถาวรโชคชัย  เป็น 1 ใน 8 คลังที่ยอมแต่งตั้งทีมทนายความเพื่อต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น  เธอรู้ทั้งรู้ว่าการเป็นเรื่องกับรัฐบาลตอนนี้  ยังไงก็ไม่เป็นผลดี   แต่เธอไม่ยอม   เพราะเธอก็ยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่าตนไม่ได้ผิด  เธอรักษาข้าวที่เธอรับจ้างดูแลเป็นอย่างดีมาโดยตลอด   แต่ทำไม๊ ทำไม  รัฐผู้เป็นเจ้าของข้าวแท้ๆ  ถึงไม่ยอมรักษาผลประโยชน์ให้ประเทศ  ขายข้าวดีๆให้ได้ราคาดีๆ  ไปเสียดีกว่าเอาข้าวดี  ออกให้หมดคลังเร็วๆ  จะได้ไม่เสียค่าจ้างฝากเก็บเดือนนึงตกคลังละหลายล้านบาท  
หลายครั้งที่ได้พูดคุยกับฝั่งของเอกชน คือ เจ้าของคลังข้าวทั้ง 8 และภาครัฐ คือ เลขานุการชุดตรวจข้าวของ สภาหอการค้าไทย  , ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์  และที่ปรึกษา สบ.10  เอง ซึ่งแต่ละฝ่ายก็เป็นตัวแทนของชุดความคิดสองขั้ว   ยอมรับตามตรงว่า  ท่าทีที่แต่ละฝ่ายแสดงออกมีความ “แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”  โดยตัวแทนจากฝ่ายรัฐ  มีความละเอียด รอบคอบ  และหวาดหวั่นกับบางสิ่งบางอย่าง    หาก “ก้าวเท้าผิดทิศ  แค่องศาเดียว”  ก็อาจจะผิดไปทั้งกระบิ    อาจทำให้รัฐเสียหาย   
ส่วนในอีกฝั่งอย่างเอกชน   เจ้าของคลังข้าวทั้งหมดที่ได้พูดคุยกัน   มีท่าทีที่  “เสมอต้น เสมอปลาย”   ที่ต้องกล่าวอย่างนี้เพราะว่า   พวกเขายังคงยืนกรานและยืนยันถึง “ความจริง” ที่เกิดขึ้น  ทั้งความจริงที่มาจากความทรงจำ การกระทำ  และเอกสารหลักฐาน   พวกเขายอมเสียเวลา  เสียเงิน   เพื่อที่จะ “ยืนหยัด” บนความจริงที่ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้   มี 100 พวกเขาทำ 100 เพื่อแสดงให้สังคมรับรู้ว่า   ความถูกต้องใต้ความจริงนั้น   ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้  
ช่วงแรกที่ได้เข้าถึงเหล่าเจ้าของคลังข้าว  เรารู้สึกว่า  พวกเขามองนักข่าวอย่างเราๆ เป็นที่พึ่งสุดท้ายที่พอจะเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขาในยามที่บ้านเมืองไม่มีเครื่องเสียงและลำโพงที่ดังพอ   แต่เมื่อเวลาผ่านไป  พวกเขาได้ตกผลึกว่า นักข่าวไม่กี่ช่องที่ติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่ต้นจนจบมีน้อย  ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสำนักข่าวที่มีทั่วประเทศเลย  พวกเขาคงตกผลึกได้ว่า   เครื่องเสียงและลำโพงอาจจะไม่ดังพอ   และยังพิสูจน์อะไรไม่ได้    จึงต้องหันเข้าทางสุดท้ายที่กระบวนการทางศาล   ที่จะช่วยให้การชั่งน้ำหนักของเรื่องนี้สุดทาง   ตามที่พวกเขาจะทำมันได้มากที่สุด
ทุกคนได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถแล้วเพื่อรอให้ “กลไกแห่งความยุติธรรม” สานต่อ  

ถึงตอนท้ายของเรื่อง   ศาลจะตัดสินใจเองว่าใครพูดจริง - ใครโกหก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น