เพลงฉ่อยชาววัง

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

แจ่มเลย..ผู้ลี้ภัยผู้โชคดีจากซีเรีย



 บนหน้าข่าวหนังสือพิมพ์เราจะเห็นข่าวผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากหนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอนประเทศซีเรีย ไปตามเส้นทางต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่พยายามลี้ภัยออกจากพรมแดนซีเรีย ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังประเทศกรีซ จากนั้นเดินทางขึ้นเหนือไปยังมาซิโดเนีย ผ่านเข้าไปที่ประเทศเซอร์เบียแล้วมุ่งหน้าไปยังประเทศฮังการี เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศเยอรมนี บางกลุ่มเดินทางต่อไปยังประเทศเดนมาร์กโดยมีปลายทางที่ประเทศสวีเดน
สวีเดนเป็นดินแดนในตำนานด้านสันติภาพ โดยนักการทูตนามว่า “ฮาเรลด์ เอเรลสตัม” ได้สร้างชื่อเสียงเอาไว้สมัยที่เขาเป็นนักการทูตสวีเดนประจำประเทศชิลีช่วง1973 ช่วงเกิดสงครามกลางเมือง ใช้ความกล้าหาญและใช้ความเป็นนักการทูตเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เอาไว้ และทุกวันนี้ก็ยังมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทยจำนวนไม่น้อยที่หลบหนีไปพักพิงอยู่ที่ประเทศสวีเดน  ช่วงปฏิวัติยึดอำนาจของรัฐบาลทหารในไทยเมื่อปี 2519 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปราบปรามนิสิตนักศึกษาและประชาชน
ผมตั้งข้อสังเกตว่า ผู้คนที่บ้านเมืองแตกสาแหรกขาดในซีเรียเหล่านี้น่าจะเรียกว่า “ผู้ลี้ภัย” มากกว่า “ผู้อพยพ” เพราะให้ความหมายที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงมากกว่า การลี้ภัยหมายถึงไม่สามารถอยู่ในที่เคยอยู่ได้ ด้วยเหตุเกิดสงครามระหว่างประเทศหรือสงครามกลางเมือง ส่วนคำว่าผู้อพยพนั้นจะกินความหมายกว้างขวางกว่า อาจอยู่ไม่ได้ด้วยเหตุผลอื่นๆ ไม่เฉพาะเจาะจงไปยังมูลเหตุทางการเมือง และคำว่าผู้ลี้ภัยภาษาอังกฤษจะใช้คำกว่า “Refugee” ขณะที่ผู้อพยพหรือคนย้ายถิ่นใช้คำว่า “Immigrant”
บ้านเมืองของเราไม่เคยเกิดสงครามกลางเมือง เราจึงไม่ได้รู้สึกหรือสัมผัสโดยตรงกับภัยอันตรายเมื่อสงครามกลางเมืองเกิดขึ้น เพียงแต่เราได้เห็นภาพข่าวสงครามกลางเมืองในประเทศต่างๆ ในทุกวันนี้ คนที่เคยสัมผัสมาแล้ว หรือผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้ว เขาย่อมตระหนักถึงความหวาดกลัวที่ต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นต่อชีวิตของตนเองและบ้านเมือง  และสงครามหมายถึงหายนะของทุกสิ่งทุกอย่าง
สมัยผมยังเป็นวัยรุ่นเคยเยี่ยมชมศูนย์ลาวอพยพที่จังหวัดหนองคายเมื่อครั้งลาวแตกเมื่อปี 2518 และเคยช่วยเหลือเล็กๆ น้อยตามมนุษยธรรมเมื่อคราวกรุงพนมเปญแตกเมื่อปี 2522 ซึ่งแตกครั้งแรกเมื่อ 2518 เมื่อเขมรแดงยึดครอง และแตกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2522 เมื่อเฮงสัมรินเข้ายึดครอง สมัยนั้นผมทำงานเป็นเสมียนคุมงานก่อสร้างหน่วยงานรัฐบาลที่จังหวัดตราด ได้ช่วยเหลือ 2-3 ครั้งแก่ผู้อพยพเขมรที่หนีข้ามแดนเข้ามาและเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาควบคุมตัวไว้ที่โรงพักจังหวัดตราด
คนไทยที่เป็นนักอ่านก็อาจจะได้สัมผัสกับชีวิตความเป็นไปในช่วงสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ผ่านเรื่องราวบันทึกของ “ยาสึกโกะ นะอิโต” ที่เผยแพร่ในนิตยสารกะรัตเมื่อปี 2526 และพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กชื่อ “4 ปี นรกในเขมร” เมื่อปี 2528 เธอเป็นสาวญี่ปุ่นมีมารดาเกิดในตระกูลซามูไร ทำงานสถาบันแผนที่ญี่ปุ่น และได้พบกับสามี คือ โศ ทันลัน ผู้มีฐานะจากกัมพูชาและจบการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส ทำงานกระทรวงการต่างประเทศแล้วถูกส่งตัวไปทำงานที่ญี่ปุ่น  เขาพบเธอที่สถาบันเพราะไปติดต่อขอแผนที่ประเทศกัมพูชา จากนั้นความสัมพันธ์ฉันต์คนรักก็เกิดขึ้นและได้แต่งงานกัน หลังจากนั้นทั้งคู่ย้ายกลับไปอยู่ที่พนมเปญ ก่อนจะถูกย้ายไปประจำที่เวียดนามและสหภาพโซเวียต และเป็นอุปทูตกัมพูชาประจำโปแลนด์ในปี 2513 แล้วปี 2515 ก็ย้ายกลับกรุงพนมเปญ แล้วสงครามกลางเมืองในเขมรก็ระอุขึ้นในปีนั้น จากนั้นก็เกิดเรื่องราวจริง “4 ปี นรกในเขมร” จากบันทึกของเธอ
ผู้ลี้ภัยซีเรียไม่ได้บ่ายหน้าหายุโรปเท่านั้น ความจริงแล้วผู้ลี้ภัยบ่ายหน้าไปพึ่งพิงประเทศข้างเคียงก็มาก เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบียรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไปแล้วหลายแสนคน และที่น่ายกย่องสำหรับซาอุฯก็คือ เขาไม่ได้เรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น “ผู้ลี้ภัย”  เพราะนั่นจะเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีและความปลอดภัยของชาวซีเรียที่ข้ามเขตแดนเข้ามา รัฐบาลซาอุฯดำเนินการโดยที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเสียด้วยซ้ำ  ซาอุฯไม่ได้ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่จัดหาที่อยู่อาศัยให้ ดูแลรักษาพยาบาลฟรี ให้ที่ทำงาน และให้เด็กได้เรียนหนังสือด้วย นอกจากนี้รัฐบาลซาอุฯยังให้เงินช่วยเหลือไปประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับช่วยเหลือชาวซีเรียที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศจอร์แดนและประเทศเลบานอนด้วย ขณะที่ประเทศยูเออีก็มีผู้ลี้ภัยกว่า 240,000 คน นอกจากนี้ยังผู้ลี้ภัยชาวซีเรียยังมีอีกที่ประเทศตุรกี ประเทศโรมาเนีย เป็นต้น
ประเทศสหรัฐอเมริกาก็เพิ่งจะประกาศเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 นี้ (หลังจากหลีกเลี่ยงมานาน)ว่า จะรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียเพิ่มจาก 1,500 คนเป็น 10,000 คนในปีหน้า ขณะที่คณะกรรมการช่วยเหลือนานาชาติระบุว่า สหรัฐต้องรับผู้อพยพซีเรียไป  65,000 คน แต่สภาความมั่นคงแห่งชาติ “เอ็นเอสซี” แย้งว่าอเมริกันช่วยเงินไปแล้ว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับประเทศภาคพื้นยุโรปแล้ว ณ วันที่ 10 กันยายน 2558 ประธานยูโร ชี้แจงว่า ผู้ลี้ภัยจากซีเรียตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนมีผู้ลี้ภัยเข้ายุโรปแล้ว  160,000 คน  มี 120,000 คนติดค้างฮังการี กรีซ อิตาลี มี 40,000 คน ในจำนวนนี้ เยอรมนีจะรับไป 31,000 ฝรั่งเศสรับไป 24,000 สเปนรับไป  15,000 คน ที่เหลือ 28 ประเทศสมาชิกยูโรต้องช่วยกันรับ ขณะเดียวกันองค์การสหประชาชาติได้เปิดเผยว่า จะมีชาวซีเรียลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคนในสิ้นปี 2558 นี้ และนั่นจะทำให้จำนวนตัวเลขผู้อพยพทั้งหมดนับตั้งแต่เกิดสงครามที่สู้รบกันมาตั้งแต่ปี 2554 เพิ่มเป็นกว่า 3 ล้านคน แต่ผมว่าน่าจะเกิน 4 ล้านคนแน่ๆ เลยครับ
ภาพศพเด็กน้อยชาวซีเรียสวมเสื้อแดง กางเกงสีน้ำเงินเข้มเกยชายหาดที่ริมฝั่งทะเลตุรกีเป็นภาพที่สะเทือนใจคนทั้งโลก และมาอนาจใจอีกครั้งเมื่อช่างกล้องสาวลูกหนึ่งชาวเยอรมันทำงานให้กับทีวีฮังการีใช้เท้าเขี่ยสกัดผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่กำลังวิ่งผ่านหน้ากล้อง จนสองพ่อลูกต้องคว่ำขมำล้มกลิ่งลงต่อหน้า มือขวาอุ้มกอดลูกน้อย มือซ้ายถือถุง บนหลังมีเป้ขนาดใหญ่ ใครจะไปรู้ว่า ผู้พ่อกำลังคิดอะไรขณะวิ่ง นอกจากต้องวิ่ง วิ่งหนีเพื่อชีวิตที่ดีกว่า วิ่งสู่โลกแห่งอิสรภาพและสันติภาพ
ชายชาวซีเรียที่อุ้มลูกน้อยแต่ถูกช่างกล้องคน “โลกสวย” รังแก มีชือว่า โอซามะ อับดุล โมห์เซน(Osama Abdul Mohsen)  ลูกชายที่ล้มกลิ้งพร้อมกับพ่อมีอายุเพียง 7 ขวบ ชื่อ ซาอิด ส่วนโมห์เซนผู้เป็นพ่อเป็นโค้ชฟุตบอลฝีมือดีในซีเรีย เคยคุมทีมชาติในระดับเยาวชนมาด้วย ตอนนี้ศูนย์ฝึกฟุตบอลเซนาเฟ่ (Cenafe) ซึ่งอยู่ในกรุงมาดริด ประเทศสเปนเสนองานให้เขาเป็นโค้ชฟุตบอล โดยออกค่าใช้จ่ายเดินทางจากประเทศเยอรมันมายังสเปน พร้อมหาที่พักให้อยู่ใกล้ๆ กับศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งนี้และทั้งสองได้เดินทางถึงสเปนแล้ว ส่วนภรรยาและลูกอีก 2 คนติดอยู่ที่ศูนย์อพยพประเทศตุรกีกำลังถูกติดตามช่วยเหลือเพื่อให้ครอบครัวได้มาอยู่ร่วมกันที่สเปน  ข่าวว่าลูกชายของเขาที่พามาสเปนด้วยชอบ “คริสเตียนโน โรนัลโด”  ฉายา “ราชันชุดขาว” นักเตะชาวโปตุเกสมาก (เล่นบอลในประเทศสเปน)เป็นพิเศษ
ล่าสุดทีมเรอัล มาดริดได้บริจาคเงิน 1 ล้านยูโรช่วยผู้อพยพชาวซีเรีย และในวันแข่งระหว่างทีมเรอัล มาดริดกับทีมกรานาดา เมื่อวันเสาร์ที่ 20 กันยายน 2558 เวลาในไทย  โรนัลโดสวมเสื้อสนับสนุนผู้อพยพที่เดินทางลี้ภัยมายังภาคพื้นยุโรปด้วย …..แน่นอนก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น เด็กชายซาอิดอายุ 7 ขวบชาวซีเรียที่ล้มกลิ้งไปกับพ่อวันที่พ่ออุ้มวิ่งหนีในเขตพรมแดนฮังการี ได้รับเกียรติให้เป็นเด็กจับมือกับโรนัลโดในวันนั้นด้วย เรียกเสียงปรบมือดังกึกก้องสนามแข่งขันเลยทีเดียว นี่เป็นอีกภาพหนึ่งที่สร้างความประทับใจไปทั่วโลก
MADRID, SPAIN – SEPTEMBER 19: Zaid (R), son of Osama Abdul Mohsen (not seen), the Syrian refugee who was tripped over by a Hungarian journalist, pose with Cristiano Ronaldo of Real Madrid before the La Liga match between Real Madrid CF and Granada CF at Estadio Santiago Bernabeu on September 19, 2015 in Madrid, Spain. (Photo by Angel Martinez/Real Madrid via Getty Images)
ตราบใดที่คนในสังคมยังเข่นฆ่ากันเอง(ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร) การลี้ภัยจะยังคงมีอยู่ต่อไป ช่างเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่งนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น