เพลงฉ่อยชาววัง

วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ถ้าจะปฏิรูปประเทศไทย ต้องไปให้ไกลกว่าการเมือง



Thailand’s Democracy Under Siege

If the country is to reform, it must go beyond politics.
By Samak Mith

(บทความแปล..ภาษาไทย)

ที่มา : thediplomat.com/2014/07/thailands-democr...8The+Diplomat+RSS%29


July 22, 2014
ถ้าจะปฏิรูปประเทศไทย ต้องไปให้ไกลกว่าการเมือง

ประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นมายาวนานเห็นได้จากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่นการใช้ภาษา ภาษาไทยสื่อกลางของการสนทนาที่เต็มไปด้วยความหมาย เป็นตัวบ่งบอกถึงสถานะและชนชั้นแบบนัยๆ ก่อนที่คุณจะเอ่ยปากพูดกับคนที่คุณต้องการจะคุยด้วย สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือประเมินอายุของคนๆนั้นเสียก่อน คุณถึงจะเรียกเขาถูกว่าเขาจะเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นน้า หรือเป็นลุง จากนั้นก็เลือกสรรพนามแทนตัวผู้พูดให้ถูกว่าจะเป็น หนู กระผม ผม ดิฉัน ฉัน ตามลำดับชั้นของการให้เกียรติกันตามระบบโครงสร้างของสังคม นี่ยังไม่ได้พูดถึงคนที่มีเชื้อสายมาจากราชวงศ์และบุคคลชั้นสูงที่มีฐานันดรนำหน้าชื่อและนามสกุลที่บ่งบอกว่ามาจากครอบครัวของชนชั้นสูง

คุณอาจจะเถียงว่าประเทศอื่นๆก็มีคนเชื้อเจ้าและมีคนที่สถานะสูงกว่าคนอื่นอยู่ในสังคมด้วยเหมือนกัน แต่ในประเทศไทยระบบดังกล่าวถูกรักษาไว้อย่างดีถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แสดงให้เห็นถึงการมีความเท่าเทียมกันแต่เพียงผิวหน้า

ความแตกต่างกันของคนรวยและคนจนในประเทศไทยอาจจะดูไม่ชัดเหมือนกับในประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า แต่ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มมากขึ้นและไม่เคยได้รับการแก้ไขเป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่ไม่มีที่สิ้นสุดของประเทศไทย

ชนชั้นสูงของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายของราชวงศ์หรือมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากธุรกิจ จะให้การสนับสนุนกับโครงการที่เป็นของเจ้าและของรัฐบาล คนชั้นสูงจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศเมื่อมีลูกจึงส่งลูกไปเรียนเมืองนอก เมื่อกลับมาจะได้มีสถานะสูงกว่าคนอื่น เพราะโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ถึงแม้จะมีมาตรฐานดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังห่างไกลกับระดับหัวกะทิของโลก นักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังต้องแต่งเครื่องแบบตั้งแต่แรกเข้าจนจบ นั่นคือตัวอย่างของความเป็นอนุรักษ์นิยมแบบโบราณในประเทศไทย

การแบ่งชนชั้น


การที่จะบอกว่าวิกฤติการทางการเมืองของประเทศไทยเกิดจากปัญหาชนชั้นเพียงอย่างเดียวยังไม่ถูกต้องนัก เป็นการให้เหตุผลที่ยังไม่สมบูรณ์ จริงๆแล้วมันปฏิเสธไม่ได้ว่าการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างและความแตกแยกทางความคิดระหว่างพวกอนุรักษ์นิยมหัวโบราณกับพวกหัวก้าวหน้าสมัยใหม่

ข้อสังเกตุเหล่านี้เป็นเพียงแค่ภาพเล็กๆของปัญหาของประเทศไทย จริงๆแล้วเป็นเพราะประวัติศาสตร์ทางสังคมและวัฒนธรรมต่างหากที่ทำให้การเดินไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทยเป็นปัญหา มันเสี่ยงที่จะต้องตกเป็นเหยื่อทฤษฎีสมคบคิด ถ้าหากจะพูดว่ามีคนสงสัยว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยถูกละเลยไม่ได้รับความสนใจนั้นเป็นความตั้งใจใช่หรือไม่ เพราะกลไกของรัฐ ตั้งแต่หลักสูตรของการศึกษาในโรงเรียนจนไปถึงข้อปฏิบัติของข้าราชการ เน้นไปที่ความสามัคคีและการอยู่ร่วมกัน โดยต้องเสียสละในสิ่งที่มีคุณค่าคือความเท่าเทียมและความเสมอภาค

ในขณะนี้ หน่วยงานของรัฐต่างๆในประเทศไทยที่ถูกมอบหมายโดยรัฐบาลทหารให้สอดส่องผู้ที่มีความคิดต่อต้านด้วยจุดประสงค์ที่จะทำให้เกิดความสามัคคีของชนในชาติ เหตุผลของทหารที่นำมาอ้างก็เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นเสาหลักหนึ่งเดียวของสังคมไทยมาช้านาน ทำอย่างกับว่าส่วนอื่นๆของสังคมไม่มีความสำคัญกับประเทศ อธิบายสั้นๆ ความคิดต่อต้านเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์เพราะเป็นการขัดขวางการเป็นเอกภาพของประเทศ หน่วยงานของรัฐบาลในต่างประเทศได้รับคำสั่งให้อธิบายนโยบายและแผนการของรัฐบาลทหารให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจ โดยคิดเอาเองอย่างผิดๆว่าถ้าชาวต่างชาติเข้าใจถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลทหารที่ต้องการที่จะแก้ปัญหา จะทำให้สังคมนานาชาติยอมรับและเห็นชอบกับวิธีการที่ทหารกำลังกระทำ

การให้การยกย่องเชิดชูกับสถาบันใดสถาบันหนึ่งมากเกินไป ในที่นี้หมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะเป็นการปกป้องสถาบันนั้นไปในตัว แต่ก็มีข้อเสีย เพราะมันมีผลเพียงเล็กน้อยกับการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยกับประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าใจแต่เพียงผิวเผินในเรื่องสิทธิและหน้าที่ในฐานะพลเมืองของประเทศ การปราบปรามการต่อต้านและบังคับให้เชื่อฟัง เหมือนในหลายๆกรณีของคนที่ถูกจับกุมและได้รับการปฏิบัติทางด้านจิตวิทยา ไม่ใช่วิธีที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง การต่อต้านไม่รู้จบเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยคนหลายกลุ่ม เป็นสิ่งบ่งบอกว่านโยบายและขบวนการทางการเมืองที่กำลังทำอยู่นั้นล้มเหลว

ทบทวนการกำจัดเสรีภาพ

ปัญหาที่ขัดขวางการเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทักษิณหรืออำนาจของเสียงข้างมากในสภา แต่มันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของการรอดพ้นจากการถูกลงโทษที่แฝงอยู่ในโครงสร้างของสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าในประเทศไทยถ้าหากคุณถูกจับเพราะทำผิดกฎหมาย คุณสามารถรอดพ้นจากการถูกลงโทษได้ ถ้าหากคุณมีเส้นสาย โดยเฉพาะกับพวกขุนนางและนักการเมืองที่ทรงอำนาจ

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยไม่ศรัทธาต่อสถาบันทางการเมือง ในทางกลับกัน เมื่อไม่ศรัทธาก็เกิดการต่อต้าน ไม่ยอมรับการเมืองในระบอบรัฐสภา กล้าที่จะทำร้ายผู้อื่นโดยคิดว่าตัวเองมีเส้นใหญ่ เชิดชูตัวบุคคลและบริหารงานด้วยระบอบอุปถัมป์เป็นเหตุให้สถาบันการเมืองนั้นอ่อนแอ เกิดวัฎจักรของการทุจริตคอร์รับชั่น บริหารงานล้มเหลว สองมาตรฐาน ยิ่งทำให้ประชาชนหมดศรัทธาในตัวนักการเมืองและขบวนการทางประชาธิปไตย

มาถึงตรงนี้ ผู้นำของไทยจะต้องถามว่าวังวนของการจำกัดสิทธิและเสรีภาพสมควรจะดำเนินต่อไปหรือไม่ เพราะที่อื่นๆในโลกใบนี้ สถาบันหลักๆของประเทศนั้นได้รับการเรียนรู้ เต็มใจที่จะปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาพของสังคมการเมือง ทหารไทยรวมทั้งผู้มีบทบาทสำคัญอื่นๆของประเทศ จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ในขณะที่ทหารกำลังใช้โอกาศของการปฏิวัติเริ่มทำในหลายๆสิ่ง เช่นกำจัดกลุ่มผู้มีอิทธิพลและปราบปรามการทุจริต มันน่าสนใจที่จะจับตาดูว่าจะอดทนต่อบรรยากาศที่เป็นใจให้ทุจริตและจะไม่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองได้หรือไม่

โดยเฉพาะกับการทำกิจกรรมสองด้านที่ตรงกันข้าม ด้านหนึ่งจัดงานคืนความสุข ด้วยการจัดแสดงดนตรีและมหรสพฟรีให้กับประชาชนทั่วไป อีกด้านหนึ่งสั่งให้บุคคลมารายงานตัวและเซ็นต์ชื่อสัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ผู้คนวิพากวิจารณ์และประหลาดใจกับการทำสองอย่างพร้อมกันเช่นนี้จะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งตามที่ทหารบอกได้หรือ แรงต้านที่เกิดขึ้นตอนนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นและจะระเบิดออกมาในที่สุด ความเงียบ โดยเฉพาะในส่วนของราชสำนัก ไม่ใช่เรื่องที่น่าพึงใจ ผู้ที่ปกป้องสถาบันควรที่จะป้องกันไม่ให้มีการนำสถาบันไปหาประโยชน์ทางการเมือง หนทางเดียวที่จะทำได้คือปรับปรุงข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำสองมาตรฐานและไม่ให้มีการลงโทษเกินกว่าที่ควรจะเป็น ที่สำคัญที่สุดคือ คณะรัฐประหารจำเป็นต้องเข้าใจว่าการปฏิรูปในส่วนของสถาบันไม่จำเป็นต้องหมายความว่าเลิกอย่างที่กลัวกัน และการทำให้ประชาชนเอาแต่รื่นเริงบันเทิงใจ มีแต่จะทำให้การพัฒนาทางการเมืองของประเทศช้าลงเท่านั้น

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ประเทศไทยต้องเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี จำเป็นต้องมีการถกเถียงกันในเรื่องของการเมืองและการปกครอง การตามล่าคนที่ไม่เห็นด้วยมีแต่จะสั่นคลอนความมั่นคงของทหาร ไม่ได้ทำให้มั่นคงขึ้น ประชาชนไทยจำเป็นต้องได้รับข้อมูลทางการเมืองที่ดีกว่านี้ เพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมในการถกเถียงอย่างมีประสิทธิภาพ ดีกว่าการพูดกระแนะกระแหนใส่กันไปมาที่มีแต่จะทำให้เกิดการแบ่งแยก ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่มีทางที่รัฐบาลไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือทหาร ก็ไม่มีทางที่จะหยุดการคอร์รับชั่นและขจัดความขมขื่นที่ปกคลุมประเทศไปได้ ระบบบราชการก็ต้องการการยกเครื่องด้วยเช่นกัน เพื่อให้เป็นมืออาชีพมากขึ้นและเป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว สถาบันทางการเมืองหลักของประเทศต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมเพื่อลดการแบ่งขั้วระหว่างองค์ประกอบที่สำคัญ ในเวลาเดียวกัน ประชาชนไทยต้องเลิกใช้ภาษาในทำนองแบ่งชั้นวรรณะ แล้วหันมาคุยกันแบบชาวบ้านธรรมดาๆ เมื่อนั้นประชาธิปไตยถึงจะหยั่งรากลงในแผ่นดินไทยได้



วารีนา ปุญญาวัณน์


กลับหน้าหลัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น