เพลงฉ่อยชาววัง

วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

ที่ระลึก จาก อ.สถิตย์ ไพเราะ


อดีตรองประธานศาลฎีกา
ผู้พิพากษาอาวุโสศาลเยาวชนและครอบครัว
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อาจารย์สอนกฏหมาย อภิชาต พงษ์สวัสดิ์

คำนำ
    
ผมเป็นคนชอบอ่านประวัติศาสตร์ และประวัติบุคคลสำคัญของโลก ได้เห็นและได้รู้ทั้งด้านดีและด้านร้ายของบุคคลเหล่านั้นก็มานึกถึงตนเองว่า นับโดยปีแล้วจนถึง พ.ศ.2554 ผมมีอายุได้ 69 ปีแล้ว ว่าไปแล้วก็ทำมาแล้วทั้งความชั่วและความดี ในส่วนที่เป็นความดีนั้นผมก็มักจะเล่าให้คนอื่นฟังเสมอ แต่ในส่วนของความชั่วผมก็เคยเล่าให้คนอื่นฟังเหมือนกัน แต่จะขยักเอาส่วนที่ชั่วที่สุดไว้ ไม่ได้เล่าให้หมด เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคนเรารวมทั้งผมด้วย เข้าข้างตนเอง คิดแต่เพียงว่าเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น คำพูดให้เป็นปราชญ์เข้าไว้ แต่ใจเป็นเปรตไม่บอกใครนั่นเอง
     ผมนึกถึงคำพูดของนักปราชญ์ท่านหนึ่งที่กล่าวว่า คนที่ดีที่สุดในโลกในสายตาของคนคนหนึ่ง อาจเป็นคนชั่วที่สุดในโลกของคนอีกคนหนึ่งก็ได้ พระเจ้าอโศกมหาราชหากเขียนความดีของพระองค์ แม้จะได้หนังสือเล่มใหญ่แต่ถ้าเขียนความชั่วของพระองค์ก็จะได้เล่มโตอีกเหมือนกัน เพราะเหรียญนั้นไม่ได้มีแค่สองด้าน แต่มีถึงสามด้าน คือ ด้านหัว ด้านก้อย และด้านข้าง
      ผมจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2555 เพราะอายุครบ 70 ปี ถ้านับโดยปี ผมจึงอยากจะฝากของเล็กๆ น้อยๆ ให้กับผู้ที่รู้จักมักคุ้นและผู้ร่วมงานไว้เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งได้เคยรู้จักกัน และเคยทำงานร่วมกัน จองฝากนั้นน่าจะเป็นหนังสือสักเล่มหนึ่ง ผมจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รู้จักผมมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านดี เพราะผมคงไม่บอกด้านชั่วให้ท่านทราบอย่างแน่นอน
     ความคิดเห็นในหนังสือเล่มนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมโดยแท้ ซึ่งแน่นอนอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ และถ้าไม่ถูกใจท่านผู้อ่านผมก็ขออภัยล่วงหน้า อย่างที่นักปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า หากชอบก็ Thank you ผิวะฉิวก็ Sorry
     ขอบคุณท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามอ่านมาถึงบรรทัดนี้ ผมหวังว่าท่านจะพลิกอ่านหน้าต่อไป

สถิตย์ ไพเราะ
20 มีนาคม 2554

วิริเยนะ ทุกขมัต เจติ
บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)


เริ่มต้นชั้นประถมศึกษา
     ตามทะเบียนราษฎร์ระบุว่าผมเกิดวันที่ 17 พฤษภาคม 2485 แต่แม่บอกผมว่า ผมเกิดวันอาทิตย์ เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ปีมะเมีย ก่อนเวลาเรือสี่ทุ่มล่อง ผมเคยให้โหรผูกดวง โหรบอกว่า วันเกิดตามที่แม่บอกนั้น คือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2486 จะจริงหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ
     ที่ว่าเรือสี่ทุ่มล่องตามที่แม่บอกก็คือในสมัยที่ผมเกิดนั้น การเดินทางจากจังหวัดสุพรรณบุรีไปบางกอกนั้นมีสองทาง ทางหนึ่งคือขึ้นรถโดยาารผ่านถนนมาลัยแมน ซึ่งก็คือถนนระหว่างจังหวัดสุพรรณบุรีถึงจังหวัดนครปฐม แล้วผ่านถนนเพชรเกษมเข้าบางกอก อีกทางหนึ่งคือเรือของบริษัทสุพรรณบุรีขนส่ง จำกัด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เรือสีเลือดหมู แล่นจากจังหวัดสุพรรณบุรีถึงบ้านงิ้วรายแล้วขึ้นรถไฟจากสถานีบ้านงิ้วรายเข้าสถานีรถไฟธนบุรี หลังจากนั้นข้ามเรือมาฝั่งบางกอกที่ท่าพระจันทร์ มีเรืออยู่เที่ยวหนึ่งซึ่งจะมาถึงบ้านบางแม่หม้ายซึ่งเป็นบ้านเกิดของผมในเวลาประมาณสี่ทุ่มและไปถึงบ้านงิ้วรายตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น เพราะฉะนั้นคนบ้านผมจึงเรียกเรือว่าเรือสี่ทุ่ม และใช้เรือเป็นนาฬิกาบอกเวลา เนื่องจากขณะนั้นบ้านผมไม่มีนาฬิกา แต่ถึงมีก็ดูไม่เป็น
     พูดถึงโหร ผมขอเรียนท่านผู้อ่านว่า โหรทายผมไม่ถูกเลยแม้แต่ข้อเดียว กล่าวคือ เมื่อผมอายุมากขึ้นผลกรรมปรากฎชัดเจนแล้วว่าไม่ได้เป็นไปตามที่โหรทำนาย โหรท่านหนึ่งบอกผมว่า เหตุที่โหรทายผิดก็เพราะเวลาตกฟากของผมไม่แน่นอน เพราะคำว่าเรือสี่ทุ่มล่องตามที่แม่บอกนั้นมาถึงบ้านบางแม่หม้ายไม่แน่นอน หากคนโดยสารน้อยเรือก็มาเร็ว โดยอาจจะมาถึงตอนสองทุ่ม แต่หากคนโดยสารมากเรือก็อาจมาถึงบ้านผมในเวลาห้าทุ่มก็ได้ เพราะคนโดยสารน้อยเรือก็จอดรับคนน้อย เสียเวลาน้อย หากคนโดยสารมากเรือก็จอดบ่อย ย่อมเสียเวลามากและมาถึงช้า ซึ่งว่าไปแล้วก็อาจจะเป็นดังที่โหรกล่าวก็ได้
     เหตุที่ผมใช้วันเดือนปีเกิดทางราชการเป็นวันที่ 17 พฤษภาคม 2485 ผมจำได้ว่าเมื่ออายุ 7 ขวบ ต้องไปโรงเรียนประชาบาล คือโรงเรียนวีระราษฎร์อนุกูล ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดบางแม่หม้ายนั้น พ่อก็พาไปหาครูใหญ่ของโรงเรียนดังกล่าว คือ คุณครูณรงค์ โพธิกุล เดิมท่านชื่อครูทุเรียน ต่อมาสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้เปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมกับเพศ และไม่ควรเอาชื่อผลไม้มาเป็นชื่อคน คุณครูทุเรียนท่านก็เลยเปลี่ยนชื่อท่านเป็นณรงค์ เหตุที่ผมทราบก็เพราะผมได้ยินผู้ใหญ่ในสมัยนั้นเล่าให้ผมฟัง จะจริงหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ หากผมผิดพลาดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้
     ครูบาอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่ผมเคารพมากที่สุดคนหนึ่งคือ ท่านศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ท่านผู้นี้สอนกฎหมายอาญาภาค 1 และกฎหมายรัฐธรรมนูญ สมัยผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคนบอกผมว่าความจริงเดิมท่านชื่อสายหยุด ต่อมาเกิดรัฐนิยมในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าท่านเป็นผู้ชายแต่ชื่อเหมือนผู้หญิง ท่านจึงเปลี่ยนชื่อเป็นหยุด โดยตัดคำว่าสายออก ผมต้องกราบขออภัยท่านอาจารย์หากข้อความที่ผมเขียนไม่เป็นความจริง แต่ผมได้ทราบมาอย่างนี้จริงๆ
     เมื่อพ่อพาผมไปพบคุณครูณรงค์ คุณครูณรงค์ถามพ่อว่า ผมเกิดวันที่เท่าไร เดือนไหน ปีใด พ่อตอบไม่ได้ พ่อบอกคุณครูณรงค์ว่า ผมเกิดปีน้ำมาก หรือปีน้ำบ้า ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า หมายถึงปี 2485 พ่อกับคุณครูณรงค์ปรึกษากันว่า รู้แต่เพียงปีเกิด แต่ไม่รู้วันและเดือนจะทำอย่างไรดี ทะเบียนบ้านของทางราชการที่บ้านผมก็ไม่มี หากจะรู้จริงๆ ก็ต้องไปอำเภอบางปลาม้า ซึ่งอยู่ห่างออกไป ใช้เวลานั่งเรือไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง และต้องออกเดินทางเวลาประมาณตีสี่ หรือตีห้า เพราะเรือจะต้องเดินทางถึงตัวอำเภอบางปลาม้าเวลาประมาณ 7 นาฬิกา และถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรีประมาณ 9 นาฬิกา ทั้งการไปอำเภอก็ไม่แน่ว่าจะสอบถามใครได้ เพราะข้าราชการซึ่งทำงานอยู่ที่อำเภอนั้นมีฐานะเป็นนายของราษฎร ชาวบ้านทั้งหลายไปอำเภอครั้งใดเหมือนคนตาบอดมืดแปดด้านถามใครก็ไม่ได้ หากถามผิดที่ผิดคนก็อาจโดนตะคอกเอาได้ ถ้าจะให้ดีก็ต้องไปขอร้องผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันให้ไปเป็นเพื่อนด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่และมีปัญหามาก เพราะผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันท่านก็ไม่ได้อยู่ว่างๆ ท่านต้องทำมาหากินตัวเป็นเกลียวเหมือนกัน
     เมื่อทางที่จะไปอำเภอมีปัญหามากมายเช่นนั้น พ่อจึงแนะนำคุณครูณรงค์ว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกันคุณครู เอาวันนี้แหล่ะเป็นวันเกิดของผม ส่วนปีก็ให้ใช้ปีน้ำมาก คือปี 2485 ก็แล้วกัน คุณครูณรงค์ท่านเห็นด้วย ผมก็เลยได้วันเกิดเป็นวันที่ 17 พฤษภาคม 2485 เพราะวันดังกล่าวเป็นวันเปิดเรียนและเป็นวันที่พ่อพาไปฝากโรงเรียน
     จนถึงวันนี้ผมรู้สึกนับถือพ่อและคุณครูณรงค์ที่หาทางออกของปัญหาให้ผมได้อย่างแยบยลและง่ายดาย พ่อผมไม่ต้องเสียเวลาไปอำเภอ ไม่ต้องไปขอร้องกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านให้ไปด้วยและไม่ต้องไปเสี่ยงกับการถูกข้าราชการที่อำเภอดุด่าว่ากล่าวให้เสียความรู้สึก
    ผมนึกถึงเรื่องนี้ครั้งใด ผมก็อดกราบพ่อและคุณครูณรงค์ในใจทุกครั้งไปไม่ได้
    ผมเรียนอยู่โรงเรียนวีระราษฎร์อนุกูลได้ 3 ปี คือชั้น ป.เตรียม ชั้นประถมปีที่ 1 และปีที่ 2 พ่อก็ไปหาคุณครูณรงค์บอกคุณครูณรงค์ว่าพ่อต้องการจะส่งให้ผมไปเรียนต่อให้สูงขึ้นไปถึงชั้นมัธยม พ่ออยากจะให้ผมเรียนจบเร็วๆ จึงตกลงกันว่า ผมไม่ต้องเรียนชั้นประถมปีที่สามให้พาสเลื่อนชั้นหรือผ่านไปเรียนชั้นประถมปีที่สี่เลย
     วันแรกที่ผมไปนั่งเรียนในชั้นประถมปีที่ 4 ทุกคนในชั้นเรียนมองผมด้วยความชื่นชมยินดีว่าผมเป็นคนเก่ง มีความรู้ดีจึงไม่ต้องเรียนชั้นประถมปีที่สาม
     แต่ความจริงแล้ว ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย บวกเลขก็ไม่ค่อยจะได้ อ่านหนังสือก็ไม่ค่อยจะออก เบื้องหลังการถ่ายทำเรื่องนี้ก็เป็นดังที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น
     เมื่อผมจบชั้นประถมปีที่ 4 ผมจำได้ว่าในวันสุดท้ายที่อาจจะเรียกว่าเป็นปัจฉิมนิเทศ คุณครูณรงค์ ได้สั่งสอนคำสุดท้ายว่า เธอทั้งหลายจงอย่าประมาทต้องศึกษาหาความรู้ต่อไป คนที่จบประถมปีที่สี่มีความรู้แค่หางอึ่งเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับสงครามชีวิตที่จะต้องผจญต่อไปข้างหน้า ในขณะที่คุณครูณรงค์กล่าวปัจฉิมนิเทศดังกล่าวข้างต้น ผมก็ฟังไปอย่างนั้นไม่ได้เข้าใจว่าสงครามชีวิตคืออะไร และหางอึ่งที่คุณครูณรงค์พูดถึงนั้นคืออะไร ผมมาทราบเมื่อโตแล้วว่า อึ่งนั้นไม่มีหาง มีเพียงแค่ตุ่มเล็กๆ เท่านั้น

เหตุการณ์ที่คุณครูณรงค์ท่านสอนเกิดขึ้นปี 2495
     ในปี พ.ศ.2511 ผมเรียนจบปริญญาโทที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านอาจารย์ที่สอนวิทยานิพนธ์ผมท่านได้สอนผมเป็นประโยคสุดท้ายว่า เมื่อท่านจบการเรียนจากประเทศอังกฤษ ท่านไปลาอาจารย์ของท่าน อาจารย์ของท่านได้สอนท่านว่า ท่านได้ผ่านการเรียนครบตามหลักสูตรแล้ว สิ่งที่ท่านจะต้องผจญต่อไปก็คือ After all you must deal with men กล่าวคือท่านจะต้องติดต่อกับคนให้เป็นผลสำเร็จ จะปราบโจรต้องใช้ปืน จะปราบปราชญ์ต้องใช้ปัญญา ท่านบอกผมว่าท่านเอาคำสอนของอาจารย์ของท่านมาสอนผม และขอให้ผมนำไปปฏิบัติ หากปฏิบัติได้จะเกิดความสำเร็จในชีวิตการงาน
     โรงเรียนประชาบาลที่ชื่อวีระราษฎร์อนุกูลนั้น เป็นโรงเรียนที่ขุนวีระประศาสน์ หรือนายวีระ วีระศิริ ซึ่งเป็นพี่ชายภริยาคนแรกของพ่อเป็นคนรวบรวมเงินมาก่อสร้าง จึงตั้งชื่อเป็นที่ระลึกของท่าน ขุนวีระประศาสน์ ท่านเคยรับราชการเป็นนายอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ต่อมาท่านได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี และได้รับเลือก 1 สมัย ท่านเป็นผู้ขอเงินงบประมาณแผ่นดินมาก่อสร้างถนนมาลัยแมนเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดนครปฐม
     ผมเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนประชาบาลวีระราษฎร์อนุกูล เมื่อ พ.ศ. 2495 พ่อพอไปฝากเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี คือ โรงเรียนสูงสุมารผดุงวิทย์ที่ได้ชื่อเช่นนั้่นก็เพราะขุนสูงสุมารเป็นผู้ต้นคิดรวบรวมทุนในการก่อสร้างขึ้น
     ส่วนที่พักนั้น คุณครูโกวิท คุณโกมุท เป็นคนพาพ่อและผมไปฝากไว้ที่วัดขุนไกร ซึ่งมีพระอธิการวากย์เป็นเจ้าอาวาส ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนสูงสุมารผดุงวิทย์ได้สี่ปีจบชั้นมัธยมปีที่ 4 พ่อก็พามาฝากไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และเรียนต่อที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรฯ
     ที่วัดเบญจมบพิตรฯ ผมเรียนจนจบเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 แล้วจึงไปสอบเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกว่ารุ่น 2504 เป็นรุ่นปีเข้าเรียน ผมจำได้ว่า เป็นการสอบเข้าเป็นปีที่สอง เพราะขณะนั้นทางรัฐบาลซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเปิดเป็นมหาวิทยาลัยปิด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงปรัชญาหรืออุดมการณ์อย่างสำคัญของผู้ก่อตั้งคือท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นตลาดวิชา ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นผู้ดีมีจนยากไร้อนาถา หากประสงค์จะหาวิชาความรู้ก็สามารถเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องสอบเข้า และไม่ต้องมาเรียนประจำ อันเป็นการทำให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งโอกาส ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน ใครใช้โอกาสหรือฉวยโอกาสที่มีอยู่ได้ดีเท่าใด ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตนมากเท่านั้น
     ผมเป็นคนคนหนึ่งที่ได้ใช้โอกาสที่ท่านปรีดีได้ให้ไว้ เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผมจึงนึกถึงบุญคุณของท่านผู้ก่อตั้งมาจนทุกวันนี้
     ผมบอกกับคนที่ผมรู้จักว่า ถ้าไม่มีท่านปรีดี ก็ไม่มีธรรมศาสตร์ เมื่อไม่มีธรรมศาสตร์ ผมก็ไม่มีทางจะได้เป็นผู้พิพากษา ผมคงต้องเป็นชาวนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เหมือนชาวนาของประเทศไทยในทุกวันนี้ ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าแล้วเป็นชาวนามันแย่อย่างไร
ผมได้ย้อนกลับไปนึกถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับชีวิตเมื่อครั้งเป็นเด็ก
     พ่อพูดกับผมเสมอว่า ลูกต้องเรียนหนังสือ ลูกทุกคนของพ่อต้องไม่ทำนา และท่านก็ทั้งปลอบทั้งขู่ให้ผมออกจากบ้านไปอยู่วัดตั้งแต่อายุ 10 ปีเพื่อเรียนหนังสือ
     ภาพภายนอกคนมองผมว่าเป็นคนรักเรียน รักความก้าวหน้า ยอมออกจากบ้านไปเรียนหนังสือตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นตัวอย่างที่ดี แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เบื้องหลังการถ่ายทำจริงๆ ก็คือพ่อผมมีเจตนาแน่วแน่ที่จะให้ลูกทุกคนไปประกอบอาชีพอื่น พ่อพูดกับผมเสมอว่า ทำอะไรก็ได้ลูกเอ๋ยนอกจากทำนา เมื่อครั้งผมเป็นเด็ก ผมไม่เข้าใจว่าคำพูดของพ่อมีความหมายว่าอะไร ผมไม่กล้าถามท่านเพราะไม่รู้ว่าจะตั้งคำถามอย่างไร และก็เกรงใจท่านด้วย ผมได้แต่นั่งฟังพ่อพูดโดยไม่ได้ตอบโต้หรือสอบถามอะไร
     แต่แม่คิดตรองข้ามกับพ่อ แม่คิดว่าเมื่อแม่มีนาลูกควรจะทำนาต่อไป หากไปเรียนกันเสียหมดแล้ว ใครจะช่วยทำนา ผมเข้าใจว่าผมเป็นคนหนึ่งที่แม่หมายมั่นปั้นมือว่าจะให้ช่วยพ่อแม่ทำนา เมื่อแม่ทราบว่าผมไม่ต้องเรียนชั้นประถมปีที่ 3 ก็หมายความว่าผมจะจบชั้นประถมปีที่ 4 เร็วขึ้น 1 ปี พ่อคงรู้ใจแม่ เพราะฉะนั้นทุกวันที่แม่ออกไปเกี่ยวข้าว ไปไถนา หรือออกนอกบ้านไป พ่อจะเรียกผมไปคุยด้วยโดยบอกถึงประโยชน์ของการเรียนและโทษของการไม่เรียน พ่อจะยกตัวอย่างคนในหมู่บ้านที่ยากจนมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก เป็นตัวอย่างว่าเป็นผลจากการที่คนคนนั้นไม่เรียนหนังสือ และพยายามพูดให้ผมจินตนาการเอาเองว่าคนที่เรียนหนังสือนั้นสุขสบาย เป็นเจ้าใหญ่นายโต มีคนพินอบพิเทา กราบไหว้ แล้วพ่อจะถามผมเป็นประโยคสุดท้ายเสมอว่า ตกลงลูกจะไปเรียนต่อหรือไม่ ซึ่งแน่นอนผมรู้อยู่แล้วว่าพ่อประสงค์จะให้ผมตอบว่าอย่างไร หากผมตอบว่าผมไม่เรียน ผมจพถูกพ่อโกรธและลงโทษได้ ผมก็ต้องตอบให้ถูกใจพ่อทุกครั้งไปว่าผมอยากเรียนครับพ่อ ทุกครั้งที่ผมตอบอย่างนี้พ่อจะยิ้มอย่างมีเลศนัยเสมอ พ่อพูดกับผมอย่างนี้และถามผมอย่างนี้และผมก็ตอบพ่ออย่างนี้่อยู่หลายวัน
     อยู่มาวันหนึ่งผมนอนอยู่ในมุ้งกับพี่น้องคนอื่น พ่อกับแม่นั่งคุยกันอยู่ที่นอกชานบ้านห่างจากที่ผมนอนพอเรียกกันได้ยิน ผมได้ยินพ่อกับแม่พูดถึงการเรียนของผม โดยแม่พูดทำนองว่าอยากให้ผมอยู่บ้านเพื่อช่วยพ่อแม่ทำนาต่อไป พ่อตัดบทว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถามลูกดูเอาเองว่าลูกอยากจะไปเรียนหรืออยากอยู่บ้านกับพ่อแม่ แล้วพ่อก็ตะโกนเรียกผมให้ออกไปที่นอกชานเพื่อตอบคำถามนี้ แน่นอนผมจะตอบอย่างอื่นได้อย่างไร นอกจากจะตอบอย่างที่เคยตอบพ่อทุกวันก่อนหน้านี้ว่า ผมอยากไปเรียน ทั้งๆ ที่ในใจผมไม่อยากจากบ้านไปอยู่ที่อื่นเลย ผมก็เหมือนเด็กคนอื่นที่คิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ เมื่อผมตอบเป็นที่พอใจของพ่อแล้ว พ่อก็รีบไล่ให้ผมกลับไปนอนทันที่ คงเป็นเพราะกลัวผมเปลี่ยนใจจะตอบไปตามความรู้สึกที่แท้จริงของผม
     เป็นอันว่า ผมต้องจากบ้านไปอยู่วัดขุนไกรเพื่อเรียนหนังสือที่โรงเรียนสูงสุมารผดุงวิทย์สมใจพ่อผม
     ลูกของพ่อทุกคนทั้งที่เกิดจากภริยาเก่าของพ่อผมสองคน และเป็นพี่น้องท้องเดียวกับผมอีก 11 คน ไม่มีใครทำนาเลยแม้แต่คนเดียว สมใจความตั้งใจของพ่อทุกประการ
     เมื่อ พ.ศ.2537 พ่อผมตาย ในปี พ.ศ.2536 ก่อนพ่อผมตายหนึ่งปี ผมเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ผมกลับไปเยี่ยมพ่อที่บ้านบางแม่หม้าย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี พ่อผมเริ่มมีสุขภาพไม่ค่อยดี แต่ก็ยังพูดคุยกับผมและลูกทุกคนอย่างมีความสุข ผมคุยกับพ่อถึงเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผมและชีวิตพ่อ ผมนึกขึ้นมาได้จึงถามพ่อว่า เหตุใดพ่อจึงไม่ต้องการให้ลูกทำนา
     ต่อไปนี้เป็นคำตอบของพ่อ ซึ่งผมขออภัยท่านผู้อ่านล่วงหน้าว่า คำตอบเหล่านี้ของพ่อมิได้มีเจตนาจะดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามผู้ใด ท่านตอบจากหัวใจของท่าน ตอบอย่างที่พ่อซึ่งรักลูกพูดกับลูกโดยมิได้มีเจตนาอื่นแอบแฝง
     เมื่อผมถามพ่อ พ่อนิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า ลูกเอ๋ย ลูกคิดดูซิ ทวดของพ่อ ปูของพ่อ พ่อของพ่อ และตัวพ่อทำนามาสี่ชั่วคนแล้ว ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย มีแต่หนี้สิน ล่มจม ชีวิตอยู่ที่ความเมตตาของฟ้าดินและคนอื่น ไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน เมื่อเห็นกันอยู่แล้วว่าอนาคตของลูกจะเป็นเช่นนี้ หากให้ลูกทำนาต่อไป คนที่โง่ที่สุดเท่านั้นแหละที่จะคิดเช่นนั้น
ผมถามพ่อว่า ที่ว่าอาชีพทำนาอยู่ที่ความเมตตาของฟ้าดินและคนอื่น หมายความว่าอย่างไร
     พ่อบอกว่า ลูกคิดดูปีนี้ฝนแล้ง นาเสีย ทั้งปีไม่มีรายได้อะไรเลยทั้งที่ต้องกินเข้าไปทุกวัน ปีต่อมาฝนชุกน้ำท่วมทั้งปี ไม่มีรายได้อะไรเลย ปีที่สามน้ำบริบูรณ์ดี ปลูกข้าวได้ผลดี แต่ข้าวราคาตกขายขาดทุนก็เจ๊งอีก แล้วมันก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ทวดของพ่อแล้วลูกจะทำนาไปทำไม
ผมถามค้านพ่อว่า ตอนหลังรัฐบาลเข้าก็เข้ามาช่วยไม่ใช่หรือพ่อ
     พ่อถามผมว่าช่วยอะไร ให้เงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำหรือ ลูกก็รู้ว่าเงินต้นต้องใช้คืน ดอกเบี้ยแม้จะต่ำก็ต้องใช้คืนรัฐบาล ช่วงเวลาหนึ่งปีที่ไม่มีรายได้เลย หรือมีรายได้ไม่พอใช้จ่ายจะเอาอะไรกิน จะเอาต้นเอาดอกที่ไหนใช้คืนรัฐบาล ผลเสียหายที่เกิดขึ้นชาวนาต้องรับไปคนเดียว ที่รัฐบาลบอกว่าช่วย ความจริงแล้วก็ไม่ได้ช่วย เพราะผลสุดท้ายความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวนานั้น เปลี่ยนเป็นเงินกู้และดอกเบี้ยที่ชาวนาต้องชดใช้ให้รัฐบาลทุกบาททุกสตางค์
ผมฟังพ่อพูดแล้วก็ซึ้งในความรักความหวังดีของพ่อที่มีต่อผมซึ่งเป็นลูก
     ทุกวันนี้ แม้ผมจะไม่ร่ำรวย เพราะเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่ผมก็ไม่เป็นหนี้
     อินาทานัง ทุกขัง โลเก ความเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก
     เมื่อผมไม่มีหนี้ ผมก็ไม่มีความทุกข์
     งานของผมมีหลักประกันว่า ผมจะต้องได้รับเงินเดือนทุกเดือน ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก หรือน้ำจะท่วม ถือหลังแต่เพียงว่า ความชั่วอย่าให้มี ถ้ามีก็ปิดไว้อย่าให้คนอื่นรู้ แม้ความดีจะไม่ปรากฎ ผมก็สามารถอยู่ในราชการมาจนทุกวันนี้ถึง 44 ปีแล้ว
     พี่น้องผมทุกนคนรวม 13 คน ทำงานอื่น เช่น รับราชการ บริษัทเอกชน เป็นทนายความ ไม่มีใครทำนาแม้แต่คนเดียว


ทำงาน
     เมื่อผมสอบเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากพ่อแม่ผมมีลูกมาก ไม่มีเงินพอที่จะส่งลูกให้เรียนถึงชั้นมหาวิทยาลัยได้ทุกคน จึงเป็นการบีบบังคับทางอื้อมให้ลูกๆ ต้องช่วยเหลือตัวเอง
พ่อผมสอนผมเสมอว่า
อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนนั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน
     เมื่อเวลาผมคุยกับพ่อ พ่อมักจะสอนผมโดยยกเอกภาษาบาลีมาสอนเสมอ เพราะพ่อบวชหลายพรรษา และสอบได้นักธรรมตรี เมื่อผมเป็นเด็กผมยังเห็นใบประกาศรับรองว่าพ่อสอบได้นักธรรมตรี ติดอยู่ภายในบ้าน ผมมาทราบภายหลังว่า ปลวกกินไปเสียแล้ว
     แม่นั้นหลังจากพยายามทัดทานพ่อ โดยขอให้ลูกบางคนอยู่ช่วยทำนาไม่เป็นผล แม่ก็หันมาสนับสนุนให้ลูกทุกคนเรียนหนังสือเต็มที่ แม่เคยเอาข้าวสารใส่เรือ แจวจากจังหวัดสุพรรณบุรี มาให้ลูกกินถึงกรุงเทพฯ แม่บอกว่าต้องใช้เวลาแจวเรือไปและกลับประมาณ 6 วัน
     แม่เพิ่งตายเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2554 นี้เอง นับอายุโดยปีได้ 90 ปี
     พ่อตายเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 นับอายุโดยปีได้ 89 ปี
     ผมไปสอบเข้าทำงานเป็นพนักงานธนาคารออมสินได้ เมื่อ พ.ศ.2505 เรียกกันว่า รุ่น 05 มี 130 คน
     ผมทำงานเป็นพนักงานออมสินได้เงินเดือนครั้งแรก เดือนละ 640 บาท จนปี 2511 ผมจึงสอบเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่น 11 ได้รับเงินเดือนครั้งแรก 2,350 บาท
เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงแล้ว ได้ย้ายไปเป็น
     ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมา ในปี 2513-2520
     ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปี 2520-2521
     ผู้พิพากษาศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ในปี 2521-2522
     ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในปี 2522-2525
     ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา ในปี 2526-2530
     ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ในปี 2530-2533
     ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ในปี 2534
     รองอธิบดีศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ปี 2535
     ผู้พิพากษาศาลฎีกา ปี 2536 - 2539
     ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ในปี 2539 - 2542
     อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ในปี 2543 - 2544
     รองประธานศาลฎีกา ในปี 2544 - 2545
และผู้พิพากษาอาวุโสศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ.2545 จนถึงทุกวันนี้
     การทำงานของผมไม่ว่าในตำแหน่งใดดังที่กล่าวมาไม่มีอะไรน่าสนใจที่ควรจะเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง เพียงแต่อยากจะบอกท่านผู้อ่านว่า ผมจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2555 เพราะผมจะมีอายุครบ 70 ปีถ้าใช้อายุทางราชการคือวันที่ 17 พฤษภาคม 2485

     แต่ถ้าจะจบการเขียนหนังสือเล่มนี้ห้วนๆ แค่นี้ ก็ดูเหมือนจะสั้นเกินไป ผมจึงคิดว่าผมควรจะเขียนเล่าความเห็นส่วนตัวของผม เพื่อเป็นการปรับทุกข์ ปรับสุขกับท่านผู้อ่านในบางเรื่อง แต่ผมต้องขออภัยท่านผู้อ่านไว้ล่วงหน้าอีกครั้งหนึ่งว่า หากความเห็นของผมทำให้ท่านผู้อ่านไม่สบายใจ ก็ขออภัยไว้ล่วงหน้า อย่างที่นักปราชญ์ท่านกล่าวไว้ว่า
หากชอบก็ Thank you ผิดหวังก็ Sorry

โดย อองโตนี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น