เมื่อ วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554
การปฏิวัติที่กำลังลามไปทั่วตะวันออกกลางมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พอๆ กับการปฏิวัติในยุโรปตะวันออกในปี ค.ศ.
1989 ที่นำไปสู่การล่มสลายของเผด็จการคอมมิวนิสต์สตาลิน ครั้งนั้นการปฏิวัติเริ่มต้นด้วยการชุมนุมใหญ่และการนัดหยุดงานในประเทศโปแลนด์ ภายในไม่กี่วันมีการลามไปสู่ฮังการี่ เยอรมันตะวันออก บัลแกเรีย เชคโกสโลวาเกีย โรเมเนีย และจีน
นอกจากปี
1989 จะเป็นปีแห่งการปฏิวัติล้มเผด็จการคอมมิวนิสต์สตาลิน เพื่อสร้างประชาธิปไตยแล้ว ผลของการปฏิวัติดังกล่าวกระจายไปสู่ดุลอำนาจของจักรวรรดินิยมทั่วโลก และกระแสลัทธิทางการเมือง เพราะหลังการปฏิวัตินี้จักรวรรดินิยมสองขั้ว สหรัฐกับรัสเซีย แปรไปสู่จักรวรรดินิยมขั้วเดียวคือขั้วสหรัฐ ในด้านลัทธิการเมืองการปฏิวัติในยุโรปตะวันออกนำไปสู่การหมดกำลังใจของฝ่ายซ้าย เพราะกระแสคิดหลักทั้งซ้ายและขวามองว่าเผด็จการคอมมิวนิสต์สตาลิน เป็นสิ่งเดียวกับแนวมาร์คซิสต์สังคมนิยม ซึ่งมันไม่ใช่ ดังนั้นการปฏิวัติยุคนั้นนำไปสู่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินทั่ว โลกรวมถึงประเทศไทย
การปฏิวัติในยุโรปตะวันออก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความคิดกระแสหลักในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความเชื่อว่า
“รัฐจัดการเศรษฐกิจและสวัสดิการไม่ได้”
และ
“เราไม่มีทางเลือกนอกจากจะยอมรับกลไกตลาดเสรี”
และระบบ
“มือใครยาวสาวได้สาวเอา”
ความเชื่อนี้ครอบงำสังคมโลกจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระบบตลาดเสรีของโลกในปี ค.ศ.
2008 แม้แต่ในประเทศจีน ที่รัฐบาลเผด็จการสตาลิน-เหมา
สามารถเข่นฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจนต้องยอมจำนนที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี
1989 ก็มีการเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจาก
“ทุนนิยมโดยรัฐ”
ไปสู่
“ทุนนิยมตลาดเสรี”
ในเวียดนามกับลาวก็มีการเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจเช่นกัน
การปฏิวัติในตะวันออกกลางต้นปีนี้มีความสำคัญพอๆ กับการปฏิวัติในยุโรปตะวันออก เพราะเป็นตัวอย่างสำคัญของความสามารถของพลังมวลชนและการนัดหยุดงานที่นำไปสู่การโค่นเผด็จการ
นอกจากนี้ตะวันออกกลางเป็นแหล่งน้ำมันที่สำคัญของโลกอุตสาหกรรม และเป็นจุดที่มีการเบ่งอิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตก ทั้งโดยตรงและผ่านสมุนในประเทศอิสราเอล ดังนั้นเมื่อมีการล้มรัฐบาลเผด็จการที่เคยตามก้นและสนับสนุนจักรวรรดินิยมตะวันตก จะมีผลสำคัญต่อดุลอำนาจในตะวันออกกลางและความสามารถของประชาชนตะวันออกกลาง ที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง
แม้แต่ในด้านลัทธิความคิด การปฏิวัติในตะวันออกกลางก็มีผล เพราะการปฏิวัติดังกล่าวริเริ่มโดยกลุ่ม
“แกนนอน”
ที่ประกอบไปด้วยนักปฏิวัติสังคมนิยม นักปฏิวัติชาตินิยมที่ไม่เชื่อในศาสนา และนักปฏิวัติมุสลิม นอกจากนี้สหภาพแรงงานมีส่วนร่วมสำคัญ คนงานเหล่านี้มองว่าการปฏิวัติที่สร้างประชาธิปไตยต้องสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจด้วย โดยที่ต้องให้รัฐเข้ามาจัดการความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแทนที่จะปล่อยให้คนตกงานและอภิสิทธิ์ชนกอบโกย ผ่านระบบกลไกตลาดเสรี และที่เห็นชัดคือพรรคฝ่ายค้านเก่า เช่นพรรคพี่น้องมุสลิม ไม่กล้าออกมานำการปฏิวัติอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นกรอบเก่าที่เคยมองว่าฝ่ายซ้ายหมดยุค และมองว่าผู้ปลดแอกประชาชนคือขบวนการมุสลิมกำลังเปลี่ยนแปลง แต่เราไม่สามารถทำนายได้ว่าจะจบอย่างไร
การปฏิวัติในตะวันออกกลางถูกริเริ่มโดยนักเคลื่อนไหวที่มีจิตสำนึกชัดเจนทางการเมือง ในประเทศไทยถ้าเราจะได้ประโยชน์จากบทเรียนและกำลังใจที่ชาวตะวันออกกลางให้กับชาวโลก เราต้องเคลื่อนไหวในขบวนการเสื้อแดงด้วยจิตสำนึกทางการเมืองที่ชัดเจนด้วย
ความคิดและบทเรียนจากการปฏิวัติในตะวันออกกลางจะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในสมองของคนเสื้อแดงทุกคน เพราะมันมีหลายกระแสความคิดที่แข่งแนวกัน เราจะต้องปฏิเสธแนวคิดของคนที่จมอยู่ในความคิดคลั่งชาติว่า
“ไทยเป็นกรณีพิเศษและเราไม่ต้องไปสนใจสถานการณ์สากล”
หรือแนวความคิดของคนที่อยากเล่นละครการปฏิวัติโดยพูด
“เอามัน”
แต่ไม่ยอมเคลื่อนไหวกับมวลชน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน พวกนี้ไม่มีข้อเสนอในการต่อสู้ที่เป็นรูปธรรมเลย เราจะต้องไม่ลืมว่ามวลชนตะวันออกกลางเผชิญหน้ากับความรุนแรงและความป่าเถื่อนสุดขั้วของเผด็จการ แต่เขาชนะได้ด้วยการต่อสู้โต้ตอบความรุนแรงดังกล่าวโดยเน้นมวลชนและพลังการนัดหยุดงาน
ปัญหาที่ลิเบีย
ปัญหาการปฏิวัติที่ลิเบียเป็นบทเรียนในมุมกลับ เพราะดูเหมือนฝ่ายกบฏต่อเผด็จการ ไม่สามารถปลุกกระแสการนัดหยุดงานของกรรมาชีพได้ และไม่สามารถใช้พลังมวลชนในเมืองหลวงได้ การต่อสู้เลยวิวัฒนาการไปเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างผู้ติดอาวุธสองฝ่าย ตอนนี้จักรวรรดินิยมก็เข้ามาแทรกแซงทางทหารผ่านสหประชาชาติ แต่การแทรกแซงดังกล่าวจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนลิเบียหรือประชาชนในตะวันออกกลางเลย เพราะจักรวรรดินิยมตะวันตกเน้นผลประโยชน์เรื่องน้ำมันเป็นหลัก ไม่สนใจประชาธิปไตยหรือความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ในอดีตก็พร้อมจะจับมือกับทรราชต่างๆ และขายอาวุธให้ด้วยซ้ำ นี่คือบทเรียนสำคัญอีกบทหนึ่งสำหรับคนเสื้อแดงที่คิดว่าเราต้องจับอาวุธสู้ กับอำมาตย์แทนการระดมมวลชนและการนัดหยุดงาน
จุดร่วมกับไทย
ไทยมีจุดร่วมกับอียิปต์ ตูนีเซีย และประเทศอื่นในตะวันออกกลาง เพราะในรอบ
30-40 ปีที่ผ่านมา สังคมเบื้องล่างเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประชาชนในเมืองมีมากขึ้น มีการศึกษามากขึ้น ประชาชนในชนบทก็น้อยลง ประชาชนตื่นตัว เปิดหูเปิดตา ไม่พอใจที่จะอยู่แบบเดิม แต่ในขณะเดียวกัน ชนชั้นปกครองและโครงสร้างอำนาจเบื้องบนไม่ได้เปลี่ยนไป เกิดความขัดแย้งระหว่างสังคมเบื้องล่างกับโครงสร้างส่วนบน พอมีอะไรมาจุดประกายก็ระเบิดขึ้น ในไทยสิ่งที่กระตุ้นความขัดแย้งคือการ
"คิดใหม่ทำใหม่"
ของไทยรักไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ส่วนในตะวันออกกลางสิ่งที่กระตุ้นการลุกฮือคือวิกฤตเศรษฐกิจโลก และปัญหาการตกงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น