วันที่ 29 มีนาคม พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ได้เผยแพร่ "หนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์" ผ่านสื่อต่างๆ เนื้อความของหนังสือลาออก มีใจความ ดังนี้
....กราบเรียนท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
กระผมนายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ประเภทสามัญเลขที่ 43414075 โดยผมได้สมัครเป็นสมาชิกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังจะต้องตกเป็นฝ่ายค้านเพราะความนิยมกำลังถาโถมไปที่พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไป และพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท. ทักษิณก็ได้เป็นรัฐบาลสมัยแรก
ตอนนั้นตัวกระผมเองได้หอบหิ้วปริญญาตรีและโทกลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาภายหลังเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจไม่นานนัก พร้อมกับความเชื่อที่ว่าคนเราทุกคนควรมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อสร้างสังคมที่ดี และการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้
ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้น ผมเฝ้าติดตามความเป็นไปของการเมืองไทยในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมุ่งหวังที่จะเดินเข้าไปสู่สนามการเมืองแต่อย่างใด เพียงแต่ใช้กำลังกาย สมอง เวลา และโอกาสเท่าที่มีในการตอบแทนสังคมบ้างทั้งในฐานะอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือนักเขียนมือสมัครเล่นในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี
สาเหตุที่ตอนนั้นกระผมตัดสินใจส่งใบสมัครมาที่พรรคประชาธิปัตย์แทนที่จะเป็นพรรคไทยรักไทย ซึ่งสมัยนั้นจะมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัยกว่า และกำลังอยู่ในช่วงที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท ก็เพราะว่า ตัวผมเองไม่เคยเชื่อเลยว่าเจ้าของกลุ่มทุนผูกขาดอย่าง พ.ต.ท. ทักษิณจะมีความจริงใจที่จะเสียสละในการเข้ามาช่วยเหลือประเทศชาติได้อย่างแท้จริง
แต่มีความเชื่อว่าเนื้อแท้ของกลุ่มทุนผูกขาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสัมปทานของรัฐมักจะต้องเอารัดเอาเปรียบประชาชนอย่างเป็นธรรมชาติ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นพรรดการเมืองที่เก่าแก่ยาวนาน มีความเป็นสถาบันการเมืองมากที่สุดเท่าที่มีอยู่ในสังคมการเมืองไทย
แต่วันและเวลาสอนให้ผมได้เรียนรู้ถึงธรรมชาติของการเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงนั้นมีความลึกซึ้งมากกว่าภาพที่คนทั่ว ๆ ไปเห็นอยู่บนเวทีการเมืองที่เป็นทางการอยู่มากนัก แต่สำหรับผมแล้ว ช่วงเวลาสิบกว่าปีนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นเนื้อแท้ของพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง และทำให้ผมได้คำตอบมาระยะหนึ่งแล้วว่าตัวเองนั้นคิดผิด ซึ่งผมขอประมวลเหตุผลมาประกอบดังต่อไปนี้
1. พรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีวันชนะใจประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ เพราะขาดความจริงใจมุ่งแต่สร้างภาพจอมปลอม ประโยคนี้เป็นสัจธรรมเสมอ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์และน่าจะเป็นจริงตลอดไปด้วย ตราบใดที่จะยังคงมีพรรคนี้อยู่ในเวทีการเมืองไทย เพราะประวัติศาสตร์บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์มักจะได้อำนาจรัฐหรือได้เป็นรัฐบาลโดยการเพลี่ยงพล้ำของพรรคขั้วตรงข้าม และมีพลังอำนาจพิเศษที่มาหนุนอยู่ตลอด
ดังนั้นลักษณะของพรรคประชาธิปัตย์จะมักจะเชิดคนที่มีภาพลักษณ์ดี(สำหรับสังคมไทย) กล่าวคือมักจะเป็นคนที่มีลักษณะความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน หรือมีชาติตระกูลสูง หรือแม้กระทั่งคนมีหน้าตาดี นอกจากนี้อาจจะมีการเชิดชูภาพของความซื่อสัตย์เป็นจุดขาย แต่จะสังเกตได้ว่านั่นมักจะเป็นเพียงหน้าฉากของผู้นำพรรคเท่านั้น
แต่เบื้องหลังของผู้นำพรรคหรือแม้กระทั่งเบื้องหลังหน้ากากอันสวยหรูของผู้นำพรรค ก็มักจะมีบรรดานักการเมืองสกปรกที่หิวโหยอยู่ข้างหลังอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เคยนำเสนอแนวทางในการบริหารพัฒนาบ้านเมืองอันใดได้เลย ที่ทำอยู่ก็จะมีเพียงนโยบายเฉพาะกิจ หรือเพื่อการประชาสัมพันธ์หาเสียงเท่านั้น มุ่งจะเล่นแต่การเมืองแต่ไม่เคยพัฒนาบ้านเมือง
2. การมุ่งเล่นแต่การเมือง ทำให้บรรดานโยบายของพรรคที่ออกมา ขาดพื้นฐานด้านข้อมูลที่เป็นจริง ขาดการศึกษาและวิเคาระห์ถึงปัญหาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งความจริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์ถึงแม้ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่แก่ที่สุด แต่ก็ไม่เคยมีนโยบายเป็นของตัวเองมาก่อน บรรดานโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการคัดลอกและดัดแปลงมาจากนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยในอดีตทั้งสิ้น
แต่น่าเสียใจว่าการคัดลอกดัดแปลงนั้นกลับทำได้ย่ำแย่กว่าสมัยที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลเสียอีก พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจว่าการที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเป็นเพราะประชาชนหิวโหยในผลประโยชน์ ดังนั้นการเข้ามาของรัฐบาลอภิสิทธิ์จึงเริ่มต้นด้วยการหว่านโปรยผลประโยชน์
ตั้งแต่นโยบายแจกเงินกินเปล่าให้ประชาชนหัวละสองพันบาท แต่จะเห็นได้ว่าการแจกเงินกินเปล่าเหล่านั้นไม่ได้ทำให้คะแนนนิยมของพรรคสูงขึ้น กลับลดลงเสียด้วยซ้ำ เป็นเพราะเหตุใด? ก็เพราะว่าวิธีการแจกเงินสองพันบาทโดยใช้ฐานข้อมมูลประกันสังคมนั้นไม่สามารถจะนำเงินไปสู่คนยากคนจนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง ไปได้แค่เพียงคนชั้นกลางซึ่งมีข้อมูลอยู่ในทะเบียนฯเท่านั้น นโยบายนี้เหยียบย่ำหัวใจคนยากคนจนที่ส่วนใหญ่ที่ยากไร้ไม่มีที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย จะมีประกันสังคมได้อย่างไร
ในขณะที่นโยบายที่ลอกและสานต่อจากนโยบายไทยรักไทยอย่างโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือที่เรียกกันว่าโอท๊อป ซึ่งภาครัฐเคยจัดงานที่อิมแพคเมืองทองธานีเป็นประจำทุก ๆ ปี เป็นงานกึ่งตลาดนัดกึ่งแสดงสินค้า ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม จากผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ตลอดจนจากผู้บริโภคทั่ว ๆ ไป พอรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้ามาบริหารก็ได้ย้ายสถานที่จัดงานมาตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทั้งตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทั้งในลานเอนกประสงค์หน้าห้างฯ บริเวณรอบสนามกีฬาแห่งชาติ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมางานโอท็อปก็ต้องพับฐานลงอย่างน่าเสียดาย
ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งสถานที่จัดงานกระจัดกระจาย สภาพอากาศที่ไม่อำนวย ทำให้จำนวนคนเข้าชมงานลดน้อยลงอย่างมาก ผู้ค้าซึ่งมาจากต่างจังหวัดนอกจากจะขายสินค้าไม่ได้ ยังต้องแบกภาระค่ากินนอนเข้าไปอีกเพราะอดีตที่เคยอาศัยบริเวณจัดงานในอิมแพคฯก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร หัวอกคนยากคนจนและคนทำมาหากินซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่เคยเข้าใจและคงไม่มีวันจะเข้าใจได้ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำได้อย่างเชี่ยงชาญก็คือการใส่ไคล้ทำลายและช่วงชิงโอกาส ซึ่งล้วนเป็นเกมการเมืองทั้งสิ้น
3. บริหารไร้ประสิทธิภาพแต่โกงเป็นมาตรฐาน ด้วยนโยบายหว่านผลประโยชน์กับการสร้างภาพของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้รัฐต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นมากมาย จะเห็นได้ว่ามีการกู้เงินมหาศาลกว่ารัฐบาลใดในอดีตเสียอีก แต่ลำพังการกู้นั้นมิสามารถทำให้รัฐบาลดำเนินนโยบายไร้ประสิทธิภาพเหล่านั้นต่อไปได้มากนัก
รัฐบาลชุดนี้จึงมีกระบวนการสร้างภาระโดยการรีดภาษีจากคนชั้นกลางในมิติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศมีความฝืดเคืองมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะรัฐบาลนอกจากไม่ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศแล้ว กลับบั่นทอนกำลังการบริโภคของประชาชนไปเสียอีกด้วย
ในขณะที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ เราก็มักจะได้ยินข่าวการทุจริตมากขึ้นเป็นลำดับ บรรดาข่าวการทุจริตซึ่งส่วนใหญ่มาจากนโยบายจัดซื้อจัดจ้างการรับเหมาก่อสร้างมากมาย ซึ่งมีรูปแบบคลาสสิคโบราณ และน่าจะเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถพัฒนาก้าวข้ามไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฉาวโฉ่เกี่ยวกับโครงการนมโรงเรียน โครงการรถเมล์ โครงการต้นกล้าอาชีพของรัฐบาล ไปจนถึงโครงการรถเมล์BRT อภิมหาโครงการโมโนเรล โครงการซุปเปอร์สกายวอล์กของกรุงเทพมหานคร และอื่น ๆ อีกมากมาย ในขณะที่กฎเหล็ก 9 ข้อที่นายกอภิสิทธิ์ประกาศไว้เมื่อครั้งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับไม่เคยถูกกล่าวถึงอีกเลย
4. ไม่สร้างความปรองดองกลับสร้างความแตกแยก ก็ต้องยอมรับว่าในขณะที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เข้ามาบริหารประเทศนั้น สังคมไทยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างหนัก รัฐบาลประชาธิปัตย์เข้ามาพร้อมกับการต่อต้านของขั้วตรงข้ามในนามกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเริ่มก่อรูปมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลทักษิณ การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงนั้นต้องการล้มล้างรัฐบาลประชาธิปัตย์และคืนอำนาจแก่อีกขั้วการเมืองเป็นหลัก
ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้จึงต้องเผชิญกับการชุมนุมต่อต้านหลายครั้ง และบ่อยครั้งก็ได้พัฒนาไปถึงการจลาจล ซึ่งครั้งที่รุนแรงมากที่สุดก็คือการเผาเมืองพฤษภาคม2553 ถึงแม้ว่าแก่นแกนของการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ที่พ.ต.ท. ทักษิณ โดยมีแนวร่วมหลายส่วนที่เกี่ยวกับขบวนการเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ความเท่าเทียมทางสังคม ฯลฯ
ดังนั้นขบวนการคนเสื้อแดงจึงกลายเป็นขบวนการที่ใหญ่และใหญ่มากยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เกิดอาการฝ่อ และเลือกที่จะสร้างความปรองดองกับขบวนการเสื้อแดงโดยการย่ำยีหลักการของกฎหมาย ตั้งแต่การที่รัฐบาลไปเป็นแกนเคลื่อนไหวในการประกันตัวบรรดาแกนนำ ตลอดจนการละเว้นการติดตามทางคดีของผู้ก่อการเผาสถานที่ราชการ เอกชน ทำลายและปล้นทรัพย์สินในช่วงเหตุการณ์จลาจล การย่ำยีกฎหมายคือการสร้างความแตกแยกอันบาดลึก แต่เป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าทั้งนี้เป็นไปก็เพื่อจะลอยตัว รักษาอำนาจ และสามารถเป็นรัฐบาลต่อไปได้เรื่อย ๆ หรือเปล่า
5. สิ่งที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์เขาพระวิหารแสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างชัดเจน เพราะสิ่งที่นายกอภิสิทธิ์ได้เคยอภิปรายโจมตีในการยื่นยัตติไม่ไว้วางใจนายนพดล ปัทมะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชเกี่ยวกับบูรณภาพเหนือดินแดนรอบตัวปราสาทเขาพระวิหาร กลับกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ดำเนินการเหมือนกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวเองพูดไว้ในสภาอย่างสิ้นเชิง
หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถที่จะพูดอะไรก็ได้เพื่อให้เกิดโอกาสในการที่ตัวเองจะสามารถพลิกผันขึ้นมาถือครองอำนาจรัฐอย่างนั้นหรือ และผลของการบริหารประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังได้ทำให้ประเทศไทยดูเหมือนไร้เกียรติไร้ศักดิ์ศรี ตกเป็นเบี้ยล่างของบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน จนในที่สุดประเทศไทยก็จะต้องสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนไปด้วยเหตุผลของความโง่เขลาหรือการมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนก็สุดแล้วแต่ที่จะคาดเดาได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วถ้าศึกษากันดี ๆ ก็จะเห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการเยี่ยงนี้ทำให้ประเทศชาติและสังคมไทยสูญเสียมาหลายครั้ง
ล่าสุดก็ครั้งที่ประเทศมีวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับกรณี ป.ร.ส. ขายหนี้ของบรรดาไฟแนนซ์ที่รัฐบาลสั่งปิดลงไปให้กับบรรดากองทุนต่างชาติ จนทำให้ต่างชาติสามารถกอบโกยผลกำไรอันมหาศาลไปจากสังคมไทย ทิ้งไว้กับกองศพของคนล้มละลายเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม ผลจากการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลครั้งนั้น ทำให้ธนาคารเกือบทุกธนาคารในประเทศไทยต้องตกเป็นของต่างชาติในที่สุด หรือที่คนทั่ว ๆ ไปเค้าเรียกว่าเสียเอกราชทางการเงินนั่นเอง
ด้วยเหตุผลเบื้องต้นเพียง 5 ประการนี้ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีอุดมการณ์อะไรเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมไทย พรรคจึงเป็นเพียงมายาภาพหลอกลวงคนที่สิ้นหวังกับการเมืองไทยในชั่วขณะหนึ่ง ๆ เท่านั้น
ทุกวันนี้เราจะได้เห็นทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแข่งกันขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ผลงานกันอย่างบ้าคลั่ง สมกับเป็นการเชิดปี่กลองสู้ศึกในเทศกาลเลือกตั้ง แต่กลับไม่เห็นรู้สึกถึงผลงานที่ออกมาอย่างกับในป้ายโฆษณาแต่อย่างใด ป้ายโฆษณาเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ผู้คนซึ่งได้รับความลำบากทั้งชาวไร่ชาวนาที่ถูกกดราคาสินค้าเกษตร ทั้งคนชั้นกลางที่ถูกขูดรีดภาษีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งกับผู้บริโภคทั่วไปที่ถูกตีหัวจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม ได้รู้สึกเจ็บแค้นอย่างเหนือคำบรรยาย ผมเป็นคนไทยคนหนึ่งซึ่งหมดศรัทธาต่อพรรคประชาธิปัตย์ และประสงค์ที่จะลาออกจากสมาชิกพรรคนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ
ptorsuwan@yahoo.com
ptorsuwan@yahoo.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น