สู่กษัตริย์
December 6, 2013 (2)
ดูกันให้ดีนะครับ เป้าหมายของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทันทีหลังวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ อาจไม่ใช่การขอพระราชทานสภาประชาชน และนายกรัฐมนตรีพระราชทานตามมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำมาเป็นเป้าล่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันแสดงความเห็นอย่างจริงจังกันในขณะนี้เท่านั้น เป้าหมายอันแท้จริงของตัวนายสุเทพฯ และผู้สมรู้ร่วมคิดในเบื้องหลัง ได้แก่ การประกาศถวายพระราชอำนาจคืนให้กับพระมหากษัตริย์เลยทีเดียว ไม่ใช่การอ้างกษัตริย์เพื่อการโค่นล้มรัฐบาลที่ตนไม่อาจเอาชนะการเลือกตั้งได้เลยเท่านั้น
สองเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างฉกรรจ์ แนวคิดแรกเรียกได้ว่าเป็นการตีความรัฐธรรมนูญเข้าข้างตัวเอง แต่ก็ยังอยู่ในรัฐธรรมนูญ ส่วนแนวคิดที่สองเป็นการออกนอกระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีเทวดาหน้าไหนจะประกันได้ว่า เตลิดไปขนาดนั้นแล้วจะกู่กลับมาได้อย่างไร เราอาจเข้าสู่เผด็จการรูปโฉมใหม่จนคนไทยต้องฆ่ากันตายอีกเป็นเบือก็ได้
ความเคลื่อนไหวของนายสุเทพฯ ขณะนี้ ตรงข้ามกับใครหลายคนที่เชื่อว่าเขามาถึงทางตันและกำลังหาบันไดลงอย่างจ้าละหวั่น นายสุเทพฯ กำลังได้ในสิ่งที่เขาต้องการและวางแผนมาแล้วทุกประการ เว้นอยู่อย่างเดียวคือชัยชนะอันรวดเร็วมาตั้งแต่ครั้งที่ฝ่ายเพื่อไทยเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งพลาดไปเพราะดูถูกนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า จะไหวตัวไม่ทัน หรือไหวตัวทันก็ไม่มีน้ำยาจะสวนกระแสในฝ่ายของตัวเอง ที่ไหนได้ พอนายกรัฐมนตรีแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา และบังคับรถเพื่อไทยให้ถอยหลังอย่างชนิดแย่งพวงมาลัยมาถือเอง ยุทธศาสตร์ของฝ่ายอำนาจเก่าก็พังไปเลย ผู้ประท้วงนับแสนซึ่งออกมาในคืนแรก ถอยกลับไปอย่างรวดเร็วเท่าๆ กับที่เพื่อไทยถอย ทำให้แผนโค่นรัฐบาลที่นึกว่าจะจบสิ้นภายในวันสองวันนั้น ก็กลายเป็นศึกยืดเยื้อ ต้องควานหากิจกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้ตัวเองจมลึกลงไปในข้อหากบฏไปเรื่อยๆ รัฐบาล พรรคเพื่อไทย และ นปช. ก็วางตัวเป็นนักรบประชาธิปไตย ด้วยการสู้กลับด้วยหลักการ เหตุผล และโดยความสงบเสงี่ยม เพื่อให้ตัดกับความกระหายเลือดของฝ่ายตรงข้ามที่ถูกยุจนเดินผิดทิศผิดทาง แต่นั่นล่ะครับ นายสุเทพฯ เขาก็ได้รับในสิ่งที่เขาต้องการเกือบทั้งหมด ซึ่งเรานำมาลำดับความได้เลย เพื่อให้เราตั้งตนอยู่ในสติและไม่ประมาทพลาดพลั้งเพราะเชื่อตัวเองมากเกินไป
๑. การเสนอใช้มาตรา ๗ โดยอ้างว่าบ้านเมืองถึงทางตันและต้องใช้ไพ่ตายแล้วนั้น นายสุเทพฯ เขาไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ตามนั้นหรอกครับ เขาแสร้งเสนออย่างนี้เพื่อควบคุมอำนาจชี้นำสังคมไทยในช่วงนี้ ให้เดินตามทิศทางที่เขากำหนดหรือชี้ให้เดินเท่านั้นเอง อำนาจนี้เรียกกันตามภาษาปากว่า rule setter ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า ผู้ตั้งกฎ เมื่อมีอำนาจชี้นำแล้ว วันหลังเขาจะชี้นำไปทางไหนอีกก็ได้ คนอย่างนายสุเทพฯ นั้นเขาไม่มีความละอายใจแบบคนไทยทั่วไป เขาถือเอาอำนาจและอิทธิพลเป็นตัวตั้ง ใครจะด่าแม่อย่างไรไม่ใช่ประเด็น การเสนอเรื่องนี้เป็นวิธีการรักษาอำนาจอย่างหนึ่ง เพื่อดำรงสภาพของฝ่ายรุกในเกมนี้ การเดินตามเขาเซื่องๆ เขาจะให้ถกเถียงใดก็ทุ่มใจไปถกเถียงเรื่องนั้น ก็เท่ากับว่านายสุเทพฯ กำลังนั่งเป็นประธานที่หัวโต๊ะและพวกเราเป็นเพียงคนนั่งรอบโต๊ะ นับว่ามีอันตรายสูง
๒. ผมกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ความต้องการอันแท้จริงของฝ่ายเขา (ซึ่งไม่ใช่นายสุเทพฯ คนเดียว) คือยกอำนาจอันเป็นของปวงชนชาวไทยกลับคืนให้พระมหากษัตริย์ ขอให้ทุกท่านดูต่อไป เมื่อกระแสการคัดค้านเชิงเทคนิคกฎหมายเรื่องมาตรา ๗ หนักหน่วงขึ้น ในแง่ว่าเป็นไปได้ยาก เพราะพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสดำรัสคัดค้านไว้ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ นายสุเทพฯ ก็จะถือโอกาสวกกลับมาเสนอให้ถวายคืนพระราชอำนาจเลยทีเดียว ถึงวันนั้นเราจะได้เห็นว่า ใครต้องการสิ่งใดอย่างแท้จริง คนบางคนต้องการอำนาจ แต่ไม่ต้องการความรับผิดชอบที่มากับอำนาจนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราได้เห็นกันอยู่เสมอ
๓. วานนี้เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ซึ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติประมาณสามสิบปีล่วงมานี้ จะเป็นวันที่พระเจ้าอยู่หัวแถลงพระบรมราโชบายในเรื่องต่างๆ เพียงแต่เราไม่เรียกขานกันอย่างนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความด่างพร้อยทางกฎหมายได้ การเสนอแนวคิดเรื่องพระราชอำนาจใดๆ จึงถือว่าไม่ผิดผีและออกจะเหมาะสมแก่เวลา ส่วนจะเหมาะสมสอดคล้องกับภาวะความต้องการประชาธิปไตยของประเทศหรือไม่ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
๔. การถวายคืนพระอำนาจที่เหนือไปกว่ามาตรา ๗ ตามรัฐธรรมนูญนั้น แท้ที่จริงก็เป็นยุทธศาสตร์หลักของการแก้แค้นคณะราษฎร์ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ นั่นเอง คณะราษฎร์นำอำนาจ “อันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิม” มาโอนถ่ายให้กับปวงชนชาวไทย ระหว่างนั้นก็ทำถูกบ้างผิดบ้าง จนกลายเป็นข้ออ้างของฝ่ายอำนาจเดิมจะทวงคืนอำนาจซึ่งเขาถือว่าเป็นสมบัติส่วนตัวของเขาคืนไป แต่ถึงคณะราษฎร์จะทำพลาดในบางเรื่อง สิ่งที่ท่านไม่ได้พลาดเลย คือการประกาศสิทธิตามธรรมชาติของปวงชนชาวไทยที่จะเป็นไทในบ้านของตัวเอง ไม่ใช่เป็นบริษัทบริวารอีกต่อหนึ่งของใครทั้งนั้น ส่วนวิธีการจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น เป็นคนละเรื่องกัน
ประชาธิปไตยไทยทดลองใช้อุปกรณ์มาหลายชนิดและหลายชิ้น ตั้งแต่ ดร.ปรีดีฯ จอมพลแปลกฯ จอมพลสฤษดิ์ฯ จอมพลถนอมฯ ม.ร.ว.เสนีย์ฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ พลเอกเปรมฯ พลเอกชาติชายฯ นายชวนฯ นายอภิสิทธิ์ฯ จนถึง ดร.ทักษิณฯ ทั้งหมดนี้คือบุคคลก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นปรอทวัดสิทธิอันเป็นของปวงชนชาวไทยตั้งแต่น้อยที่สุดจนถึงมากที่สุดด้วยไปด้วยพร้อมกัน บัดนี้ เมื่อมีคนจะทวนกระแสประวัติศาสตร์กันขนานใหญ่อีก เราก็ควรนำอุปกรณ์เหล่านั้นมาทบทวนดูว่า อะไรใช้การได้สำหรับปวงชนชาวไทย ผมถือว่า เราต่างเกิดมาคุ้มค่าอยู่นะครับ อย่างน้อยก็มีโอกาสรับใช้มนุษยชาติในทางประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณในภาวะอย่างนี้ อย่าถือเป็นเคราะห์ร้ายเลยครับ การได้สัมผัสความจริงที่แม้เจ็บปวด ย่อมเป็นมงคลกว่าความสุขเพราะเมาสิ่งเสพติด อย่างชนิดเทียบคุณค่ากันมิได้เลย.
จักรภพ เพ็ญแข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น