เพลงฉ่อยชาววัง

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายหนุ่ม โต้ข้อกล่าวหา "อยากดัง-โกหกลวงโลก"



 หมายเหตุ : วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระจากสำนักฮาวาร์ด นับเป็นนักวิชาการดาวรุ่งที่ให้สัมภาษณ์ พร้อมเขียนงานอธิบายข้อกฎหมายต่างๆ ผ่านสื่อเป็นจำนวนมากช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ล่าสุด มีบทบาทร่วมกับนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ชงโมเดล 2 พ.ร.บ.นิรโทษกรรม-บรรเทาขัดแย้ง กระทั่งเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถล่มทลาย รวมถึงเสียงทักท้วงจากปัญญาชนกลุ่มเสื้อแดง ขณะที่นักวิชาการบางส่วนชี้ว่าวีรพัฒน์ วิพากษ์แตะไปทุกเรื่อง และเป็นนักวิชาการแอ๊บแบ๊ว ไม่รู้จริง ทำให้เจ้าตัวต้องออกมาเปิดใจอธิบายความต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว http://www.facebook.com/verapat?ref=ts&fref=ts หัวข้อ โต้ข้อหาอยากดังภาค 2 

 เว็บข่าวสดออนไลน์ เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจ จึงติดต่อขออนุญาติ นายวีรพัฒน์ เพื่อนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้



ม่ ‘ดราม่า’ นะครับ อันนี้ ‘หนังสารคดีชีวิต’ แน่นด้วยสาระ ผมแสดงเอง ฝากช่วยกันอ่าน ช่วยกันแชร์ ช่วยกันคิด ช่วยกันวิจารณ์ครับ:

---

ก่อนอื่น เอาให้ชัดๆ ก่อนเลยนะครับ ว่าผมไม่ได้อยากให้ ‘ตัวเอง’ ดัง แต่ผมอยากให้ ‘ความคิด’ (ที่ผมเห็นด้วย แต่ไม่ได้เกี่ยวกับตัวผม) ดังสุดๆ เลยครับ ‘ความคิด’ เรื่องความถูกต้อง ความยุติธรรม เอาให้ดังสุดๆ ไปเลย 

แต่จะให้ผมแสดง ‘ความคิด’ นี้ โดยสวมหน้ากาก หรือใช้นามแฝง ก็ไม่ได้อีกครับ เพราะผมต้องรับผิดชอบต่อ ‘ความคิด’ ที่เสนอไปด้วย พร้อมรับคำวิจารณ์ครับ

ดังนั้น จึงแยกให้ออกนะครับ ว่า ‘ตัวผม’ สำคัญน้อยกว่า ‘ความคิด’ ของผม มากนัก.

---

เรื่องมันมีอยู่ว่า เร็วๆนี้ ผมได้เสนอ ‘แนวคิด’ เกี่ยวกับการ ‘บรรเทาความขัดแย้ง’ (เรื่องนิรโทษกรรมและอื่นๆ) ลงหน้าใหญ่ๆ ในมติชน และอีกหลายสื่อ และกระทบความรู้สึกนึกติดของหลายคน และมีการนำไปสรุปพูดต่อจนเข้าใจถูกบ้างผิดบ้าง 

เริ่มจาก อ. พวงทอง ได้แสงความเห็นโต้แย้ง (ซึ่งผมก็ว่า อ. พวงทอง ก็ fair และต่อมาผมก็เขียนบทความชี้แจงตอบไปแล้วอย่าง fair เช่นกัน) จากนั้น ศาสตราจารย์ชื่อดัง ที่เคยหายเข้าป่า ก็เอารูปผมไปแปะ พูดสั้นๆให้คนเข้าใจผิด แล้วผมไม่ทันได้อธิบายสักคำก็ block ผมไปแล้ว 

เรื่องเหล่านี้ ผมได้พยายามอธิบาย ‘ด้วยเหตุผล’ ไปแล้ว โดยมอบเป็น ‘บทความวันวาเลนไทน์’ ให้เลยนะครับ แถมไปออกรายการอธิบายในทีวีด้วย (ดูย้อนหลังได้ที่ comment แรกๆ ใต้ post นี้ครับ)

แต่ปรากฏว่า มีบางคนที่ไม่เข้าใจ และไปโยงเรื่องอื่นมา ‘โจมตี’ ผมเพิ่มเติม ทั้งที่บอกว่า อยากเกาะกระแส อยากดัง หรือไปหลอกลวง หรือ ทำงานลวกๆ หรือสื่อว่าผม “โกหกปั้นน้ำเป็นตัวเอาดีเข้าตัวเอาชั่วให้คนอื่น หากินกะความทุกข์ของคนอื่น” โดยมีการอ้างถึงบทสัมภาษณ์ฉบับหนึ่ง

หนึ่งในผู้ที่กล่าวหาผมรุนแรงนั้น ก็คือ อาจารย์ "ก" --- (ขอสงวนชื่อ-กองบก.ข่าวสดออนไลน์)

ผมจึงขอชี้แจง อาจารย์ "ก" และผู้อื่นๆ ที่แอบคิดไปเหมือนกัน ให้โปรดทำความเข้าใจ ดังนี้

เรื่องนี้มันง่ายนิดเดียว รบกวนอาจารย์ ก กลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ทั้งฉบับนะครับ แล้วค่อยๆไล่เรียงความคิดแบบไม่มีอคตินะครับ จะพบว่า

1. นักข่าวเขาถามว่านักวิชาการอิสระด้านกฎหมายใน "อุดมคติ" ของผมนั้นเป็นอย่างไร (“รูปแบบในฝัน”) ดังนั้น เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องของการแสดง ‘ความเห็นส่วนตัว’ เพื่อวิจารณ์ในสิ่งที่ผมเห็นว่า ‘ควรจะเป็น’ การบอกว่าผม ‘โกหกหลอกลวง’ ใคร จึงเป็นเรื่องที่อาจารย์อ่านไม่ดี หรือหากอ่านดี ก็เท่ากับจงใจกล่าวเท็จ และกล่าวหาให้ผมเสียหายอย่างไม่เป็นธรรม 

2. ผมตอบนักข่าวที่ให้ผมวิจารณ์ ผมตั้งข้อสังเกตว่านักวิชาการกฎหมายในสหรัฐฯที่ผมเคยไปเรียนด้วย เขา “นิยม” เขียนบทความสั้นๆ มากกว่าที่จะไปทำวิจัย โดยผมตอบนักข่าวยาว แต่ในบทสัมภาษณ์ยกคำตอบส่วนหนึ่งมาว่า

“นักวิชาการต่างประเทศ อย่างอเมริกานิยมเขียนบทความรายวัน คล้ายๆ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตอนผมอยู่ฮาวาร์ด อาจารย์เขาไม่นั่งทำวิจัยกันเป็นเดือน แล้วเขียน 500 หน้า แต่เขาเขียนบทความ 2-3 แผ่นลงหนังสือพิมพ์ อาทิตย์ละครั้งสองครั้ง เพราะนั่นคือการขับเคลื่อนสังคมที่ดีที่สุด สื่อสารให้เข้าใจง่าย และต้องทันสมัย ไม่ใช่เรื่องนี้เขาเลิกเถียงกันไปนานแล้ว แต่คุณยังนั่งทำวิจัยถามว่าประชาชนนั่งอ่านทั้ง 500 หน้าไหม"

ข้อความที่กล่าวมานี้ คือผมประเมินด้วยสายตาและประสบการณ์ที่ไปพูดคุยและประสบมาขณะไปเรียน ผมระบุชื่อสถานที่เพื่อให้การยกตัวอย่างนั้นเจาะจง ไม่ใช่เหมาะรวม ผมไม่ได้อ้างสถิติหรือหลักฐานตัวเลข เพราะผมกำลังตอบคำถามนักข่าวที่ขอความเห็นตอนนั่งคุยกันมากมายหลายเรื่องในร้านกาแฟ ผมแสดงความเห็นโดยการอ้างข้อเท็จจริงที่ผมพบมาและประเมินด้วยตัวเอง 

ผมเดานะครับอาจารย์อ่านไปแล้ว และไปเข้าใจเอาเอง ว่าผมจะบอกว่า 
[นักวิชาการไม่ควรทำวิจัย แต่ควรเขียนบทความสั้นๆอย่างเดียว]

แต่ความจริง ถ้าอ่านบทสัมภาษณ์ทั้งฉบับ อย่างไม่มีอคติ จะพบว่าสาระสำคัญมันชัดเจนครับ ผมกำลังวิจารณ์ว่า:

[นักวิชาการไม่ควรมุ่งทำแต่ทำวิจัยที่มีคนขอให้ทำ แต่น่าจะหันมาเขียนบทความสั้นๆ ที่เข้าใจง่าย และทันสมัย เพื่อขับเคลื่อนสังคมด้วย]

หลักฐานมันชัดจากบทสัมภาษณ์ครับ ผมสื่อความชัดเจน เห็นได้จากประโยคนี้ 

“ถ้าคุณติดว่า ต้องไปกราบไหว้เชิญถึงจะมา ต้องทำงานวิจัย 500 หน้าถึงจะทำ แต่การเขียนความเห็นทางวิชาการ 2-3 หน้าที่เข้าใจง่ายๆ ไม่ทำ ผมว่าคุณต้องคิดใหม่”

ผมย้ำอีกในประโยคว่า

“ผมอยากให้นักวิชาการท่านที่พอจะทำได้ทำบทบาทนี้มากขึ้นแทนที่คุณจะไปเขียนตำราไปเขียนวารสาร เขียนงานวิจัยให้กับรัฐ คุณมาเขียนสัก 2 แผ่น ลงสื่อช่วยกันคิดประเด็นที่ขับเคลื่อนสังคม”

หากอ่านทั้งหมด ก็ชัดแล้วครับ ว่าผมไม่ได้บอกเลยว่า " นักวิชาการไม่ควรทำวิจัย หรือควรเขียนบทความสั้นๆอย่างเดียว" และก็ไม่ได้บอกด้วยว่าบทความสั้นๆ อยู่ดีๆ จะมาทำได้

แต่ผมกำลังบอกว่า ควรหันมา “ทำบทบาทนี้มากขึ้น” และบทบาทที่ว่า ก็คือ การขับเคลื่อนสังคม สื่อสารให้เข้าใจง่าย และต้องทันสมัย เช่น การเขียนบทความสั้นๆ นั่นเอง ประเด็นที่ผมวิจารณ์ ก็มีง่ายๆ เท่านี้เอง

3. แม้บทสัมภาษณ์จะชัดเจน เพียงพอสำหรับผู้ที่อ่านที่ไม่มีอคติ แต่หากอาจารย์จะอ้างว่าผมหรือนักข่าวสรุปไม่ชัดเจน จนอาจารย์อ่านเข้าใจผิด ก็อ้างไม่ได้ครับ เพราะการอ่าน และการวิจารณ์ใดๆ ต้องอ่านอย่างรับผิดชอบ 

อาจารย์ต้องแยกแยะนะครับ ว่านี่คือบทสัมภาษณ์ที่มีการย่อสรุป ไม่ใช่การทอดเทป ผมนั่งคุยกับนักข่าวนานมาก แต่นักข่าวเขามีพื้นที่รายงานจำกัด นักข่าวก็เลือกส่วนที่เป็นใจความสำคัญมา ดังนั้น หากจะไปกล่าวหาหรือโจมตีอะไรใครอย่างรุนแรงดังที่อาจารย์กล่าวหาผม อาจารย์ต้องรับผิดชอบโดยการไม่ด่วนสรุปจากความไม่ชัดในมุมของอาจารย์ แค่ควรตั้งคำถามว่า สิ่งที่ผมสื่อนั้นหมายถึงอะไร 

ก็ทีอาจารย์จะต่อว่าใส่ร้ายผม ยังไปตั้ง post หรือ comment ไว้มากมาย แล้วทำไม จะถามคำถามผมสั้นๆ สักครั้งก่อนใส่ร้ายกันไม่ได้ละครับ ?

หากอาจารย์ จะโต้แย้ง ก็โปรดโต้แย้งที่ข้อมูล และพูดคุยกันด้วยเหตุผล วิจารณ์เพื่อชี้แนะกัน อาจารย์ สอนและชี้แนะผมได้เสมอ ผมไม่ได้ปิดกั้นที่จะรับฟัง

หากอาจารย์จะไม่เห็นด้วยกับความเห็นของผม ก็บอกสิครับว่าผมเข้าใจผิดอย่างไร อาจารย์ก็ไปสำรวจสิครับ ว่าที่โรงเรียนกฎหมายที่ผมอ้างถึง อาจารย์ที่นั่นเขามีอัตราส่วนการทำงานวิจัย กับการเขียนบทความดังที่ผมเสนอหรือไม่ ก็ถกเถียงกันสิครับ ว่าจริงหรือไม่ ก็บอกสิครับว่าอาจารย์มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่านักวิชาการกฎหมายในสหรัฐฯ เขานิยมทำวิจัย มากกว่าเขียนบทความสั้นๆ จริงหรือไม่ ผมไม่ได้บอกว่าการประเมินด้วยประสบการณ์ส่วนตัวของผมจะสมบูรณ์ และหากเราอ้างการประเมินที่ต่างกัน มันก็แค่เห็นต่างกัน

แต่ตรงกันข้าม อาจารย์กลับไม่ทำเช่นนั้น อาจารย์กลับไปสรุปเอง อย่างมีอคติ และมากล่าวหาผมอย่างรุนแรงในที่สาธารณะว่าผมไปโกหกใคร ทั้งๆที่เรื่องมันมีนิดเดียว คือผมไปวิจารณ์แสดงความเห็นแตะต้อง ‘ความเป็นนักวิชาการ’ ที่กระเทือนใจอาจารย์

ดังนั้น ผมจึงพยายามมานั่งคิด วิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจว่า เหตุใด พฤติกรรมและคำพูดของอาจารย์ มันก็เลยขาดความเป็นอาจารย์ คือมีแต่ ‘อารมณ์’ ที่ต้องการระบาย ให้ร้ายผม

หลักฐานของการมี “อารมณ์” ปรากฏชัดจากคำพูดที่อาจารย์เอง ที่บอกว่า “ดิฉันก็จะไม่ถึงขีดสุดหรอกนะคะ “ และอารมณ์นั้น ก็ทำให้อาจารย์ลืมที่จะวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ แต่กลับมาแสดงออกในเชิงดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น และมุ่งโจมตีที่ตัวบุคคล 

หลักฐานจากคำพูดอาจารย์มันฟ้องครับ และผมขอตั้งคำถามกลับไปที่หลักฐานคำพูดและคำดูถูกของอาจารย์เป็นข้อๆเลยนะครับ ช่วยตอบให้ครบนะครับ

- ก : “ถ้าคุณวีรพัฒน์มั่นใจในตัวเองจริง คิดว่าเก่งและดังจนคนอื่นต้องตามอิจฉาแล้วล่ะก็ไม่เห็นต้องอ้าง(มั่วซั่ว)ไปถึงนักวิชาการต่างประเทศแบบนั้น” 

วีรพัฒน์: คนธรรมดาแบบผม แสดงความเห็นไม่ได้หรือครับ หรือถ้าแสดงความเห็นได้ ต้องถือว่าผมคิดว่าตัวเองดัง ? ต้องมั่นใจ และต้องอ้างตัวเองเท่านั้น อ้างตัวอย่างคนอื่นไม่ได้ ? ผมบอกตรงไหนว่าใครอิจฉา ?

- ก : “ไม่ได้ทำงานลวกๆแบบที่คุณวีรพัฒน์คิดเอาเองนะคะ คุณไม่เคยทำงานวิชาการมากไปกว่าวิทยานิพนธ์ป.โท”

วีรพัฒน์: สรุปคนเรียน “ปริญญาโท” คือต่ำต้อยจนตั้งข้อสังเกต วิจารณ์นักวิชาการคนอื่นไม่ได้เลยหรือครับ ? สรุปแล้ว คนเรียก ป. โท คือคนลวกๆ ? อาจารย์ช่วยบอกผมหน่อยได้ไหมครับว่า ที่ Harvard Law School นั้น อาจารย์เขา “นิยม” เขียนบทความ มากกว่าทำงานวิจัย ใช่หรือไม่ ? อาจารย์เป็นนักวิชาการ ย่อมต้องรู้ดีกว่าคนที่ไปเป็นนักเรียน ป โท ที่ไปสังเกตหรือสัมผัสมา เสมอไป ใช่หรือไม่ ?

- ก : “คุณเป็นเทวดามาจากไหนถึงคิดว่าคนอื่นเขาตั้งคำถามคุณเพราะเขาอิจฉาคุณ !?! คุณมีอะไรให้น่าอิจฉาหรือคะ” 

วีรพัฒน์: เอ็ะ คำว่าอิจฉา ผมไม่เคยพูด แต่ทำไมอาจารย์พูดบ่อยจัง ผมท้าอาจารย์เลย ผมไม่เคยไปหาว่าใครที่ตั้งคำถามผมเท่ากับอิจฉาผม ผมบอกแต่ว่า โปรดวิจารณ์ความคิดผมที่เหตุผล อย่ามาหมั่นไส้ริษยากันหรือโจมตีตัวบุคคลอย่างไร้สาระ คำว่า “อิจฉา” กับ “หมั่นไส้ริษยา” มันคนละเรื่องนะครับ หรืออาจารย์เข้าใจว่าเหมือนกัน ? อาจารย์ไปหาหลักฐานมานะครับ ว่าผมบอกตรงไหนว่า ตั้งคำถามผม คือ อิจฉา ผม ? และอาจารย์มีปมอะไรในใจ ทำให้คำว่า “อิจฉา” โผล่มาในใจอาจารย์ ทั้งๆที่ผมไม่ได้ใช้คำนี้เลย ปมอะไร สำรวจดีๆ และบอกด้วยครับ

- ก : “บทความเรื่องนิรโทษกรรมของคุณเป้นบทความที่ดิฉันคิดว่าห่วยแตกมาก ห่วยแตกจนดิฉันต้องลุกขึ้นมาเขียนเพื่อให้คุณรู้ตัวว่าจะเขียนอะไรก็ให้ไปเช็คข้อมูลบ้าง ให้พูดอะไรให้ตรงกะข้อเท็จจริง อย่าเอาแต่ปั่นบ่ทความเอาเร็วทำงานลวกๆ” 

วีรพัฒน์: อาจารย์เอาอะไรมาวัดว่าผมทำงานลวกๆ ? หรือห่วยแตก ? อาจารย์ถามเรื่องเนื้อหาสาระอะไรมา ผมตอบไปหมดแล้วทุกข้อ และคำตอบของผม อาจทำให้เห็นความลวกของคำถามอาจารย์ด้วยซ้ำ ว่าถามด้วยความไม่เข้าใจ และด่วนสรุป เช่น ที่อาจารย์ รวมถึงหลายๆคน ถามเรื่องการสามารถช่วยคนที่อยู่ในคุกจริงๆ ว่าช่วยได้กี่คน ผมก็ตอบไปแล้ว ว่าข้อเสนอผม เป็น ‘แนวคิด’ ให้เกิดพื้นที่เจรจาทางการเมือง ให้เรื่องนี้เดินไปได้ ใครจะออกจากคุกได้ ก็ต้องมาเจรจากันว่าจะออกแบบรายละเอียดกฎหมายอย่างไร และแนวคิดนี้ก็ไม่ได้ค้านเรื่องการนิรโทษกรรมทั้งหมด ผมตอบไปแล้วที่ (ดูที่ post แรกใต้ comment นี้)

อาจารย์ครับ ที่บอกว่าผมปั่นลวกๆ ห่วยๆ อาจารย์ทราบหรือไม่ ว่าผมพูดเรื่องที่เสนอนี้มาเป็นปีแล้วนะครับ ผมไปคุยกับตัวแทนของญาติผู้เสียชีวิต คุยกับคุณนิชา คุยกับแม่น้องเกด คุยกับแกนนำเหลืองแดง ผมอ่านรายงาน คอป. งานวิจัยพระปกเกล้า คุยกับกรรมาธิการปรองดองของสภา ผมศึกษาและอ่านร่างกฎหมายทุกฉบับที่มีการเสมอมา ผมไปคุยกับนักการเมืองในสภา ผมไปเถียงกับหมดตุลย์ในทีวี ผมฟัง และติดตามต่อเนื่อง 

แต่เมื่อสุดท้าย หลังจากรับฟังมาหลายฝ่าย ผมเห็นว่าการนำข้อเสนอมาคุยกันเพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้นั้นเกิดขึ้นได้ยาก และหากมันไม่เกิดขึ้นเสียที ความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมก็จะมีต่อไปเรื่อยๆ ผมจึงเสนอ ‘แนวคิด’ ที่อาจช่วยให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมอธิบายกำกับว่า ‘แนวคิด’ ไม่ใช่ร่างกฎหมาย ไม่ใช่เงื่อนไขตายตัว แต่เสนอให้ไปพูดคุยปรับใช้ในการเจรจากัน 

แล้วทำไมอาจารย์ต้องมากล่าวหาว่า‘แนวคิด’ นี้ห่วยแตก หรือ ลวก ละครับ ? เพียงเพราะผมไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนที่ตรงใจอาจารย์ หรือเป็นเพราะผมเรียนแค่ ป โท และไม่มีสังกัดอะไร หรือเป็นเพราะคำว่า ‘อิจฉา’ ซึ่งผมไม่เคยพูด แต่อาจารย์เอามาพูดเอง ? มันเลยทำให้ผมลวก และห่วยหรือครับ ? 

และผมถามย้อนนะครับ มันผิดตรงไหน ที่ผมจะเสนอ ‘แนวคิด’ แบบยืดหยุ่น เพื่อให้ทุกฝ่ายพอมีพื้นที่เจรจากันได้ แม้ ‘แนวคิด’ นี้ ไม่อาจรับประกันจำนวนคนที่จะได้รับการนิรโทษกรรม แต่มันก็เป็น ‘แนวคิด’ ที่พอเสนอได้ เพื่อให้มีการเริ่มต้นพูดคุยกัน มิใช่หรือครับ ? ถ้าทุกคนยึดแต่ข้อเสนอตัวเอง และไม่หาพื้นที่คุยและปรับหากัน มันจะไปไหนได้ไหมครับ ? อาจารย์ช่วยแย้งประเด็นนี้มาตรงๆนะครับ ?

อาจารย์ช่วยตอบมาให้ครบทุกข้อนะครับ

--- 

อีกประเด็นที่ผมขอความเป็นธรรมคือ เรื่อง ที่อาจารย์และบางคนไปพูดทำนองโจมตีหรือเสียดสีคำว่า “นักวิชาการอิสระ” อะไรนั้น เรื่องนี้ผมว่ามันไม่มีสาระอะไรเลย 

แต่ผมขอตอบอาจารย์ เอาแบบชัดๆ เป็นข้อๆ นะครับ ความจริงก็เคยตอบไปแล้วที่หน้า wall อาจารย์ แต่เหมือนอาจารย์ไม่พยายามรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อจะเข้าใจผมเลย ผมขอย้ำอีกครั้งว่า

1. ผมไม่เคยขอให้ใครเรียกผมว่า ‘อาจารย์’ หรือ ‘นักวิชาการอิสระ’ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้ผมเป็น ก็ไม่ต้องเรียกครับ เวลามีคนเรียก ผมก็บอกว่าไม่ต้องเรียกก็ได้ แต่บางครั้งเขาคาดคั้น เช่นไปรายการทีวี ก็ต้องมาขอให้ผมระบุว่าผมเป็นอะไร เป็นใคร ผมก็พยายามใช้คำกลางๆ ว่า ‘นักกฎหมายอิสระ’ เพื่อให้รู้ว่าผมเรียนกฎหมาย ผมก็วิจารณ์ประเด็นกฎหมาย และผมแสดงความเห็นในฐานะ ‘อิสระ’ คือไม่ได้แสดงความเห็นแทนสังกัดหรือองค์กรใด คำว่าอาจารย์หรือนักวิชาการอะไร ไม่เคยขอครับ แต่ถ้าใครเขาจะเรียก ผมไปปิดปากเขาไม่ได้ 

2. แม้ผมจะได้รับเชิญไปบรรยายหรือสอนหนังสือ ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ ร่วมเขียนตำรา ตีพิมพ์บทความวารสารวิชาการ ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าใครจะต้องเรียกผมว่าอาจารย์ แต่ผมพูดมาเป็นปีใน facebook ว่าทุกท่านไม่ต้องเรียกผมว่าอาจารย์ คุยกับผมในฐานะคนธรรมดา สบายๆ แต่ผมยอมรับว่ามันตลกที่ผมต้องมาพิมพ์บอกซ้ำๆ ดังนั้น ใครจะเรียกผมว่าอะไร ถ้าเขาหวังดีหรือให้เกียรติ ผมก็คงห้ามเขาไม่ได้ ผ่านมา 1 ปี ผมก็เลิกพูดแล้วครับ ใครจะเรียกผมว่าอะไร ถ้าเขาไม่ได้ใส่ร้ายกล่าวเท็จ ผมก็คงไม่อาจไปนั่งแย้งทุกครั้ง ผมเคยถูกดุเสียด้วยซ้ำว่า คนเขาจะเรียกผมว่าอาจารย์ เพราะถือเป็นการให้เกียรติ เลยดุผมว่าทำไมผมจะมาท้วงเขาอีก เห็นใจผมด้วยนะครับ

3. ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีความเห็น ผมต้องการแสดงความเห็นในสิ่งที่เรียนมา ทำงานมา อะไรที่เป็นเรื่องน่าสนใจของคนในสังคม ผมไม่เคยกลัวเลยว่าใครจะหาว่าผม ‘เกาะกระแส’ อยากดัง เพราะการวิจารณ์สิ่งที่สังคมให้ความสนใจ คือการร่วมคิดในฐานะสมาชิกของสังคม 

ตรงกันข้าม สิ่งที่ผมกลัว คือ การได้เรียนหนังสือและได้รับโอกาสมา แต่กลับทำตัวไม่มีประโยชน์ วันๆสนใจแต่เรื่องตัวเอง หรือนินทาให้ร้ายคนอื่น หรือทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองเป็นที่รัก หรือเสแสร้งแกล้งทำเป็นไม่แสดงออกเพราะกลัวถูกหมั่นไส้หรือเกินหน้าเกินตาใคร ผมทราบดีว่าการแสดงออกย่อมมีทั้งคนพอใจ และไม่พอใจ แต่ผมพร้อมจะรับฟัง ไม่ได้เอาความสบายใจส่วนตัวเป็นที่ตั้ง ขอให้เข้าใจเจตนาผมตรงนี้นะครับ

4. ไม่เคยบอกว่าผมรู้ดีที่สุด ผมเปิดให้ทุกคนวิจารณ์ และผมไม่หนีด้วย วิจารณ์มา ผมก็ชี้แจง แม้ผมไม่ได้เรียกตนว่าเป็นนักวิชาการ หรือนักวิชาการอิสระ หรืออะไรที่ใครจะเรียกว่า แม้ผมเป็นคนธรรมดา แต่ผมพร้อมให้ตรวจสอบ และยุคสมัยนี้มันตรวจสอบได้หลายวิธี แม้นิติราษฎร์ ที่เขาเสนอแนวคิด แถลงการณ์ต่างๆ เขาก็ไม่ได้จำเป็นต้องตีพิมพ์ให้ review กันก่อนครับ เขาไม่ได้ต้องไปทำรายงานวิจัย 500 หน้า เขาเห็นปัญหา เขาอยากช่วยสังคม เขาก็เสนอมา สั้นๆ อธิบายง่ายๆ แล้วสังคมก็วิจารณ์กันหลากหลาย ผมไม่ได้เป็นนักวิชาการแบบนิติราษฎร์ แต่ผมก็มีเสรีภาพที่จะเสนอความเห็นของผม ใครอยากวิจารณ์ ก็เชิญได้เต็มที่ 

เมื่อข้อเท็จจริงชัด ผมขอลองวิเคราะห์ต่อนะครับว่า เหตุใด บางคนจึงคับข้องใจ และนำคำว่า ‘นักวิชาการอิสระ’ (ซึ่งก็ตั้งกันให้เอง โดยที่ผมไม่ได้ขอ) ไปเสียดสีค่อนแคะ

ผมเดาว่า อาจเป็นเพราะว่า สถานะและโอกาสที่ผมได้รับ มันอาจดูขัดหูขัดตาคนบางคนที่คุ้นเคยกับแบบแผน ว่าคนที่สื่อสัมภาษณ์ คนที่จะไปบรรยายให้นายกฟัง ต้องเคยตีพิมพ์เขียนหนังสือ ต้องเป็นอาจารย์ ผู้ใหญ่ต้องดัน คณะต้องส่งไป แต่คนธรรมดาอย่างผม ก็แสดงความเห็นได้นิครับ หรือถ้าสื่อจะขอสัมภาษณ์ หรือนายกจะฟังความเห็น ผมต้องปฏิเสธ หรือ หากจะวิจารณ์ ก็แตะนักวิชาการท่านอื่นไม่ได้ เพราะอาจารย์ก็หยามไว้แล้วว่า ผมเรียนจบ แค่ ป โท จะไปวิจารณ์นักวิชาการอื่นได้อย่างไร อย่างนั้นหรือครับ ? 

ผมเข้าใจนะครับ การที่ผมอายุน้อย แต่ได้รับพื้นที่สื่อ ได้รับโอกาสจากฝ่ายการเมืองระดับสูงไปแสดงความเห็น โดยที่ผมไม่ต้องอาศัยตำแหน่ง เครือข่าย หรือชื่อสถาบันมาประกอบ โดยไม่ต้องมีอะไรใครค้ำคอ ไม่ต้องเข้าหาผู้ใหญ่มาให้ช่วยดันอะไรนั้น มันย่อมกระทบความรู้สึกของผู้ที่คุ้นเคยกับการแสดงความเห็น และหาเลี้ยงชีพโดยอาศัยตำแหน่ง เครื่อข่าย หรือชื่อสถาบันมาประกอบทั้งสิ้น ผมไม่ได้ว่าอะไร ผมคิดว่าผมพอจะเข้าใจ และเห็นใจเสียด้วยซ้ำ 

แต่สุดท้ายแล้ว เรื่องนั้นมันอาจเป็นเรื่องของอารมณ์ ที่ปนมาด้วยความหมั่นไส้ ริษยากันมากกว่าครับ ผมว่ามันเสียเวลา ที่จะมาเพ่งเล็งว่าใครเป็น ‘อาจารย์’ หรือ ‘นักวิชาการ’ หรือไม่ 

ประเด็นคือ อย่าไม่พอใจผม เพียงเพราะผมไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบหรือแบบแผนที่อาจารย์ยึดถือ ผมไม่ได้มั่ว ผมพร้อมให้ตรวจสอบ แต่อย่าตรวจสอบผมแบบใส่ร้ายกันมั่วๆ มันเสื่อมที่อาจารย์เองนะครับ

ผมว่าเราดูกันที่สาระเหตุผลดีกว่าครับ คนเป็นอาจารย์ แต่ทำประโยชน์มากมายก็มี น้อยนิดก็มี คนธรรมดาไม่ได้เรียนหนังสือสูงอะไร แต่เสนอแนวคิด เคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นประโยชน์ ก็มี 

คนไม่เคยเรียนหนังสือ หากวันหนึ่งเขาลุกมาเขียนบทความ หรือให้สัมภาษณ์ หากความเห็นนั้นมีสาระแก่การวิจารณ์ เราก็น่าจะวิจารณ์เขาที่สาระ ไม่ใช่ไปบอกว่าเป็นเพราะ เขาเรียนหรือไม่เรียนหนังสือ หรือเป็นนักวิชาการ หรืออะไร

เพราะฉะนั้น เลิกเถอะครับ ใครจะเรียกใครเป็นอาจารย์ นักวิชาการ หรือจานบินอะไร ไม่มีประโยชน์ที่ต้องมาเพ่งเล็งตัวบุคคลกันเลย 

มาวิจารณ์ เนื้อหาสาระ ดีกว่าครับ ผมพร้อมให้ตรวจสอบ ผมมาตอบอาจารย์ยาวๆ ก็เพราะผมรับผิดชอบต่อการแสดงออกของผม แต่กรุณาอ่านดีๆ และหากไม่เข้าใจ อย่าพึ่งไปสรุป ถามกันก่อนก็ได้ครับ

---

ข้อเสนอ:

ผมขอให้อาจารย์"ก" และใครที่ไปกล่าวหาผมผิดๆ โปรดมีใจที่เป็นธรรม โดยการแสดงความรับผิดชอบ โดยการถอนคำพูดว่าผมไปโกหกหรือหลอกลวงใคร คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผม แต่โปรดเป็นธรรมกับผม และหากอาจารย์ ก และใครจะแสดงน้ำใจโดยการขอโทษที่ทำให้ผมเสียหาย ผมก็จะขอบคุณในน้ำใจครับ.

---
หมายเหตุ 

1. เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้ยกมาเพื่อแก้ตัว หรือเพื่อขอกำลังใจ แต่เป็นเพราะผมต้องตอบให้เข้าใจ ให้ชัด และยิ่งกว่านั้น ผมต้องการให้สังคมแห่งนี้ มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน และมีความใจกว้างพอที่จะรับฟังผู้อื่น มิเช่นนั้น คนหลายคน (รวมถึงท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้) ก็จะตกเป็นเหยื่อของความมีอคติและความไร้สาระ จนท่านจะไม่กล้ามีความคิดเป็นของจนเอง ตกเป็นทาสของนักเลงจอมอคติ หรือแย่หน่อย ก็กลายเป็นคนขี้ประจบ ทำเป็นเสแสร้งดีกับทุกคนเพื่อให้ตัวเองได้ดีโดยปริยาย

ดังนั้น ท่านที่เห็นด้วย หรือหวังดี ไม่ต้องให้กำลังใจผมก็ได้ครับ แต่หากใครจะช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ก็โปรดช่วยกันเตือนสติกันและกัน ตักเตือนกัน ไม่ใช่ทำเป็นเห็นดีเห็นงามกับทุกคนเพื่อเอาตัวเองน่ารักไว้ก่อน พยายามเตือนกันให้ลดอคติ เปิดใจให้กว้างๆครับ

ผมจึงขอบคุณตัวอย่างดีๆ ของผู้ที่กล้าให้สติกันและกัน เช่น คุณ บก ลายจุด หรือ หมอหวาย หรือ อ. ยิ้ม และอีกหลายๆท่านที่ส่งข้อความทั้งอย่างเปิดเผยและไม่เปิดเผย และไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับความคิดผม แต่กล้าที่จะตักเตือนคนที่มีอคติต่อผม (ดูตัวอย่างได้ที่ comment ใต้ post นี้)

2. เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้มุ่งที่ อาจารย์ "ก" เป็นการส่วนตัวนะครับ แต่ผมขอยกมาเป็นตัวอย่าง เพราะผมทราบดี คนที่คิดแบบ อาจารย์ก็มี แต่อาจแต่มาขอแจม กด like คุณเหล่านี้ ก็โปรดรับฟังที่ผมเขียนไปพิจารณาด้วย ส่วนว่าคนอื่นที่เจอเรื่องไร้สาระเหมือนผม ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ยังมีอีกเยอะ มีทุกวงการสถานที่ 

เราก็โปรดช่วยกัน อย่าไปกลัวที่จะแสดงความคิดครับ ความจริง ก็คือ ความจริง ความคิด ก็คือ ความคิด คนที่เข้าใจเราผิด ก็พูดกันดีๆ ให้กลับมาเข้าใจให้ถูก คงไม่มีความคิดไหนที่จริงได้ชั่วนิรันดร

3. ส่วนคนอื่นกล่าวหาผมในแบบที่ไร้สาระยิ่งกว่านี้ และยากที่จะเยียวยา ก็ยังมีครับ บางคนเป็น ‘ขาประจำ’ นั่งจับกลุ่มกันนินทาว่าร้าย เช่น บอกว่า 

“นักวิชาการที่เขาทำงานวิจัยเพราะเขามีครอบครัวต้องเลี้ยงชีพ ไม่ได้รวยแบบคุณ กว่าตังค์วิจัยจะออก ลงแรงค้น-เขียน "หนัก" มาก ถ้ารวยแบบคุณเขาก็ไม่อยากทำหรอกวิจัยน่ะ เพราะมันมีกรอบให้เขียนที่จำกัดเพดาน - เอาความได้เปรียบทางเศรษฐกิจมาโยนขี้ใส่คนอื่นแล้วทำเท่ คนขี้โอ่แบบนี้ แม่งโรคจิต”

ข้อวิจารณ์ไร้สาระแบบนี้ เพื่อให้ตนรู้สึกดี มีคุณค่า ผมสงสารและเป็นห่วงครับ แต่ผมสาระของเรื่องนี้ อยู่ที่ว่า การชี้ข้อผิดพลาดนั้นไม่เป็นไร ‘ขาประจำ’ คนดังกล่าวเอง ก็ผิดพลาดประจำ ล่าสุด มาวิจารณ์การใช้คำว่า legal science proper วิจารณ์เสียยาว มีอาจารย์มากดนิ้วชอบใจหลายคน แต่พอ ‘ขาประจำ’ พบว่าตนเข้าใจผิด ก็ได้แต่แก้ตัวแบบไม่มีอะไร ซึ่งผมก็เห็นด้วย ว่าการเข้าใจผิด หรือไม่รู้อะไร เป็นเรื่องปกติ ผิดก็แก้ให้ถูก คุยกันดีๆ (แต่เสียดาย ผมทำให้ ‘ขาประจำ’ รายนี้หวั่นไหว จนเขา block ผมไป แต่ ‘ขาประจำ’ ก็ทำใจไม่ได้ ไม่ลืมผมสะที ตื่นเช้ามา ‘ขาประจำ’ จะหาเสื้อใส่ ยังนึกถึงผมเลย)

แต่ผมขอนะครับ การยัดข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จ แต่การไปบิดเบือน ใส่ร้ายคนอื่น เป็นบาปครับ และถ้าคุณมีลูกได้ บาปอาจลามติดเป็นนิสัยไปถึงลูกคุณด้วย ผมว่าเพื่อนร่วมวงนินทาของ ‘ขาประจำ’ รายนี้ (ซึ่งมีตั้งแต่ลิง นักศึกษาไปถึงอาจารย์และคณบดี) ต้องดูแลกันดีๆ ผมบันทึกประวัติพวกคุณไว้ แต่คงสวดมนต์ให้พวกคุณทุกคนไม่ไหว แต่มีอะไร เลิก block ผม หรือเลิกเสแสร้งกับผม และมาคุยกันดีๆเถอะครับ

4. สิ่งที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ เชิญวิจารณ์ได้เต็มที่ครับ แต่เอาที่สาระเหตุผล และคุยกันดีๆนะครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น