เพลงฉ่อยชาววัง

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

นโยบาย/ผลงานของรัฐบาลสมัยนายกฯทักษิณ ชินวัตร 2544- 2548 ค้นคว้าเพื่อการศึกษาโดยนักวิชาการอิสระ

นโยบายและผลงานของรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  ปี2544 – 2548
โดย นายสุวิทย์ สงคราม นักวิชาการอิสระและนักศึกษาปริญญาโท รปม. ศึกษาค้นคว้าเพื่อการศึกษา เมื่อปี ,2552
              ภายใต้กรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540  ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปการเมืองให้สอดรับกับกระแสโลกาภิวัฒน์  ซึ่งมุ่งเน้นการลดอำนาจรัฐ  เพิ่มอำนาจให้ประชาชน  ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน  บริหารบ้านเมืองด้วยความโปร่งใส  มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุล  รวมทั้งคำนึงถึงคุณภาพชีวิต และสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น  เป็นเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้สังคมไทยได้มีโอกาสสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ให้เป็นการเมืองเชิงสร้างสรรค์

1.การจัดตั้งพรรค ปี 2541 พรรคไทยรักไทย  หัวใจคือประชาชน  นำแนวทางใหม่  คิดใหม่ ทำใหม่เพื่อไทยทุกคน
                พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร   เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย  ซึ่งจดทะเบียนและประกาศตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2541  ด้วยแนวทางคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน และชูนโยบายเป็นธงนำหลักในการเลือกตั้งตามแนวทางที่เรียกกันว่า ประชานิยม คือ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และสร้างโอกาส  เพื่อมุ่งไปสู่ชัยชนะ ต่อการทำสงครามกับความยากจน  สงครามยาเสพติด และสงครามปราบคอรัปชั่น และในการเลือกตั้งวันที่ 6 มกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทยที่ชนะการเลือกตั้งได้ส.ส.มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร
                พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร    เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย  ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2544 จากนั้นพันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร    นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้มีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2544

2.บริหารราชการแผ่นดินภายหลังภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ แปรวิกฤตเป็นโอกาส
                การเข้าบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร   นายกรัฐมนตรี ได้เข้าบริหารหลังภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากปี 2540 รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนและสำคัญยิ่ง  คือการเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ  ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของระบบเศรษฐกิจ การบริหารสังคมและการเมือง  โดยจะต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กันเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันการณ์ โดยปัญหามี 2 ส่วน คือ 1.หยุดการหดตัวของเศรษฐกิจที่กำลังก่อปัญหาทางสังคมให้กับประเทศ 2.การแก้ไขและปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม  ไปสู่ความมีเสถียรภาพ และความมั่นคงอันยั่งยืนของประเทศ

3.นายกรัฐมนตรีที่ใช้สื่อวิทยุกระจายเสียง และสทท.11 เล่าเรื่องทุกวันเสาร์   “นายกทักษิณ คุยกับประชาชน”
                พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร   นายกรัฐมนตรี ได้ใช้กลยุทธการประชาสัมพันธ์เป็นตัวนำในการสร้างกระแสสังคม  จนนำไปสู่การเกิดกระแสความศรัทธาต่อตัวผู้นำรัฐบาล  และเกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างรวดเร็ว  โดยจัดรายการวิทยุฯ “นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) ช่วงเวลา 08.00 น. – 09.00 น. ในทุกวันเสาร์ และออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) กรมประชาสัมพันธ์ ไปพร้อมกัน นอกนั้นยังมีการเผยแพร่ขยายผลผ่านสื่อภาครัฐ  ทางเว็ปไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงภาครัฐอื่น สถานีวิทยุชุมชน  หอกระจายข่าวในระดับหมู่บ้าน  ซึ่งพบว่า เป็นรายการที่มีประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจมาก  เรื่องราวที่นายกรัฐมนตรีนำมากล่าวในรายการ  จึงสามารถสื่อสารไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

4.นโยบายสาธารณะ ปี 2544 – 2548 มี 16 นโยบาย ที่สื่อสารกับประชาชน
                นโยบายที่รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ  ช่วงปี 2544 – 2548 นำไปพูดผ่านรายการวิทยุฯ รายการโทรทัศน์ และถูกนำไปขยายผลผ่านสื่อต่าง ๆ มี 16 นโยบาย   นโยบายข้อที่ 1 คือ นโยบายเร่งด่วน
  1. พักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี
  2. จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งละ 1 ล้านบาท พร้อมทั้งจะจัดให้มีโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
  3. จัดตั้งธนาคารประชาชน
  4. จัดตั้งธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
  5. จัดตั้งบรรษัทกลางในการบริหารสินทรัพย์
  6. พัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรหลักในการกอบกู้เศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ
  7. สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเสียค่าใช้จ่าย 30 บาทต่อครั้ง
  8. เร่งจัดตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ควบคู่ไปกับการปราบปรามและป้องกัน
  9. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่น

นอกจากนโยบายเร่งด่วนแล้ว รัฐบาลชุด พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร  ได้แถลงนโยบายในด้านนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายสร้างรายได้  นโยบายการพาณิชย์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  นโยบายด้านการคมนาคม  นโยบายการพัฒนาแรงงาน  นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  นโยบายการพลังงาน  นโยบายเสริมสร้างสังคมเข้มแข็ง  นโยบายการศึกษา  ศาสนา และวัฒนธรรม  นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ  นโยบายด้านต่างประเทศ  นโยบายความปลอดภัยของประชาชน  นโยบายบริหารราชการแผ่นดิน  และนโยบายพัฒนาภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร ซึ่งรายละเอียดของนโยบาย  มีการจัดพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่ และนำลงไว้ในเว็ปไซต์ทำเนียบรัฐบาลไทย http://www.thaigov.go.th เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนค้นคว้าได้ตลอดเวลา

5.เริ่มดำเนินกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ถึงผลงานและความสำเร็จช่วงปี 2545
                หลังจากเข้าบริหารประเทศไปได้ระยะหนึ่ง รัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ได้มีการดำเนินการประชาสัมพันธ์ถึงผลการดำเนินงาน  โดยจัดพิมพ์เป็นแผ่นพับในเรื่องประชาชนได้อะไรจากการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร   มีรายละเอียดดังนี้

6.ประชาชนได้อะไรจากการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร 
                การบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของ พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร  ในช่วงปีแรกรัฐบาลได้วางกรอบแนวทางเศรษฐกิจทั้งฐานชาวบ้าน ฐานระดับกลาง ฐานระดับบน  รวมทั้งงานด้านของสังคม การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งประชาชนได้สัมผัสอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
                ในปีที่สองของการบริหารประเทศ รัฐบาลได้บริหารงานเพื่อประเทศมีเสถียรภาพและคุณภาพในทุกด้านโดยเน้น “การบริหารบ้านเมือง” คือ การดำเนินที่เน้นประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ทั้งเป็นหลักมิใช่บริหารบ้านเมืองที่มุ่งหวังผลเพียงระยะเวลาอันสั้น  ดังนั้นการบริหารบ้านเมือง รัฐบาลจึงได้รับบริหารตามกรอบนโยบายที่ให้สัญญาประชาคมไว้ และทำมากกว่าที่กำหนดไว้ตามนโยบายซึ่งพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากการทำงานดังกล่าวหลาย ๆ ด้าน

7.ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
                แนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง  รัฐบาลได้บริหารประเทศด้วยการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศด้วยการสร้างความแข็งแกร่งของฐานเศรษฐกิจระดับชาวบ้าน หรือ “รากหญ้า” ให้เขมแข็ง  โดยอาศัยเม็ดเงินที่ใช้จ่ายภายในประเทศแก้ปัญหาความยากจนด้วยการให้โอกาสและลดภาระแก่ประชาชน และสร้างผู้ประกอบการใหม่ พร้อมๆไปกับการส่งเสริมการส่งออกและแก้ปัญหาทุกมิติไปพร้อมกัน  แนวทางนี้เป็นประโยชน์ที่ยอมรับจากผู้นำและนักเศรษฐศาสตร์ของต่างประเทศว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม
                กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งล้านบาทต่อกองทุน มีการขึ้นทะเบียน เพื่อจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 74,215 กองทุน  คิดเป็นร้อยละ 98.13 ของหมู่บ้านและชุมชน ได้รับการอนุมัติและโอนเงิน ซึ่งมีการปล่อยกู้ให้สมาชิกเพื่อนำสร้างงานสร้างรายได้ลดรายจ่ายและลดบรรเทาเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน จำนวน 5,931,564 ราย รวมเป็นเงิน 78,613,24 ล้านบาท
                จากการที่พี่น้องประชาชนเป็นหนี้นอกระบบต้องกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10-20 ต่อเดือนมาเป็นเวลานาน รัฐบาลได้มอบให้ธนาคารออมสิน ดำเนินการจัดตั้งธนาคารประชาชนเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว
8.ธนาคารอิสลาม เริ่มดำเนินการแล้ว
                เป็นครั้งแรกที่ประชาชนสามารถจัดตั้งธนาคารอิสลามได้เป็นผลสำเร็จ  สำหรับพี่น้องชาวมุสลิม เพื่อระดมเงินฝาก เงินลงทุนจากชาวไทยมุสลิมในต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักศาสนาในธุรกรรมด้านการเงิน  โดยมีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท

9.การพักชำระหนี้
                การลดภาระของประชาชนซึ่งเป็นขบวนการหนึ่งของการขจัดความยากจน และลดช่องว่างของคนในสังคม  รัฐบาลจึงได้ดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐาน ด้วยการพักชำระหนี้ให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกร
                การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจน และประสบปัญหาด้านหนี้สินให้ได้รับการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2544 ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2547 เพื่อให้เกษตรกรรายย่อย จำนวน 2,309,788 ราย (หนี้เงินกู้รวมทั้งสิ้น 94,056 ล้านบาท) ได้มีโอกาสพักฟื้นฟูตนเองในการประกอบอาชีพ ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการ  มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,309,966 ราย  มีต้นเงินกู้คงเป็นหนี้รวม 94,328 ล้านบาท
                ในระยะเวลาเพียง 2 ปีผ่านมาจะเห็นได้ว่าประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่กู้เงินทั้งจากธนาคารประชาชน  กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  มีการชำระหนี้คืนพร้อมดอกเบี้ยในสัดส่วนที่สูงมากเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ประชาชนผู้มีรายได้น้อย  มีศักยภาพในการชำระหนี้ และรักษาสัญญาเป็นอย่างดี  รัฐบาลจึงมุ่งเปิดโอกาส และสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยได้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง
                รัฐบาลได้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับประชาชนภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และได้ดำเนินการครบทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของประชาชนพึงพอใจต่อนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค (ช่วงเวลาแรกมีประชาชนเข้าไปรักษากันมาก เพราะไม่เคยเข้าไปรับบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง  ทั้งประชาชนและผู้ให้บริการจึงต้องอดทน ซึ่งในระยะต่อไปการขอใช้บริการคงจะลดลง)
                ขณะเดียวกันรัฐบาลได้จัดทำโครงการคู่ขนานไปด้วย คือ การส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้ประชาชน   หันมาเอาใจใส่สุขภาพ  รู้จักออกกำลังกาย รู้จักรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ รู้จักใช้ยาที่เหมาะสม  การทำงานเชิงรุกเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการสร้างสุขภาพ โดยเน้นยุทธศาสตร์การรวมพลังสร้างสุขภาพที่เน้นการปรับเปลี่ยนบทบาทให้โรงพยาบาลทำงานเชิงรุก ให้ความรู้แก่ประชาชน        ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างสุขภาพและให้ชุมชนรวมตัวกันเป็นชมรมสร้างสุขภาพ ซึ่งคาดว่า     จะมีอย่างน้อย 7,500 ชมรม เมื่อสิ้นปี 2545
                โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่รัฐบาลดำเนินการตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลปรากฎว่าได้รับผลสำเร็จเป็นรูปธรรมเร็วกว่าที่คิด  เพราะศักยภาพของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นถูกนำออกมาด้วยการนำวิธีการบริหารจัดการ และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ทำให้ยอดขายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ที่หมุนเวียนจากเดิมช่วงก่อนที่รัฐบาลเข้าบริหารประเทศ ซึ่งมีเพียง 200 ล้านบาทต่อปี  ปัจจุบันมีรายได้     และเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น ประมาณ 10,000 ล้านบาท และรัฐบาลเสริมด้วยการนำเอาอินเตอร์เน็ทเข้าสู่      ทุกตำบล  เพื่อให้มีการหมุนเวียนการสั่งซื้อสินค้าจากเว็ปไซต์ http://www.thaitambon.com ได้อีกช่องทางหนึ่ง  นอกจากนี้รัฐบาลได้มีมาตรการสนับสนุนการแปรรูปผลิตผลการเกษตร และพัฒนาผลผลิตจาก             ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และคืนสิทธิให้ชาวบ้าน  โดยให้มีการทำสุราหมัก และสุราแช่ ที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี  ทำให้ประมาณการบริโภคสุราหมักสุราแช่ในท้องถิ่นมีการขยายตัว  และรัฐสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านบาทในปี 2545  แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายของรัฐบาล  แม้ว่า จะกลายเป็นฐานรายได้ของรัฐ และลดการนำเข้าสุราจากต่างประเทศก็ตาม  แต่ที่สำคัญคือกระบวนการร่วมมือกันในชุมชนที่เอาวัตถุดิบที่มีในชุมชนมาทำให้ทันสมัย  และก่อให้เกิดรายได้ใหม่
                สำหรับราคาสินค้าเกษตร รัฐบาลมอบให้กระทรวงพานิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด  ทำให้สินค้าเกษตรขยายตัวดีขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์เกษตรรายสินค้า  โดยมีผู้รับผิดชอบ  รายสินค้าเกษตร  เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน  ตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำหน่าย  เพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้นและยั่งยืน

10.สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
                โครงการอีกโครงการหนึ่งที่ต่อยอดจากหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือเศรษฐกิจชุมชน คือ โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ  รัฐบาลได้เร่งให้ธนาคารของรัฐปล่อยเงินกู้แก่ผู้ประกอบการ  และรัฐบาลได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคาร SMWS เพื่อช่วยส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางให้ดีขึ้น และสม่ำเสมอ
                ปี 2545 เศรษฐกิจไทยโดยรวมเติบโตประมาณร้อยละ 5-6 ซึ่งนโยบายสร้างชุมชน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นเข้มแข็ง  ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศสมดุลกับการส่งออก ซึ่งในช่วง 10 เดือน  มียอดรวม 53,375 ล้านเหรียญสหรัฐ  เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.13 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน    และมียอดเกินดุลการค้าเกือบ 4,000 ล้านบาท  ทั้งนี้สินค้าเริ่มติดตลาดผู้ส่งออกปรับแผนธุรกิจได้ดี      ลดต้นทุนและการหาตลาดใหม่ๆ ของรัฐบาล  สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศ มีภูมิคุ้มกัน      ต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก  แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็ตาม

11.การต่างประเทศไม่ไกลตัวสำหรับประชาชน
                นโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านต่างประเทศของรัฐบาล มิได้เป็นเรื่องไกลตัวอย่างที่คิดสำหรับประชาชนไทยอีกต่อไป  การดำเนินการทุกเรื่องของรัฐบาลในด้านต่างประเทศ  ประชาชนทุกระดับสามารถรับรู้    และได้รับผลประโยชน์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
                รัฐบาลได้ดำเนินการทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิต คือ ไทย  มาเลเซีย  อินโดนีเซีย  โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพารา 3 ประเทศ  เพื่อกำหนดราคายางเอง  ในราคา        ที่สมเหตุผล  ทำให้ยางพาราในปัจจุบันมีเสถียรภาพมากกว่าที่ผ่านมา  และมีเป้าหมายที่จะให้ราคายางอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 1 เหรียญสหรัฐ
                รัฐบาลได้ดำเนินการ  เรื่องยุทธศาสตร์ข้าวในลักษณะเดียวกันกับยางพารา  โดยในวันที่ 9    ตุลาคม 2545  ได้เชิญรัฐมนตรี 4 ประเทศ คือ อินเดีย  ปากีสถาน จีน  และเวียดนาม  มาประชุมที่กรุงเทพฯ ประเทศที่ได้รับเชิญ รวมทั้งประเทศไทย เป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก  แต่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยากจน  ถึงเวลาที่จะต้องรวมตัวกันเพื่อกำหนดราคาข้าว  เพราะต้องการความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร   โดยจะกำหนดราคาขั้นต่ำของข้าวแต่ละประเทศร่วมกัน  ซึ่งรัฐบาลจะประกาศราคาขั้นต่ำเกษตรกร     ในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้น ซึ่งชาวนาสามารถขายได้ราคาดีกว่าเดิม
                นอกจากนี้ในปี 2546  รัฐบาลยังเตรียมจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับประเทศอินเดีย   จีน  ญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกา  ซึ่งประเทศเหล่านี้ในอนาคตจะเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม  ของไทยได้อย่างมาก

12. ปี 2546 จะต้องดีกว่าปี 2545
                การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล 2 ปี ที่ผ่านมาใช้วิธีการดำเนินการที่แตกต่าง และไม่เหมือน   กับแนวทางเศรษฐกิจที่เคยใช้กันอยู่  เป็นการแก้ปัญหานอกตำรา แก้ปัญหาความยากจน  และยืนอยู่บน     ลำแข้งของตัวเองมากที่สุด  เร่งการส่งออกและสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ กระจายเม็ดเงิน   ลงสู่ชนบท  เพื่อให้เกิดการสร้างงาน  สร้างรายได้อย่างเต็มที่  ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ใช้เงินเหล่านี้กระตุ้น   การบริโภค  แต่ใช้เงินเพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้มีงานทำ  และมีผลผลิต  แล้วจึงเกิดการบริโภค
                ดังนั้นภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2545 จึงมีทิศทาง และตัวเลขออกมาดี  ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงปี  2546   รัฐบาลและส่วนราชการมีภารกิจอีกหลายเรื่อง ที่จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างเร่งด่วน ในปี 2546  ซึ่งรัฐบาลต้องทำงานหนักยิ่งขึ้นไปอีก  เพื่อให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน และส่งผลไปยังพี่น้องประชาชนในทุกอาชีพให้มากที่สุด  รัฐบาลจึงเตรียมการหลายด้าน  เพื่อให้มั่นใจว่าปี 2546 ต้องดีกว่า  ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

13.ปี 2547  รัฐบาลได้รับความนิยมอย่างมาก จากประชาชนระดับรากหญ้า  จัดงานจากรากหญ้า  สู่รากแก้ว
                หลังจากประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ  ภายหลังเข้าบริหารงานจาก  ปี 2544 – 2547  รัฐบาล พันตำรวจโท  ทักษิณ  ชินวัตร  ได้มีการจัดพิมพ์ผลงานรอบ 4 ปี และจัดงานแสดงผลงานรัฐบาลภายใต้หัวข้อ จากรากหญ้าสู่รากแก้ว  มีประชาชนจากทั่วประเทศไปเข้าชมงานหลายล้านคน  ส่งผลให้เกิดกระแสนิยมต่อตัวนายกรัฐมนตรีและพรรคไทยรักไทย  เพิ่มสูงยิ่งขึ้น

14.จากรากหญ้าสู่รากแก้ว
                เน้นผลงานรัฐบาล ( พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร ) 4 ปี  สังคมคุณภาพ  สังคมคุณธรรม  สังคมเอื้ออาทร  สังคมสมดุล  มีการนำเสนอผลงาน อาทิเช่น
                กรุงเทพเมืองแฟชั่น *
                เผยแพร่ผลงานนักออกแบบไทยสู่สากล เช่น  อิตาลี  ฝรั่งเศษ  ทำให้มูลค่า  การส่งออกสินค้าแฟชั่นสูงถึง 3.9 แสนล้านบาท *เป้าหมายสร้างไทยให้เป็นแฟชั่นในภูมิภาค ภายใน 3 ปี    ให้ตราสินค้าไทยเป็นที่นิยมในระดับสากล
                ใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF ) ก่อนครบกำหนด ใช้หนี้ IMF ก่อนกำหนด 2 ปี จำนวน 470,270 ล้านบาท ปลดเปลื้องไทยจากพันธนาการ  กู้ศักดิ์ศรีของคนไทยกลับคืนมา   สร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย และประหยัดค่าดอกเบี้ย 4.8 พันล้านบาท
                กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
                                *กองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท สร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อพัฒนาตนเอง   ไปแล้ว 13 ล้านราย จัดการกับเงินกู้นอกระบบให้ลดลง  ลดภาระดอกเบี้ยของประชาชนจากร้อยละ 240    จากการกู้นอกระบบ เหลือร้อยละ 7  ต่อปี  จากการกู้ธนาคารประชาชน และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  *เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาให้เกิดธนาคารหมู่บ้านในอนาคต *ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีละ 264,481 บาท เป็น 283,433 บาท หรือเพิ่มขึ้น 7.2 %
                เกษียณก่อนกำหนด
                                สนับสนุนข้าราชการ 48,151 คน   ให้สามารถเริ่มอาชีพใหม่ หรือเป็นผู้ประกอบการ   เพื่อเป็นกำลังผลิตของประเทศในอาชีพที่ตนถนัด
                แก้วตาดวงใจเทิศไท้ 72 พรรษา  มหาราชินี
                                ให้แสงสว่าง และชุบชีวิตใหม่ให้ผู้ยากไร้  ได้รับการรักษาพยาบาลฟรี  โดยผ่าตัดโรคหัวใจไปแล้ว 7,424 ราย และตาต้อกระจก 114,012 ราย  ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
                ข้าว
                ขายข้าวได้สูงสุดถึง 30.34 ล้านตัน  ข้าวหอมมะลิราคาพุ่งสูงสุด 9,315 บาท/ตัน และทำให้ไทยกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก
                และยังมีผลงานที่โดดเด่นของรัฐบาล  ที่นำออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน อีกจำนวนมาก นับว่า    เป็นความสำเร็จในการบริหารจัดการข่าวสารในยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร 


15.ปี 2548   ขอกลับมาบริหารประเทศชาติอีก 1 สมัย ภายใต้การชูนโยบาย สี่ปีซ่อม 2544 – 2547 ความหายนะจากวิกฤติ สี่ปีสร้าง 2548 – 2551 ชาติให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
                นับเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทย ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พันตำรวจโท ทักษิณ       ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ที่มาจากพรรคไทยรักไทย และมาจากการเลือกตั้งสามารถอยู่บริหาร  ได้ครบวาระ 4 ปี
                ในการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทย ชูนโยบายประชานิยม ภายใต้สโลแกนที่ว่า สี่ปีซ่อม 2544 – 2547 ความหายนะจากวิกฤติ สี่ปีสร้าง 2548 – 2551 ชาติให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
                1. จัดสรรงบ เอส เอ็ม แอล ให้ทุกหมู่บ้านและชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีงบประมาณแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นด้วยตนเอง
                2. จัดสรรวัว 2 ล้านตัว กระจายสู่เกษตรกรที่อยากจะเลี้ยงวัวทั่วประเทศ
                3. คาราวานแก้จน บุกทุกหลังคาเรือน ให้ความรู้ให้ทักษะ ให้งานทำ นำลูกหลานไปเข้าโรงเรียน
                4. คาราวานเสริมสร้างเด็กบุกทุกบ้าน ให้ความรู้ในการเลี้ยงดูลูก เพื่อเติบโตอย่างมีคุณภาพ
                5. โครงการเอสพีวี เกษตรกรกู้ สร้างอาชีพใช้หนี้คืนด้วยผลผลิต แต่กำไรเป็นเงิน
                6. แปลงกองทุนหมู่บ้านที่มีความพร้อมให้เป็นธนาคารหมู่บ้าน
                7. จัดสรรโครงการประปาหมู่บ้านให้ครบทุกหมู่บ้าน และทุกหลังคาเรือน ต้องมีไฟฟ้า หากสายไฟฟ้าไม่ถึงใช้ โซลาเซลล์
                8. ขุดบ่อเก็บน้ำ 1,260 คิวบิกเมตร ให้เกษตรกรไม่อั้น เพียงจ่ายบ่อละ 2,500 บาท
                9. ลูกหลานค่อยผ่อนใช้คืนเมื่อมีงานทำ
                10. ติดคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนททุกโรงเรียนทั่วประเทศ
                11. ประชาชนที่มีรายได้จะต้องมีบ้านเป็นของตนเอง และบ้านในชุมชนแออัด จะถูกเปลี่ยนเป็น บ้านมั่นคง
                12. จัดสรร งบ 1 ล้านบาท สร้างระบบรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินบนดิน ระยะทาง 291 กม. เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล พร้อมทั้งขยายโรงเรียน โรงพยาบาล และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อพี่น้องประชาชนชาว กทม.
                13.ลดภาษีให้ลูกกตัญญูที่เลี้ยงดูพ่อแม่ รวมทั้งพ่อตาแม่ยาย
                14. ทำสงครามกับยาเสพติด อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสังคมที่ปลอดภัยของลูกหลานไทย

16.นายกทักษิณ นำพรรคไทยรักไทย คว้า 377 เสียง สู่การเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2
                ด้วยการสื่อสารกับประชาชนอย่างเป็นระบบ ด้วยข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน เข้าใจง่าย เข้าถึงประชาชน และมีผลงานเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประชาชนระดับรากหญ้า   ส่งผลให้การเลือกตั้ง ปี 2548  พรรคไทยรักไทยได้ครองเสียงข้างมาก ถึง 377 เสียง และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล   ต่อมาพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้รับ พระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548   และนำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 23 มีนาคม 2548   ซึ่งได้ดำเนินนโยบายต่อเนื่อง  ในด้านประชานิยม

17.สิ้นสุดการบริหารงานของรัฐบาล ชุด พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร
                แต่ต่อมาในปี 2549  รัฐบาลก็ประสบวิกฤติการณ์ทางการเมือง  เกิดการชุมนุมต่อต้านจากประชาชนกลุ่มที่เรียกว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) การต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาล ขยายตัวรุนแรงขึ้นจนในที่สุด  เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เกิดการยึดอำนาจการปกครองโดย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ โดยการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540  และมีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นทำหน้าที่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. 2550 จัดลงเสียงประชามติจากประชาชนผู้มีสิทธิทั่วประเทศ ผลปรากฎว่า                   มีผู้ลงคะแนนเสียง เห็นด้วยกับการถือใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มากกว่าไม่เห็นด้วย  มีรัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศ โดย  พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์  เป็นนายกรัฐมนตรี

18.สรุป
                รัฐบาลภายการนำของ พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ช่วงปี 2544 – 2547 และต่อเนื่องจากปี 2548 จนถึงสิ้นสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549  มีการบริหารนโยบายสาธารณะให้ประสบผลสำเร็จ บรรลุเป้าหมายในเชิงบริหารจัดการ และประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ในการสร้างความนิยมจากประชาชน ส่งผลให้ชนะการเลือกตั้งต่อมาในปี 2548 นั้น  เห็นว่า รัฐบาลมีการวิเคราะห์นโยบายเชิงกระบวนการ ( The policy process ) คือการบริหารจัดกระบวนการนโยบายให้ถูกต้อง สอดคล้อง    เรียบเรียงโดย  นายสุวิทย์ สงคราม  เป็นรายงานทางวิชาการประกอบการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาโท เมื่อปี , 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น