ผู้เขียน วีรพงษ์ รามางกูร
ถ้าให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบเดิมคือ กาบัตรเลือกผู้แทนราษฎรเขตใบหนึ่ง แล้วกาบัตรเลือกสมาชิกสภาผู้แทนในระบบบัญชีรายชื่ออีกใบหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงให้ตรงกับเจตนารมณ์ของตน ก็ให้พรรคการเมืองต่างๆ ที่ส่งสมาชิกพรรคลงแข่งขันในการเลือกตั้งจับสลากเพื่อรับเลขหมายของสมาชิกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อซึ่งใช้สัดส่วนของคะแนนเสียงแต่ละพรรค ได้สมาชิกสภาผู้แทนฯก่อนหลังตามบัญชีของพรรคที่กำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งแล้ว
ถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้ที่พรรคต้องการเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็จะอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับแรกของพรรค ซึ่งอย่างไรเสียก็จะได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรค่อนข้างแน่ ถ้าเป็นกรณีของพรรคขนาดใหญ่และพรรคขนาดกลางดูก็สามารถจะเข้าใจได้ง่ายดี แต่ก็มีคนไม่เข้าใจเป็นจำนวนมากเพราะมีบัตรเสียเป็นสัดส่วนที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่มาลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อ 7-8 ปีก่อน พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้ได้ที่นั่งในสภามากจนเกินไป ถึงกับมีคำกล่าวว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้การปฏิวัติรัฐประหาร “เสียของ” อุตส่าห์ทำปฏิวัติรัฐประหารมาทั้งที แต่ผลการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรกลับออกมาเหมือนเดิม พรรคเพื่อไทยได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นอันดับสอง พรรคเพื่อไทยได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนเดิม
ในแง่รูปแบบจำนวน ส.ส.ของแต่ละภาคก็เหมือนเดิม กล่าวคือพรรคประชาธิปัตย์ชนะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลและจังหวัดในภาคใต้ พรรคเพื่อไทยชนะในภาคเหนือและภาคอีสาน พรรคชาติไทยชนะในเขตภาคกลางตอนใต้ นอกนั้นก็คงกระจัดกระจายและกำลังจะพัฒนาไปเป็นประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองพรรคใหญ่ 2 พรรคและมีพรรคเล็กแทรกกลางอยู่ 1 พรรค แบบเดียวกับอังกฤษและยุโรปตะวันตกหลายประเทศ รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย แต่ไม่เป็นประชาธิปไตยระบบพรรคเดียวแบบญี่ปุ่น สิงคโปร์หรือมาเลเซีย อาจจะรวมถึงไต้หวันในยุคหนึ่งด้วย
ก่อนที่นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด จะกลับมาลงเลือกตั้งและชนะอีก สามารถรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่รัฐบาลพยายามจัดเขตเลือกตั้งเอาเปรียบพรรคอื่นอยู่แล้ว
เพื่อให้แน่ใจว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้จะไม่เสียของ กล่าวคือจะได้คะแนนเสียงฟ้าถล่มดินทลายอย่างไรก็เป็นได้เพียงฝ่ายค้าน เพราะนายกรัฐมนตรีมีสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว ในการลงคะแนนเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล เมื่อหมดบทเฉพาะกาลก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีกสมัยหนึ่งโดยการมาร่วมลงคะแนนเสียงของวุฒิสภาก่อนจะหมดวาระไป เมื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมพาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่หลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว เราถึงจะมีประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเดียวกับที่เคยมีมาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2520 ย้อนหลังกลับไป 42 ปี
แต่จะอยู่ได้ไม่นานเพราะลืมเขียนรัฐธรรมนูญให้สมาชิกวุฒิสภามาช่วยลงคะแนนเสียงผ่านร่าง พ.ร.บ.สำคัญและ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน โดยร่าง พ.ร.บ.ใดจะเข้าข่ายเช่นว่าหรือไม่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัย ดังนั้นหลังจากลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ววุฒิสภาก็กลับไปทำหน้าที่ที่ควรจะทำ กล่าวคือกลั่นกรองกฎหมายตามจุดมุ่งหมายของการมีวุฒิสภา ซึ่งความจริงไม่ต้องมีวุฒิสภาก็ได้สำหรับ “รัฐเดี่ยว” อย่างประเทศไทย บทบาทนี้ของสภาขุนนางหรือ House of Lords ของอังกฤษนี้ก็หมดไปแล้วแต่ยังดำรงอยู่ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ ไม่มีก็ได้เพราะไม่มีอำนาจอะไรเหลืออยู่เลยในขณะนี้ แม้แต่การยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ
โดยวินัยพรรคที่เคร่งครัด ระบบการปกครองของอังกฤษจึงเป็นระบบเผด็จการโดยรัฐสภาอย่างแท้จริง แต่เป็นรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งในทุกๆ 5 ปี ในรัฐสภามีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านดำรงคงอยู่ยาวนานมากว่า 250 ปี และจะคงยังอยู่ต่อไป เพราะไม่มีทหารมาทำการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจเหมือน “รัฐกล้วยหอม” หรือ Banana State อย่างประเทศไทย
ทั้งๆ ที่ไม่ได้กินกล้วยเป็นอาหารหลัก อย่างประเทศในทวีปละตินอเมริกา
สิ่งที่น่ากลัวอีกเรื่องนอกจากรัฐธรรมนูญจะเขียนให้เกิดการเอียง เข้าข้างฝ่ายอำนาจรัฐมากกว่าฝ่ายอำนาจประชาชน ก็คือการใช้มาตรา 44 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถเป็น “ศรีธนญชัย” ได้มากขึ้นในการวินิจฉัยให้ใบเหลืองใบแดงกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่าพรรคเพื่อไทยจ้างบริษัทสำรวจมืออาชีพของอเมริกามาสำรวจดูว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนในแต่ละภาคต้องการอะไร เพื่อนำมาทำเป็นนโยบายหาเสียงและจะเลือกพรรคการเมืองใด ผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคบริวารและพรรคพันธมิตร จะยังคงเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป แม้ว่าที่นั่งในสภาจะลดลงบ้าง
ทำให้พรรคฝ่ายเผด็จการจะไม่ได้ครองเสียงข้างมาก แต่อาศัยเสียงจากวุฒิสภาเสนอชื่อให้ตนเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่งได้ แต่เนื่องจากหลังจากนั้นจะอาศัยเสียงจากวุฒิสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณและ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงินและ พ.ร.บ.ที่สำคัญไม่ได้ ความจำเป็นที่จะต้องได้เสียงในสภาล่างเกินครึ่งก็ยังมีความสำคัญ
ในทางการเมืองระบอบเผด็จการเต็มใบหรือเผด็จการครึ่งใบ ถ้าหัวหน้ารัฐบาลมีความเข้มแข็ง พรรคการเมืองก็จะเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังเพื่อขอเข้าร่วมรัฐบาล แต่เมื่อใดก็ตามถ้ารัฐบาลเริ่มอ่อนแอไม่ว่าจะเป็นคนนอกหรือคนใน เสียงในสภาเริ่มมีคนมาแทรกแซง เช่นกรณี ผบ.ทบ.ท่านหนึ่งออกมาประกาศไม่เห็นด้วยกับการลดค่าเงินบาทและเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศขึ้นค่าเงินบาทกลับไปที่เดิม สภาพการณ์เช่นนี้ก็จะทำให้พรรคการเมืองมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการจะยกมือ ให้เสียงอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ในสภา หรือไม่อาจจะต้องเพิ่มจำนวนชะลอมผลไม้จากปกติที่มอบให้เป็นของกำนัล ชะลอมแต่ละใบมีเงินสด 500,000 บาท
ตามปกติเมื่อมีการยุบสภาหรือสภาครบวาระตามรัฐธรรมนูญจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งแล้วรัฐบาลจะต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่เรามักจะเรียกรัฐบาลดังกล่าวว่าเป็น “รัฐบาลรักษาการ” มีอำนาจบริหารราชการเหมือนรัฐบาลปกติ ยกเว้นจะกระทำการบางอย่างไม่ได้
ซึ่งส่วนมากเกี่ยวกับการอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวกับการเงินที่จะผูกพันรัฐบาลในอนาคตเท่านั้น
ที่ผ่านๆ มาจนกลายเป็นประเพณีก็คือ คณะรัฐประหารควรจะสิ้นสุดลงทันทีเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปและส่งมอบงานให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีอะไรให้ต้องเป็นห่วง เพราะสภาที่ตนแต่งตั้งได้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไว้ให้เรียบร้อยแล้วสำหรับความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร ที่ได้ล้มล้างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีโทษหนักถึงประหารชีวิต กฎหมายถือว่าเป็นอาชญากรรมที่หนักที่สุดที่พลเมืองจะกระทำต่อ “รัฐ” จึงได้ชื่อว่า “รัฐประหาร” หรือ “coup d’état” แต่สำหรับประเทศไทยทำกันเป็นประจำอยู่แล้วและปกครองประเทศโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใดเลย เพราะสถาบันนิติบัญญัติทำหน้าที่เดียวคือออกกฎหมาย แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบด้วย
มาตรการตรวจสอบเบื้องต้นก็คือ การแจ้งทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เข้าดำรงตำแหน่งของหน่วยงานของรัฐและคู่สมรส รวมทั้งคู่สมรสที่มิได้จดทะเบียนสมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และแจ้งอีกครั้งเพื่อพ้นจากตำแหน่ง 30 วัน และ 1 ปี
การที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาของรัฐเข้าใจผิดคิดว่าตนมิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของหน่วยงานของรัฐ พากันมีปฏิกิริยาและจะไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ตามบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะถูกต้อง ยกเว้นคำจำกัดความของคู่สมรสที่มิได้จดทะเบียนไม่ค่อยจะชัดเจนว่ามีได้คนเดียวหรือหลายคน ซึ่งไม่เหมือนกรณีที่จดทะเบียนสมรส จดได้คนเดียวเพื่อความเป็นธรรม รัฐธรรมนูญควรจะเขียนให้ชัดเจนจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง
ไม่เกิดปัญหาต้องลาออกก่อนกฎหมายบังคับใช้
วีรพงษ์ รามางกูร
“มีชัย ฤชุพันธุ์”
แก้หมากกลรัฐธรรมนูญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น