รัฐธรรมนูญปี 2560 คือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศไทย เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ซึ่งจัดทำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 นับถือวันที่ 10 ธันวาคม 2561 เป็นเวลาประมาณหนึ่งปีเก้าเดือนที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ปี 2561 ไอลอว์รวบรวมเรื่องราวตลกร้ายที่อยากจะขำแต่ขำไม่ออกเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาให้ทราบกัน
1.รัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม
คสช. ใช้เวลาสามปีกว่าหมกมุ่นอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ คสช. กำหนดกรอบการร่างไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 เช่น ต้องสร้างกลไกในการป้องกันและปราบปรามทุจริต ต้องมีกลไกในการป้องกันไม่ให้มีการทำลายหลักการสำคัญขอรัฐธรรมนูญ และต้องมีกลไกป้องกันไม่ให้ผู้ที่เคยถูกศาลตัดสินว่าทุจริตเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง การกำหนดกรอบเช่นนี้ชัดเจนว่า คสช. มีธงในการร่างรัฐธรรมนูญของตัวเอง
สามปีกว่า คสช. ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญถึงสองชุด ชุดแรกนำโดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ร่างเสร็จเมื่อตุลาคม 2558 แต่ก็ถูกคว่ำไป ซึ่งบวรศักดิ์ กล่าวถึงเหตุผลที่ร่างรัฐธรรมนูญของเขาถูกคว่ำว่าเพราะ “เขาอยากอยู่ยาว” ต่อมา คสช. จึงตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สอง นำโดยมีชัย ฤชุพันธ์ เขากล่าวว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่นี้เป็นภารกิจที่สำคัญจึงจำเป็นต้องไถ่ถาม คสช. ว่ามีความคิดอย่างไร
มีชัยร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ใช้เวลาเกือบ 6 เดือนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยให้ฉายาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกนำไปออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งผลการออกเสียงประชามติประชาชนที่มาออกเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามการออกเสียงประชามติครั้งนี้ จัดทำภายใต้บรรยากาศที่ประชาชนถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และการรณรงค์เกิดขึ้นได้จากภาครัฐเท่านั้น ก่อนถึงวันออกเสียงประชามติ มีประชาชนอย่างน้อย 195 คน ต้องถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็น หรือการพยายามมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ
2.รัฐธรรมนูญไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
รัฐธรรมนูญปี 2560 พยายามสร้างนวัตกรรมใหม่โดยการโยกย้ายสิทธิบางประการ เช่น สิทธิในการศึกษาฟรี 12 ปี, สิทธิของผู้บริโภค, สิทธิการรับบริการสาธารณสุขโดยเสมอกัน ออกจากหมวดสิทธิเสรีภาพและไปอยู่ในหมวด 'หน้าที่ของรัฐ' ทำให้เรื่องสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์พึงมีโดยธรรมชาติถูกทำให้พร่าเลือน กลายเป็นรัฐเป็นคนกำหนดสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังเพิ่มเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพไว้อีกสองข้อ คือ การกระทบต่อความมั่นคง หรือ ความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นคำที่ตีความได้กว้าง
แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดให้กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่สร้างภาระหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินสมควร แต่รัฐธรรมนูญ ก็ยังรับรองบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. หรือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนตามกติกาสากลอยู่อีกด้วย
ที่ผ่านมาภาคประชาชนพยายามอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น ภาคประชาชนยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินกลับอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายเพราะมีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ หรือ กรณีภาคประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ตรวจสอบคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองและกฎหมายผังเมือง ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิชุมชน แต่ศาลปกครองกลับยกฟ้องเนื่องจากรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองคำสั่งดังกล่าว
3.รัฐธรรมนูญ อ้างปราบโกง ยกเว้นพวกตัวเอง
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรียกรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างภาคภูมิใจว่า “ฉบับปราบโกง” โดยมีการสร้างกลไกใหม่ๆ เช่น การกำหนดให้มีมาตรฐานจริยธรรม, เพิ่มคุณสมบัติรัฐมนตรีว่า "ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์", ห้าม ส.ส. แปรญัตติกฎหมายให้ตัวเองมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณ ฯลฯ ทั้งนี้จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างระบบคัดกรองนักการเมืองที่ “ซื่อสัตย์ สุจริต” และป้องกันนักการเมืองน้ำเน่าอันเป็นต้นเหตุของการคอรัปชั่นในประเทศไทย
กลไกปราบโกงถือเป็นหนึ่งในการปฏิรูปคอร์รัปชั่นก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้นอกเหนือรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ตลอดระยะเวลาการปกครอง คสช. ยังแก้ไขกฎหมายและกลไกต่างๆ โดยตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาปราบทุจริตโดยตรงสี่องค์กร ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศ และคำสั่งของ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการปราบทุจริตไปแล้วอย่างน้อย 39 ฉบับ ใช้อำนาจผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออก พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการปราบทุจริตไปแล้วอย่างน้อยเก้าฉบับ ไม่นับรวมกฎหมายลูกเกี่ยวกับองค์กรอิสระอีกเจ็ดฉบับ
ท่ามกลางข่าวลือและข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตครั้งใหญ่ๆ มากมายในยุคของ คสช. เช่น การทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์, การทุจริตโครงการจัดซื้อเรือเหาะ, การตั้งบริษัทในค่ายทหารของลูกชายพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา, พฤติกรรมไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฯลฯ เรากลับไม่เห็นกลไกปราบคอร์รัปชั่นทำงานอย่างจริงจังในส่วนนี้ ในทางตรงกันข้ามการปฏิรูปคอร์รัปชั่นในยุคนี้ กลายเป็นการเอาคนจากกองทัพเข้าไปนั่งในองค์กรปราบทุจริต ทั้ง คตร., คตช., ศอตช., คตง. และ ป.ป.ช. นอกจากนี้การแก้ไขกฎหมายกำหนดให้อัยการทหารเป็นผู้ดำเนินคดีทุจริตกับทหารเองเท่านั้น ยิ่งเป็นการปกป้องคนจากกองทัพที่ชัดเจนขึ้นไปอีก
ยิ่งในกรณีล่าสุดยิ่งสะท้อนว่ากลไกปราบโกงเป็นข้อยกเว้นของผู้บริหารยุค คสช. เพราะเมื่อ ป.ป.ช. ออกประกาศให้บรรดาผู้บริหารหน่วยงานรัฐระดับสูงยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินฯ ส่งผลให้บริหารหลายคนลาออกโดยเฉพาะ มีชัย ฤชุพันธุ์ เจ้าของรัฐธรรมนูญ “ปราบโกง” ที่ชิงลาออกจากนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ขณะที่วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ประกาศว่ากรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคนที่ คสช. แต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ และ ป.ป.ช. ก็ออกมากล่าวว่าอาจมีการแก้กฎหมายให้ตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์ฯ
4.รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ คสช.
คสช. ออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้ตัวเองและคณะยังมีอำนาจต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง โดยการสร้างกลไกอย่างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรก จำนวน 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ผสมกับ ส.ว.โดยตำแหน่งหกที่นั่ง คือปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
นอกจากนี้ ยังให้อำนาจ ส.ว. ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. 500 คน ซึ่งการเลือกนายกฯ ต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภาหรือ 376 คะแนนเสียง เท่ากับว่า ส.ว. ชุดนี้ร่วมมือกับ ส.ส. อีกเพียง 126 คน ก็สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้แล้ว โดย ส.ว. คือตัวแปรหลักในการเลือกนายกฯ และถ้า ส.ว. ชุดนี้เกิดไม่พอใจรายชื่อนายกฯ ที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอมา ก็สามารถร่วมลงคะแนนเสียงกับ ส.ส. อีก 250 คน หรือใช้คะแนนเสียง 2/3 ของสองสภา เลือก "นายกฯ คนนอก" ได้อีกด้วย
ขณะที่หลังเลือกตั้ง คสช. ยังไม่ได้หายไปทันทีและยังสามารถใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ตามใจชอบไม่เรื่อยๆ จนกว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ และถึงแม้ คสช. จะสิ้นสุดลงหลังมี ครม.ชุดใหม่ แต่ คสช. ก็ได้เขียน “ยุทธศาสตร์ คสช.” หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 - 2580 ไว้แล้ว ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติจะบังคับให้รัฐบาลหน้าต้องแถลงนโยบายและงบประมาณประจำปีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอาจพ้นจากตำแหน่งได้ โดยรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะถูกกำกับโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและ ส.ว. ซึ่งถูกแต่งตั้งจาก คสช.
ทั้งนี้ คสช. ยังทิ้งมรดกทางกฎหมาย คือ ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 540 ฉบับ ให้อยู่สืบต่อโดยรัฐธรรมูญให้การรับรองและบังคับใช้ได้ต่อไปได้จนกว่าจะมีกฎหมายมายกเลิก
5.รัฐธรรมนูญประชาชนแก้ยาก คสช. แก้ไขง่าย
การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่ถูกบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดช่องทางแก้ไขให้ต้องยื่นต่อรัฐสภา โดยผู้มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ครม., ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ในสภา (100 เสียง), ส.ส. และ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด (150 คน) และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน
อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้วต้องผ่านขั้นตอนสุดหินที่ คสช. วางเอาไว้ คือ ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ รัฐธรรมนูญกำหนด ส.ส. และ ส.ว. ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ส.ว. ซึ่งหากพิจารณาจากที่มาของ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่ถูกเลือกโดย คสช. ดังนั้น การจะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
และขั้นสุดท้ายในวาระที่ 3 ขั้นเห็นชอบเป็นกฎหมาย กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคการเมืองที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และ มี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังสร้างกลไกป้องกันแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการกำหนดให้หาก ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน เห็นว่า มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ให้ ส.ส. และ ส.ว. รวมตัวกันยื่นความเห็นต่อประธานสภา เพื่อส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นได้หรือไม่ได้ ทั้งนี้ระหว่างนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนายกฯ จะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ได้
ในทางตรงกันข้ามนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ผ่านประชามติ รัฐธรรมนูญฉบันี้ก็ถูก คสช. ใช้อำนาจพิเศษ ม.44 แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างง่ายดายเรื่อยมา เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังถูกวิจารณ์เรื่องเรียนฟรี 12 ปี โดยแก้ไขเป็น 15 ปีตามปกติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องให้รัฐอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นให้เป็นอุปถัมภ์ทุกศาสนาเท่ากัน หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน เป็นต้น
6.รัฐธรรมนูญฉบับไม่ไว้ใจประชาชน
รัฐธรรมนูญปี 2560 นับว่าเป็นความถดถอยของระบอบประชาธิปไตยไทย เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ในรัฐธรรมนูญแสดงออกถึงความไม่ไว้ใจประชาชน เช่น เรื่องการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุม จะเห็นได้ชัดว่ามีการขยายความเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมให้กว้างขึ้น จากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าอย่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่มีการกำหนดเงื่อนไขด้วยคำที่มีความหมายเฉพาะเจาะจง เช่น สภาวะสงครามหรือกฎอัยการศึก แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้จำกัดเสรีภาพได้ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ซึ่งการใช้คำที่คลุมเครือเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง
ขณะที่การตรวจสอบอำนาจรัฐโดยประชาชนกลับหายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น การตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการเข้าชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเสนอให้มีการริเริ่มกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ รวมทั้งบทบัญญัติที่กำหนดให้การต่อต้านโดยสันติซึ่งการเข้าสู่อำนาจที่ไม่ใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เคยรับรองไว้
ที่สำคัญที่มาของนายกรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เคยกำหนดให้นายกฯ ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเข้าสู่อำนาจได้ต่อเมื่อได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดแค่เพียงให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อ กกต. ก่อนการเลือกตั้ง แต่บุคคลดังกล่าวไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้งจากประชาชน ทั้งยังมีการเขียนข้อยกเว้นด้วยว่า ส.ส. และ ส.ว. สามารถลงคะแนนเพื่อยกเว้นให้สามารถเสนอชื่อ “คนนอก” บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกฯ ได้ ซึ่งก็ดูจะยิ่งตอกย้ำว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความ "ไม่ไว้วางใจ" ประชาชน ไม่เชื่อว่าประชาชนจะสามารถเลือกสิ่งที่ดีให้กับประเทศได้
==============================================================================
ขยายความคำถามพ่วง
1) ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติครั้งนี้ และตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 กำหนดเหมือนกันว่า ให้ "สภาผู้แทนราษฎร" หรือ ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วน "วุฒิสภา" หรือ ส.ว. นั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่หลักการของคำถามพ่วงที่ สนช.เสนอไปนั้น เขียนว่าให้ "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" พิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี หมายความว่าให้ ทั้ง ส.ส. 500 คน และ ส.ว. อีก 250 คน ลงมติร่วมกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
2) ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 269 กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรกให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการตัดสินใจเลือก ส.ว. ทั้ง 250 คน และระบบเลือกตั้งตามร่างรัฐธรรมนูญ ก็กำหนดวิธีการแบ่งเก้าอี้ส.ส.ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มีพรรคการเมืองใหญ่ที่มีส.ส.มากเกินไป จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะมีพรรคการเมืองใดได้ส.ส.มากกว่า 250 ที่นั่ง
ดังนั้น "ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" อันประกอบด้วยทั้ง ส.ส.และส.ว. หาก ส.ว. ทั้ง 250 คนลงคะแนนเสียงไปทางเดียวกันทั้งหมด ก็มีโอกาสไม่น้อยที่จะเป็นเสียงชี้ขาดในการเลือกนายกรัฐมนตรี
3) การที่คำถามพ่วง กำหนดว่าให้ใช้ "ในระหว่าง 5 ปีแรก" หมายความว่า ให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งและมีรัฐสภาชุดแรก โดยไม่จำกัดว่าจะให้เลือกนายกรัฐมนตรีกี่คน
ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 99 กำหนดให้ สภาผู้แทนราษฎรทุกชุด มีวาระ 4 ปี ดังนั้น หากประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงนี้ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ครบวาระ และมีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็ยังเลือกโดย ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกัน เท่ากับว่า ส.ส.และ ส.ว.จะร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างน้อย 2 คน และหากนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนอยู่ครบวาระ ประเทศไทยก็จะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกโดยส.ส.และส.ว. เป็นเวลา 8 ปี
หรือหากภายในระยะเวลา 5 ปีแรกนายกรัฐมนตรีที่เข้ารับตำแหน่งลาออก หรือต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หรือต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น ส.ส.และส.ว.ก็ยังจะร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปภายในระยะเวลานี้ ไม่ว่าจะต้องเลือกกี่คนก็ตาม
4) ส่วนที่กำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของคำถามพ่วงไว้ว่า "เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ" นั้น "แผนยุทธศาสตร์ชาติ" ที่อ้างถึง ปัจจุบันยังไม่ได้จัดทำขึ้นจึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่องนั้นจะเป็นไปในทิศทางใด
ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ มาตรา 275 กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเป็นผู้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติขึ้น โดยมีเวลาจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติภายใน 120 วันนับจากร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ และให้เวลาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติต่ออีกภายใน 1 ปี
โดยในมาตรา 162 ยังกำหนดด้วยว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งจะต้องแถลงนโยบายซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาตินี้ด้วย
สนช.แจง คำถามพ่วงเพื่อวางรากฐานปฎิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ในจุลสารออกเสียงประชามติ สรุปย่อสาระสำคัญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกเหตุผลสามข้อทำไมจึงต้องมีคำถามพ่วง
1. เพราะนายกรัฐมนตรี คือ หัวหน้าทีมที่ทำให้การปฏิรูปประเทศประสบความสำเร็จ
2. เพราะตามยุทธศาสตร์ชาติต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงจะวางรากฐานการปฏิรูปประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ชาติมั่นคง เศรษฐกิจมั่งคั่งยั่งยืน ประเทศมีความสงบ ปรองดอง
3. เพราะรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส.และส.ว.ซึ่งทำหน้าที่กำกับให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ
อีกด้านหนึ่ง สิรพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายคำถามพ่วงประชามติ ว่าคือการขอความเห็นชอบจากประชาชนเพื่อลดอำนาจของตัวเองในการเลือกนายกรัฐมนตรี และถ่ายโอนอำนาจนี้ไปให้ ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งอำนาจนี้ ส.ว.กับ ส.ส.ใช้ร่วมกัน ดังนั้นผลการโหวตเลือกนายกฯ มีแนวโน้มที่จะเป็นดังคำอธิบายของ สิริพรรณ คือ หากพรรคเอได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งคือได้ 251 เสียงจาก ส.ส. ทั้งหมด 500 เสียง แต่ก็ยังไม่เพียงพอจะเลือกนายกฯ เพราะต้องไปใช้คะแนนร่วมกับ ส.ว.ด้วย แต่หากพรรคบี(แม้ไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร)โหวตร่วมกับ ส.ว.ทั้ง 250 คน เสียงของ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจะกลายเป็นเสียงที่ชี้ขาดว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้
จะเห็นว่าการตั้งคำถามพ่วงนี้ที่ค่อนข้างแยบยล ซ่อนกลเอาไว้ เพราะใช้คำว่าให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี แทนที่จะบอกไปตรงๆ ว่าให้ ส.ว.ใช้อำนาจร่วมกับ ส.ส. เป็นการเบี่ยงความสนใจของประชาชน สิรพรรณ ทิ้งท้ายว่า หากคำถามพ่วงประชามตินี้ผ่านสิ่งที่กังวลใจ คือ หากได้รัฐบาลหน้าจากการเลือกตั้งโดยอาศัยเสียงของ ส.ว.ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จริงๆ แล้วอาจจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และจะไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถออกกฎหมายที่จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
ผลของคำถามพ่วงหลังลงประชามติ
หากประชาชนเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงนี้ จะทำให้ได้วิธีการเลือกนายกรัฐมนตรที่ไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 37/1 และ 39/1 วรรค 12 กำหนดทางแก้ปัญหากรณีเช่นนี้ไว้ว่า ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ภายใน 30 วัน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ส่วนที่แก้ไขนั้นสอดคล้องกับคำถามพ่วงแล้วหรือไม่ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป
แต่ปัญหาต่อไปยังมีว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ แต่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบกับคำถามพ่วงนี้ ผลจะเป็นอย่างไร? ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความแน่ชัดจากทาง คสช. ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ แล้วจะมีกระบวนการอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป และก็ทำให้ยิ่งไม่ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับต่อไปจำเป็นต้องสอดคล้องกับคำถามพ่วงนี้ด้วยหรือไม่
และหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบกับทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีโอกาสที่ข้อเสนอเรื่องการให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ตามคำถามพ่วงนี้ จะกลับมาได้อีกหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น