เพลงฉ่อยชาววัง

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เรื่อง ม้ากับลา ของหมอเลี๊ยบและสิริกัญญา เพิ่งจะเข้าใจSolow Growth Model ตอนนี้เอง !! อ่านเลยค่ะ

 🧵เมื่อกี๊นั่งฟังศิริกัญญาคุยกับหมอเลี๊ยบในรายการของสรยุทธ์ แกพูดถึงว่าประเทศไทยตอนนี้เปรียบเสมือนลาแต่พรรคเพื่อไทยพยายามหวดแส้ให้มันวิ่งได้เร็วเหมือนม้าโดยศิริกัญญาอ้างอิง Solow Growth Model ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงไม่เข้าใจว่าศิริกัญญาหมายถึงอะไร เพราะโดนหมอเลี๊ยบอาศัยลูกเก๋าตีกินข่มทับว่าเราเป็นม้าไม่ใช่ลา คนเลยหันไปโฟกัสกันตรงนั้นแทนเนื้อหาที่ศิริกัญญาพยายามจะสื่อ

โพสนี้ผมจะช่วยศิริกัญญาอธิบายให้ฟังว่า Solow Model ที่แกว่าคืออะไร อาจเข้าใจยากหน่อยสำหรับคนที่ไม่ค่อยชอบทางด้านคณิตศาสตร์เพราะเป็นเรื่องทฤษฎี (เรียนมานานแล้วอาจลืมๆอธิบายผิดถูกบ้างเล็กน้อย ขออภัยล่วงหน้า) และเช่นเคย โพสยาวหน่อยแต่อยากให้อ่าน เวลานักเศรษฐศาสตร์เขาคุยกันเราจะได้ติดตามได้อย่างสนุก ส่วนคนที่เคยเรียนมาแล้วก็อ่านผ่านๆไปแล้วกันครับ


Solow Growth Model ที่ศิริกัญญาพูดถึงเป็นโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจที่นักเศรษฐศาสตร์เขาใช้อธิบายการเติบโตของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยใช้แนวคิดพื้นฐานที่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดจาก “การสะสมทุน”  ซึ่งโมเดลนี้อธิบายว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆดำเนินไปอย่างไรจนกว่าจะถึงจุดสมดุล (Steady state) ซึ่งที่จุดนี้ การลงทุนจะเท่ากับค่าเสื่อมราคาของทุน ทำให้ GDP จะเติบโตที่อัตราคงที่ (ซึ่งประเทศไทยเรากำลังอยู่ที่จุดนี้เลย)

กราฟที่เอามาให้ดูนี้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างทุน (K) ในแนวนอน และ GDP หรือผลผลิตของประเทศหนึ่งๆ ในแนวตั้ง



โดยเส้นโค้งสีดำเส้นบนสุดเรียกว่าเส้น Production Function แสดงเส้นแนวโน้มของการเติบโตของ GDP (Y) ว่าจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างไรเมื่อมีการสะสมทุน (K) เพิ่มขึ้น โดยคำว่าทุนที่สะสมในที่นี้หมายรวมทั้งเครื่องจักรอาคารรวมไปจนถึงทุนในรูปของทรัพยากรมนุษย์ซึ่งมีการสะสมทั้งจำนวนและทักษะความรู้ต่างๆ ซึ่งเส้นโค้งฟังก์ชั่นการผลิตนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ เขียนเป็นสมการเส้นโค้งว่า Y = f(K)  ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการสะสมทุนเพิ่มขึ้น ผลผลิตที่เพิ่มมันจะเพิ่มด้วยอัตราที่ลดลงเนื่องจากปัจจัยหลายอย่างเช่นการที่ระบบเศรษฐกิจไม่สามารถนำทุนที่สะสมเพิ่มไปทำการผลิตได้หรือการที่มีการเสื่อมลงของทุนที่มี

โดยเส้นตรงสีน้ำเงินตรงกลางแสดงเส้นค่าเสื่อมราคาของทุนเช่นเครื่องจักรสึกหรอ อาคารเสื่อมโทรมต้องการการปรับปรุง ทรัพยากรมนุษย์แก่ลง รีไทร์ หรือตายไป ฯลฯ โดยเส้นนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อทุนเพิ่มขึ้นซึ่งหมายความว่าค่าเสื่อมราคาของทุนจะเพิ่มขึ้นเมื่อทุนเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรต่างๆทั้งหมดคิดอัตราการเสื่อมสภาพที่ 20%  เราสามารถเขียนสมการค่าเสื่อมราคาเป็นเส้นตรง D = 0.2K

ส่วนเส้นสีแดงในภาพคือเส้นการลงทุน (I) ซึ่งหากประเทศหนึ่งๆมีอัตราการออม (S) สูง คือประชาชนเหลือเงินเก็บจำนวนมากหลังจากการจับจ่ายใช้สอยรายได้ที่ได้มา ก็สามารถนำเงินออมนั้นไปลงทุน เช่น ประเทศหนึ่งคนใช้เงินบริโภคไป 70% ของรายได้เหลือเงินออม 30% เงินออมนั้นก็สามารถนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลผลิตต่อไปได้ เราสามารถเขียนสมการเส้นลงทุนของประชาชนในประเทศนี้เป็น I = 0.3 Y คือรายได้ร้อยนึงเหลือไปลงทุนสามสิบ


จากในรูปเราจะเห็นว่าในช่วงแรกๆของการพัฒนา ประเทศหนึ่งๆมีทุนสะสมน้อย การเพิ่มขึ้นของทุนที่สะสมมาสามารถสร้างผลผลิตเพิ่มได้มาก เนื่องจากการลงทุนมันเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าเสื่อม (ดูได้จากความถ่างของเส้นสีแดงกับสีน้ำเงินหรือ I - D ระหว่าง K = 0-100 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) ทำให้ผลผลิตช่วงนี้เพิ่มขึ้นเร็วมากเหมือนไทยเมื่อ 40 ปีก่อนที่เราเคยโตมากกว่า 10% หรือเมืองจีนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จนเมื่อหลังจากสะสมทุนได้มากกว่า 100 หน่วย เราจะเห็นได้ว่าความถ่าง (I - D) มันเริ่มลดลง ทำให้ผลผลิตยิ่งเพิ่มขึ้นช้าลงมากขึ้นไปอีกจนสุดท้ายเมื่อ I = D ที่ K = 225 แปลว่าการลงทุนที่เพิ่มเข้าไปต้องเอาไปซ่อมบำรุงเครื่องจักรอาคารสถานที่ผลิตที่เสื่อมสภาพลงเสียหมด ไม่เหลือไปเพิ่มผลผลิตได้อีกต่อไป ซึ่งจากในรูป เราจะเห็นว่าจุดสมดุลของโมเดลนี้อยู่ที่จุดที่เส้น I กับ D ตัดกัน โดยที่จุดนี้ GDP จะเติบโตที่อัตราคงที่

ซึ่งที่ศิริกัญญาบอกในรายการคือตอนนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุด Steady state ที่ว่านี้แล้ว เราไม่สามารถไปต่อได้ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเดิม การที่หมอเลี๊ยบไปอ้างว่าจีนสามารถโตได้ถึง 4-6% ในช่วงที่ผ่านมานั้นมันเป็นการนำสองประเทศที่อยู่ในคนละลีกคนละดิวิชั่นมาเปรียบเทียบกัน เพราะไทยเราเดินมาถึงจุด Steady state ที่ K= 225 นานแล้ว เราจึงกำลังวิ่งด้วยความเร็วแบบลา แต่ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาจีนเพิ่งเริ่มออกเดินจาก K = 0 มาตอนนี้อยู่ที่ K = 150-200 จึงยังสามารถวิ่งด้วยความเร็วของม้าได้ เรียกว่าเป็นการโตแบบ Catching Up Growth 

สิ่งที่ศิริกัญญาพยายามบอกคือเรามีการพัฒนาแบบ Catching Up Growth มาจนถึงจุดที่ทำการผลิตเต็มทุนสะสมที่เรามีอยู่ตอนนี้แล้ว การเติมเงินดิจิตอลลงไป ไม่สามารถทำให้ไทยหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางที่จุด Steady state นี้ได้ สิ่งที่เราต้องทำคือการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเพื่อทำให้เส้นโค้ง production Y ในรูปนี้ยกตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เส้น I ยกตัวสูงขึ้นตามทำให้จุดตัด steady state มันยกตัวสูงตามขึ้นไปเรื่อยๆ เรียกว่าการโตแบบ Cutting Edge Growth เช่นในประเทศพัฒนาแล้ว

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ประเทศที่อยู่ในช่วงการโตแบบ Cutting Edge Growth ไม่มีทางที่จะวิ่งด้วยสปีดแบบม้าเหมือนประเทศที่ยังอยู่ในช่วงการโตแบบ Catching Up ได้ ยังไงก็ต้องโตด้วยสปีดแบบลาเหมือนประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น

แต่สิ่งที่หมอมิ้งพยายามบิดเบือนคือการทำให้คนฟังเข้าใจว่าศิริกัญญากำลังดูถูกประเทศไทยว่าเป็นลา

ขอบคุณที่มา
CR:SleeplessBKK



1 ความคิดเห็น: