เพลงฉ่อยชาววัง

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562

"อั้งยี่" กฎหมายโบราณที่กลับมาหลังการรัฐประหารของ คสช.

ความผิดฐานอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 เป็นฐานความผิดที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยที่จีนโพ้นทะเลอพยพเข้ามาตั้งรกรากหากินในไทย จนบรรจุลงไปในประมวลกฎหมายอาญาไทย เจตนารมณ์ของความผิดฐานนี้เพื่อใช้ควบคุมการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อจะทำสิ่งที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือเรียกว่าปราบปรามกลุ่มแก๊งผู้มีอิทธิพลนั่นเอง

จนกระทั่งในยุค คสช. ความผิดฐานอั้งยี่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีทางการเมือง เป็นการดำเนินคดีต่อผู้ที่รวมกลุ่มกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคดี

ที่มา และเจตนารมณ์ของกฎหมายอั้งยี่ในประเทศไทย

อั้งยี่ ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “สมาคมลับของคนจีน” หรือ อีกความหมาย อั้งยี่ แปลว่า “ตัวหนังสือสีแดง” ซึ่งอั้งยี่นั้นมีอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน หมายถึงการตั้งสมาคมลับของคนจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย เพื่อใช้จัดการดูแล และแสวงหาผลประโยชน์กันเองในกลุ่มคนจีนอพยพที่เข้ามาเป็นแรงงาน และค้าขายในประเทศไทย ปกครองกันด้วยระเบียบและกฎที่ตั้งขึ้นกันเองในอั้งยี่นั้นๆ โดยแยกเป็นหลายอั้งยี่ แล้วแต่ใครจะเข้าร่วมกับอั้งยี่ใด

เนื่องจากในอดีตแต่ละอั้งยี่มีคนอยู่จำนวนมาก บางครั้งจึงมีเรื่องขัดแย้งกันเกิดการปะทะใช้ความรุนแรงกันระหว่างอั้งยี่หนึ่งกับอีกอั้งยี่หนึ่ง จนส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง รัฐไทยในสมัยนั้นจึงออกกฎหมายเพื่อปราบปรามเหล่าสมาคมลับของคนจีนที่ผิดกฎหมาย โดยได้บัญญัติกฎหมายให้สมาคมลับดังกล่าวมีโทษอาญาในฐานความผิดที่เรียกว่า "อั้งยี่" ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ร.ศ.116 หรือ พ.ศ.2441 คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำในลักษณะอั้งยี่ ร.ศ.116 และเมื่อพัฒนาเป็นประมวลกฎหมายอาญา จึงได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 209 ในเรื่องความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ในภาคความผิดลักษณะที่ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๒๐๙ ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

โดยมาตราดังกล่าว มีองค์ประกอบความผิดดังนี้

ตามวรรคหนึ่ง

(1) ผู้ใด

(2) เป็นสมาชิกของคณะบุคคล

(3) ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

และต้องมีเจตนาที่จะเข้าร่วม และรู้ว่าเป็นการเข้าร่วมกับคณะบุคคลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

คำว่า “คณะบุคคล” นั้นทางกฎหมายให้ความหมายไว้ว่า การรวมตัวของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันและการรวมตัวกันนั้นจะต้องรวมตัวกันในลักษณะถาวร

“ปกปิดวิธีดำเนินการ” หมายถึง รู้กันในหมู่สมาชิกไม่เปิดเผยแก่บุคคลอื่น เช่น ใช้นิ้วแสดงเป็นเครื่องหมายลับ (คำพิพากษาฎีกาที่ 124/2457) หรือแสดงเครื่องหมายสมาคม (คำพิพากษาฎีกาที่ 301-303/2470) โดยรู้กันในหมู่สมาชิกเท่านั้น

“มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย” ไม่จำกัดไว้ว่าต้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น อาจเป็นละเมิดกฎหมาย หรือความผิดทางแพ่งก็ได้ (ความเห็น ศ.จิตติ ติงศภัทิย์) ซึ่งตีความได้กว้างขวางมาก

และมาตรานี้ มุ่งหมายเอาผิดการ "เข้าเป็นสมาชิก" เท่านั้น ดังนั้นเพียงเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลเท่านั้นก็เป็นความผิดสำเร็จทันทีโดยยังไม่จำต้องทำอะไรที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือคณะบุคคลนั้นยังไม่ต้องลงมือทำอะไร ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว

ในวรรคสองนั้น เป็นเหตุเพิ่มโทษ หากผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นตำแหน่งตามกฎหมายระบุไว้ก็จะได้รับโทษเพิ่ม

ตัวอย่างคดีทางการเมืองที่ถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ก่อนรัฐประหาร 2557



ในช่วงก่อนการรัฐประหารไม่พบว่า มีการดำเนินคดีข้อหาอั้งยี่กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ส่วนกลาง หากเป็นการชุมนุมทางการเมืองจะใช้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และมาตรา 216 การมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองเสียมากกว่า ส่วนมากข้อหาอั้งยี่จะถูกใช้กับผู้มีอิทธิพลที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น ปล่อยเงินกู้ เปิดบ่อนพนัน เป็นต้น และกลุ่มที่ถูกตั้งข้อหาอั้งยี่มากอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มักจะถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงโดยพ่วงข้อหาอั้งยี่ เข้าไปด้วยเสมอ

หลังรัฐประหารปี 2557 พบว่ามีการตั้งข้อหาอั้งยี่กับกลุ่มคนที่แสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตัวอย่างเช่น

1. คดีปาระเบิดศาลอาญา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 มีคนถูกออกหมายจับในคดีนี้ทั้งสิ้น 17 คน และถูกจับกุมทั้งหมด 15 คน และถูกดำเนินคดีในชั้นศาลทั้งหมด 14 คน ซึ่งจำเลยทั้ง 14 คน ถูกฟ้องว่ากระทำผิดฐานเป็นอั้งยี่ และข้อหาอื่นๆ อย่างน้อยอีก 10 ข้อหา

2. คดีจ้างวานปาระเบิดศาลอาญา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 มีจำคนถูกจับดำเนินคดีทั้งหมด 6 คน ถูกฟ้องว่ากระทำผิดฐานอั้งยี่ และข้อหาอื่นๆ อีกสี่ข้อหา

3. คดีส่งจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีคนถูกจับดำเนินคดีทั้งหมด 11 คน ถูกฟ้องว่า ส่งจดหมายไปยังประชาชนเพื่อรณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติ ตามกระทำผิดฐานอั้งยี่ ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และความผิดฐานก่อให้เกิดความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ด้วย

4. คดีก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย มีคนถูกจับดำเนินคดีทั้งหมด 17 คน และสุดท้ายถอนแจ้งความเหลือ 15 คน จากการร่วมกันก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย ที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาล และส่งข้อมูลคุยกันในกลุ่มไลน์ โดยถูกตั้งข้อหากระทำผิดฐานอั้งยี่ และมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ต่อมามีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้

5. คดีแฮกเกอร์คัดค้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเหตุการณ์ชาวเน็ตบุกโจมตีเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐหลายๆ แห่ง หลังการลงมติแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชน ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 มีคนถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งหมด 9 คน และถูกดำเนินคดี 4 คน ด้วยข้อหากระทำผิดฐานอั้งยี่ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมรวมกลุ่มกันโดยติดต่อสื่อสารกันในกลุ่มเฟซบุ๊ก และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานเจาะและโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ อีกหลายกกรม

6. คดีวัยรุ่นเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ที่จังหวัดขอนแก่น มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีเป็นเยาวชนทั้งหมด 8 คน ถูกฟ้องข้อหากระทำผิดฐานอั้งยี่ และข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

7. คดีวัดพระธรรมกาย มีการแจ้งความดำเนินคดีอย่างน้อย 6 คน ในข้อหากระทำผิดฐานอั้งยี่และอื่นๆ

8. คดีแนวร่วม กปปส. นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส. คนอื่นๆ กับพวก ที่ชุมนุมในช่วงปี 2556-2557 รวม 25 คน ถูกฟ้องข้อหากระทำความผิดฐานอั้งยี่ และอื่นๆ

9. พระพุทธอิสระ ถูกแจ้งข้อหากระทำความผิดฐานอั้งยี่ จากการชุมนุม กปปส. และทำร้ายตำรวจสันติบาล เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557


-----------------------------------------------------------------------------------------------
อั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุม ม.209 210 215

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ 
มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้นผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท


- เป็นสมาชิกของคณะบุคคล

- ซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ

- มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย


“คณะบุคคล” คือ การรวมตัวของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป

“สมาชิก” ต้องมีสิทธิในที่ประชุม (ร่วมปรึกษาหารือลงคะแนนเสียง)



ฎีกาที่ ๓๐๑-๓๐๓/๒๔๗๐ ตกลงกันว่าหากพรรค พวกต้องคดีจะไปช่วยเป็นพยานเท็จให้ และจะออกเงินส่งเสียสมาชิกที่ต้องหาในคดีอาญา การช่วยเป็นพยานเท็จถือว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย


ฎีกาที่ ๑๑๗๖/๒๕๔๓ จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังอาวุธโจรก่อการร้ายกระบวนการ บี อาร์ เอ็น กลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ เรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงมีความผิดฐานอั้งยี่


ความผิดสำเร็จเมื่อเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลไม่จำเป็นต้องกระทำการสำเร็จตามความมุ่งหมายนั้น


ความผิดฐานเป็นซ่องโจร 
มาตรา 210 ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

- สมคบกันตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป

- เพื่อกระทำความผิดในภาค ๒ นี้

- ความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไป


“สมคบ” คือ การร่วมคบคิดกัน (ตามพจนานุกรม) คำว่าสมคบไม่มีในคำนิยาม แต่ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 6 ข้อ 8 ได้ให้นิยามคำว่า “สมคบ” ว่า ถ้าบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สมรู้ด้วยกันเพื่อจะกระทำผิด ท่านว่าคนเหล่านั้นสมคบกัน ท่านอาจารย์สถิตย์ ไพเราะ ท่านได้ให้ความเห็นเป็นข้อสังเกตไว้ว่า น่าจะนำหลักเรื่องตัวการร่วมกันกระทำความผิดมาตรา 83 มาเทียบเคียงในการตีความได้ ดังนั้น ถ้าบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปแสดงออกซึ่งความตกลงที่จะกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน ถือได้ว่าเป็นการสมคบกันแล้ว

ฎีกาที่ 2829/2526 การสมกันเพื่อกระทำความผิด ต้องมีการแสดงออกซึ่งความตกลงที่จะกระทำผิดร่วมกัน มิใช่เพียงแต่มาประชุมหารือกันโดยมิได้ตกลงอะไรกันเลยหรือตกลงกันไม่ได้

ฎีกาที่ 4986/2533 ความผิดฐานซ่องโจรตามมาตรา 210 นั้นผู้กระทำจะต้องสมคบกันเพื่อกระทำ ความผิด กล่าวคือจะต้องมีการร่วมคบคิดกันหรือแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำความผิดร่วมกันในระหว่างผู้กระทำผิดด้วยกัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เพียงแต่ร่วมเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปล่อซื้อ โดยเสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น จึงเป็นลักษณะที่เป็นการกระทำต่อบุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 1,2,3 และ 5 มิได้คบคิดกันว่าจะกระทำความผิดร่วมกันรับของโจร จึงไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจร

ฎีกาที่ 2429/2528 จำเลยกับพวกรวม 10 คน จับกลุ่มวางแผนจะใช้ตลับยาหม่องครองเหรียญพนันบนรถโดยสารประจำทาง โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นคนใช้ตลับยาหม่องครอบเหรียญแล้วให้จำเลยอื่นเป็นหน้าม้าแทง จำเลยที่ 1 แจกเงินให้จำเลยอื่นทุกคนเพื่อนำไปแทง ใครได้เสียเท่าไหร่ให้จำไว้ เมื่อเลิกเล่นแล้วจะคืนให้หมด จำเลยอื่นขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารประจำทาง ส่วนจำเลยที่ 5 รออยู่ที่สถานีขนส่ง เมื่อรถยนต์โดยสารออกจากสถานีขนส่ง จำเลยที่ 1 ก็เริ่มเล่นการพนันกัน แล้วชักชวนผู้โดยสารมาแทง อันเป็นการสมคบกันเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยทุจริต

อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 5 จะมิได้ขึ้นไปบนรถโดยสารด้วยแต่รออยู่ที่สถานีขนส่งแล้วจะขับรถตามมารับพวกจำเลยเมื่อเลิกเล่นกันแล้ว อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยที่ 5 ได้เข้าร่วมปรึกษาวางแผนกับจำเลยอื่นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 5 จึงเป็นความผิดฐานซ่องโจร(เหมือนคดี ธนาธรรับโรมขึ้นรถหรือเปล่านะ?)


- เพื่อกระทำความผิดในภาค ๒ นี้

มาตรา 210 จำกัดเฉพาะความผิดในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 นี้ เท่านั้น การกระทำผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดตาม พรบ.ยาเสพติด ฯลฯ ไม่อยู่ในองค์ประกอบข้อนี้ แต่อาจเป็นความผิดฐานอั้งยี่ได้


- ความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไป

ให้ดูในระวางโทษของแต่ละมาตรา


ถ้ามีการสมคบกันกระทำความผิด และได้กระทำความผิด ไม่ว่าจะกระทำได้สำเร็จหรือไม่ก็ตามความผิดฐานซ่องโจรก็สำเร็จลงแล้ว ถ้าได้กระทำความผิดตามที่สมคบกัน ก็จะเกิดความผิดขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง เป็นกรณีกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

ฎีกาที่ 4548/2540 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม 6 คนวางแผนกระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร เมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 3 ผู้ร่วมวางแผนแม้ไม่ได้ไปปล้นด้วยก็ย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการ

ร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตาม ปอ. มาตรา 213 และ ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกันเพราะพวกจำเลยกระทำผิดฐานเป็นซ่องโจร เพื่อจะไปปล้นทรัพย์ จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานปล้นทรัพย์อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด


ฎีกาที่ 1719/34 จำเลยกับพวกรวมห้าคนปรึกษากันว่าจะไปปล้นรถจักรยานยนต์เป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิด และการกระทำความผิดที่สมคบกันเพื่อจะไปกระทำนั้นเป็นการปล้นทรัพย์ อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่ง ป.อ . ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 วรรคสอง



ความผิดฐานมั่วสุม ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


- มั่วสุม

- ตั้งแต่สิบคนขึ้นไป

- ก. ใช้กำลังประทุษร้าย

ข. ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย

ค. กระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

คำว่า “มั่วสุม” หมายความว่า ชุมนุมกัน


ฎีกาที่ ๗๗๒/๒๔๘๒ การมั่วสุมไม่จำเป็นต้องนัดหมายร่วมกันมาก่อน แต่การกระทำตอนใช้กำลังประทุษร้าย ต้องกระทำด้วยความประสงค์ร่วมกัน เช่น การเดินขบวนประท้วงใช้ความรุนแรงต่าง ๆ


ฎีกาที่ ๒๓๘๗/๒๕๓๖ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทในการให้คำปรึกษาแนะนำและสั่งการในการนัดหยุดงานของลูกจ้างประมาณ ๓๐๐คน การนัดหยุดงานดังกล่าว มิได้เป็นไปตามขั้น ตอนและเงื่อนไขดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงาน สัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ แต่เพื่อต่อรองบีบบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน เมื่อปรากฏว่า มีการปะทะและทำร้ายซึ่งกันและกันระ หว่างลูกจ้างที่นัดหยุดงานและลูกจ้างที่ประสงค์จะเข้าทำงาน เข้าออก ได้มีการขว้างปาวัตถุก้อนดินเข้าไปในโรงงาน เหตุเกิดริมถนนสาธารณะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐาน ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง


วรรคสอง ผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ร่วมกระทำผิดต้องรับโทษหนักขึ้นไปอีก ปัญหาว่า คำว่า มีอาวุธ คนอื่น ๆ ที่ร่วมในการมั่วสุมต้องรู้หรือไม่ และจะถูกลงโทษตามวรรคสองหรือไม่นั้น ขออธิบายว่า กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ว่าผู้ร่วมกระทำความผิดต้องรู้ ดังนั้นแม้ผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นไม่รู้ก็ต้องรับผิดด้วย แต่หากว่าเผอิญคนที่พกพาอาวุธไปนั้นได้ใช้อาวุธในการทำร้ายผู้อื่น การใช้อาวุธทำร้ายผู้อื่นเป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำผิดคนอื่นจึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งความตายนั้นด้วย ส่วนในข้อหาพาอาวุธเข้าไปในเมืองตามมาตรา ๓๗๔ นั้นเอาผิดเฉพาะผู้พาอาวุธ ผู้ร่วมกระทำผิดไม่ต้องรับผิดส่วนนี้ด้วย คงรับเฉพาะวรรคสองแห่งมาตรา ๒๑๔ เท่านั้น

ผู้กระทำความผิดเกิน สิบคน จะทำให้เราวินิจฉัยยาก เพราะจะสามารถเป็นได้ทั้งอั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุม หลักการวินิจฉัยคือ
๑. ให้ดูก่อนว่า เป็นการรวมตัวกันในลักษณะถาวรหรือไม่ ถ้าถาวร เป็นสมาคม จะเป็นอั้งยี่ ถ้าไม่ถาวร อาจเป็นได้ทั้งซ่องโจร และมั่วสุม (ไม่ถาวรคือ รวมกันเฉพาะกิจครั้งใดครั้งหนึ่งเท่านั้น)
๒. ถ้าการรวมตัวมีลักษณะไม่ถาวร ให้ดูว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาภาคสองหรือไม่ ถ้าใช่ เป็นซ่องโจร ถ้าเป็นความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ชุมนุม พรบ.จราจร (แข่งรถ) เป็นมั่วสุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น